Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2540
ธุรกิจเจ้าปัญหาของกลุ่มเตชะไพบูลย์             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 


   
search resources

อุเทน เตชะไพบูลย์
Real Estate




กลุ่มเตชะไพบูลย์ ก้าวมาถึงทางตันทางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง การก่อสร้างอภิมหาโปรเจ็กต์ ตัวอย่างเช่น "เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์" และ "ฮาเบอร์วิว" ที่ครองแชมป์การก่อสร้างล่าช้าที่สุดอยู่แล้วต้องยืดเยื้อไปอีก ส่วนโครงการ "โอเอซิส" เองที่ใกล้จะเสร็จก็ต้องหยุดการก่อสร้างไว้ชั่วคราวเช่นกัน ทางด้านโครงการยักษ์ "ศรีราชานคร" ก็ต้องใช้เงินจำนวนมากอัดฉีด คราวนี้เห็นทีแบงก์ศรีนครเองก็คงช่วยอะไรไม่ได้แล้ว !

ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ที่มีกลุ่มเตชะไพบูลย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องประสบปัญหากับข่าวลือด้านลบมากธนาคารหนึ่งในช่วงสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จนต้องเตรียมการเพิ่มทุนและหากลุ่มผู้ร่วมทุนใหม่ให้วุ่นวายไปหมด

บังเอิญโชคช่วย ข่าวลือยังไม่ทันได้ถูกตัดสินก็เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองเสียก่อน และทันทีที่ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเมืองไทยเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2540 นั้นชวน หลีกภัย ก็ย้ำว่าจะไม่มีการปิดสถาบันการเงินอีกต่อไป

ปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของข่าวลือในครั้งนั้นเป็นเพราะหนี้สินจำนวนมากของธนาคารที่เกิดจากกิจการของบริษัทในเครือ โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์

ตระกูลเตชะไพบูลย์ก็เหมือนธนราชันรายอื่นๆ ของเมืองไทยที่นิยมค้าเงิน และค้าที่ดินไปพร้อมๆ กันจะต่างกันตรงที่ว่าโครงการพัฒนาที่ดินในมือของกลุ่มนี้หลายโครงการพัฒนาไม่สำเร็จถูกทิ้งค้างคา ให้ดอกเบี้ยเงินกู้เบ่งบานสูงขึ้นทุกวี่ทุกวัน จนสร้างปัญหากลับไปยังธนาคารศรีนครแหล่งใหญ่ที่ปล่อยเม็ดเงินออกมา

ความสามารถในการบริหารเป็นสิ่งที่ถูกมองมากที่สุด หลายโครงการของกลุ่มนี้ผู้ที่รับผิดชอบก็คือคนในตระกูล โดยเฉพาะโครงการทางด้านพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มเตชะไพบูลย์คือโครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์นั้นใช้เวลาสร้างกันยาวนานกว่า 10 ปี

จนวันนี้ในส่วนของตึกสูงการก่อสร้างยังค้างคาอยู่ที่ประมาณชั้นที่ 38 ทั้งที่เมื่อมีการปรับแผนครั้งใหม่ล่าสุดเมื่อปี 2538 นั้น ในส่วนเฟสที่สำคัญคืออาคารสำนักงานสูง 63 ชั้นนั้นกำหนดจะต้องเสร็จสิ้นปี 2540 แต่แม้จะเป็นปีนี้ก็เท่ากับว่าล่าช้าไปจากแผนการเดิมถึง 9 ปี

เรื่องมันเลยยุ่งไม่รู้จบ แต่ถ้ามองต่างมุมก็คงยิ่งยุ่งเหยิงขึ้นไปอีกถ้าเสร็จปีนี้จริงๆ ซึ่งเป็นปีที่ตลาดอาคารสำนักงานดิ่งลงเหว

เมื่อพลิกปูมหลังของโครงการนี้จะพบว่าตามสัญญาการเช่าที่ระหว่างบริษัทวังเพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับคัดเลือกจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เข้ารับสัมปทานในการจัดประโยชน์ที่ดินพื้นที่ 65 ไร่ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ทำโครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์นั้นจะพบว่าครั้งแรกโครงการนี้มีสัญญาเช่ารวม 30 ปี นับจากวันที่งานก่อสร้างสิ้นสุดลง โดยจะต้องก่อสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปี นับจากวันที่ระบุในสัญญาคือวันที่ 22 สิงหาคม 2526

