Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2540
ความพยายามของธนินท์ ชาติรอด ซี.พี. รอด             
โดย พิจิตรา ยิ้มจันทร์
 

 
Charts & Figures

ความเคลื่อนไหวของธนินท์ เจียรวนนท์ และปรากฎการณ์ทางการเมือง
เครื่อเจริญโภคภัณฑ์

   
related stories

เมื่อธนินท์ เจียรวนนท์ ต้องขี่หลังเสือ!

   
www resources

โฮมเพจ เครือเจริญโภคภัณฑ์

   
search resources

เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนินท์ เจียรวนนท์




ธนินท์ เจียรวนนท์ ออกงานสังคมบ่อยครั้ง เข้าหาศูนย์อำนาจรัฐ ด้วยความเชื่อแบบเถ้าแก่ ใช้สายสัมพันธ์แก้ปัญหาธุรกิจ แต่บทเรียนที่ผู้นำซี.พี.ได้รับครั้งนี้ มีผู้นำการเมืองดีก็ทำให้ประเทศดี ตราบใดผู้นำแก้ปัญหาของชาติไม่ตก แม้สัมพันธ์ล้ำลึกก็ช่วยไม่ได้

กิจการหลายสาขาของ ซี.พี. ชะงักงัน ชะลอการลงทุน ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หนี้สินเพิ่ม การเดินเกมของเจ้าสัวธนินท์อาจเพื่อช่วยแก้ปัญหาของชาติ ? แต่ด่านแรกเพื่อพยุงธุรกิจ ซี.พี. ไม่ให้ล้มกลางทางด้วยความเชื่อเรื่องสายสัมพันธ์นักการเมือง แต่ครั้งนี้ ซี.พี. ต้องเจอภาวะสะดุดขาตัวเองได้เหมือนกัน !!

ช่วงปี 2540 การเคลื่อนไหวของธนินท์มีมากจนเป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่เคยพยายามเกษียณอายุตนเองเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เหตุใดต้องหวนคืนสังเวียนอีกครั้ง ทำไมจึงมีภาพของธนินท์ที่ทำเนียบรัฐบาลพบปะอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ การร่วมหารือกับอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือการนำดอกไม้ไปแสดงความยินดี กับนายกฯ คนล่าสุด ชวน หลีกภัย

ทำไมธนินท์ต้องหันมาทำกิจกรรมด้านการเมือง ทั้งที่ส่งผลเสียต่อภาพพจน์กับซี.พี. แม้จะมีส่วนดี ในการแสดงท่าทีชัดเจนของนักธุรกิจ แต่ก็เป็นดาบสองคม

ความสัมพันธ์ที่มีกับนักการเมือง แสดงความชัดเจนขึ้น

กลางปี 2539 การแผ่ขยายอาณาจักรซี.พี.มีต่อเนื่อง แต่ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่วิกฤติ ทำให้ธนินท์ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นบ่อยครั้ง

ธนินท์ก็ยังคงประกาศนโยบายและทิศทางของซี.พี. ยังจะมุ่งไปในธุรกิจด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ทั้งเทคโนโลยีที่ใช้กับการเกษตร ด้านสื่อสารโทรคมนาคม และใต้ทะเล แต่ก็ยังแสดงความเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก และรายกลาง โอกาสเติบโตก็คงมียาก

ธนินท์รับรู้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ เพราะซี.พี.มีธุรกิจในมือ 9 กลุ่มธุรกิจหลักกับอีก 2 ธุรกิจใหม่

ด้วยนโยบายการนำเทคดนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในธุรกิจเกษตรที่ซี.พี.เชี่ยวชาญอยู่ เป็นการลดต้นทุนด้านบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต ขณะที่เทคโนโลยีอวกาศเช่นการมีดาวเทียม และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมเป็นเรื่องของความจำเป็นที่จะใช้ในอนาคต ขณะที่ใต้ทะเล เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีอยู่มหาศาลเพราะผืนน้ำมากกว่าผืนดิน

