รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)แจ้งถึงรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ปรากฏว่ามีผู้บริหารกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่นจำนวน 6 คนได้ขายหุ้นให้กับบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัดและบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัดที่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ SHIN และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ SHIN-W1
ทั้งนี้ ผู้บริหาร 6 รายที่ได้ขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นในวันที่ 9 มีนาคม 2549 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ คิดเป็นจำนวนหุ้นทั้งหมด 24.426 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 49.25 บาท คิดเป็นจำนวนทั้งหมด 1,203.05 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยนายบุญคลี ปลั่งศิริ ขายหุ้นจำนวน 2 ล็อต โดยล็อตแรกจำนวน 17.421 ล้านหุ้นและอีกล็อตจำนวน 1.342 ล้านหุ้นรวมกันเป็นจำนวน 18.763 ล้านหุ้นคิดเป็นจำนวนเงิน 924.10 ล้านบาท ถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริหารอีก 5 รายที่เหลือ
ส่วน 5 รายที่เหลือได้แก่นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ได้ขายหุ้นจำนวน 970,675 หุ้นคิดเป็นจำนวนเงิน 47.77 ล้านบาท,นางศิริเพ็ญ สีตสุวรรณ ได้ขายหุ้นจำนวน 1.835 ล้านหุ้น คิดเป็นเงินจำนวน 90.42 ล้านบาท,นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลและคู่สมรส ได้ขายหุ้นจำนวน 479,446 หุ้นเป็นจำนวนเงิน 23.59 ล้านบาท
นายอเนก พนาอภิชน ได้ขายหุ้นจำนวน 321,440 หุ้นเป็นจำนวนเงิน 15.81 ล้านบาท,นายสมประสงค์ บุญยะชัย ขายหุ้นจำนวน 2.058 ล้านหุ้นคิดเป็นจำนวนเงิน 101.36 ล้านบาท นอกจากนี้นายเอนก พนาอภิชน ยังได้ขายวอร์แรนต์ของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นจำนวน 10,000 หุ้นโดยขายในราคาหุ้นละ 28.75 บาทคิดเป็นจำนวนเงิน 287,500 บาท
***ต่างชาติหันซื้อสุทธิ190ล้านบาท
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้(16 พ.ค.) ดัชนีเปิดในแดนบวก ก่อนจะแกว่งตัวในกรอบแคบๆสลับกันทั้งแดนบวกและลบ โดยดัชนีปิดที่ 739.96 จุด ลดลง1.25 จุด หรือ 0.17 โดยระหว่างวันจุดสูงสุดอยู่ที่ 744.45 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 738.93 จุด มูลค่าการซื้อขาย 15,312.18 ล้านบาท
การซื้อขายนักลงทุนรายกลุ่มปรากฏว่านักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 190.69 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 185.08 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 5.61 ล้านบาท
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วานนี้มีข่าวลือเกี่ยวกับการลาออกและการเว้นวรรคทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ตลาดหุ้นผันผวนตลอดทั้งวัน และมีการขายทำกำไรออกมา แต่ยังมีแรงซื้อกลับในหุ้นตัวใหญ่ อย่าง ปตท.สผ. เนื่องจากได้รับข่าวดีเรื่องการจัดอันดับเครดิต เป็น AAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุด นอกจากนี้ข่าวดีทีเกี่ยวข้องกับบริษัทยังรวมไปถึงการพบน้ำมันจากโครงการที่เวียดนาม และเรื่องการแตกพาร์ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มได้อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้อาจจะมีการขายทำกำไรจากหุ้นเก็งกำไรออกมาบ้าง หลังจากที่นักลงทุนมีการเข้ามาซื้อก่อนหน้า 2-3 วันที่ผ่านมา
สำหรับการลงทุนในวันนี้ หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ตลาดหุ้นน่าจะยังคงผันผวนและปรับตัวลดลง โดยประเมินแนวรับที่ 734-736 จุดแนวต้านที่ 742-744 จุด
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์วานนี้เคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัว เนื่องจากระหว่างวันมีกระแสข่าวว่าการเมืองใกล้ที่จะได้ข้อยุติ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีการชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองอาจจะปรับเปลี่ยนได้โดยตลอด โดยการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเพื่อนบ้านในต่างประเทศและราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงเป็นปัจจัยรายวันที่นักลงทุนจะต้องติดตาม
สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์วันนี้ คาดว่าดัชนีมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 745 จุดได้ โดยกลยุทธ์การลงทุน ยังแนะนำขายทำกำไรหากราคาหุ้นปรับขึ้นโดยให้แนวรับไว้ที่ 738 จุด ให้แนวรับถัดไปไว้ที่ 727 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 745 จุด
นายกิตติ เหมนิลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดหุ้นยังคงถูกปกคลุมด้วยภาวะทางการเมืองโดยประเด็นที่สำคัญคือการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีว่าจะมีการประกาศลาออกหรือไม่