นั่นก็หมายความว่าโครงการนี้ต้องเสร็จสมบูรณ์เต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งถ้าเสร็จสมบูรณ์ตามช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงยุคทองของเศรษฐกิจในเมืองไทยนั้น กลุ่มเตชะไพบูลย์คงฟันกำไรไปอย่างมหาศาลแล้ว

ความล่าช้าของโครงการนี้ประเด็นสำคัญถูกเพ่งเล็งไปยัง วิรุฬ เตชะไพบูลย์ ลูกชายคนที่ 2 ของเจ้าสัวอุเทน ซึ่งเป็นคนนำทีมในการบริหารซึ่งโครงการใหญ่เช่นนี้แน่นอนว่าการบริหารต้องมีมาก ยิ่งมาเจอกับปัญหาเรื่องสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปัญหาการเมืองภายในประเทศ ลากยาวมาจนถึงช่วงที่กำลังซื้อหดหาย และเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ในเรื่องการเงินของประเทศในวันนี้ ส่งผลให้ทางโครงการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนักต่อเนื่องมาโดยตลอด

เจ้าหนี้รายใหญ่ของโครงการเวิลด์เทรด คือธนาคารศรีนครที่พยายามหาเม็ดเงินอัดฉีดโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เสร็จสิ้นเป็นอนุสรณ์สถานของตระกูล อย่างที่อุเทน เตชะไพบูลย์ ตั้งใจไว้ แต่เมื่อโครงการไม่มีอะไรคืบหน้า มีเพียงแต่ในส่วนของศูนย์การค้าเซ็นและอิเซตันเท่านั้นที่เปิดดำเนินการได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางกลุ่มเตชะไพบูลย์ก็ได้พยายามหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ ซึ่งในที่สุดทางธนาคารไทยพาณิชย์ก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยประกาศจะอัดฉีดเงินจำนวน 4,000 ล้านบาทเพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าต่อไป

ซึ่งคราวนั้นกลุ่มเตชะไพบูลย์ได้เปิดแถลงข่าวอย่างใหญ่โต ทั้งๆ ที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาปิดตัวปิดปากเงียบเกี่ยวกับโครงการนี้มาตลอด โดยประกาศแผนการใช้เงินว่าจะนำเงินประมาณ 1,100 ล้านบาทไปชำระหนี้คืนธนาคารศรีนคร ส่วนที่เหลือจะเอาไปใช้ในงานก่อสร้างในส่วนของตึกสูง 63 ชั้น โดยจะมีรายได้อีกส่วนหนึ่งเข้ามาคือเงินที่มาจากการทำสัญญาเซ้งพื้นที่ซึ่งจะมีพื้นที่ขายประมาณ 126,000 ตารางเมตร

บริษัทโจนส์แลงก์วูธทั่น คือบริษัทที่เข้ามารับงานขายในครั้งนั้น เช่นเดียวกับบริษัทสยามซินเท็คที่จะเข้ามาดำเนินการต่อในการก่อสร้าง ทุกคนร่วมเซ็นสัญญาในวันนั้นด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสเช่นเดียวกับอุเทนในวัย 81 ปีซึ่งเดินทักทายและรับรองแขกเหรื่ออย่างกระฉับกระเฉง จนเวลาลุล่วงเข้าปลายปี 2540 ซึ่งเป็นกำหนดแล้วเสร็จ โครงการนี้กลับถูกทิ้งค้างคาอีกครั้งไว้ที่ชั้น 38

แหล่งข่าวจากบริษัทสยามซินเท็คยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าทางบริษัทหยุดงานก่อสร้างที่โครงการนี้ชั่วคราวหลายเดือนแล้ว โดยไม่ยอมเปิดเผยเหตุผล

ส่วนทางด้านบริษัทโจนส์แลงก์วูธทั่นที่เข้าไปรับงานบริหารการขายก็เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าทางบริษัทไม่ได้รับงานขายโครงการนี้แล้ว

เกิดอะไรขึ้นกับโครงการอาถรรพ์นี้อีกแล้ว ผู้ที่น่าจะตอบได้ดีนอกเหนือจากกลุ่มเตชะไพบูลย์ที่ปิดปากเงียบคือทางธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเคยยื่นมือเข้ามากอบกู้สถานการณ์

