|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สินค้ากลุ่มชิน-พันธมิตร บ่ยั่น และมีความสุขแม้ถูกบอยคอต เหตุสินค้าได้รับความนิยม แถมราคาโดนใจ ยากจะหาใครทดแทนได้
พลังประชาชนไม่เฉียบขาด เพราะพฤติกรรมเป็นแบบ Easy going
ผ่านมาหลายวันเอไอเอส-แอร์เอเชีย-เนสกาแฟ ฯลฯ ยอดขายยังแรง ไม่มีตก เชื่อยังเป็นเช่นนี้ตราบนานเท่านาน
นักวิชาการระดมความคิดแนะวิธีบอยคอตให้ได้ผล ต้องเร่งสร้างความเข้าใจก่อนเศรษฐกิจพังตกเป็นของต่างชาติทั้งยวง
ซีเอส ล็อกซ์อินโฟ, เอสซี แอสเสท, She @ Mood, เอไอเอส, แคปปิตอล โอเค, แอร์เอเชีย, เนสกาแฟ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายชื่อสินค้า-บริการที่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชักชวนประชาชนไม่ให้ไปซื้อสินค้า และบริการ แต่เอาเข้าจริงการบอยคอตจะทำได้แค่ไหน
ชลิต ลิมปนะเวช คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มองพฤติกรรมการบอยคอตของคนไทยที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัยว่า คนไทยมีลักษณะการใช้ชีวิตแบบ Easy going เพราะสภาพสังคมที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สร้างพฤติกรรมมักง่าย เห็นแต่ความสะดวกสบายเป็นหลัก การจะบอยคอตสินค้าก็ไม่เคยจะถึงขั้นจริงจัง โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สังคมเปลี่ยนไปสู่ความเป็นวัตถุนิยมตามแนวคิดของผู้นำประเทศ จริยธรรม คุณธรรม หายไป ยิ่งทำให้ประชาชนมองแต่ตนเอง ไม่ให้ความสนใจกับสังคมที่ไกลตัวออกไป
“30 ปีที่แล้ว เราเคยเดินประท้วงบอยคอตสินค้าจากญี่ปุ่นที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทยอย่างมากมาย โดยมีการประท้วงกันที่ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ราชดำริ แต่การบอยคอตมันเป็นไปไม่ได้หรอกในเมื่อผู้ร่วมประท้วงในวันนั้น ส่วนใหญ่ใส่เสื้อผ้าโทเร เทโทรอน จากญี่ปุ่น ถุงเท้าจากญี่ปุ่น ใส่นาฬิกาไซโก้ ไปเดินประท้วง ที่บ้านก็มีโทรทัศน์เนชั่นแนล ตู้เย็นซันโย สุดท้ายสินค้าญี่ปุ่นก็อยู่กับคนไทย เติบโตเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 จนถึงปัจจุบัน”
สำหรับการบอยคอตสินค้าและบริการจากชิน คอร์ป และสิงคโปร์ในครั้งนี้ ตนเชื่อว่าคงมีไม่มากเหมือนเช่นเคย โดยเฉพาะในส่วนของโทรศัพท์มือถือเอไอเอส ในระบบโพสต์ เพด คงมีไม่มาก เนื่องจากประชาชนยังคำนึงถึงผลเสียทางธุรกิจที่จะเกิดจากการเปลี่ยนเลขหมาย มากกว่ากระแสสังคม แต่ในส่วนของระบบพรีเพด วันทูคอลล์ อาจมีผู้ยกเลิกมากกว่า
คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ เอแบค กล่าวว่า ความกังวลเรื่องการเข้ามาครอบงำทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนสิงคโปร์มีการพูดกันมาเป็นปีแล้ว ที่ผ่านมาองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ยกธนาคารที่มีปัญหาไปขายให้กับต่างชาติในราคาถูก ๆ ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่า สถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ไม่ควรให้ต่างประเทศเข้ามาถือหุ้น ปัจจุบันสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ธนาคาร 2 