"บัตรเงินสด" หรือ "ดิจิตอล มันนี่" เทรนด์ใหม่มาแรง ที่ใช้ลูกเล่นง่ายๆ ด้วยการสร้างมุมมองของบัตรให้เป็นแฟชั่นที่วัยรุ่นยุคใหม่ "ต้องมี ต้องใช้" เพื่อความโก้เก๋ ด้วยรูปแบบดีไซน์ที่ออกมาเอาใจกลุ่ม "วัยทีน" โดยเฉพาะการให้สิทธิพิเศษจากร้านค้าที่ร่วมรายการ แถมไม่ก่อหนี้เสีย เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้เป็นเงินสดของเจ้าของบัตรเอง ไม่มีการนำเงินอนาคตมาใช้ เหมือนบัตรเครดิต และเพราะภาพลักษณ์ถูกสร้างให้เห็นคุณประโยชน์บัตรเพียงด้านเดียว ที่ทำให้ผู้ถือบัตรอาจมองข้ามค่าธรรมเนียมที่จะถูกหักในแต่ละครั้ง ดังนั้นมีบัตรไว้กับตัว กระเป๋าก็อาจฉีกแบบไม่รู้ตัว ส่วนผู้ออกบัตรมีแต่ได้กับได้...
แน่นอนว่าไม่เฉพาะเครดิตการ์ด หรือเดบิตการ์ดเท่านั้น ที่มีค่าธรรมเนียม แต่บัตรประเภทอื่นอย่าง บัตรเงินสด หรือ "ดิจิตัล มันนี่" ก็มีเช่นกัน เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม เพราะแม้บัตรเงินสดจะไม่ได้นำเงินในอนาคตมาใช้ก็ตาม แต่เงินทุกบาททุกสตางค์ก็เป็นเงินเจ้าของเอง ซึ่งที่จ่ายไปล้วนแล้วแต่แฝงไปด้วยค่าธรรมเนียมยุบยิบหยุมหยิมสารพัด...
ปัจจุบันตลาดบัตรเงินสดนั้นมีผู้เพียงแค่ 2 เจ้าเท่านั้น คือ เพย์เมนท์ โซลูชั่น บริษัทลูกของโอเคแคปปิตอล ส่วนอีกเจ้า เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดบัตรเงินสด เป็นบัตรที่ใช้ในร้านสะดวกซื้อของกลุ่มซี.พี. ร่วมกับพันธมิตรทั้ง 7 คือ 7-Eleven, Counter Service, True, UBC, BTS, RS Promotion และ Unilever ภายใต้แบรนด์ ONE PLUS เพย์เมนท์ โซลูชั่น เจ้าของ "โอเค แคช" การซื้อบัตรเงินสดครั้งแรก จะคิดเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า เช่นซื้อบัตรใน ราคา 200 บาท ลูกค้าจะใช้บัตรได้ก็ต่อเมื่อเติมวงเงินลงไปในบัตรก่อน ซึ่งบัตร โอเค แคช สามารถเติมเงินได้ ตั้งแต่ 200-25,000บาท
ค่าธรรมเนียมในการเติมแต่ละครั้ง อยู่ระหว่าง 10-20 บาท ขึ้นอยู่กับแหล่งที่ให้บริการเติมเงิน ถ้าผ่านร้านค้าที่มีสัญลักษณ์เติมเงินบัตรเงินสดโอเค แคช ก็จะเสียครั้งละ 10 บาท แต่ถ้าเป็นตามตู้เอทีเอ็มธนาคารที่ร่วมรายการค่าธรรมเนียมจะอยู่ระหว่าง 10-20 บาท ซึ่งธนาคารที่ร่วมรายการมี กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย และ ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีล์ (ธนาคารเอเชีย)
ค่าธรรมเนียมการเติมบัตรอาจดูไม่มาก แต่ถ้าเติมบ่อยครั้งก็เสียไม่น้อยเช่นกัน นอกจากนี้บัตรแต่ละใบที่ดีไซน์ออกมาราคาและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับก็จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งเหตุผลที่สร้างความหลากหลายให้บัตรนั้นก็เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันไป
ทำให้มองได้อีกว่าด้วยความหลากหลายของบัตรเพื่อแยกลูกค้าเฉพาะกลุ่มนั้นเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้ารายหนึ่ง อยากถือบัตรเงินสดมากกว่า 1 ใบ เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันในบัตรแต่ละแบบ
อย่างไรก็ตามหากบัตรโดนขโมยไป โดยมิจฉาชีพ ความเสี่ยงที่เงินในบัตรสูญหายหมดก็มี แต่ดีกว่าบัตรเดบิตตรงที่วงเงินที่หายนั้นจะจำกัดเฉพาะในส่วนที่อยู่ในบัตรเงินสดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นบัตรเดบิตความเสี่ยงจะสูงกว่าเพราะมีโอกาสที่เงินจะหายได้ทั้งบัญชี
ธานินทร์ อังสุวรังษี ผู้จัดการทั่วไป เพย์เมนท์ โซลูชั่น ชี้แจงกรณีนี้ว่าหากทำบัตรหายผู้ถือบัตรต้องรีบโทรมาอายัดบัตรทันที แต่กรณีนี้ทำได้เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ลงทะเบียนบริษัทไม่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งบัตรสำหรับผู้ไม่ลงทะเบียนมีสิทธิเติมเงินได้เพียงครั้งเดียวเมื่อใช้หมดวงเงินบัตรดังกล่าวจะปิดล็อคทันทีไม่สามารถเติมเงินได้อีก
ยังมีค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากลูกค้ากรณีที่ลงทะเบียนไว้กับบริษัทจะเสีย ค่าธรรมเนียมรายปี 100 บาทต่อปี หรือถ้าจะ โอนเงินผ่านระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ค่าธรรมเนียม 10บาท ต่อครั้ง และยังมีค่าธรรมเนียมการขอคืนเงินในบัตร ซึ่งออกเป็นเช็คหรือเงินสดคิด 20 บาท ต่อครั้ง ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบรายการ 200 บาทต่อครั้ง แต่ที่ไม่แนะนำให้ทำคือ การกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มด้วยบัตร โอเค แคช จะเสียค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อครั้ง ที่ต้องแพงเช่นนี้เพราะวัตถุประสงค์ของบัตรเงินสดนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม แต่มีไว้เพื่อให้ลูกค้าไว้ใช้จ่ายหรือซื้อสินค้า
กระนั้นก็ตามเชื่อว่าการขยายตัวของบัตรเงินสดจะกลายเป็นกระแสนิยมที่รวดเร็ว ไม่ต่างจากยุคที่เพจเจอร์ หรือมือถือ แพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่น ด้วยผู้ประกอบธุรกิจด้านบัตรเงินสดเก่งกาจยิ่งนักในการจับความรู้สึกและพฤติกรรมของวัยรุ่นได้ดี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความแปลกใหม่ สะดวก รวดเร็ว และแตกต่าง ขณะเดียวกันก็ต้องมีความทันสมัยและเป็นแฟชั่นได้
นั่นคือจุดสำคัญที่ทำให้ เพย์เมนท์ โซลูชั่น เจ้าของ โอเค แคช หรือบัตรเงินสด ใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบและดีไซน์บัตรให้ตรงตามความต้องการเห็นได้จากบัตรที่ออกมาจะแตกต่างกัน ทั้งในรูปแบบ รุ่น ราคา อย่างรุ่น แมนยูออกมาเอาใจกลุ่มผีแดง(แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) บัตรราคา 399 บาท รุ่น คิตตี้ หรือ แบด แบด มารุ ราคา 299 บาท บัตรดังกล่าวอยู่ในกลุ่มโอเค แคช ซึ่งสามารถใช้ ผ่านร้านค้าได้มากกว่า 250,000 แห่งทั่วประเทศ และยังสามารถใช้เติมเงินไปยังโทรศัพท์มือถือระบบ วัน ทู คอล