ธนินท์ยังมีความคิดที่จะมุ่งขยายธุรกิจในต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อห้เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นธุรกิจข้ามชาติเหมือนอย่างแดวู หรือซัมซุงของเกาหลี ตลาดใหญ่ของเขาคือจีนที่มีฐานการลงทุนอยู่ถึง 70% เป้าหมายต่อไปของเขาคือสหรัฐอเมริกา

เมื่อคนอย่างธนินท์ลั่นวาจาเขาต้องเดินหน้าอย่างแน่นอน แม้จะมีคำถามตามมาเกี่ยวกับความมั่นใจในความสำเร็จ ซึ่งธนินท์ก็ย้ำว่าหากไม่สำเร็จเขาก็จะไม่ทำ

ซี.พี.มีแผนเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกามากขึ้น ถึงกับได้มีโอกาสเข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ บิลล์ คลินตัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2539 และการนำพานักธุรกิจชาวไทยที่มีเชื้อสายจีนไปร่วมลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยมีการเตรียมการก่อนที่จีนจะรับเกาะฮ่องกงคืน ในกลางปี 2540

เป้าหมายซี.พี.ชัดเจนแล้ว รอเพียงการกรุยทางต่อไปข้างหน้า แต่ใครจะรู้ว่า ขวากหนามของเขาไม่ใช่ใครอื่นไกลที่ไหน แต่คือรัฐบาลที่มีนักการเมือง ซึ่งซี.พี.เชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าตนเองมีสายสัมพันธ์อันดีอยู่ด้วย

เมื่อเริ่มเข้าปี 2540 ธนินท์ก็ได้แสดงตัวออกงานสังคมประปราย เช่น การไปเปิดการร่วมปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับโอกาสและทิศทางธุรกิจภาคเหนือที่จังหวัดลำปาง หรือการไปร่วมเปิดตัวโครงการเกษตรผสมผสานที่จังหวัดบุรีรัมย์ สื่อมวลชนได้มีโอกาสใกล้ชิดธนินท์มากขึ้น และได้รับรู้วิสัยทัศน์และทิศทางของซี.พี.ในการมุ่งพัฒนาธุรกิจสู่ภาคเทคโนโลยีมากขึ้น

ไม่ใช่เพียงสื่อมวลชน หนังสือธุรกิจอย่างฟาร์อีสเทิร์น อิโคโนมิสต์ บิสซิเนส วีค แม้กระทั่งเอเชีย วีค ก็ยังได้มีโอกาสเผยแพร่วิสัยทัศน์ และทิศทางธุรกิจของประธานฯ ซี.พี.

แทนที่จะอยู่เบื้องหลัง คอยสั่งการด้านนโยบายเพียงอย่างเดียว เป็นการมุ่งเดินหน้าของซี.พี. ขณะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่สภาวะถอยหลัง

มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นฤกษ์ดีซึ่งธนินท์ได้ไปร่วมเปิดศูนย์การค้าโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่นครเซี่ยงไฮ้ มีสื่อมวลชนจำนวนมากเดินทางร่วมไปด้วย ธนินท์จึงถือเป็นโอกาสในการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มตัว เพราะธนินท์เห็นอุปสรรคชัดเจนของการขยายตัวของธุรกิจในเครือซี.พี.ว่ากำลังเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา

ด้วยธุรกิจหลักของซี.พี.มุ่งไปที่ตลาดผู้บริโภคจำนวนมาก (mass market) ที่เน้นไปที่ปริมาณผู้ซื้อจำนวนมากเพื่อสร้างผลกำไร หากลูกค้าของเจอผลกระทบ แน่นอนว่าสินค้าของซี.พี.ก็เจอผลกระทบด้วย "ถ้าลูกค้ารวยเราก็รวย ถ้าลูกแย่ เราก็แย่" นี่เป็นปรัชญาทางธุรกิจที่เจีย เอ็ก ชอ บิดาของธนินท์สอนลูกไว้

