Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์20 มีนาคม 2549
นวัตกรรม...ทางรอด SMEs ยุคเอฟทีเอ             
 


   
search resources

SMEs




๐ ทำอย่างไรเมื่อความคิดตีบตัน วิธีคิดและกลยุทธ์เดิมๆ ใช้ไม่ได้ผล
๐ “นวัตกรรม” คืออะไรกันแน่ เป็นสิ่งใหม่ที่ทำได้ไม่ยากเกินจริงหรือไม่ ?
๐ หน่วยงานรัฐ-เอกชนร่วมมือเดินหน้าโชว์หนทางและวิธีการนำนวัตกรรมสร้างเครื่องมือใหม่สู่ความสำเร็จ
๐ เปิดโลกทัศน์ผู้ประกอบการ SMEs หาโอกาส ปรับตัวเพื่ออยู่รอดอย่างยั่งยืน

“ผู้จัดการรายสัปดาห์” ติดตามความเคลื่อนไหวหนทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมได้ปรับตัวและเป็นทางออกเพื่อจะนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จในยุคที่การแข่งขันของโลกไร้พรมแดนเป็นไปอย่างรุนแรงเข้มข้น รวมทั้งแนวโน้มของการค้าเสรีที่กำลังแผ่ขยายออกไปทั่วโลก เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ผู้ที่จะอยู่รอดและไปถึงเป้าหมายต้องพร้อมเสมอ

“นวัตกรรม” เป็นหนทางที่ดีและจำเป็น เพื่อสร้างจุดแข็งและความได้เปรียบ เมื่อภาครัฐซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนโดยตรงและเอกชนบางส่วนที่เป็นกลไกกำลังตื่นตัวช่วยกันขับเคลื่อน ผู้ประกอบการควรจะพิจารณาและหาทางใช้ประโยชน์ในจุดนี้

มุ่งสร้างหุ้นส่วน-เครือข่ายนวัตกรรม

ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงนโยบายการสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศในกรอบ 4 ปีระหว่าง 2549-2552 ว่าล่าสุดได้รับอนุมัติวงเงินจากคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติจำนวน 1,250 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อน 3 แผนงานดังนี้ 1.ยกระดับนวัตกรรมจำนวน 825 ล้านบาท 2.ส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม 238 ล้านบาท และ 3.แผนสร้างองค์กรนวัตกรรม 187 ล้านบาท

สำหรับแผนงานในปี 2549 นี้จะเป็นปีแห่งการสร้างหุ้นส่วนและเครือข่ายนวัตกรรม โดยร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ รวมถึงการปรับบทบาทจากการเป็นผู้ให้เพียงอย่างเดียวสู่การเป็นผู้พัฒนาหรือผู้รับทุน จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนความหมายที่แท้จริงในการเป็นหุ้นส่วนที่มีเป้าหมายร่วมกันและพัฒนานวัตกรรมของชาติที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งหรือการร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำหลักสูตรนวัตกรรมขึ้น

ด้านทิศทางการดำเนินงาน จะพัฒนาอุตสาหกรรมหลักใน 3 สาขา ได้แก่ 1.ด้านธุรกิจชีวภาพ 2.ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 3.ด้านการออกแบบและสร้างตราสินค้า รวมถึงนวัตกรรมที่มีการพุ่งเป้าและสนับสนุนไปบ้างแล้ว เช่น นาโนเทคโนโลยี และสเต็มเซลล์

ศุภชัย กล่าวว่าในปีนี้ สนช.จัดงบประมาณ 177 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเงิน และวิชาการจำนวน 70 โครงการ ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาเพื่อมุ่งเน้นคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำตลาดให้กลุ่มผู้ประกอบการ และพัฒนาเว็บไซต์เชิงธุรกิจ www.innook.com ขึ้นมา