ใน 3 มีทุนสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้น ทั้ง ธนาคารยูโอบี ธนาคารดีบีเอส – ทหารไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ ในเวลานี้เรายังอาจไม่เห็นการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยชัดเจน แต่สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ การดำรงอยู่ได้ของประเทศนี้อยู่ได้เพราะการวางแผนการลงทุนเพียงอย่างเดียว เมื่อสิงคโปร์เข้ามาเป็นแกนหลักของสถาบันการเงินไทย ก็จะกลายเป็นผู้คุมเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยปริยาย
ต่อไปการส่งออก การนำเข้าของประเทศไทย สิงคโปร์จะรู้หมด และรู้ก่อน รู้ทิศทาง โครงการไหนน่าลงทุน โครงการไหนไม่น่าลงทุน สิงคโปร์ก็จะใช้ธนาคารที่มีอยู่ในมือปรับฐานรอรับกอยโกยเงินกลับประเทศได้ทั้งหมด คนไทยถ้ายังไม่หันมาคิดถึงอนาคตกัน ปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ มองการโกง พฤติกรรมฉ้อฉลเป็นเรื่องธรรมดา อีกไม่นานระบบเศรษฐกิจของประเทศก็จะถูกทำลาย
ข้อเสนอต่อการบอยคอตสินค้าและบริการจากชิน คอร์ป และสิงคโปร์ในครั้งนี้ ชลิต ลิมปนะเวช แนะนำว่า ควรเริ่มจากการชะลอการใช้ในสินค้าหรือบริการที่ใช้อยู่ให้น้อยลง อาทิ การใช้โทรศัพท์มือถือเอไอเอส หากยังไม่สามารถยกเลิกได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้รับสายเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าหาก 16 ล้านเลขหมาย มีแต่รับสาย โดยไม่โทรออก ก็น่าจะทำให้ธุรกิจล้มได้ ส่วนสินค้าที่ไม่ได้ใช้ประจำ อาทิ การเดินทางโดยสารเครื่องบิน ก็เลิกใช้สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ไปใช้สายการบินอื่น เลิกใช้บริการแอร์ เอเชีย หันไปใช้นกแอร์ การกู้เงินไม่ต้องใช้บริการแคปปิตอลโอเค หันไปใช้บริการสถาบันการเงินอื่น เช่น อิออนบ้าง
ชึ้คนไทยเมินบอยคอต เพราะธุรกิจชินฯไกลตัว
แหล่งข่าวนักสื่อสารการตลาด มองการบอยคอตครั้งนี้ว่า แตกต่างจากการบอยคอตสินค้าญี่ปุ่นเมื่อ 33 ปีที่ผ่านมาว่า เมื่อครั้งก่อนนั้นการบอยคอตญี่ปุ่นเป็นเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถสัมผัสได้ แต่การบอยคอตสินค้าชินคอร์ป และสิงคโปร์ในวันนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะระดับรากหญ้ามองไม่เห็น เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบริการ สถาบันการเงิน ธุรกิจสื่อสาร เป็นภาพใหญ่ที่ไกลตัว กระแสสามารถสร้างได้บ้างก็คงเป็นเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ร่วมการชุมนุมราว 2-3 แสนคนเท่านั้น
“พฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับการบอยคอตสินค้ามาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ยังมองการเคลื่อนไหวของการบอยคอตสินค้า เข้ากับการขับไล่นายกรัฐมนตรี เหมารวมเป็นเรื่องของการสร้างความวุ่นวาย เอไอเอสคงได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่ถึงกับถอนรากถอนโคน”