แหล่งข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การเข้ามาปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการนี้แน่นอนว่าทางธนาคารก็ต้องการเข้าไปเป็นผู้บริหารด้วย ซึ่งอาจจะมีปัญหาว่าทางกลุ่มศรีนครเองก็ไม่ยอมปล่อยมือในเรื่องนี้ ประกอบกับภาวะตลาดสำนักงานที่ซบเซาอย่างหนัก ทำให้ต้องคิดหนักในการปล่อยเงินก็เลยยังชะลอไว้ก่อนก็ได้

นอกจากโครงการนี้ที่ทิ้งค้างอวดโฉมกลางกรุงมาเนิ่นนาน ทางกลุ่มเตชะไพบูลย์ก็ยังมีคอนโดมิเนียมหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือโครงการ "ฮาเบอร์วิว" ซึ่งเริ่มเปิดขายและก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2533 ตัวโครงการตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ใกล้ๆ กับสะพานซังฮี้และโครงการบางกอกมารีน่า โครงการคอนโดรูปไข่ แต่ในขณะที่โครงการบางกอกมารีน่าเดินเครื่องก่อสร้างเต็มที่จนสร้างเสร็จมีคนเข้าพักอาศัยมานานหลายปีแล้ว ฮาเบอร์วิวก็มีปัญหาทางด้านก่อสร้าง จนต้องชะงักงันอยู่หลายครั้งจนถึงบัดนี้ 7 ปีผ่านไป โครงการตึกสูง 35 ชั้นนี้ก็ไม่เสร็จเรียบร้อย ถูกทิ้งร้างค้างคาไว้เช่นเดียวกับโครงการเวิลด์เทรด

ฮาเบอร์วิว เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มเตชะไพบูลย์ประสบความสำเร็จจากโครงการริเวอร์ไซด์ ทาวเวอร์ คอนโดริมแม่น้ำในพื้นที่ 16 ไร่ย่านถนนพระราม 3 ใกล้กับสะพานแขวนซึ่งเป็นอาคารสูง 22 ชั้น 2 ทาวเวอร์ประมาณ 120 ยูนิต นับว่าเป็นคอนโดริมแม่น้ำราคาสูงยุคแรกๆ ที่มีเพียงไม่กี่โครงการในช่วงปี 2532

วีระเดช เตชะไพบูลย์ ลูกชายคนสุดท้องของอุเทน เตชะไพบูลย์ ที่ถูกกำหนดบทบาทให้เข้ามาดูแลธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลและเข้ามารับผิดชอบ 2 โครงการนี้ในขณะที่วีระเดชเองก็ไม่พร้อมที่จะเปิดเผยข่าวของฮาเบอร์วิว แต่ภายในบริษัทนั้นว่ากันว่าโครงการนี้ถูกเสนอขายนักลงทุนทั้งนอก และในประเทศหลายครั้งแต่ปัจจัยสำคัญที่ว่าตลาดที่อยู่อาศัยราคาแพงนั้นขณะนี้ตายสนิทมานานโดยยังไม่เห็นอนาคต และที่สำคัญโครงการคอนโดหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่งตั้งแต่เขตพระนครไปทางเหนือจนถึงอำเภอปากเกร็ดนนทบุรี และฝั่งทางใต้ไปจนถึงถนนพระราม 3 นั้นมียูนิตทิ้งร้างอยู่เป็นจำนวนมาก

ซึ่งแน่นอนว่าคอนโดสูงกว่า 30 ชั้น ค่าก่อสร้างรวมทั้งค่าดอกเบี้ยจนถึงวันนี้ ต้องทวีเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท และที่สำคัญการก่อสร้างที่เลยกำหนดมานานอย่างนี้ลูกค้าที่เคยวางเงินจองไว้อาจจะขอเงินคืนไปหมดแล้ว ส่วนลูกค้าใหม่ก็คงหมดความไว้วางใจที่จะซื้อเช่นกัน

