ยุคเงินบาทลอยตัว เศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาการเมืองไร้เสถียรภาพ ผู้ประกอบการภาคเอกชนต่างดิ้นรนให้พ้นวิกฤติการณ์ให้ได้
ใครที่มีสายป่านยาวก็สามารถรอดตัวไปท่ามกลางความเจ็บปวดสำหรับผู้ที่ไม่สามารถฟันฝ่าออกไปได้
แต่ บมจ.กระจกไทย-อาซาฮี (TAG) ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ของประเทศไทยยังไม่รู้ว่าทิศทางของบริษัทจะเป็นอย่างไร
เพราะกำลังปวดหัวอยู่กับโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง
ที่เพิ่งสร้างเสร็จแลเริ่มการผลิตเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยเงินลงทุนประมาณ
2,750 ล้านบาท กำลังการผลิต 182,500 ตันต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังการผลิตโรงงานที่พระประแดงแล้ว
TAG จะมีกำลังการผลิตกระจกประมาณ 331,000 ตันต่อปี
และเมื่อรวมกำลังการผลิตโดยรวมทั้งประเทศแล้ว จะมีสูงถึงประมาณ 823,000
ตันต่อปี ซึ่งสามารถรองรับความต้องการกระจกได้ไม่น้อยกว่า 13 ปีขณะที่ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศปี
2540 คาดว่าจะมีเพียงประมาณ 310,500 ตันต่อปีเท่านั้น ดังนั้นภาวะการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงเนื่องจากปริมาณผลผลิตในประเทศที่เกินความต้องการ
(over supply) สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างซบเซาอย่างมากทำให้ผู้ผลิตกระจกเจ็บตัวกันระนาว
แหล่งข่าวใน TAG เล่าให้ฟังว่าการเปิดโรงงานแห่งใหม่นี้ถือว่าเป็นการลงทุนที่ผิดจังหวะ
แต่เมื่อบริษัทได้วางแผนสร้างไว้แล้วเมื่อ 3 ปีก่อนซึ่งช่วงนั้นเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น
แต่ปัจจุบันเมื่อเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้บริษัทจำเป็นต้องปิดดำเนินการผลิตแม้จะรู้ว่าอนาคตข้างหน้าผลิตภัณฑ์กระจกจะล้นตลาดมากขึ้น
ผลกระทบสำคัญที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจาก TAG ได้กู้เงินจากต่างประเทศเพื่อมาสร้างโรงงานแห่งใหม่นี้เป็นเม็ดเงินสูงถึงประมาณ
2,000 ล้านบาท เป็นสกุลดอลลาร์ประมาณ 63 ล้านเหรียญสหรัฐ และสกุลเยนประมาณ
2,000 ล้านเยน ทำให้ขณะนี้บริษัทต้องขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้วกว่า
600 ล้านบาท เมื่อคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม
เงินกู้ส่วนนี้เป็นเงินกู้ระยะยาวจึงทำให้ TAG สบายใจได้ในระดับหนึ่งถ้าเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่าในขณะนี้ทางผู้บริหารของบริษัทกำลังหารือกันในเรื่องการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายในปี
2541 ซึ่งประเด็นสำคัญคงจะไม่พ้นการพยายามลดค่าใช้จ่ายในทุกๆ ทางเพื่อให้เพียงพอกับรายได้ที่มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ
"ส่วนแผนการขยายการลงทุนในปีนี้และปีนหน้าคาดว่าจะหยุดไว้ก่อน เพราะคงต้องรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก่อนว่าจะดีขึ้นในช่วงไหน
ส่วนที่จะทำในตอนนี้คือพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ให้มากที่สุด"
ทั้งที่ผู้บริหารกลุ้มใจมากที่สุดเห็นจะเป็นการโดนผู้ผลิตกระจกจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และจีนนำผลิตภัณฑ์กระจกเข้ามาจำหน่ายในประเทศในราคาถูกกว่าผู้ผลิตในประเทศประมาณ
20% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ TAG ถูกแย่งไปมากพอสมควร แม้ว่าปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของบริษัทจะยังคงรั้งอันดับหนึ่งอยู่คือ
ประมาณ 30% แต่ในอนาคตแนวโน้มคาดว่าส่วนแบ่งตลาดจะค่อยๆ หายไปเนื่องจากผลิตภัณฑ์กระจกจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาในอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากที่เคยอยู่ระดับเลขหลักเดียว แต่ล่าสุดส่วนแบ่งตลาดถูกแย่งไปแล้วประมาณ
