"เจ้าพ่อทูน่า"-ธีรพงษ์ จันศิริ ได้ชื่อใหม่กลายเป็น "นักเทกโอเวอร์ตัวยง"
ไปแล้ว เมื่อซื้อกิจการ 2 แห่งในสหรัฐฯ และ 1 แห่งในไทยเพื่อขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
เขาใช้แนวคิดที่ว่าของดีไม่ได้หมายความว่าต้องมีราคาแพง ของดีต้องเป็นของที่ราคาเหมาะสม
และเราสามารถที่จะทำกำไรกลับคืนมาได้ ในยุคเศรษฐกิจขาลงภุมิภาคเอเชียยามนี้
การลงทุนครั้งนี้อาจเป็นแนวทางที่จะช่วยกิจการของเขาในยามนี้ได้หรือไม่ ต้องจับตาต่อไป
ธีรพงษ์ จันศิริ เจ้าพ่อทูน่าแห่ง TUF จัดได้ว่าเป็นนักเทกโอเวอร์ด้วยคนหนึ่ง
เพราะในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปีที่ผ่านมา เขาก็ได้ทุ่มเงินร่วม 200 ล้านเหรียญสหรัฐในการซื้อกิจการถึง
3 กิจการ ได้แก่ บริษัท Pan Pacific ซึ่งเป็นโรงงานผลิตปลาทูน่าที่อเมริกา
โรงงานกุ้ง Aquastar ที่สงขลา และบริษัท Van Campp Seafood Company ผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่า
ปลาแซลมอน และอาหารทะเลบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของอเมริกาภายใต้แบรนด์เนม "Chicken
of the sea" โดยแต่ละบริษัทที่เขาเข้าไปซื้อล้วนแต่เป็นบริษัทที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ
และอยู่ในช่วงเวลา down turn ทั้งสิ้น แต่ธีรพงษ์กลับมองว่าช่วงเวลา ณ ขณะนั้นคือเวลาของการซื้อ
แต่ต้องเป็นการซื้อที่มีเหตุผลและมีข้อมูลสนับสนุนไม่ใช่ซื้อเพราะอารมณ์
นับตั้งแต่ต้นปี 2539 เขาได้ก่อตั้งบริษัทไทร-ยูเนี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล
โดยเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท ไทยยูเนี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ
TUF กับบริษัท ไทร-มารีน อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ค้าทูน่าอันดับหนึ่งของโลก
และเดอะ แกนน์เฟมมิลี่ ทรัสต์ เจ้าของกองเรือจับปลาทูน่าในน่านน้ำแปซิฟิก
ในสัดส่วน 50 : 25 : 25 ตามลำดับ เพื่อซื้อกิจการของ Pan Pacific โรงงานผลิตปลาทูน่าที่อเมริกาด้วยเงินลงทุนเพียง
6.7 ล้านเหรียญฯ
จากนั้นช่วงปลายปีเดียวกันนั้น TUF ก็ได้เข้าไปซื้อโรงงาน Aquastar ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกุ้งแช่แข็งที่สงขลาของกลุ่ม
British Petrolium (น้ำมัน BP) ที่กำลังจะเลิกกิจการเนื่องจากในปีนั้นเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของอุตสาหกรรมกุ้ง
ซึ่งต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันด้วย แต่ธีรพงษ์ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมกุ้งมองว่าธุรกิจนี้ยังพอไปได้
จึงตัดสินใจซื้อโรงงาน Aquastar ด้วยราคา 63 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นราคาที่เหมาะสม
"เวลาที่เราจะประมูลซื้อของ เราจะมีตัวเลขในใจ ถ้าเกินกว่าที่ตั้งใจไว้บาทหนึ่งเราก็ไม่เอา"
เป็นหลักการประจำใจของธีรพงษ์
สำหรับดีล Aquastar นั้นก็เกือบไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในที่สุดก็สามารถยุติลงได้ด้วยราคาที่ถูกกว่าที่เขาตั้งใจไว้เสียอีก
เขาได้เล่าถึงเบื้องหลังดีลนี้ว่า
"เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้วดรงงานนี้ใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างประมาณ
400 ล้านบาท และเป็นโรงงานที่ดีที่สุดในเอเชียในตอนนั้น แต่ต่อมาเมื่อประสบกับปัญหาตลาดกุ้งที่ย่ำแย่มาก
จึงทำให้เจ้าของต้องขายกิจการ และก่อนที่เราจะยื่นซองประมูล เราก็เช็กตลาดดู
ปรากฏว่ายิ่งแย่มากขึ้น มีแต่คนอยากจะปิดกิจการ มองแล้วไม่มีใครอยากจะซื้อซึ่งเท่ากับว่าเราไม่มีคู่แข่ง
เราเลยตั้งราคาที่ 70 ล้านเหรียญฯ ตัดใจว่าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ พอถึงวันเปิดซอง
เขาก็แจ้งมาว่าเราไม่ได้ เนื่องจากมีคนให้ราคาดีกว่าเราคือ 100 ล้านเหรียญฯ
เราก็ OK จบดีล แต่อาทิตย์ถัดมาเขากลับติดต่อเราให้ไปยืนยันราคาเดิมที่เราเสนอ
เนื่องจากรายแรกที่ได้เขาไม่มีเงินมาจ่าย เราก็บอกว่าเราเปลี่ยนแผนการลงทุนแล้ว