กลุ่มที่เคลื่อนไหวควรรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจมากกว่านี้ โดยต้องสร้างความเข้าใจว่าการบอยคอตครั้งนี้มิใช่เป็นการทำเพราะเคียดแค้นนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัว หากแต่เป็นการรณรงค์ที่จะไม่ให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องพังลงจากฝีมือต่างชาติ โดยยกกรณีความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของประเทศอาร์เจนติน่า ที่รัฐบาลเปิดให้ต่างชาติเข้าครอบงำกิจการสาธารณูปโภคของประเทศทั้งหมด ซึ่งคล้ายกับการแก้กฏหมายให้ต่างชาติเข้ามาซื้อธุรกิจในประเทศไทยขณะนี้ เปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจหลังการแปรรูป โดยที่เห็นได้ชัดเจนขณะนี้คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นกลุ่มทุนจากต่างประเทศหลายราย เท่ากับธุรกิจพลังงานของคนไทยอยู่ในมือต่างชาติเกือบเบ็ดเสร็จ
ทั้งนี้ไม่อยากให้มองการบอยคอตทุนต่างชาติไปที่ทุนจากสิงคโปร์เพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาครอบงำอยู่ในหลายธุรกิจของประเทศไทยต่างมีการเอื้อประโยชน์ในการลงทุนซึ่งกันทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์แล้วมากมาย ดังเช่นธุรกิจค้าปลีก โมเดิร์นเทรด ซึ่งรายใหญ่ทั้งหมดเป็นของต่างประเทศ ทั้งโลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ ที่ผ่านมา ยังมีความเข้าใจกันว่า การเข้ามาลงทุนของธุรกิจจากต่างชาติเหล่านี้จะนำเงินจากประเทศนั้น ๆ เข้ามา แต่ปัจจุบัน เจ้าของธุรกิจเหล่านี้จะกู้เงินลงทุนจากธนาคารในประเทศไทยที่เป็นของต่างชาติ ซึ่งก็เป็นเงินของคนไทย มาลงทุนเปิดศูนย์การค้าให้บริการคนไทย กำไรที่ได้จะนำออกนอกประเทศ ตามระบอบการค้าเสรี ทำให้ประเทศเสียดุลการค้า
AIS บ่ยั่นแม้เผาซิม ยอดคนใช้ก็ไม่ลด
จากกระแสบอตคอตต์สินค้ากลุ่มชินคอร์ป บริษัทที่น่าจะถูกผลกระทบรุนแรงที่สุดน่าจะเป็น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส เนื่องจากปัจจุบันฐานผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอสมีมากกว่า 16.5 ล้านราย ผู้ใช้มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การเลิกใช้บริการเอไอเอส จากการชักชวนเพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการกดดันระบอบทักษิณ
กระแสการบอตคอตสินค้าเอไอเอส ส่งผลให้ผู้บริหารเอไอเอสเฝ้าจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากมีการไหลออกของฐานลูกค้าผู้ใช้โทรศัพท์เคลี่อนที่เอไอเอสจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้และผลกำไรของเอไอเอสทั้งหมด
เรื่องดังกล่าว ชำนาญ เมธปรีชากุล รองกรรมการผู้อำนวย สายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่ากระแสการเมืองและการบอตคอตสินค้าเอไอเอสในขณะนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ทีมงานการตลาดจะต้องนำเสนอการตลาดที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว เนื่องจากการทำธุรกิจกับการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน
อย่างไรก็ตามหากกระแสกดดันมีผลกระทบต่อเอไอเอสจริง สิ่งที่เอไอเอสต้องทำก็คือการตั้งรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นเอาไว้ และค่อยๆ แก้ไขไปทีละจุด ด้วยวิธีการทางการตลาดที่จะออกมาสร้างความผูกพันกับลูกค้าให้เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของการใช้สินค้าและบริการของเอไอเอสมากกว่า