20%
หนทางออกของ TAG เมื่อปีที่แล้วสำหรับการต่อสู้กับผลิตภัณฑ์กระจกต่างประเทศ
คือการปรับราคาลง 30-40% แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นๆ เท่านั้นในขณะที่ด้านต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มขึ้น
ดังนั้น TAG จึงได้ปรับราคาผลิตภัณฑ์กระจกเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันได้ปรับราคาเป็นจำนวน
3 ครั้งแล้ว โดย 2 ครั้งแรกนั้นเป็นการปรับราคาให้ใกล้เคียงกับฐานราคาเดิมซึ่งเมื่อปรับราคาแล้วจะอยู่ที่ระดับราคาตันละประมาณ
12,000 บาท แต่ครั้งที่ 3 นี้ ทางบริษัทยังไม่สามารถกำหนดราคาได้ว่าจะปรับขึ้นเท่าไรเพราะค่าเงินบาทจะผันผวนอยู่จึงไม่สามารถคำนวณต้นทุนการผลิตได้
สาเหตุที่ผลิตภัณฑ์กระจกจากต่างประเทศทะลักเข้ามามากเกิดจากการลดภาษีนำเข้ากระจกตามข้อตกลงของอาฟตา
(AFTA) ปัจจุบันไทยเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กระจกอัตรา 30% และจะค่อยๆ ลดลงจนเหลืออัตราภาษีในอัตรา
5% ในปี 2544
"นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วเอเชียไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย
มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้ทุกประเทศต้องดิ้นรนหาตลาดเพื่อความอยู่รอด"
แหล่งข่าวกล่าว
ปัญหาอันเกิดจากการทุ่มตลาดนี้ทางผู้ผลิตกระจกของไทยได้พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองทางหนึ่งในระดับหนึ่งแล้ว
ยังต้องขอความเป็นธรรมจากภาครัฐบาลด้วยการเร่งให้รัฐบาลพิจารณามาตรการตอบโต้กับประเทศที่นำผลิตภัณฑ์กระจกเข้ามาทุ่มตลาด
หรือออกมาตรการสกัดกั้นการนำเข้า โดยวิธีอื่นที่ไม่เกี่ยวกับภาษี เช่น การตั้งมาตรฐานบังคับให้สินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศมีมาตรฐานเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ในประเทศ
ซึ่งจะสามารถลดการนำเข้ามาได้ในระดับหนึ่ง และขอให้ชะลอการลดภาษีในแต่ละปีตามข้อตกลงของ
AFTA โดยใช้มาตรการลดภาษีครั้งเดียวในปี 2544 เลย ซึ่งความหวังของผู้ประกอบการในมาตรการขอร้องต่างๆเหล่านี้คงจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร
เพราะปัญหาทางด้านการเมืองยังไม่สามารถคลี่คลายให้กระจ่างชัดได้
ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อนซึ่งความเป็นไปได้ในปัจจุบัน
ได้แก่ เร่งระบายผลิตภัณฑ์กระจกออกไปจำหน่ายต่างประเทศให้มากที่สุด โดยที่ผ่านมา
TAG ได้ทำการส่งออกผลิตภัณฑ์กระจกประมาณ 20% ส่วนใหญ่ตลาดจะอยู่ที่ญี่ปุ่น
แต่คาดว่าต่อไปอัตราการส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้นพร้อมทั้งขยายตลาดให้กว้างขวางมากขึ้นโดย
TAG จะอาศัยเครือข่ายของอาซาฮีของญี่ปุ่นเป็นผู้ทำตลาดให้เพราะมีสาขาอยู่ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่จะเจอก็คือความไม่ราบรื่นสำหรับตลาดอเมริกาและตลาดในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู
เพราะประเทศเหล่านี้ได้มีการตั้งกำแพงภาษีไว้สูงพอสมควร อีกทั้งระดับราคาขายผลิตภัณฑ์กระจกของ
TAG ในต่างประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาจำหน่ายในประเทศเกือบ 50% จึงไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป
"ส่วนตลาดในแถบเอเชียปัจจุบันแต่ละประเทศเริ่มมีปัญหาเรื่องกระจกล้นตลาด
โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้ TAG ต้องเจอกับคู่แข่งเมื่อออกไปหาตลาดในต่างประเทศ
ดังนั้นปัญหาการทุ่มตลาดกระจกจึงไม่จบสิ้นในเร็ววันนี้แน่นอน" แหล่งข่าวกล่าว
เมื่อมองไปในอนาคตแล้ว TAG คงจะต้องทำงานหนักกว่าเดิมแน่นอน เพราะเจอปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้บริหารของบริษัทคงจะสามารถขจัดปัญหาเหล่านี้ออกไปได้ในที่สุด