เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ยังคงเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้มอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์เจเอฟ ธนาคม และบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้
เข้ามาเป็นผู้ศึกษาการเข้าซื้อกิจการด้านการเกษตรของซีพี ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายในเวียตนาม
อินเดีย ไต้หวัน และตุรกี เพื่อสร้างความชัดเจนในการชู CPF ให้เป็นบริษัทแกนนำของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาหาร
ที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วโลก
"เราต้องการสร้างภาพลักษณ์ของ CPF ให้ยิ่งใหญ่ติดอันดับโลก เหมือนคาร์กิลล์
ไทรสัน หรือคอนนากา" อดิเรก ศรีประทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส CPF
กล่าว
การเตรียมตัวเข้าซื้อกิจการในเครือในต่างประเทศ โดยการให้ CPF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
100% ครั้งนี้ เป็นความเคลื่อนไหวอีกครั้งของธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มซีพี
ที่กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการในเครือ ที่กระจัดกระจายอยู่ให้เป็นหมวดหมู่อย่างมีระบบ
ช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลังประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ธนินท์ได้ทุ่มเทกำลังสมองในการขบคิดหาทางแก้ปัญหาให้กับธุรกิจในกลุ่ม
ซึ่งในที่สุดเขาก็ได้ตกผลึกทางความคิด ที่จะต้องแยกความชัดเจนระหว่างธุรกิจดั้งเดิมของซีพี
คือ อุตสาหกรรมการเกษตร และธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมให้ชัดเจน
ในธุรกิจค้าปลีก ซีพีเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ 7-Eleven ซึ่งขณะนี้มีอยู่ถึงกว่า
1,000 สาขาในประเทศไทย
ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ซีพีถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทเทเลคอมเอเซีย ซึ่งรับผิดชอบเลขหมายโทรศัพท์ในเขตนครหลวงกว่า
2 ล้านเลขหมาย
ทั้ง 2 บริษัท เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่และมีการร่วมทุนกับต่างประเทศ
จึงมีการจัดระบบที่ค่อนข้างจะชัดเจนพอสมควร
แต่ในธุรกิจการเกษตรซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมนั้น มีบริษัทที่กระจัดกระจายอยู่มาก
และมีการจัดการที่ไม่เป็นระบบ
เขาตัดสินใจเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ของธุรกิจในกลุ่มนี้ใหม่ จากเดิมที่คนทั่วไปมองกลุ่มซีพีว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการเกษตร
โดยหลังจากนี้เป็นต้นไป เขาต้องการให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า ซีพีคือกลุ่มธุรกิจอาหารครบวงจร
"Kitchen of the World" คือ คอนเซ็ปต์ที่ธนินท์ตั้งความหวังให้กลุ่มซีพีต้องทำให้ได้
โดยบริษัทแกนหลักในกลุ่มนี้ คือ CPF ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การดำเนินการปรับโครงสร้าง ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2541 โดย CPF ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
100% ในทุกบริษัทในกลุ่มซีพี ที่ดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร
ซึ่งรวมทั้งบริษัทกรุงเทพโปรดิวซ์ บริษัทกรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร
และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อิสาน ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯเช่นกัน และต่อมาทั้ง
3 บริษัท ก็ได้ถูกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน
ในปี 2542 CPF ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทเจริญโภคภัณฑ์กรุ๊ป (CPG) โดยถือหุ้นเต็ม
100% รวมทั้งซื้อหุ้นในเครือ CPG ที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก 6 บริษัท
และเข้าถือหุ้นในบริษัทในกลุ่มที่มีกิจการในลักษณะเดียวกันอีก 6 บริษัท
โดยถือหุ้นไม่ถึง 50% ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 4,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็เข้าถือหุ้นบางส่วนในกิจการที่ไม่ใช่แกน (Non-core Bussiness)