“เรื่องการเมืองเป็นเรื่องของกระแส ถือเป็นจุดอ่อนของเอไอเอสในขณะนี้ แต่เชื่อว่ากระแสเป็นเรื่องที่อยู่ไม่นานมีช่วงระยะเวลาสักพักหนึ่ง”ชำนาญ กล่าวและว่า
“ผมอยากจะขอความเห็นใจมากกว่ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้”
เช่นเดียวกับ ฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส ที่กล่าวว่าเอไอเอสขอยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง การทำงานทุกวันนี้ทั้งพนักงานและผู้บริหารยังคงทำงานอย่างหนักต่อไปในการให้บริการที่ดีกับลูกค้า แม้ว่ากระแสกดดันการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯจะพยายามรณรงค์ให้ผู้ใช้บริการเอไอเอสยกเลิกบริการ บอตคอตสินค้าเอไอเอสก็ตาม
“เรายืนยันได้ว่าตัวเลขการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นยอดผู้ใช้บริการใหม่ หรือยอดคนเลิกใช้บริการยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ”
ทั้งนี้ยอดลูกค้าใหม่ระบบพรีเพดเดือนมกราคมยังมีประมาณ 5 แสนกว่าราย ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ก็มียอดลูกค้าใหม่เกือบ 5 แสนรายเช่นกัน ส่วนระบบโพสต์เพดมียอดจดทะเบียนใหม่ประมาณเดือนละ 2 หมื่นราย ในขณะที่อัตราการเลิกใช้ระบบพรีเพดอยู่ประมาณ 2% กว่า และระบบโพสต์เพดไม่ถึง 1%
“สิ่งที่ดีที่ที่สุดในขณะนี้คือตอนนี้ไม่ทำอะไรเลยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” ฐิติพงศ์ กล่าว
ผู้บริหารเอไอเอส ย้ำว่าปัจจุบันถ้าตัวเลขยังอยู่ในอัตราที่เป็นอยู่ ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในอนาคตต้องจับตาดูสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะหากมีผลกระทบจริง เอไอเอสคงต้องมีแคมเปญทางการตลาด โดยเฉพาะเรื่องของราคาที่ทำให้ลูกค้าเห็นว่าคุ้มค่าและเห็นประโยชน์ที่จะใช้บริการจากโครงข่ายเอไอเอส
สิ่งที่เห็นได้ชัดในขณะนี้จากฝั่งเอไอเอสคือการออกโฆษณาชุดใหม่ ในชื่อชุด “กลับบ้าน” ที่ต้องการสื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับทราบถึงชีวิตที่ดีขึ้นกับการใช้เครือข่ายของเอไอเอส โดยมุ่งเจาะไปที่กลุ่มลูกค้าใหม่ทั่วประเทศ ที่สำคัญยังเป็นการตอกย้ำให้ลูกค้าเก่าได้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากบริการเอไอเอสด้วย หลังจากที่ช่วงปีที่ผ่านมา เอไอเอสได้มีโฆษณาในลักษณะเช่นนี้ที่เป็นเด็กถูกงูกัดมาแล้ว
ส่วนด้านแคมเปญการตลาดเรื่องของโปรโมชั่น เอไอเอสได้มีการออกโปรโมชั่นรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งไปที่ฐานลูกค้าใหม่และเก่าให้ใช้เครือข่ายของเอไอเอส อย่างการออกโปรแกรมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าบุฟเฟ่ต์ให้ลูกค้าสามารถโทรบ่อยและโทรนานในช่วงเวลาบุฟเฟ่ย์ที่เลือกในชื่อบริการคุยไม่อั้นและ Unlimited ทำให้มีลูกค้าเข้าใช้โปรโมชั่นนี้ถึง 4 แสนราย