อีกทั้ง การจัดนิทรรศการ การประชุมนานาชาติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น เยอรมนี อเมริกา รวมถึงการผลักดันการจัดตั้งสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพื่อสร้างและนำนวัตกรรมไปใช้ในเครือข่ายวิสาหกิจมากขึ้น นำไปสู่ปีแห่งการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติในปี 2550 ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระบบฐานความรู้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้

ศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้พยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในด้านของความคิดที่จะทำอะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายร่วมกัน เพราะนวัตกรรมไม่สามารถทำโดยคนใดคนหนึ่ง ต้องมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และหาความรู้จากภายนอก เพราะนอกจากการสร้างความรู้กับตนเองแล้ว ต้องใช้ความรู้จากที่อื่นให้เป็นด้วยโดยนำมาผสมผสานกัน

ธ.กรุงเทพหนุนลูกค้านวัตกรรม

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แบงก์ยังคงสนับสนุนผู้ประกอบการในแง่การเงินโดยร่วมกับ สนช. แต่เงินอย่างเดียวไม่ใช่หลักประกันความสำเร็จ ต้องใช้ร่วมกับความรู้ หรือนวัตกรรม เพราะมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างมาก ในแง่ของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน จะนำมาซึ่งการสร้างความแตกต่าง แต่ต้องผ่านกระบวนที่เรียกว่านวัตกรรมให้ได้ และดูแล้วว่าสินค้าหรือสิ่งที่ผลิตนั้นผู้บริโภคมีความพึงพอใจมากขึ้นและทำได้ดีกว่าคู่แข่ง

ในฐานะประธานกรรมการตัดสินรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เห็นว่า การจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2549 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากผู้ร่วมประกวดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามาก โดยในปีนี้มุ่งเน้นตามยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสนับสนุนให้มีการใช้นวัตกรรมมากขึ้นเช่นกัน

ตั้ง Innovation Park แหล่งข้อมูล

ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมโครงการตั้ง Innovation Park เพื่อเป็นศูนย์รวมผลงานนวัตกรรม แหล่งความรู้ และข้อมูลเชิงธุรกิจ สำหรับผู้สนใจและผู้ประกอบการที่ต้องการนำนวัตกรรมไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะใช้พื้นที่ในกระทรวงฯ จัดทำศูนย์ดังกล่าว เพื่อสนับสนุนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และยังคงสานต่อการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเงินใน 4 รูปแบบ วงเงิน 121 ล้านบาท ได้แก่

1.โครงการ “นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย” สนับสนุนโครงการนวัตกรรม วงเงินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท โดย สนช.จะเป็นผู้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้แทนผู้รับการสนับสนุนภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีแรก วงเงินสนับสนุน 61 ล้านบาท 2.โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน สนับสนุนเงินให้เปล่าวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทเน้นนวัตกรรมที่มีระดับของความใหม่ วงเงินสนับสนุน 24 ล้านบาท 3.โครงการทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม วงเงินสนับสนุน 24 ล้านบาท และ4.โครงการร่วมลงทุนธุรกิจนวัตกรรม วงเงินสนับสนุน 12 ล้านบาท

“เราเน้นให้เอกชนพัฒนาโปรดักต์ ด้วยการช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ และสร้างศักยภาพทางธุรกิจเพื่อแข่งขันในระดับโลก เชื่อว่าเศรษฐกิจนวัตกรรมจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นประโยชน์” รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

4 ทัศนะผู้บริหารมือโปรไขรหัส

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและเครือข่าย 5 ธนาคารพันธมิตร ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ “นวัตกรรม...เพื่อธุรกิจใหม่” บรรยากาศภายในงานได้รับความสนใจจากผู้ประกอบ บริษัท ห้าง ร้านเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ช่วงเช้าของงานสัมมนามีผู้บริหาร 4 รายที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ มาแสดงความคิดเห็นและแนะนำการนำนวัตกรรมไปใช้ในการทำธุรกิจ