แต่เขาก็ขอร้อง เราก็เลยเรียกกรรมการบริษัทประชุมตกลงกันว่า ถ้าจะซื้อก็ต้องที่ราคา
60 ล้านเหรียญฯ จากนั้นก็มีการต่อรองราคากันจนยุติที่ 63 ล้านเหรียญฯ โรงงานผลิตกุ้ง
20 ตันต่อวัน พื้นที่ 83 ไร่ จึงกลายเป็นของเรา ซึ่งถือเป็นแหล่งวัตถุดิบทางใต้
ทำให้เราสามารถครอบคลุมวัตถุดิบได้มากขึ้น นอกเหนือจากที่มหาชัย"
ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธีรพงษ์ก็ได้นำ TUF ก้าวสู่การลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งด้วยการก่อตั้งบริษัทไทร-ยูเนี่ยน
ซีฟู้ดส์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างพันธมิตรกลุ่มเดิมที่ซื้อ Pan Pacific
เพื่อทำการซื้อทรัพย์สินของบริษัท Van Camp Seafood ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่า
ปลาแซลมอน และอาหารทะเลกระป๋องด้วยราคา 97 ล้านเหรียญฯ โดยสินทรัพย์ที่ได้มาประกอบด้วยลูกหนี้
วัตถุดิบ สินค้าคงเหลือ โรงงาน VCS Samoa packing company ที่อเมริกันซามัว
และแบรนด์เนม "Chicken of the sea" ที่มีส่วนแบ่งตลาดทูน่าประมาณ
15% ซึ่งถือเป็นอันดับ 3 ในอเมริกา
จากการที่ธีรพงษ์มีนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนโดยให้ความสำคัญกับจังหวะเวลาและราคาที่เหมาะสม
ดีลล่าสุดนี้จึงใช้เวลานานถึง 1 ปีเต็ม เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม
"ของดีไม่ได้หมายความว่าของนั้นต้องแพง ของดีต้องเป็นของที่ราคาเหมาะสม
และเราสามารถที่จะทำกำไรกลับคืนมาได้ ซึ่งเมื่อปี 1988 บริษัทนี้ถูกขายก่อนหน้าที่เราจะเข้าไปซื้อด้วยราคา
265 ล้านเหรียญฯ แต่วันนี้เราจ่ายแค่ 97 ล้านเหรียญฯ" นักเทกฯ หนุ่มกล่าวถึงผลงานที่เขาเฝ้ารอมานับ
10 ปีด้วยความภูมิใจ
แม้ว่า VAN Camp Seafood ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า Chicken of the sea international
ได้กลายมาเป็นทรัพย์สินของกลุ่มพันธมิตรของธีรพงษ์แล้ว แต่การดำเนินงานต่างๆ
ก็มิได้ยุติเพียงเท่านั้นธีรพงษ์ในฐานะหัวเรือใหญ่ จะต้องหาหนทางที่จะสร้างกำไรให้เกิดขึ้นแก่บริษัทนี้โดยเร็ว
เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยยูนิคอร์ดที่ล้มเหลวเพราะบัมเบิลบี
เป็นที่สังเกตว่าการลงทุนในแต่ละธุรกิจของธีรพงษ์เขาจะไม่ได้ดำเนินการเพียงลำพัง
แต่เขาจะมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเข้าร่วมด้วยเสมอ นี่คืออีกหนึ่งนโยบายในการลงทุนของเขา
"นโยบายของเราคือ TUF จะไม่ถือหุ้น 100% เราใช้นโยบายช่วยกันทำ ตอนที่ซื้อ
Pan Pacific และ VAN Camp เราก็ใช้พันธมิตรกลุ่มเดียวกัน เพราะพันธมิตรของเราทั้ง
2 รายนี้มีศักยภาพในธุรกิจนี้สูง และเป็นผู้ที่ชำนาญตลาดในอเมริกาเป็นอย่างดี
ซึ่งหากเราเอาคนของเราไปอยู่ที่อเมริกาจะไปรู้ดีกว่าคนในท้องที่ได้อย่างไร
แม้แต่ดีล Aquastar เราก็ถือหุ้นแค่ 51% ที่เหลือเป็นผู้บริหารกลุ่มเดิมของเขาที่เป็นคนไทยเขาจะได้มีกำลังใจในการทำงานและเราก็มีคนเยอะขึ้น"
วันนี้ "Chicken of the sea international" เป็นเสมือนสิ่งที่ท้าทายความสำเร็จของเขาและ
TUF อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งหากเขาสามารถฟื้นกิจการนี้ให้ผงาดขึ้นอีกครั้งได้สำเร็จ
เราก็จะได้เห็นอะไรที่สนุกกว่านี้แน่นอนเขากล่าวกับ "ผู้จัดการ"
"เรามองไปไกลถึงการจดทะเบียนในตลาด NASDAQ เราเชื่อว่าไม่มีใครโง่และไม่มีใครฉลาดกว่าใคร
แต่เราต้องทำให้มันกำไรก่อน ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า ถ้าเรา
list ได้ สนุกแน่" นี่คืออีกหนึ่งความฝันที่รอวันให้เป็นจริงของคนหนุ่มที่ชื่อ
ธีรพงษ์ จันศิริ
"ข้อมูล" จังหวะเวลา "ราคาที่เหมาะสม" และ "พันธมิตร"
ถือเป็นหัวใจการลงทุนของธีรพงษ์เพื่อทุกก้าวของการเดินบนถนนสายธุรกิจของเขาจะได้มั่นคง
"เราต้องซื้อบริษัทที่ขาดทุนและมาทำให้กำไร ต้องซื้อในช่วงที่ธุรกิจกำลังแย่
และที่สำคัญคือ ซื้อแล้วต้องไม่มีภาระหนี้สิน นโยบายของเราก็คือซื้อแต่สินทรัพย์และต้องเป็นสินทรัพย์ที่ดีด้วย"