ธานินทร์ เล่าถึง กลุ่มที่เป็นบัตร Co-Brand ว่า บัตรประเภทนี้บริษัททำร่วมกับร้านค้าเพื่อให้สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าที่แตกต่างกันตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่นวุฒิศักดิ์คลินิค สลิมผับ และ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เพื่อทำบัตรเงินสดขึ้นมาโดยให้ทาง บริษัท เพย์เมนท์ โซลูชั่น เป็นผู้วางระบบให้ และเชื่อมโยงเครือข่ายซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการทำลอยัลตี้โปรแกรมให้กับบรรดาธุรกิจต่างๆ ซึ่งธานินทร์เผยว่ากำลังได้รับความสนใจจากธุรกิจต่างๆ มากมายที่กำลังเจรจากันอยู่
ขณะที่ค่ายคู่แข่ง "ไทยสมาร์ท การ์ด" ผู้ให้บริการบัตรสมาร์ทเพิร์ส ตระกูลเซเว่น อีเลฟเว่น ต้องกลายมาเป็นผู้เล่นตามหลัง "โอเค แคช" ทั้งที่เป็นต้นคิด ก็เนื่องจากก่อนหน้านั้นโอกาสไม่เอื้อให้เปิดตลาดธุรกิจบัตรเงินสด ทำให้ "โอเค แคช"กลายมาเป็นผู้เล่นรายแรกๆในตลาดแทน
ความแตกต่างของบัตรเงินสดทั้ง 2 บริษัทมีให้เห็นโดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่ม ONE PLUS ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนทั่วไปที่เข้าใช้บริการในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven, Counter Service, True, UBC เป็นต้น ดังนั้นลูกค้าจึงไม่จำกัดวงอย่างวัยรุ่นเหมือน โอเค แคช กระนั้นก็ตามในความต่างย่อมมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างเพราะบัตรเงินสดนั้นจะจับพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตามเทียบการรับรู้แบรนด์ระหว่างโอเคแคช แล้วนั้นไทยสมาร์ท การ์ด ยังเป็นที่รับรู้และเสียเปรียบโอเคแคชอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งมาจากโอเค แคช เปิดตัวมาก่อน และยังสร้างสีสันทางการตลาดได้น่าตื่นตาตื่นใจด้วย เพราะกลุ่มเป้าหมายนั้นเป็นวัยรุ่น กลยุทธ์ที่ใช้จึงเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้วัยรุ่นรู้สึกตามไปด้วย
ส่วนค่าธรรมเนียมของ สมาร์ทเพิร์ส ก็แตกต่างกัน เช่น บัตรสมาร์ทเพิร์ส ที่นำร่องใน 7-Eleven โดยใช้ชื่อบัตรว่า 7 VALUE CARD ค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือการซื้อบัตรครั้งแรกราคา 250 บาท และต้องเติมเงินได้ที่จุดซื้อได้ตั้งแต่50-10,000บาทก่อน ถึงจะใช้บัตรได้ การเติมเงินแต่ละครั้งจะทำได้ที่ 7-Eleven ค่าธรรมเนียม 3 บาทต่อครั้ง และถ้าจะโอนเงินผ่านบัตรจะเสียค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อครั้ง นี่คือส่วนที่ 7 VALUE CARD เก็บค่าธรรมเนียม