ธนินท์เคยเผยความคิดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไว้ว่า

จากการที่ภาคธุรกิจของไทยใช้หนี้เงินกู้ต่างประเทศถึง 6.3 ล้านล้านบาท หากมีการลดค่าเงินบาทย่อมเกิดผลกระทบรุนแรง ทำให้ไทยอยู่ในภาวะย่ำแย่เหมือนเม็กซิโก วิธีการที่รัฐควรช่วยเหลือนักธุรกิจก็คือการลดดอกเบี้ย แต่รัฐบาลไม่กล้าทำ ส่วนสถาบันการเงินก็ไม่ควรปล่อยให้ล้ม ควรมีมาตรการมารองรับ เช่น การปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นแม้จะเป็นต่างชาติก็ต้องยอม

เป็นการส่งผ่านความคิดของเขาผ่านสื่อมวลชนไปยังผู้นำรัฐ ย้ำว่าการลดค่าเงินบาทนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

แต่ก่อนหน้านี้ ธนินท์เคยเสนอแนวคิดเรื่องการปรับลดค่าเงินบาทต่ออำนวย วีรวรรณ แต่อำนวยไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว เพราะเห็นว่าไทยมีหนี้สินต่างประเทศอยู่สูงถึง 9 หมื่นล้านบาท โดยไม่ยอมรับข้อเสนอของประธานฯ ซี.พี. ซึ่งธนินท์ก็ยอมรับในเวลาต่อมาว่า ต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเพื่อแข่งขันด้านส่งออกของประเทศได้

แต่ธนินท์ก็ยังไม่ระงับการลงทุนต่างๆ ของซี.พี.

แต่วันนี้ต่างกับวันนั้น !

แม้ธนินท์จะเรียกระดมพลนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเงินหลายคนไปหารือถึงที่ทำงานแห่งใหม่ที่เทเลคอม ทาวเวอร์ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ แต่เขาก็ไม่เคยคิดว่ารัฐบาลจะประกาศลดค่าเงินบาทในเวลาต่อมา เพราะเชื่อมั่นในข้อมูลของ "วงใน" ที่ธนินท์รู้จักดีในรัฐบาลว่า ไม่มีนโยบายเรื่องนี้ และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ถือได้ว่าสนิทสนมกับธนินท์เองนั้นก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการลดค่าเงินบาท

แต่ก็ยังมีเรื่องที่ธนินท์ไม่รู้อีกมากโดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลของพรรคความหวังใหม่มีขุนคลังอย่าง ดร.ทนง พิทยะ

2 กรกฎาคม 2540 เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ของประเทศที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนระบบอัตราค่าเงินบาทเป็นแบบลอยตัวเพื่อกู้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจให้ผ่อนคลายไปในทางที่ดี

มีแต่ฟากของพล.อ.ชวลิตเท่านั้นที่รับรู้เรื่องนี้ ส่วนธนินท์กลายเป็นคน "นอกวง" ไปเสียแล้ว

ผลจากการปรับค่าเงินบาทลอยตัวในช่วงแรก ซี.พี.ยอมรับเพียงว่ามีผลกับธุรกิจที่ต้องลงทุนด้วยการกู้เงินจากต่างประเทศ คือบริษัทเทเลคอมเอเซีย จำกัด หรือ ทีเอ เพราะมีเงินกู้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เงินกู้ต่างประเทศก้อนใหญ่นี้ทีเอจำเป็นต้องนำมาใช้สำหรับเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม ซึ่งกำลังเติบโต และยังไม่มีรายได้เพียงพอที่จะคืนทุน เพราะการลงทุนครั้งนั้นทำไว้เพื่ออนาคต

ด้วยความมั่นใจในอาณาจักรของซี.พี. ว่าไม่มีปัญหา เพราะเป็นเงินกู้ระยะยาว การเดินหน้าคงดำเนินต่อไปได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ซี.พี.ก็รับรู้ว่า การไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงของเงินกู้ต่างประเทศ หรือที่เรียกทั่วไปว่า hedging จะส่งผลกระทบรุนแรงอย่างไรหากค่าเงินบาทลอยตัวแบบไร้เสถียรภาพ

ซึ่งนักวิเคราะห์ได้ศึกษาสถานการณ์ของทีเอ แล้วประเมินว่าปลายปีนี้ ทีเอต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายถึง 4,200 ล้านบาท จากเดิมปี 2539 ที่มีประมาณ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

