จากภาวะเศรษฐกิจไทยในรอบปีที่ผ่านมาที่ลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศต่างออกอาการผวา
ไม่มีกำลังใจในการลงทุนต่อไป เนื่องจากลงทุนต่อไปแล้วไม่ทราบว่าอนาคตผลตอบแทนที่จะกลับมานั้นคุ้มหรือไม่
หนทางออกของนักลงทุนก็คือชะลอการลงทุน หรือหันไปหาลู่ทางการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพมากกว่านี้
แต่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าหรือ EGCOMP กลับทำในสิ่งที่สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในโครงการต่างๆ
อย่างมากมายทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้เนื่องจากเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ คือเป็นบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หรือ กฟผ. ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวเป็นเวลาถึง 20 ปี ทำให้จะมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ
เริ่มตั้งแต่โครงการร่วมทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย
(SPP) ซึ่งโครงการแรกได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า บริษัท อมตะ-เอ็กโก้ พาวเวอร์
จำกัด โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อมตะ-พาวเวอร์ จำกัดกับ EGCOMP
เพื่อพัฒนาและดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โดยอมตะ-พาวเวอร์ถือหุ้น
74% และ EGCOMP ถือ 26%
"ตอนนี้กำลังก่อสร้างซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะกง อินดัสเตรียลปาร์ค
2 โครงการนี้มี 2 เฟส โดยเฟสที่ 1 มีขนาด 170 เมกะวัตต์ โดยระยะแรกจะแล้วเสร็จช่วง
มิ.ย. 40 ประมาณ 120 เมกะวัตต์ และระยะที่ 2 อีก 50 เมกะวัตต์จะแล้วเสร็จ
พ.ค. 41 ส่วนเฟส 2 คาดว่าจะเสร็จประมาณ ก.ค. 42 โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าขนาดเท่าเฟสแรก"
มัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการบริหาร และรองกรรมการบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการสายบริหารและการเงิน
กล่าว
สำหรับเงินลงทุนในระยะแรกนั้นจะใช้เงินทั้งหมด 4,500 ล้านบาท โดยจะใช้เงินในส่วนที่เป็นทุน
(EQUITY) ประมาณ 1,000 ล้านบาท จาก EGCOMP 30% และ อมตะ-พาวเวอร์อีก 70%
และอีก 3,500 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน KRE-DITSTAN-STALT FUR
WELDER-AUFBAU (Kfw) ประมาณ 2,500 ล้านบาทและกู้จาก ธนาคารกรุงเทพจำนวน 900
ล้านบาท
ถัดจากนั้นจะร่วมทุนกับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BPC) เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยมีขนาดกำลังผลิตประมาณ
96 เมกะวัตต์
"สัดส่วนการลงทุนโครงการนี้จะถือฝ่ายละ 50% แต่ขณะนี้เรากำลังศึกษาอยู่ว่าจะใช้เงินลงทุนเท่าไหร่
และมองหาแหล่งเงินกู้ด้วย คาดว่าเราจะกู้จากต่างประเทศประมาณ 50-60%"
มัชฌิมา กล่าว
ด้านอัตราผลตอบแทนของโครงการ มัชฌิมาได้กล่าวอย่างมั่นใจว่า IRR ของโครงการที่ร่วมทุนกับบางจากนั้นจะดีกว่าโครงการอมตะ-เอ็กโก้
พาวเวอร์เล็กน้อย เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่าเพราะว่าผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับโรงกลั่นบางจากกับ
กฟผ.เท่านั้น ส่วนอมตะ-เอ็กโก้ พาวเวอร์จะขายให้กับโรงงานทั่วๆ ไปในนิคมอุตสาหกรรมบางปะกง
"IRR ของบางจากจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ส่วนอมตะ-เอ็กโก้ พาวเวอร์
IRR จะได้ไม่ถึง 20% แต่ทั้ง 2 โครงการจะมีจุดคุ้มทุน 7 ปี เหมือนกัน"
ส่วนโครงการที่จะร่วมทุนกับ บมจ.ยูเนี่ยนอุตสาหกรรมสิ่งทอ (UT) แม้ว่าจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ
(MOU) กันไปแล้วระดับหนึ่ง โดย EGCOMP จะเข้าไปถือหุ้น 24.50% แต่โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรมาก
เนื่องจาก EGCOMP มองว่าผู้ที่จะมาใช้ไฟฟ้า นอกจาก กฟผ.ก็คือโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ยังอยู่ในภาวะซบเซาอย่างมาก ดังนั้นจึงชะลอโครงการไปก่อนจนกว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอจะกระเตื้องขึ้น
นอกจากนี้มัชฌิมา ยังได้เปิดเผยว่า EGCOMP ยังมีโครงการในมืออีกหลายโครงการ
"แต่เขายังไม่ให้ผมเปิดเผย ซึ่งจะเข้ามาอีกประมาณ 5 โครงการ"
และโครงการที่ EGCOMP ลุ้นที่สุดว่าจะได้ทำหรือไม่นั่นคือการเข้าร่วมประมูลโครงการ
IPP เฟส 2 ซึ่งโอกาสที่จะชนะการประมูลนั้นมีค่อนข้างสูงพอสมควร แต่จนถึงปัจจุบันการเปิดประมูลดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจนและจะเปิดประมูลให้ทันภายในปี
40 ได้หรือไม่นั้นคงจะต้องติดตามกันต่อไป
อีกทั้ง EGCOMP ยังได้แตกไลน์ธุรกิจออกไปด้วยการจัดตั้งบริษัท เอ็กโก้
เอ็นจิเนียริง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (เอสโก้) ซึ่ง EGCOMP ถือหุ้น 99.99%
และได้มีการเซ็น MOU กับ บริษัท จอห์น วูด กรุ๊ป บี.วี. จำกัด และนายพิชิต
ติยะวุฒิโรจน์ เพื่อสร้างโรงงานซ่อมชิ้นส่วนเครื่องแก๊สเทอร์ไบน์ของโรงไฟฟ้า
โดยเอสโก้และ บริษัท จอห์น วูด กรุ๊ป บี.วี.จะถือหุ้นเท่ากัน 45% ส่วนนายพิชิต
ติยะวุฒิโรจน์ จะถือ 10%
เอสโก้ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ CMS ENERGY ASIA PTA TD. เพื่อจัดตั้งบริษัทบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาให้กับโรงไฟฟ้า
อมตะ-เอ็กโก้ พาวเวอร์ โดยถือหุ้นบริษัทละ 50%
นอกจากนี้ EGCOMP ยังออกไปแสวงหารายได้จากต่างประเทศด้วยการตั้งบริษัทเอ็กโก้
ธุรกิจเหมือง จำกัด โดยมีผู้ถือหุ้นได้แก่ EGCOMP 40% บริษัท เอเชียเอ็นเนอร์ยี
ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด 40% บริษัท เจ.บี. เอ็นเนอร์ยี จำกัด 10% และ บงล.เอ
ชี เอฟ 10% การจัดตั้งบริษัทดังกล่าวขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจำรวจและพัฒนาแหล่งถ่านหิน
โดยจะเข้าร่วมกับ P.T. BORNEO INDOBARA LTD. ซึ่งเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในเขตสัมปทานในอินโดนีเซีย
โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน คือ เอ็กโก้ ธุรกิจเหมืองถือหุ้น 75% และ P.T. BORNEO
INDOBARA ถือ 25%
ส่วนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในต่างประเทศนั้นหลายแห่งอยู่ระหว่างการเจรจาและศึกษาความเป็นไปได้
ครอบคลุมทั้งเวียดนาม จีน ลาว และพม่า
"ในเวียดนามเราเสนอตัวเข้าไปแล้วถ้าเกิดเราชนะเราก็สามารถดำเนินการได้เลยและเป็นโครงการที่ใหญ่มาก
โดยมีขนาดผลิตไฟฟ้าประมาณ 600 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท
ซึ่งจะลงทุนกับผู้ร่วมลงทุนฝ่ายละ 50%" มัชฌิมา กล่าว
โครงการในจีนเป็นโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน 1 แห่ง กำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์และจะปรับปรุงโดยเพิ่มกำลังการผลิตเป็น
124 เมกะวัตต์ในมณฑลเจียงซู มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท ซึ่ง EGCOMP จะถือหุ้น
50% นอกจากนี้ยังมีโครงการจะสร้างโรงไฟฟ้าในมณฑลเซี่ยงไฮ้ขนาด 300 เมกะวัตต์ด้วย
และโครงการในพม่าก็อยู่ระหว่างการยื่นประมูลสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงกำลังการผลิต
200 เมกะวัตต์
"ในลาวนั้นยังไม่มีความชัดเจนเพียงแต่มีผู้เชื้อเชิญให้เข้าไปทำ เพราะถ้าเราไม่ได้เป็น
LEAD ในการสร้างเราก็จะไม่เข้าไปทำ"
จากการที่ EGCOMP ได้ผุดโครงการอย่างมากเช่นนี้ประเด็นที่ต้องชวนให้คิดก็คือจะนำเงินมาจากไหนเพื่อมาดำเนินงาน
ซึ่งเรื่องนี้มัชฌิมาได้กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่าไม่มีปัญหาเนื่องจากปัจจุบันเรามีเงินทุนจากการออกหุ้นสามัญครั้งที่
2 เหลืออยู่ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท
"ถ้าเราทำโครงการเล็กๆ อย่าง SPP สัก 4-5 โครงการเราไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุน
นอกจากเราชนะการประมูล IPP เราถึงจะระดมทุนใหม่" มัชฌิมากล่าวปิดท้าย