ที่เหลือก็เฉพาะกรณีบัตรหายหรือไม่ต้องการต่ออายุบัตรที่มีระยะเวลา 3 ปี อย่างบัตรชำรุดระหว่างการใช้งาน โดยลูกค้าเป็นผู้กระทำ เสียค่าธรรมเนียมดำเนินการ 50 บาท และต้องซื้อบัตรใหม่ในราคา 250 บาท แต่ไม่ต้องการบัตรใหม่ บริษัทจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของลูกค้าพร้อมหักค่าธรรมเนียมดำเนินการ 50 บาท เช่นเดียวกับกรณียกเลิกบัตรหลังบัตรใช้ครบกำหนด 3 ปี ต้องต่ออายุใหม่ภายใน 30 วัน ลูกค้าซื้อบัตรใหม่ได้ในขณะที่วงเงินและสิทธิประโยชน์ที่เหลือจะถูกโอนเข้าบัตรใหม่
แต่หากไม่ต้องการบัตรใหม่ เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีลูกค้า ขณะเดียวกันก็จะเสียค่าธรรมเนียม 50 บาท และค่ารักษาสภาพเดือนละ 50 บาท ซึ่งจะเริ่มเก็บเมื่อครบ 60 วันหลังวันที่บัตรหมดอายุ แต่ถ้าหากวงเงินในบัตรไม่เพียงพอต่อการหักค่าธรรรมเนียม บริษัทจะปิดลอกบัตรดังกล่าวทันที
สำหรับรายชื่อร้านค้าและสถานบริการที่รับบัตรสามารถใช้บัตรได้ที่ 7-Eleven, ทรูช็อป, ออเร้นท์ช็อป และ ร้านค้าอื่นๆที่มีสัญลักษณ์สมาร์ทเพิร์สซึ่งทางบริษัทจะแจ้งให้ทราบโดยผ่านร้านเซเว่นและไปรษณีย์อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันเพียงแค่7-Eleven ก็มีถึง1,500 สาขาในกรุงเทพและปริมณฑล และปัจจุบันก็ให้บริการได้ทั่วประเทศแล้ว
ทั้งนี้ บัตรสมาร์ทเพิร์ส จะทำตลาดนำร่องลูกค้ากว่า 3 ล้านรายที่มาซื้อสินค้าในร้านกว่า 3,000แห่งทั่วประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจในบริการบัตรเงินสด แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับ บัตรสมาร์ทเพิร์ส เมื่อเทียบกับโอเคแคชแล้ว จำนวนพันธมิตรร้านค้าที่เข้าร่วมบริการยังมีอยู่จำนวนน้อย เช่นโรงภาพยนตร์ SF cinema เป็นต้น ซึ่งอาจเสียเปรียบในเรื่องของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรได้ แต่ถ้าเทียบด้านฐานลูกค้า บัตรสมาร์ทเพิร์ส อาจได้เปรียบกว่าเพราะจับตลาดประชาชนทั่วไป ขณะที่ โอเคแคช เน้นกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก
บัตรเงินสดจึงเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงที่อนาคตอาจไม่เจาะจงแค่กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของคู่แข่งในตลาดเงินสดก็เริ่มขยับตัวให้เห็นกันบ้างแล้ว จากนี้ไปตลาดดังกล่าวจะแข่งขันกันอย่างสนุก และอาจจะคึกคักกว่าบัตรเครดิตด้วยซ้ำ
สำหรับคนกลัวตกยุค ตามแฟชั่นไม่ทัน ก่อนเป็นเจ้าของบัตรเงินสดแต่ละค่ายก็ควรอ่านและศึกษาในรายละเอียด อย่างน้อยก็ให้รู้ในเรื่องของผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายออกไป เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเองไว้ ไม่งั้นมีบัตรเงินสดไว้ใช้เท่ห์ๆ เผลอแป๊บเดียว ในกระเป๋าก็อาจไม่เหลือเงินสดไว้ใช้ในยามจำเป็น เพราะทุกครั้งที่เติมเงิน โอนเงิน และซื้อสินค้า มันหมายถึงค่าธรรมเนียมจ่ายออกไป ที่จะไปปรากฎเป็นรายได้เข้ากระเป๋าผู้ออกบัตรแทน...
|