แต่แคมเปญดังกล่าวยังมีข้อจำกัดเรื่องของเวลา เอไอเอสจึงได้ออกโปรแกรมใหม่บุฟเฟต์รายเบอร์ ทั้งระบบพรีเพดและระบบโพสต์เพด โดยในระบบพรีเพดมีโปรแกรมชื่อ ติดหนึบ และระบบโพสต์เพดมีโปรแกรม Love แพกเกจ สามารถเลือกเลขหมายพิเศษที่ต้องการโทรหาโดยไม่จำกัดเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ทุกเครือข่ายทั้งโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์บ้าน โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่อนาที
ฐิติพงศ์ กล่าวว่าเป้าหมายของแคมเปญบุฟเฟ่ต์รายเบอร์ น่าจะมีคนใช้บริการประมาณ 5 แสนราย โดยเป็นลูกค้าใหม่กับลูกค้าย้ายจากระบบอื่นในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งเอไอเอสมองว่าบุฟเฟ่ต์รายเบอร์ใหม่นี้ จะช่วยสร้างรายได้ต่อเลขหมายให้สูงขึ้น เพราะเปรียบเหมือนเป็นรายได้พิเศษ ที่ต่อยอดขึ้นมาจากแพกเกจ โปรโมชั่นที่ลูกค้าแต่ละคนใช้อยู่
จะเห็นได้ว่าความเคลื่อนไหวของเอไอเอสในขณะนี้ จึงอยู่ที่การแก้เกมไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่ทำอะไรที่ฝืน เพราะสถานการณ์การตลาดที่เกิดขึ้นกับเอไอเอสในขณะนี้ นอกจากจะต้องสู้กับกระแสการเมืองและการบอตคอตสินค้าเอไอเอสแล้ว ยังต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่ไล่หลังมาอย่างหนักด้วย
แอร์เอเชีย ถูกอย่างนี้ใครๆก็ชอบบิน
ทั้งๆที่รู้กันโดยทั่วไปว่าสายการบินไทยแอร์เอเชียมีของกลุ่มชินคอร์ป และมีเงื่อนงำเรื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย แต่ถามว่าหากวันนี้ต้องการเดินทางไปต่างจังหวัดโดยสายการบินจะเลือกอะไรระหว่าง การบินไทย บางกอกแอร์เวยส์ โอเรียนท์ไทย นกแอร์ หรือแอร์เอเชีย
บางคนที่มีฐานะมากพออาจยอมเสียเงินมากหน่อย เลือกไปกับสายการบินมีชื่อ เครื่องบินลำใหญ่ มีอาหารบริการเพียบพร้อม แต่คนมีเงินในกระเป๋าน้อย หรือคนมีเงินแต่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าคุ้มราคา อาจเลือกเดินทางไปกับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอส แอร์ไลน์ ซึ่งในช่วงนี้เรียกได้ว่าไม่มีสายการบินไหนสามารถกดราคาได้ต่ำเท่ากับแอร์เอเชียทั้งในช่วงที่มีและไม่มีแคมเปญ โปรโมชั่น
เมื่อไม่นานมานี้ แอร์เอเชียเพิ่งนำที่โดยสารที่เหลือทั้งในและต่างประเทศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และเมษายนราว 60,000 ที่นั่ง มาจำหน่ายในราคา 99 บาท และ 199 บาท และด้วยราคาที่ยวนใจเช่นนี้ เชื่อว่าจะสามารถโน้มน้าวให้คนที่เกลียดทักษิณ ไม่อยากใช้บริการใดๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชินคอร์ป ต้องอดมาใช้บริการของแอร์เอเชียด้วยไม่ได้
พนักงานบริษัทคนหนึ่งที่สนับสนุนการขับไล่ทักษิณ กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนเพิ่งซื้อตั๋วเครื่องบินของแอร์เอเชียไปเที่ยวเชียงรายกับครอบครัวในราคาเที่ยวไปแค่ 99 บาท ส่วนเที่ยวกลับ 699 บาท เมื่อรวมค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน และค่าเซอร์ชาร์จน้ำมันแล้ว ไป-กลับเพียง 2 พันกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับการเดินทางไปโดยการการบินอื่น และไม่ใช่แต่พนักงานคนดังกล่าวเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายต่อหลายคนที่มีความคิดไม่ต่างไปกว่านี้เท่าไร !