เพราะความไม่พอใจในผลงานของพล.อ.ชวลิต ทำให้ธุรกิจต้องพังพินาศเพราะค่าเงินบาทลอยตัวไม่หยุด นักธุรกิจกลุ่มหนึ่งถึงกับรวมตัวเข้าพบพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติในตอนนี้ไม่มีการระบุว่ามีชื่อธนินท์อยุ่ด้วย

หลังการเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จากเริงชัย มะระกานนท์ มาเป็น ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัวดิ์ และปลด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ปลัดกระทรวงการคลัง และให้ศุภชัย พิศิษฐวานิช มาเป็นแทน ธนาคารชาติก็สั่งปิดกิจการของไฟแนนซ์เพิ่มอีก 42 แห่ง

มาตรการทั้งการลดค่าเงินบาทและปิดสถาบันการเงินนี้สวนทางกับแนวคิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของธนินท์โดยสิ้นเชิง !

ซี.พี.เริ่มยอมรับสภาพว่ามาตรการของรัฐกระทบอย่างหนักกับธุรกิจโทรคมนาคมของทีเอ ที่ใช้เงินกู้ต่างประเทศ ทำให้เจ้าสัวธนินท์ต้องประกาศนโยบายรัดเข็มขัดครั้งใหญ่กับกิจการในเครือ โดยเฉพาะ เรื่องการลงทุนใหม่ที่ยังไม่มั่นใจ ก็สั่งระงับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ บริษัทในเครือทุกแห่งต้องพัฒนาบุคลากรให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ถึงกับมีการระบุกันว่า ซี.พี.คงต้องหันกลับไปสู่ธุรกิจการเกษตรที่เชี่ยวชาญแทน หากผลกระทบกับกิจการไฮเทครุนแรงขึ้น

แน่นอนว่าทุกบริษัทในเครือพร้อมใจตอบสนองนโยบาย เพราะธุรกิจหลายสาขาของซี.พี. เจอพิษค่าเงินบาทอยู่ไม่น้อย

ทีเอนั้นถึงกับต้องขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยบางแห่งออกไปเพื่อลดภาระ !

ขณะที่กิจการปั๊มน้ำมันของปิโตรเอเชียที่มีอยู่ 7 สาขาต้องทำการปิดตัวเองในเวลาต่อมาเพราะก่อนหน้านี้ก้ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอยู่แล้ว เนื่องจากการแข่งขันด้านปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อในปั๊มแข่งขันกันอย่างหนัก

ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ไม่ได้มีแค่กิจการของทีเอ บริษัทด้านสินค้าเกษตรในตลาดหลักทรัพย์ฯ อันประกอบด้วยบริษัทกรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด (มหาชน) หรือ BPA บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย หรือ CPF และบริษัทกรุงเทพโปรดิวส์ จำกัด หรือ BKP ต่างก็เจอผลกระทบด้วยเช่นกัน และซี.พี.อาหารสัตว์เองแม้ทำกำไรแต่ก็น้อยกว่ายอดปีที่แล้ว

ส่วนด้านสินค้าอุปโภค บริโภคทั่วไป ซึ่งน่าจะเจอผลกระทบรุนแรง เพราะเป็นของจำเป็น แต่ประวิตร ไวรุ่งเรืองกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทซี.พี. คอนซูเมอร์โพรดักส์ จำกัด ก็ตอบว่า ได้รับผลกระทบเหมือนกัน และที่ซี.พี.สามารถรับรู้ผลนี้ได้เร็วนั้นเพราะซี.พี.หยั่งขาลงไปในธุรกิจหลากหลายสาขานั่นเอง

ซี.พี.คอนซูเมอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคทั้งของในเครือเอง กับผู้ผลิตรายอื่น ที่ซี.พี.มีสายสัมพันธ์ด้วย ประวิตรประเมินอัตราการเติบโตของซี.พี.คอนซูเมอร์เองนั้น จากเดิมที่วางไว้ประมาณ 30-40% ในปี 2541 คงจะเหลือแค่ประมาณไม่เกิน 20% เท่านั้น และคงรอดูสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปี 2540 ไปก่อน ส่วนในปี 2541 หากเศรษฐกิจไม่แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี

ธุรกิจปิโตรเคมีเองนั้น แม้จะลงทุนไปมหาศาลประมาณ 8 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับผลกำไรตอบแทนกลับคืนมา ยิ่งพิษเศรษฐกิจไทยเป็นเช่นนี้ นอกจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องภาษีนำเข้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังไม่ประสบความสำเร็จแล้วซี.พี.คงต้องพยุงกิจการให้อยู่รอดพ้นไปจนถึงปีหน้า และปีต่อๆ ไป หรืออาจตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หากทุกอย่างไม่กระเตื้องขึ้น

ส่วนกิจการค้าปลีก ซึ่งดูเหมือนยังคงไปได้ดี ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ยังคงเดินหน้าขยายสาขาต่อไป แม็คโครซึ่งกำลังรอความลงตัวของผู้ถือหุ้นโลตัสยังมีอนาคตที่ดีอยู่ เพียงแต่กิจการเหล่านี้ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้นอีก

สำหรับต่างประเทศนั้น ซี.พี.ก็ต้องสั่งชะลอการลงทุนทั้งหมด เช่น ที่เมืองจีน แม้ซี.พี.จะมีฐานการลงทุนขนาดที่ใหญ่กว่าประเทศไทยอย่างมากก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถนำกลับมาเอื้อประโยชน์ให้กิจการในประเทศไทยได้ เพราะซี.พี.ถือว่าต้องมีการแยกการดำเนินงานกัน ที่สำคัญเงื่อนไขของรัฐบาลจีนนั้น ต้องการให้บริษัทต่างประเทศที่เข้าไปลงทุน นำผลกำไรที่ได้ให้คงอยู่ในประเทศในรูปของการลงทุนเพิ่มเติม

กิจการหลากสาขาของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยที่ซี.พี. เป็นแม่งานพาไปลงทุนต่างก็ต้องระงับโครงการออกไป โดยไม่มีกำหนดจากเหตุผลของสนั่น อังอุบลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด ก็คือเงินลงทุนที่ต้องใช้ในเมืองจีนเพิ่มขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ผันแปรไป ซึ่งธนินท์เองก็เห็นด้วย เพราะนอกจากบริษัทในเครือจะไม่นำเงินไปลงทุนในเมืองจีนแล้ว พันธมิตรเหล่านี้ก็ควรระงับด้วยเช่นกัน

"ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น หากลงทุนในจำนวนเท่าเดิม เราก็ต้องใช้เงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่คุ้ม คุณธนินท์ก็เห็นด้วยที่เราระงับการลงทุน และคิดว่าเราน่าจะเก็บเงินไว้ในประเทศเพื่อใช้หมุนเวียนให้เกิดสภาพคล่องดีกว่า" สนั่นกล่าวย้ำนโยบายของธนินท์

กิจการของพันธมิตรซี.พี.หลายโครงการยังไม่ได้ลงทุนอย่างจริงจังจึงสามารถระงับไว้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบรุนแรงนัก แต่ก็ทำให้การแผ่ขยายอาณาจักรให้ครบทั้ง 30 มณฑลของจีนยังเกิดไม่ได้เต็มที่นัก

สำหรับสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะไกลคนไทย แต่ธนินท์วางโครงการไว้ที่จะเริ่มเข้าสู่เมืองลุงแซมนี้เช่นกันจากที่มีบริษัทในเครือ อย่างบริษัทเอ็กชอ ไชน่า มอเตอร์ไซเคิล จำกัด เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทแล้ว ยังมีกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) กับธุรกิจท้องถิ่นที่เมืองเมดิสัน รัฐอลาบามา เพื่อทำธุรกิจไก่ครบวงจร

แต่ด้วยภาพที่ธนินท์เข้าพบบิลล์ คลินตัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2539 ทำให้ทางการสหรัฐฯ ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้นำพรรคเดโมแครตที่พัวพันเกี่ยวกับการรับเงินนักธุรกิจต่างชาติ 6.25 แสนเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้หุ้นของซี.พี.ในตลาดหุ้นนิวยอร์กตกลง และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กวดขันมากขึ้นสำหรับธนินท์

