กลุ่มเทมาเสก ทุ่มเงินก้อนใหญ่เกือบ 1.5 แสนล้านบาท ฮุบ "ชินคอร์ป" กว่า 96% หลัง "ซีดาร์ -แอสเพน โฮลดิ้งส์" ทำเทนเดอร์ฯ ได้หุ้นเพิ่มอีก 46.91% ด้าน "กิตติรัตน์" เปิดทางผ่อนผันระยะเวลาแก้ปัญหาฟรีโฟทต่ำกว่า 15% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ขีดเส้น 1 เดือนหลังปิดโต๊ะรับซื้อหุ้นจากรายย่อยต้องสรุปดิวหุ้นซินคอร์ปทั้งหมด พร้อมตรวจสอบความเป็นไทยหรือเทศ รวมทั้งการให้ถือหุ้นแทน (นอมินี) เผยหากพบเป็นนอมินี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท
หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด( มหาชน) ในฐานะตัวแทนของบริษัทซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงผลการเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN ว่า สามารถรับซื้อได้ทั้งหมด 1,418.12 ล้านหุ้น หรือ 46.91% แบ่งเป็นบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ รับซื้อหุ้น 562.96 ล้านหุ้นหรือ 18.62% และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ 855.16 ล้านหุ้นหรือ 28.29%
ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวได้จัดทำคำเสนอซื้อหุ้น SHIN ในสัดส่วน 50.01% ของทุนจดทะเบียน พบว่า ยังคงมีนักลงทุนรายย่อยที่ไม่ได้เสนอขายหุ้นในสัดส่วน 3.10%
จากการทำคำเสนอซื้อดังกล่าว เมื่อรวมกับหุ้นที่บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ ที่ได้เข้ามาซื้อหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูลชินวัตร และดามมาพงษ์ในจำนวน 1,487.74 ล้านบาทหรือ 49.21% ทำให้บริษัททั้ง 2 แห่ง ถือหุ้น SHIN ในสัดส่วน 96.12%
พร้อมกันนี้ ผู้จัดทำคำเสนอซื้อได้รับซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (SHIN-W1) จำนวน 159.12 ล้านหน่วย หรือ 5.26% หากใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหุ้นสามัญจะทำให้บริษัทซีดาร์โฮลดิ้ง และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ถือหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นในสัดส่วน 96.31%
ทั้งนี้กลุ่มเทมาเสก โฮลดิ้งส์ ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทางอ้อมของบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ และพบว่ากลุ่มเทมาเสก โฮลดิ้งส์ ต้องใช้เงินในการเข้ามาซื้อหุ้น SHIN ทั้งหมดเป็นจำนวน 147,688.30 ล้านบาท แบ่งเป็นการเข้ามาซื้อจากตระกูลชินวัตรและดามมาพงษ์ จำนวน 1,487.74 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 49.25 บาท มูลค่ารวม 73,271.19 ล้านบาท จากการทำเทนเดอร์ฯ 1,418.12 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 49.25 บาท มูลค่า 69,842.41 ล้านบาท และเทนเดอร์ฯ วอร์แรนต์ 159.12 ล้านหน่วย ราคาหน่วยละ 28.75 บาท มูลค่า 4,574.70 ล้านบาท
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีปริมาณหุ้น SHIN ที่หมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ฟรีโฟท) หลังการทำเทนเดอร์ฯ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 15% ว่า บริษัทสามารถขอผ่อนผันได้ เพื่อที่จะทำให้ปริมาณหุ้นเป็นตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายมีฟรีโฟทที่ต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณ 20บริษัท แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่องจาก SHIN แต่อย่างใด
สำหรับระยะเวลาในการผ่อนผันนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการผ่อนผันให้บริษัทเป็นเวลา 2-3 ปี เช่น กลุ่มธนาคาร ที่ประสบปัญหาจากเศรษฐกิจจะต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขคุณสมบัติเป็นเวลานาน และมีบางบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผ่อนผันให้เป็นระยะเวลาถึง 10 ปี
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายวิตกว่า SHIN อาจจะย้ายไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์หลังจากขาดคุณสมบัติจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เรื่องฟรีโฟทไม่น่าจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับ SHIN เพราะสามารถขอผ่อนผันได้ และเชื่อว่านักลงทุนรายใหญ่ รายย่อยและประชาชนทั่วไป ยังต้องการให้ SHIN เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย
ขณะที่ ความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้ข้อมูลภายในเพื่อซื้อขายหุ้น SHIN นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รวบรวมข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องขอข้อมูลใดๆ เพิ่มเติมอีก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการตรวจสอบในเดือนมี.ค.นี้
นางสาวอรจิต สิงคาลวณิช อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมถึง ความคืบหน้าการตรวจสอบความสัมพันธ์การซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า วันนี้ (15 มี.ค.) กรมจะทำหนังสือเพื่อขอให้บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด ได้แก่ บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทลูกอีก 5 บริษัท คือ บมจ. แอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส บมจ. ชินแซทเทลไลด์ บมจ. ไอทีวี บมจ.ซีเอส ล็อกอินโฟร์ และ บมจ. ไทยแอร์เอเซีย รวมถึง บริษัท ซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ให้จัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการชำระเงินเพิ่มเติม หลังจากสิ้นสุดการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากรายย่อย (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้จัดส่งเอกสารดังกล่าวภายใน 10 วัน จากนั้นจะใช้เวลาตรวจสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ เบื้องต้นกรมจะตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาก่อนหน้านี้ โดยจัดตั้งทีมงานขึ้นมา 1 ชุด มีทั้งฝ่ายนิติกร ฝ่ายเกี่ยวกับการจดทะเบียน ฝ่ายเกี่ยวกับการตรวจสอบความเป็นต่างด้าว และกองบัญชี โดยจะทำการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสรุปผลสถานะของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายทั้งหมดว่า ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีลักษณะเป็นการถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในลักษณะนอมินีหรือไม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลจากการตรวจสอบพบว่า การซื้อขายหุ้น SHIN มีลักษณะเป็นการถือหุ้นแทนคนต่างด้าวจริง จะเข้าข่ายกระทำความผิดตาม มาตรา 36 ใน พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจการต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่มีสาระสำคัญ คือ ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวที่ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียวหรือถือหุ้นแทน (นอมินี) จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนนั้นเสีย แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ต้องระวางโทษปรับวันละ 1-5 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
นอกจากนี้ จะต้องนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจนั้นๆ เช่น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549 หรือรัฐธรรมนูญมาตรา 39 อีกชั้นด้วย
สำหรับการตรวจสอบความเป็นนอมินีของบริษัท ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จะมีความแตกต่างไปจาก ข้อ 3 ของประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 281 เนื่องจากไม่สามารถลงไปตรวจสอบลึกถึง "ทุน" เพราะข้อจำกัดของ พ.ร.บ. นี้ กำหนดไว้เพียงการตรวจสอบจำนวนหุ้นเท่านั้น เช่น บริษัท มี 100 หุ้น หาก 51 หุ้น ถือโดยคนไทยหรือนิติบุคคลไทย ถือว่าไม่ใช่ต่างด้าว เช่นเดียวกับข้อตกลงในเรื่องการจ่ายเงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิ และสิทธิในการออกเสียง เพื่อบริหาร เป็นเรื่องของความสมัครใจ และเป็นความชอบธรรมตามกฎหมาย หากบริษัทมีข้อตกลงกันแล้ว แม้ว่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง กรมฯ ก็ไม่สามารถปฏิเสธการรับจดทะเบียนได้
ส่วนการตรวจสอบสัดส่วนการถือหุ้น ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีเป็นหน้าที่ของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่จะดูแลสัดส่วนไม่ให้เกิน 49% ทางกรมฯ จะรับทราบข้อมูล ก็ต่อเมื่อมีการยื่นสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นประจำปี ในเดือนธ.ค.ของทุกปีเท่านั้น แต่จะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบย้อนหลัง โดยจะถือว่าบัญชีดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่เป็นข้อเท็จจริง และหากพบว่าการถือหุ้นยังเป็นปกติ ก็เท่ากับนิติบุคคลนั้นเป็นสัญชาติไทย
|