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาปัจจัยทางการเมืองเข้ามากดดันตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละวันการปรับขึ้นลงของดัชนีขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวราคาหุ้นที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายที่ไม่สูงมากจะส่งผลค่อนข้างชัดเจนกับดัชนีทั้งนี้ ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนเริ่มหันกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นขนาดเล็กในลักษณะเก็งกำไรกันมากขึ้น เนื่องจากสามารถปั้นราคาหุ้นได้ง่าย ทำให้ได้ผลตอบแทนในระดับสูงในช่วงระยะเวลาเพียงสั้น หลายบริษัทที่ราคาหุ้นมีการปรับขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งนักลงทุนจะต้องพิจารณาเลือกลงทุนอย่างมีเหตุผล เพราะอาจจะตกเป็นเครื่องมือในการปั้นราคาให้กับนักลงทุนรายใหญ่ได้
***พาณิชย์สอบผู้ถือหุ้นใหม่กุหลาบแก้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำลังดำเนินการสอบสถานภาพของนายสุรินทร์ อุปพัทธกุล ผู้ถือหุ้นรายใหม่ในบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของกุหลาบแก้วจำนวน 272 ล้านหุ้น เป็นเงิน 2,720 ล้านบาทว่าที่มาของเงินดังกล่าวมาจากไหน เป็นเงินของนายสุรินทร์เข้ามาลงทุนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน เพื่อให้สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทไม่ผิดพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวพ.ศ.2542
“กำลังตรวจสอบผู้ถือหุ้นรายใหม่ของบริษัทกุหลาบแก้วที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 2,720 ล้านบาท ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของผู้ถือหุ้นรายใหม่จริงหรือไม่ และเป็นการเข้ามาลงทุนจริงหรือไม่ หรือเข้ามาเพื่อถือหุ้นแทนต่างชาติ ซึ่งจะต้องชี้แจงให้ได้”แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากผู้ถือหุ้นชี้แจงไม่ได้ว่าเงินที่นำมานั้นเป็นเงินของตนจริง ก็เข้าข่ายเป็นการถือหุ้นแทน ซึ่งหากเป็นการถือหุ้นแทนต่างชาติ จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 36 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่น ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการถือหุ้นแทน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2549 บริษัท กุหลาบแก้ว มีทุนจดทะเบียน 16,440,000 หุ้น มีนายพงส์ สารสิน และนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทต่างด้าว) ถือหุ้น 49% แต่เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2549 มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 400,000,000 หุ้น แต่นายพงส์ กับนายศุภเดช กลับกลายเป็นเพียงผู้ถือหุ้นปุริมสิทธิ์ และมีนายสุรินทร์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวน 272,000,000 หุ้น ขณะที่บริษัท ไซเพรสฯ ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 111,560,000 หุ้น แต่สัดส่วนก็ยังไม่เกิน 49%
แหล่งข่าวกล่าววา ในการตรวจสอบยังพบความผิดปกติอีก กล่าวคือ ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ถือหุ้น กรรมการ และที่ตั้งสำนักงานของทั้ง 4 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ได้แก่ บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน และมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ในที่เดียวกัน ซึ่งจริงๆ ไม่น่าจะเป็นไปได้ และในการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มทุนก็กระทำการในวันเดียวกัน
“เบื้องต้นเป็นการตั้งข้อสังเกตุไว้ แต่จะต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าสาเหตุใดทั้ง 4 บริษัท จึงมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน แล้วมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง"แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับบริษัท กุหลาบแก้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 10มี.ค.มีนายพงส์ นายศุภเดช น.ส.บุญยรัตน์ อภิวิศาลกิจ น.ส.สายฝน เจริญเกียรติ น.ส.อรุณี ธำรงค์ธนกิจ เป็นผู้ถือหุ้นปุริมสิทธิ์ นายสุรินทร์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และบริษัท ไซเพรส ซึ่งเป็นบริษัทต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 49% บริษัท ซีดาร์ฯ เมื่อวันที่3มี.ค.ถือหุ้นโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท กุหลาบแก้ว บริษัท ไซเพรสฯ น.ส.บุญยรัตน์ น.ส.สายฝน น.ส.อรุณี และน.ส.พิณประภัสร์ จาติกวนิช ขณะที่บริษัทแอสเพนฯ และไซเพรสฯ เมื่อวันที่3มี.ค.ถือหุ้นโดยกลุ่มบริษัทและกลุ่มคนเดียวกัน คือ ซิคคามอร์ อินเวสเม้นท์ โฮลดิ้ง พีทีอี แอลทีดี นายศราวุธ กุลรัตน์ นายศุภวัฒก์ ศรีรุ่งเรือง น.ส.บุญยรัตน์ น.ส.สายฝน น.ส.อรุณี และน.ส.พิณประภัสร์
|