อีกโครงการหนึ่งที่วีระเดชเข้าไปรับผิดชอบ และต้องกุมขมับเหมือนกันก็คือโครงการโอเอซิส ที่ทำในนามบริษัทคริสตัลซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ตั้งอยู่ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ใกล้แยกอโศก เป็นคอนโดพักอาศัยสูง 28 ชั้น และ 25 ชั้น 2 ตึก ดูทำเลที่ตั้งและรูปแบบโครงการแล้วโครงการนี้น่าจะไปได้ดีเป็นรูปแบบคอนโดในเมืองที่ดีมากโครงการหนึ่ง แต่ก็เช่นเดียวกันในขณะที่โครงการคอนโดเมืองที่กำลังฮิตของกลุ่มพัฒนาที่ดินกลุ่มอื่น ต่างพากันเดินหน้าและสร้างเสร็จไปแล้ว โครงการนี้ก็ล่าช้าอีกจนได้ จากกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2539 ถูกเลื่อนไปเป็นปลายปี 2541 และล่าสุดจากปัญหาทางด้านการเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงการทำให้โอเอซิสต้องหยุดชะงักการก่อสร้างไปอีก โดยที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างใหม่ต้นปี 2541 และจะแล้วเสร็จในปี 2542

วีระเดชเองก็เคยประกาศขายตึกสูง 25 ชั้นตึกด้านหน้ามาตลอดเพื่อให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นแต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจาก 3 โครงการที่ทางกลุ่มเตชะไพบูลย์กำลังเร่งรีบหาทางออกก่อนที่จะอาการหนักไปกว่านี้ ก็ยังมีโครงการพัฒนาที่ดินของกลุ่มเตชะไพบูลย์ที่กำลังใช้เงินลงทุนก้อนมหึมาหลายพันล้านบาทมูลค่าโครงการนับหมื่นล้านบาท อีกแห่งคือโครงการศรีราชานคร ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 141 ไร่ กม.ที่ 118 ติดกับถนนสุขุมวิท อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่บริษัทไม้อัดศรีราชานครประมูลได้ไปในราคาประมาณ 500 ล้านบาท ต่อมาที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของเสี่ยฮวด หรือพิพัฒน์ โรจนวณิชชากร นักธุรกิจท้องถิ่นในอำเภอศรีราชาเพื่อสร้างโครงการศรีราชาคอมเพล็กซ์ เสี่ยฮวดได้ซื้อต่อที่ดินแปลงนี้ในราคาประมาณ 600 ล้านบาท โดยกู้เงินจากธนาคารศรีนคร แต่ยังไม่ทันเปิดโครงการเสี่ยฮวดได้เสียชีวิตลงจากการถูกยิงถล่มด้วยอาวุธสงคราม ทายาทจึงได้ประกาศขายต่อ ทางเจ้าหนี้รายใหญ่คือกลุ่มเตชะไพบูลย์ จึงได้เข้ามาสานต่อโครงการและเปลี่ยนชื่อเป็นศรีราชานครคอมเพล็กซ์

ศรีราชานครเปิดตัวเมื่อประมาณปี 2534 ตามคอนเซ็ปต์ของโครงการนี้จะต้องเป็นเมืองประกอบไปด้วยศูนย์การค้าแปซิฟิคพาร์ค และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน อาคารพาณิชย์รวมกว่า 1,000 ยูนิต คอนโดมิเนียม 7 อาคาร กว่า 2,000 ยูนิต โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ขนาด 250 เตียง และโรงแรม

ซึ่งตามความคืบหน้าในปัจจุบันก็คือในส่วนของศูนย์การค้าแปซิฟิคพาร์ค และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ขณะนี้เปิดให้จองพื้นที่ขาย ส่วนของอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง-4 ชั้นพร้อมชั้นลอยกำลังขายในราคาเริ่มต้นที่ 2.49 ล้านบาท

ทางด้านโรงพยาบาลพญาไทศรีราชานั้น ขณะนี้ได้เปิดบริการไปแล้วในส่วนของศรีราชาเพลสคอนโดมิเนียม ขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 1 อาคาร สูง 15 ชั้นโดยชั้นที่ 1-10 จะเป็นคอนโดพักอาศัย 125 ยูนิต ขนาด 34 ตารางเมตร ราคาประมาณ 8 แสนบาท

และเพื่อเป็นการปรับแผนให้สอดคล้องกับภาวะตลาดส่วนหนึ่งของคอนโดหลังนี้คือในชั้นที่ 11 นั้นได้จัดให้บริการแบบเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ให้เช่ารายวัน วันละ 800-1,000 บาท หรือถ้าคิดเป็นเดือนประมาณ 11,000-11,500 บาท