เนสกาแฟ ติดบ่วง แต่ยังแฮปปี้
ความร้อนแรงของสถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมารณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนบอยคอตการใช้สินค้าและบริการของกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล รวมทั้งยังได้จัดทำคู่มือในการซื้อสินค้าทางเลือก แจกจ่ายให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ 1 แสนชุด เพื่อปลุกกระแสในการเข้าเป็นแนวร่วม
เนสกาแฟ ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ แต่มีความเกี่ยวเนื่องกับ“เจ้าพ่อกาแฟ” ประยุทธ มหากิจศิริ ที่ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และยังมีธุรกิจส่วนตัวในอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟสำเร็จรูป โดยถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ควอลิตี้คอฟฟี่โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตกาแฟให้กับแบรนด์เนสกาแฟ ตั้งแต่ในยุคแรกเริ่ม จนถึงปัจจุบันที่เนสกาแฟมีการผลิตสินค้าออกมาเพื่อวางตลาดทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ โดยความเกี่ยวเนื่องกันดังกล่าว ก็ส่งผลทำให้สินค้ากลุ่มเนสกาแฟได้รับผลกระทบไปกับการคว่ำบาตรครั้งนี้ด้วย
น่าสนใจว่า แม้จะเป็นเป้าหมายในการถูกต่อต้าน แต่ก็ไม่ส่งผลสะเทือนมายังยอดขายและจำนวนผู้ดื่มเนสกาแฟให้มีอัตราการดื่มที่ลดลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว
นั่นก็เพราะว่า เนสกาแฟ เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งที่อยู่ในใจของคอกาแฟไทยมาเป็นเวลาหลายปี และปัจจุบันเนสกาแฟยังเป็นผู้นำตลาดกาแฟโดยรวม ครองส่วนแบ่งกว่า 80% จากมูลค่าตลาดรวม 3.5 หมื่นล้านบาท และนอกจากการครองใจผู้บริโภคแล้ว ที่ผ่านมาแม้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดกาแฟ เพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่และหน้าเก่าพยายามเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างไม่ขาดสาย
แต่สุดท้ายแล้วเนสกาแฟก็ยังรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น นั่นก็เป็นเพราะว่าในตลาดกาแฟผู้บริโภคมีแบรด์ลอยัลตี้ค่อนข้างสูง
ทว่ามีสิ่งที่น่าจับตาว่า ถ้าสถานการณ์ขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งหากว่าเนสกาแฟไม่ได้เตรียมแผนพีอาร์เพื่อรับมือกับสถานการณ์อย่างมืออาชีพและทันต่อเหตุการณ์ที่ตกเป็นจำเลยของสังคมครั้งนี้ ก็อาจส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์เนสกาแฟ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้ให้แก่กลุ่มเนสท์เล่ ประเทศไทย
รวมถึงอาจสร้างความเสียหายต่อภาพรวมองค์กรของเนสท์เล่ทั้งหมด ที่อยู่ภายใต้การทำตลาด ในกลยุทธ์ มัลติแบรนด์ด้วยเช่นกัน โดยเนสท์เล่ มีผลิตภัณฑ์ที่วางขายในท้องตลาดอย่างหลากหลายกว่า 100 รายการเช่นนมผงทารก นมข้น น้ำดื่ม กาแฟ ครีมเทียม แม็กกี้ นมข้นจืดคาร์เนชั่น น้ำดื่มเพียวไลฟ์ นมพร่องมันเนย อาหารเสริม
แต่ถึงวันนี้เนสกาแฟ และสินค้าอื่นๆในกลุ่มบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากสถานการณ์การประท้วงที่เกิดขึ้น เพราะผู้บริโภคหลายคนถามว่า ถ้าไม่ให้เขาดื่มเนสกาแฟที่บริโภคมาเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้วจะให้ไปดื่มกาแฟแบรนด์ใด เพราะแม้เป็นกาแฟเหมือนกันแต่ใช่ว่าจะให้อรรถรสในการดื่มทั้งกลิ่นและรสเหมือนกัน
ตระกูลมหากิจศิริ และเนสกาแฟจึงยิ้มได้ด้วยประการฉะนี้
|
|
|
|
|