แม้ภาคการส่งออกของซี.พี.จะดีขึ้นบ้าง เนื่องจากค่าเงินบาทที่ลดลงไปทำให้สินค้าเพิ่มปริมาณขายมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 15% จากราคาของที่ถูกลง แต่ในระยะยาวปัญหาอื่นที่ตามมา ทั้งเรื่องการตัดสิทธิทางการค้าโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ภาระค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง เช่น น้ำมัน ค่าดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา การส่งออกก็ยังคงไม่รุ่งอย่างแท้จริงอยู่ดี

การบุกสู่ตลาดต่างประเทศของซี.พี.จึงต้องรอการกู้สถานการณ์ในเมืองไทยก่อน

ผลกระทบที่เกิดกับซี.พี.ทำให้ธนินท์ไม่อาจนั่งนิ่งติดเก้าอี้ได้

ธนินท์เสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เช่น เสนอให้รัฐต้องมีการแจกแจงให้เห็นถึงตัวเลขสำรองเงินตราต่างประเทศพร้อมกับมาตรการในการช่วยเหลือด้านอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดเล็ก การรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน จนถึงมาตรการที่ชัดเจนในการฟื้นฐานะของสถาบันการเงิน และไม่ควรปิดกิจการ

อีกทั้งการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากจะช่วยปรับฐานะการเมืองให้ดีขึ้นในระยะยาว นโยบายด้านเศรษฐกิจก็จะมั่นคงตามมา และในระยะใกล้ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการไม่ยอมรับร่างฉบับ สสร. ของพล.อ.ชวลิต ทำให้เกิดผลกระทบในด้านกระแสสังคมจนถึงด้านธุรกิจ

ธนินท์เองก็ร้อนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงต้องไปบ้านอดีตนายกรัฐมนตรี และเสนาะ เทียนทอง อดีต "มท.1" ด้วยตนเองเพื่อให้ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สสร. เพราะผลที่ได้หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้นักธุรกิจสามารถตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้นักธุรกิจสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ ตามมาตรา 89 หมวด 5

แม้อดีตนายกฯ จะเอ่ยปากแปลความได้ว่าจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากมีการเปิดอภิปรายในสภาฯ แต่ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น แนวทางข้อเสนอของธนินท์ คนในระดับข้าราชการทั้งการเมือง ประจำไม่ยอมที่จะทำตามสิ่งที่ธนินท์ต้องการ ส่วนหนึ่งนั้นเห็นเป็นการอุ้มซี.พี.เสียมากกว่า

ดูเหมือนว่าเสียงของธนินท์จะเล็กลงสำหรับรัฐบาลของ "บิ๊กจิ๋ว"

หลังการรับร่างรัฐธรรมนูญสมาชิกของสภาหอการค้าไทย เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการคลี่คลายจึงออกแถลงการณ์ส่งให้สื่อมวลชนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก จนวิเชียร เตชะไพบูลย์ต้องมาเคลียร์ว่าสมาชิกสภาหอการค้าไทยทั้งหมดไม่มีส่วนรู้เห็น เป็นการกระทำโดยพลการของสมาชิกบางคน แต่ก็เป็นภาพที่เห็นได้ชัดว่าสายสัมพันธ์ของรัฐบาลกับนักธุรกิจขาดสะบั้นลง

เป็นความกล้าอย่างมากของบรรดานักธุรกิจที่อาจหาญไล่นายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นส่วนที่ทำให้พล.อ.ชวลิตต้องเอ่ยวาจา "มัน" ที่ทิ่มแทงใจนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลต่อหน้าม็อบเกษตรกรภาคอีสานที่นั่งรถบัสมาให้กำลังใจจนทำให้ธนินท์ต้องฝ่าดงคนอีสาน พร้อมนักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงอีกหลายท่านไปพบอดีตนายกรัฐมนตรีถึงทำเนียบฯ ในวันรุ่งขึ้น เพื่อเคลียร์ปัญหาด้วยความคิดถึงสายสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกันมาก่อน