กูรูตลาดแนะเพิ่มคุณค่า-ต้นทุนต่ำ

ลักขณา ลีละยุทธโยธิน นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในอดีตแผนกวิจัยและพัฒนาเป็นแผนกที่บริษัทส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ แต่ปัจจุบันหลายบริษัทลงทุนอย่างมหาศาล เพราะจะช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับบริษัท ทำให้มีการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคตได้

อย่างไรก็ดี การทำนวัตกรรมจะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่เนื่องจากลูกค้าจะไม่ยอมรับราคาที่สูงขึ้น ดังนั้น นวัตกรรมที่ดีต้องทำให้สินค้ามีคุณค่าที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยปัจจัยสำคัญในการคิดนวัตกรรม คือจะต้องทำให้ชีวิตของลูกค้าสบายขึ้น

สำหรับนวัตกรรมของสินค้าคอนซูเมอร์ทำให้เกิดความหลากหลาย เช่น ในอดีตแชมพู สบู่ ทุกคนในบ้านใช้เหมือนกันหมด แต่ต่อมามีแชมพูเหมาะกับผมแบบต่างๆ สบู่มีแยกสำหรับหลายผิว ทำให้ธุรกิจเบ่งบาน อุตสาหกรรมคอนซูเมอร์ใหญ่ขึ้น และลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น

หรือเซเรบอส ในอดีตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซุปไก่ แต่หลังจากทำนวัตกรรมออกสินค้าวีต้าทำให้เกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ ทำให้ธุรกิจของบริษัทโตขึ้น เมื่อออกวีต้าเม็ดพกพาสะดวกทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนและเกิดการแข่งขันที่ท้าทายสำหรับคู่แข่งด้วย

ดังนั้น นักการตลาดไม่ควรมองข้ามเพราะหากไม่ทำจะสู้กับคู่แข่งไม่ได้ แต่ทำช้ากว่าคนอื่นได้ นวัตกรรมเกิดขึ้นในทุกด้าน ตั้งแต่ต้นทุนสินค้า ลักษณะสินค้า ลักษณะของการสื่อสาร และช่องทางการจัดจำหน่าย

นอกจากนี้ ในมุมมองของนักการตลาด นวัตกรรมยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงหรือขยับบางอย่างก็ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงขวดแชมพู ทำให้ทันสมัยและใช้สะดวกขึ้น หรือโรลออนยี่ห้อหนึ่งยอดขายเริ่มนิ่งจึงสร้างนวัตกรรมวิธีการใช้ใหม่ด้วยการให้ฉีดเป็นรูปเอ็กซ์ ทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น

นวัตกรรมที่ทำให้เกิดสินค้าใหม่ในแต่ละปีมีปริมาณน้อยแต่สามารถสร้างรายได้มาก ซึ่งการคิดนวัตกรรมสินค้านั้น หากฉีกแนวได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้การสื่อสารมากเพราะเห็นความแตกต่างชัดเจน เช่น ยาไวอากร้า ในขณะที่นวัตกรรมที่เปลี่ยนบางส่วนทำได้ง่ายแต่สร้างรายได้น้อย เช่น การเปลี่ยนสีหรือกลิ่นจะต้องใช้การสื่อสารเป็นตัวช่วย

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ และสิ่งสำคัญ องค์กรต้องพร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ด้วย

ชี้นวัตกรรมบริหารดีกว่าเทคโนโลยี

“หลายปีที่ผ่านมาทุกคนได้เห็นว่านวัตกรรมมีความสำคัญมาก คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือสินค้าใหม่ๆ แต่นวัตกรรมมองไปในเรื่องของการบริหารจัดการก็ได้ เป็นการใช้งบลงทุนที่น้อยแต่ได้ผลสูง อย่างการวางแผนธุรกิจ คอนเซ็ปต์ การวางแผนกลยุทธ์ ทั้งกลยุทธ์บริษัท กลยุทธ์ธุรกิจ ซึ่งกลยุทธ์ธุรกิจคือการทำ CMR ในองค์กร การทำตลาดโปรดักต์ ราคา โปรโมชั่น ทั้งหมดนี้เราสร้างให้เป็นนวัตกรรมได้”ไพศาล เปรื่องวิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟมิลี่ จำกัด ให้มุมมองอีกด้าน