อีกประมาณ 7 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการค้าปลีกและค้าส่งในประเทศไทย
และในสาธารณรัฐประชาชนจีน (7-Eleven, Lotus, Makro)
ล่าสุดคือ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา(17 มกราคม 2543) CPF ได้เปลี่ยนชื่อจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์
เป็นเจริญโภคภัณฑ์อาหาร เพื่อตอกย้ำความชัดเจนของธุรกิจให้สาธารณชนเห็นเด่นชัดมากขึ้น
หลังจากนั้นอีกเพียง 1 เดือน ได้มีการปรับโครงสร้างคณะผู้บริหารของ CPF
ใหม่ โดยธนินท์ขึ้นเป็นประธานกรรมการ มี ประเสริฐ พุ่งกุมาร เป็นรองประธานกรรมการ
และประธานคณะกรรมการบริหาร มิน เธียรวร เป็นรองประธานกรรมการ ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล
เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร
ส่วนคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยชิงชัย โลหะวัฒนะกุล, ธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล,
พงษ์เทพ เจียรวนนท์, อาชว์ เตาลานนท์, วีรวัฒน์ กาญจนดุล, อดิเรก ศรีประทักษ์,
ทง โชติรัตน์, พงษ์ วิเศษไพฑูรย์ และอรุณี วัชรานันท์ เป็นกรรมการบริหาร
และเลขานุการ
การปรับโครงสร้างที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกลุ่มซีพี
เพราะเป็นการจัดหมวดหมู่ธุรกิจให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น จากเดิมที่บริษัทในเครือเกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจาย
และไม่เป็นระบบ
แนวคิดนี้ถูกบีบคั้นให้เกิดขึ้นภายหลังประเทศไทยประสบวิกฤตทางการเงิน โดยเฉพาะเมื่อมีความต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศฝั่งตะวันตกมากขึ้น
เงื่อนไขสำคัญที่เจ้าของเงินต้องการคือ ความโปร่งใสชัดเจนของผู้ต้องการเงินทุน
"บริษัทต่างๆ ไม่ได้ยุบ แต่เอามาอยู่ใต้ CPF เพื่อให้คนติดภาพ CPF ว่าเป็นเรื่องอาหาร
ทำให้คนที่จะมาลงทุน โดยเฉพาะกองทุน เราจะแยกภาพให้ชัดเจนออกไป" ธนินท์ เคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ไว้เมื่อปลายปีก่อน
"ผู้จัดการ" ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 เคยเขียนถึงการดำเนินการปรับโครงสร้างของซีพีในครั้งนี้ว่า
เป็นการ "เคลื่อนย้าย" (shift) จากผู้ผลิต ที่มีเครือข่ายการผลิตอาหารระดับโลกรายหนึ่ง
มาสู่การสร้าง และบริหารเครือข่ายการขายอาหารของโลกอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงและครอบคลุมมากขึ้น
"CPF เรามีสิ่งที่เหนือกว่า คือ เราเป็นผู้ผลิตอาหารครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบ
จนถึงอาหารสำเร็จรูป" อดิเรกกล่าว
ปัจจุบันนอกจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานแปรรูปสัตว์แล้ว
ในธุรกิจอาหารสำเร็จรูป กลุ่มซีพียังเป็นเจ้าของแฟรนไชส์เคเอฟซี และเชสเตอร์กริลล์
และผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ไก่ย่าง 5 ดาว ซึ่งเป็นแหล่งระบบวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันก็มีร้านอาหารไทยบัวบานที่กำลังประสบความสำเร็จ และพร้อมจะเปิดขายแฟรนไชส์ต่อให้กับนักลงทุนต่างประเทศ
ที่สนใจ
นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารสำเร็จรูปในมือของตัวเองเช่นไส้กรอก
เบคอนซีพี เครื่องปรุงรสช้อยส์ และซุปไก่สกัดตราเบสท์ รวมทั้งเบเกอรี่ อาหารกระป๋อง
และอาหารขบเคี้ยวประเภทสแนค ที่ดำเนินการโดยบริษัทซีพี อินเตอร์ฟู้ดส์ ที่ตั้งเป้าส่งออกถึง
10,000 ล้านบาท ในอีก 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
การเตรียมซื้อกิจการในเครือในต่างประเทศของ CPF ครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นเพียงความต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่ง
ของการจัดโครงสร้างใหม่ ที่ใกล้จะลงตัวของกลุ่มซีพีในด้านอุตสาหกรรมอาหาร
แต่การจัดโครงสร้างรอบนี้ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จนกว่ากลุ่มซีพีจะสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในอันดับต้นๆของผู้ผลิตอาหารของโลก
ตามคอนเซปต์ "Kitchen of the World" ที่ธนินท์ตั้งความหวังเอาไว้ได้แล้วเท่านั้น