แต่ความพยายามแท้จริงของะนินท์ก็คือให้รัฐบาลเร่งมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่กำลังเจ็บหนัก มีการทำข้อเสนอทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ก่อนหน้านี้แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้รับการสนองตอบ ซึ่งพล.อ.ชวลิตจะยอมรับตามนิสัยของคนคุ้นเคย แต่เมื่อถึงขั้นตอนของการรับไปปฏิบัติก็ไร้ความเคลื่อนไหวชัดเจนใดๆ

ครั้งนั้นจึงเป็นครั้งสุดท้านที่ธนินท์ไปพบพล.อ.ชวลิตอย่างเป็นทางการ และด้วยความไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน และไม่ยอมดำเนินมาตรการเร่งด่วนใดๆ เลยที่จะแสดงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ธนินท์ยอมรับว่าเขาผิดหวังอย่างมากกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

"เสนอไปแล้วรัฐบาลก็ไม่ทำ แล้วไม่รู้ว่าทำไมไม่ทำ แล้วก็ไม่บอกผมว่าทำไม เพราะเราเป็นคนธรรมดา" ธนินท์พูดในที่ประชุมของกลุ่มศึกษาติดตามปัญหานโยบายแห่งชาติ กับผลของสิ่งที่เขาเสนอต่อรัฐบาล "บิ๊กจิ๋ว" (คอร์ปอเรท ไทยแลนด์ ต.ค.40)

สิ่งที่ประธานฯ ซี.พี.ต้องการคือมาตรการแก้ไขปัญหาไฟแนนซ์ 58 แห่งที่ปิดตัวไป เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงิน จะได้มีผลสะท้อนกลับไปที่ธุรกิจด้านการส่งออกเพื่อช่วยพยุงฐานะของผู้ส่งออก และอุตสาหกรรมการเกษตร เช่นการผลิตน้ำตาลจากอ้อย ผลผลิตมัน และข้าวนาปรัง ที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้เจ้าของโรงงานมีเงินทุนไปรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรได้

ใครๆ ก็รู้ว่าฐานด้านธุรกิจส่งออก และการเกษตรนั้นซี.พี.มีส่วนเข้าไปร่วมอยู่ไม่น้อย จึงมีความกังขาเกิดขึ้นกับข้อเสนอของธนินท์

สิ่งที่ธนินท์เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาก็คือ ไม่ได้มีการแพร่กระจายสภาพคล่องทางการเงินให้มากขึ้น ขาดการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่ปล่อยให้ลอยตัวไปตามสภาพอย่างไร้จุดยืน และการปิดสถาบันการเงินโดยไม่มีมาตรการอื่นๆ มารองรับ

ผู้ที่ต้องรับผลของงานนี้อย่างเต็มตัวก็คือ ดร.ทนง พิทยะ รมว.กระทรวงการคลังในเวลานั้น

มีการระบุว่ามาตรการของดร.ทนงนั้นสวนทางกับวิธีคิดของซี.พี. แม้จะไม่มีการระบุชัดเจนว่าธนินท์ไม่พอใจมากน้อยแค่ไหน แต่การพูดในที่ประชุมของกลุ่มศึกษาและติดตามนโยบายแห่งชาติของธนินท์ ซึ่งต้องการให้นายกฯ ดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดในการแก้ปัญหา แต่นายกฯ เป็นนักการเมืองจึงไม่กล้าตัดสินใจ "ก็น่าเห็นใจท่านนายกฯ เพราะเป็นคนไปเชิญทั้งดอกเตอร์ทนงและดอกเตอร์โกร่งมาเอง เพราะถ้านายกฯ ไปเที่ยวล้วงลูก 2 คนนั้น อาจลาออกไปเลย"

มาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของนายกฯ "จิ๋ว" ธนินท์ยอมรับว่าเป็นการฟังจากกลุ่มที่ปรึกษาซึ่งมากกว่า 1 กลุ่ม และมีบางกลุ่มที่บอกว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่ นายกฯ จึงเห็นว่าภาวะฯ ยังไม่วิกฤติจนเกินไป