ในขณะที่นวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะนวัตกรรมเรื่องซอฟท์แวร์หรือเครื่องจักรซึ่งมีวงจรชีวิตสั้นมาก การจะได้นวัตกรรมใหม่ๆ ผู้ประกอบการควรมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูสินค้าจากประเทศต่างๆ และหาสินค้าตัวอย่างมาวิเคราะห์ แต่สิ่งสำคัญคือไม่ควรใจร้อน เพราะเทคโนโลยีเป็นเรื่องของความเสี่ยงอาจจะทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนได้มาก

แต่นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องมี เพื่อตอบรับกระแสการทำธุรกิจและทำให้บริษัทอยู่รอด เพราะนวัตกรรมเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการลดต้นทุน ลดความสูญเสีย สร้างกำไร และทำให้มีการเพิ่มผลผลิต

เช่น เมื่อ 5 ปีก่อน แฟมิลี่ให้พนักงานนั่งประกอบสินค้า แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นยืนประกอบสินค้าสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น 20% และส่งผลดีต่อสุขภาพของพนักงาน นี่เป็นนวัตกรรมในรูปแบบง่ายๆ

“สิ่งสำคัญนวัตกรรมไม่ต้องมองไปในเรื่องของเทคโนโลยีเป็นหลัก เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องไม่คำนึงแต่เรื่องความเท่ห์หรือความทันสมัยเป็นที่ตั้ง แต่นวัตกรรมควรเป็นสิ่งที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เป็นความเสี่ยง” ไพศาล กล่าวทิ้งท้าย

"มิสลิลลี่”ชูรูปแบบธุรกิจ

เรวัต จินดพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิสลิลลี่ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนส่วนมากคิดว่าการเปลี่ยนแปลงคือเทคโนโลยี แต่หัวใจของการทำธุรกิจจริงๆ คือเรื่องของการสร้างแบรนด์ ทำแบรนด์ให้หวานเพื่อไปทำการตลาด ซึ่งการทำน้ำตาลให้หวานหรือแบรนด์ คือการทำธุรกิจทั้งระบบไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ในขณะที่การตลาดคือกระบวนการเรียกมดให้มากินน้ำตาล

แต่การทำแบรนด์ไม่ใช่แค่ทำให้แพงแล้วจะดีแต่ต้องทำให้แบรนด์นั้นสามารถสื่อสารไปได้ด้วย การทำแบรนด์มี 3 ประการ คือ องค์กร พนักงาน และสินค้า ซึ่งต้องทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน การทำยุทธศาสตร์ของแบรนด์ คือ แผนการดำเนินงาน แผนปฏิบัติการ ซึ่งควรจะมีความได้เปรียบนำหน้าคู่แข่งอย่างน้อย 3 ปี สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ คือ ต้องมองหายุทธศาสตร์ของสินค้าตัวเองให้ได้ก่อน

“อย่างวันแรกที่มิสลิลลี่คิดจะทำดิลิเวอรี่ คนอื่นบอกทำแค่กรุงเทพฯก็พอ แต่ผมบอกว่าต้องทำทั่วประเทศ เพราะถ้าทำในกรุงเทพฯ คนตามทัน ซึ่งปีแรกที่ทำคนเขามองกันว่าบ้า แต่พอถึงปีที่สองคนจะมองว่าทำได้หรือ จะเจ๊งเมื่อไหร่ พอเข้าปีที่ 3 เขามองว่าทำตามดีกว่า ดังนั้นพอครบ 3 ปีแล้วเราก็ไปมองหายุทธศาสตร์ตัวใหม่ต่อไป”