ขณะนี้บริษัทได้พัฒนาโครงการนี้ไปแล้วกว่า 100 ไร่ ใช้เงินก่อสร้างไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท และต้องใช้เงินในการพัฒนาต่ออีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนตัวของโรงแรม อาคารสำนักงานนั้นได้ตัดสินใจชะลอการก่อสร้างไปก่อนเพื่อรอภาวะของตลาด โครงการนี้มีสมบูรณ์ วรปัญญาสกุล ซึ่งเป็นเครือญาติใกล้ชิดของตระกูลนี้เพราะเสาวณีย์ภรรยาของวิเชียร คือน้องสาวของเขาเองเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

เป็นที่รู้กันว่าโครงการศรีราชานครนั้นในระยะแรกของการเปิดขายก็จะลื่นไหลไปได้ดีพอสมควร แต่ในระยะหลังๆ นี้จากภาวะตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซามาตลอดผนวกกับข่าวลือของธนาคารศรีนครเอง ก็มีความเป็นไปได้มากว่ายอดขายในระยะนี้ฝืดพอสมควร

สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมบางปูที่เคยเป็นเม็ดเงินหล่อเลี้ยงโครงการอื่นๆ ในช่วงเวลานี้ คงเป็นที่พึ่งยากเช่นกัน

ย้อนหลังไปเมื่อ 30 ปีก่อน อุเทนเคยกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ร่วมกับกลุ่มอื้อจือเหลียงจำนวนมหาศาลเกือบหมื่นไร่ ริมถนนสุขุมวิท โดยมีความตั้งใจจะพัฒนาที่ดินแปลงนั้นให้เป็นสวนสนุกแบบดิสนีย์แลนด์ของอเมริกา แต่โครงการนั้นต่อมาก็ได้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมโครงการแรกของเมืองไทย โดยพื้นที่ดินในโครงการได้ถูกวางผังแบ่งการใช้ที่ดินไว้อย่างชัดเจน โดยเริ่มพัฒนาที่ดินขายตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา ซึ่งเฟสแรกจำนวนเกือบ 4,000 ไร่นั้น ได้สร้างเม็ดเงินกลับมาให้กลุ่มนี้มหาศาลเพราะจากต้นทุนที่ดินบางแปลงราคาต่อไร่ไม่ถึง 1,000 บาท สามารถขายได้เป็นล้านบาทต่อไร่

แต่พอเริ่มพัฒนาเฟสที่ 2 ขายเมื่อประมาณปี 2533 ก็ต้องเจออุปสรรคครั้งใหญ่ ภาวะสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปัญหาการเมืองภายในประเทศ จนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาถึงปัจจุบัน พร้อมๆ กับนิคมอุตสาหกรรมคุ่แข่งเกิดขึ้นมากมาย ทำให้สภาพการขายในระยะปีหลังๆ จึงประสบปัญหาเหมือนกับอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไปเช่นกัน

แหล่งข่าวในนิคมบางปูยืนยันว่าขณะนี้ทางกลุ่มเตชะไพบูลย์และเอื้อวัฒนะกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งยังไม่พัฒนาอีกประมาณ 2,000-3,000 ไร่ และปัจจุบัน นิพิธ โอสถานนท์ ลูกเขยคนโตของอุเทนเป็นผู้บริหารและมีวันจักร วรดิลก อดีตผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเป็นผู้จัดการทั่วไป

ดูราวกับว่าโครงการที่ประสบความสำเร็จในขณะนี้คงจะเป็นโครงการแฮมตันเพลสในซอยลาดพร้าว 126 ซึ่งเป็นคอนโดสูง 8 ชั้น จำนวน 60 ยูนิต ราคาประมาณยูนิตละ 6 แสนบาท และทาวน์เฮาส์อีก 54 หลังราคาประมาณ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมียอดขายเกิน 90% แล้ว แต่ก็เป็นกระแสเงินที่ไหลเข้ามาเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องใช้ในอีกหลายโครงการที่กำลังก่อสร้าง

เมื่อการบริหาร การเงิน การตลาด มีปัญหาพร้อมๆ กันอย่างนี้แนวความคิดที่จะขายทิ้ง หรือหาผู้ร่วมทุนอาจจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องแน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เช่นกันในสถานการณ์อย่างนี้

เห็นทีตระกูลนี้ต้องรับศึกหนักหลายด้านไปอีกนานทีเดียว !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us