ธนินท์หันไปหาบ้านราชครู โดยมีพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ ประสานให้ได้เข้าร่วมประชุมกับพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีอีกคนที่ธนินท์รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดีตั้งแต่เริ่มเสนอทำโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ดังนั้นในโต๊ะการประชุมหามาตรการด้านเศรษฐกิจของฝั่งพรรคชาติพัฒนา จึงมีธนินท์มาร่วมวงอยู่ด้วย

ขณะที่ธนินท์ซึ่งหมดหวังกับพล.อ.ชวลิต ก็ใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับพล.อ.เปรม ซึ่งเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์และทีเอ หารือร่วมกันภายในอาคารเทเลคอม ทาวเวอร์ ตึกบัญชากการหลังปัจจุบันของธนินท์ เพื่อหามาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งลดความดื้อของนายกรัฐมนตรี

ส่วนบิ๊กจิ๋วก็เดินทางไปที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และแถลงการณ์ว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยทาบดร.อาชว์ เตาลานนท์ ประธานกรรมการทีเอ ให้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเหมือนวิธีการหนึ่งของนายกฯ ที่จะเอาใจซี.พี. แต่มีเสียงปฏิเสธมาจากซี.พี.ในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นเพียง 4 วัน "ป๋าเปรม" ก็สร้างความฮือฮา ด้วยการยอมรับเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และเสนอตัวเองขึ้นช่วยแก้ปัญหาของชาติด้วยการเสียสละเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยการเชิญบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ไปที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ด้วยเหตุผลว่ามาอวยพรวันเกิดย้อนหลัง

แม้ไม่เป็นทางการแต่เสียงค้านจากนักการเมืองมีมากกว่ารัฐบาลแห่งชาติเป็นได้แค่ฝัน

หลังจากนั้นการประกาศด้านเศรษฐกิจเพื่อกู้ชาติฉบับ 14 ตุลาคม ของดร.ทนงไม่สัมฤทธิผลทั้งจากนักธุรกิจ สื่อมวลชน หรือเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกเองก็ตาม ดร.ทนงได้รับความกดดันอย่างมาก จากความไม่พอใจต่อดร.ทนงของนักการเมืองร่วมรัฐบาล จึงขอลาออกจากตำแหน่งโดยระบุว่าหากมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ก็ไม่ขอรับตำแหน่ง

การปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งของรัฐบาล "จิ๋ว" นอกจากจะไม่มีคนชื่อ ดร.ทนงแล้ว ยังมีการระบุว่าคนที่มีสายสัมพันธ์กับซี.พี.ในสายชาติพัฒนาอย่างพิทักษ์ ไม่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีตำแหน่งสำคัญเลยเช่นกัน

และเมื่อเกิดม็อบนักธุรกิจอีกครั้งขณะที่ค่าเงินบาททะยานแบบไม่หยุดไปที่ 41 บาทกว่า พล.อ.ชวลิตก็กู้สถานการณ์ของความหวังใหม่ด้วยการยอมลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุดก็ได้ ชวน หลีกภัย จากซีกฝ่ายค้านมารับหน้าที่แทน ซึ่งความดีใจของธนินท์นั้นมีมาก จนกระทั่งนำกระเช้าดอกไม้ไปให้กำลังใจชวนถึงที่ทำการพรรค

ทางหนึ่งธนินท์บอกว่ามาตรการของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ และธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ตรงกับใจที่ธนินท์ต้องการ รอเพียงการลงมือทำอย่างจริงจัง

"ตอนนี้เราก็ได้รัฐบาลที่มีภาพพจน์ดี โดยเฉพาะมีทีมงานด้านเศรษฐกิจที่ได้รับความเชื่อถือ คือคุณศุภชัย พานิชภักดิ์ และคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ หุ้นก็ดีขึ้น เงินบาทก็แข็งขึ้นด้วย นโยบายถูกต้องแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการปฏิบัติเท่านั้น หากปฏิบัติให้ได้ตามมาตรการที่วางไว้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้" นั่นคือบทสรุปของะนินท์ต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เป็นการประกาศตัวทางการเมืองชัดเจนว่าคราวนี้ธนินท์สนับสนุนชวนแน่นอนหลังจากที่เคยช่วยอุ้มนายกฯ ของคนอีสานจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us