อย่างไรก็ดี การทำนวัตกรรมอาจจะอยู่ในรูปแบบของธุรกิจก็ได้ เช่น มิสลิลลี่ ใน 3 ปีแรก เน้นรูปแบบของดิลิเวอรี่ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่ไม่ต้องอาศัยการวิจัย หรือนวัตกรรมตัวสินค้า เช่น ในอนาคตจะมีการคิดค้นวิธีการทำพวงหรีดที่ไม่จำเป็นต้องทำเป็นรูปวงรีหรือวงกลม แต่ทำเป็นรูปธงชาติ หรือแจกันดอกไม้ ไม่ต้องใช้เซรามิคแต่เป็นแจกันกระดาษแทน

สภาอุตฯ แจง 5 ปัจจัยส่งผล

เกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำธุรกิจปัจจุบันต้องเกี่ยวข้อง 5 ปัจจัย คือ เทคโนโลยี การตลาด การจัดการ การเงิน และบุคลากร ซึ่งนวัตกรรมแฝงอยู่ทั้ง 5 ส่วน เช่น นวัตกรรมเทคโนโลยี คือการสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องเกิดจากการต่อยอดหรือการพัฒนาจากพื้นฐานที่มีอยู่เดิม แต่หากไม่มีพื้นฐานเดิมอยู่ต้องไปค้นคว้า

นวัตกรรมด้านการตลาด เห็นตัวอย่างจากไนกี้ จำหน่ายเครื่องใช้กีฬา ธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ใช้วิธีออกแบบสินค้าและจ้างคนอื่นผลิต โดยกำหนดค่าการตลาดของนวัตกรรมไว้ที่ 1,000 บาทต่อรองเท้าหนึ่งคู่ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องรู้คือคนไทยต้องรู้จักคิดด้วยการเอาเทคโนโลยีกับการตลาดมารวมกัน เช่น เกษตรกรขายข้าวต้องคิดว่าที่จะขายข้าวเป็นเมล็ดไม่ใช่ขายเป็นเกวียน เช่น คิดทำข้าวที่กินแล้วไม่อ้วน

ส่วนนวัตกรรมการจัดการ คือ การจัดการสินค้าให้ไม่มีสต๊อกเพราะช่วยเรื่องลดต้นทุนได้ และการบริหารเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่เพราะหากพนักงานฉลาดจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เรื่อยๆ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่สามารถคิดสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เพราะหากเป็นบริษัทใหญ่การคิดสิ่งใหม่ๆ จะต้องมีระบบการจัดการที่ยุ่งยาก แต่นักประดิษฐ์บางคนไม่จำเป็นต้องเป็นนักธุรกิจ และนักธุรกิจบางคนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้คนไทยยังขาดความคิดใหม่ๆ เพราะการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของคนไทยน้อยเกินไป ทำให้ไทยพัฒนาสินค้าได้ช้าส่งผลให้สินค้าไทยกำไรน้อย เพราะผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มักจะนำเงินไปบำรุงกิจการเพื่อหวังสร้างกำไร ไม่ได้คิดจะนำเงินมาพัฒนาเรื่องนวัตกรรม แต่หากผู้ประกอบการสามารถคิดค้นหรือผลิตสิ่งใหม่ๆ ได้ควรรีบนำมาจำหน่ายเร็วที่สุด เพราะขายก่อนกำไรก่อน

รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวถึงปัจจัยสุดท้ายว่า ต้องยอมรับว่าด้านบุคลากรในประเทศ ปัจจุบันให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์น้อยกว่าสังคมศาสตร์ ซึ่งควรจะแก้ไขด้วยการให้ผู้ที่มีความรู้มาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาเกิดความรู้ใหม่ๆ หรือโรงงานที่มีห้องทดลองจะต้องให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานได้ซึ่งจะทำให้การต่อยอดเทคโนโลยี

สนช.โชว์ 4 ตัวอย่างความสำเร็จ

สำหรับช่วงบ่ายผู้ประกอบการและบริษัท 4 ราย ที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจนวัตกรรมที่ สนช. ให้การสนับสนุน มาให้ข้อมูลตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนสามารถประกอบธุรกิจเป็นที่ยอมรับในตลาด

ณัฐวุฒิ พงศ์พาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบอร์น ฟาร์ม จำกัด ทำโครงการนวัตกรรมระบบเพาะปลาการ์ตูนเพื่อการส่งออก กล่าวว่า เดิมทำธุรกิจปลาน้ำจืดส่งออก เล็งเห็นโอกาสของตลาดปลาน้ำเค็ม โดยเฉพาะความต้องการของปลาการ์ตูนในตลาดอเมริกา จึงแสวงหาความรู้พบว่า มหาวิทยาบูรพาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน จึงมีแนวติดต่อยอดในเชิงธุรกิจและนำเสนอโครงการจนได้รับการสนับสนุนจาก สนช. ด้วยนวัตกรรมของกระบวนการผลิต การเลี้ยงและการสร้างอาหาร

ได้รับเงิน 5.5 ล้านบาท และสนับสนุนวิชาการจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาพัฒนานวัตกรรมเรื่อยๆ ทำให้ธุรกิจเติบโต ในปีที่ 3 ที่เริ่มได้กำไรจะต้องจ่ายคืนมหาวิทยาลัยบูรพา 4% ของกำไรสุทธิ และจ่าย สนช. 3% ตามระบบการจ่ายคืน

บุญชัย หล่อพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด ทำโครงการนวัตกรรมตะกร้อผิวนุ่ม กล่าวว่า เริ่มแนวคิดสินค้านวัตกรรมตะกร้อผิวนุ่ม จากกรณีขาดแคลนหวายวัตถุดิบในการสานตะกร้อ จึงนำพลาสติกมาใช้แทน แต่เกิดการเลียนแบบจึงจดสิทธิบัตร แต่สำหรับตลาดต่างประเทศตะกร้อพลาสติกแข็งเกินไปและอาจบาดเจ็บในการเล่น จึงพัฒนาสู่ตะกร้อผิวนุ่ม และจดสิทธิบัตรเมื่อ 10 ปีแล้ว แต่ใช้โนว์ฮาวการยึดติดกันระหว่างยาง ซึ่งต้นทุนการผลิตสูง จึงต้องรอเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ต้นทุนการผลิตถูกลง

พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สเปเชี่ยลตี้ ไบโอเทค จำกัด ทำโครงการนวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากยีสต์ เล็งเห็นมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมผลิตยีสต์และผลิตภัณฑ์จากยีสต์กว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี จึงได้ค้นคว้าผลิตขึ้นโดยร่วมกับคณะสิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งโรงงานผลิตเป็นครั้งแรกในไทย ประกอบด้วยยีสต์ ยีสต์สกัด ผนังเซลล์และเบต้ากลูแคนเหมาะสำหรับการทำอาหารเสริมหรือใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

นิพนธ์ เอี่ยมโกสุม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนนิเมด (ประเทศไทย) จำกัด ทำโครงการนวัตกรรมหลอดเก็บตัวอย่างสุญญากาศ กล่าวว่า เป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ พบปัญหาความไม่แน่นอนของธุรกิจ เพราะต้องพึ่งผู้ผลิตต่างประเทศ 80-90% จึงคิดหาผลิตภัณฑ์ของตนเองขึ้นเป็นหลอดเก็บตัวอย่างเลือดสุญญากาศ “ZENIVAC” เพราะตลาดต้องการมาก ต้องนำเข้าจากต่างประเทศปีละ 800 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อผลิตได้เองทำให้ลดต้นทุนสินค้าต่อหน่วยลดลงถึง 20% และกลายเป็นจุดแข็งเพราะสามารถปรับเข้ากับความต้องการของตลาดได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us