Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2540
"กนิษฐ์ สุวรรณประสิทธิ์ เส้นทางจากกุ๊ก สู่อุตสาหกรรม             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 


   
search resources

กนิษฐ์ สุวรรณประสิทธิ์




ความฝันของหญิงสาวผู้หนึ่ง ได้ช่วยต่อชีวิตของเธอให้ยืนยาวมาได้อย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวา แม้จะดูเหน็ดเหนื่อยสักเพียงใดก็ตาม กนิษฐ์ สุวรรณประสิทธิ์ ได้ขยายธุรกิจของเธอออกไปทีละขั้นตอน โดยไม่ได้มีแผนงาน แต่มีจังหวะในตัวของมันเอง เริ่มแต่ร้านอาหารฝรั่งเศส กนิษฐ์ เป็นร้านแรกในละแวกเสาชิงช้า, อาหารกล่องกนิษฐ์, ปลูกเครื่องเทศฝรั่ง 5-6 ประเภท และล่าสุดคือโรงเรียนสอนทำอาหาร กนิษฐ์ ในอนาคตอาจจะมีแฟรนไชส์ กนิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามเกิดขึ้นอีก นี่เป็นจังหวะเปลี่ยนสำคัญหากเธอสามารถหาผู้ร่วมทุนในต่างประเทศที่เหมาะสมได้ การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นทันที เพราะเธอได้สร้างพื้นฐานแต่ละจุดรองรับไว้แล้วโดยมิได้ตระเตรียมวางแผนแต่อย่างใด

หญิงสาวธรรมดาคนหนึ่ง เป็นคนรุ่น 14 ตุลาฯ มีพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อด้วย Diplome การเรียนทำอาหารฝรั่งเศสเพื่อเป็นกุ๊กจาก เลอ กอร์ดอง เบลอ แห่งกรุงปารีส จนก้าวสู่การเป็นนักอุตสาหกรรมอาหารโดยที่เจ้าตัวไม่ได้วางแผนมาก่อน เพียงแต่มีความฝันที่จะทำโน่นทำนี่ และขยายออกไปจากจุดที่เริ่มต้นทำ จนกระทั่งกลายเป็นทำหลายอย่าง แต่ก็สามารถประสานเป็นหนึ่งเดียวได้ในที่สุดหากสามารถหาผู้ร่วมทุนที่เหมาะสมมาช่วยผลักดันธุรกิจนี้ได้

ร้านอาหารฝรั่งเศสกนิษฐ์

กนิษฐ์ สุวรรณประสิทธิ์เป็น "มนุษย์พันธุ์พิเศษ" จริง ๆ ตามที่เธอนิยามให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง ในค่ำวันหนึ่งที่ร้านอาหารฝรั่งเศสกนิษฐ์ ร้านอาหารฝรั่งเศสแห่งแรกในละแวกเสาชิงช้าที่มีอายุเก่าแก่กว่า 17 ปี และเป็นเสมือน "ห้องทดลอง" ที่ลูกค้าเข้ามารับประทานอาหารและจ่ายสตางค์ให้ด้วย

เธอเล่าว่าเหตุที่ทำร้านอาหารแห่งนี้ในยุคก่อน ทำโดยไม่ได้คิดว่าเป็นร้านอาหาร "ที่ทำก็เพื่อฝึกฝนสิ่งที่เราเรียนมา คือเราเรียนเป็นคนทำอาหารก็จริง แต่ Chef หรือหัวหน้าห้องครัวนี่เขาไม่รับผู้หญิง ผู้หญิงต้องตั้งร้านอาหารเองหรือทำโรงแรมเองจึงจะเป็น Chef ได้"

ตอนที่เธอเริ่มทำร้านอาหารกนิษฐ์นั้น ไม่มีใครในครอบครัวเห็นดีเห็นงามด้วยหรือกระทั่งเห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ แต่เธอทำเพราะเห็นดีเห็นงามและชอบอยู่คนเดียว เธอทำให้คุณพ่อเธอทานและเป็นสวัสดิการให้คนในออฟฟิศคุณพ่อซึ่งตอนนั้นทำกิจการโรงพิมพ์ เธอลงทุนอยู่ไม่น้อยตามสไตล์จบใหม่ไฟแรงแม้ว่าเครื่องมือต่าง ๆ จะไม่พร้อม แต่เธอก็ดัดแปลงเอา สั่งของเครื่องปรุง เครื่องประกอบอาหารมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น สั่งตามแบบที่โรงแรมใช้เลยทีเดียว

กนิษฐ์ทำร้านอาหารที่ไม่ธรรมดา เป็นร้านที่วุ่นวายมากตามสไตล์ของคนที่มีความรู้และผ่านการศึกษามาอย่างดี เธอกล่าวว่า "มันวุ่นวายก็เพราะทุกอย่างมีคุณภาพ เป็นคุณภาพ ตั้งแต่เรื่องแป้ง ซอสมะเขือเทศ น้ำมันมะกอก การอบ การคลึง ทุกอย่างเป็น hand made ทั้งนั้น มันต้องมีคุณภาพทุกวันที่เราต้องดูแลควบคุมไว้ให้มันอยู่ นี่เป็นเรื่องยุงยากมาก" แต่เธอก็ยินดีทำ

ร้านอาหารของเธอนั้นมีลูกค้าเป็นเจ้าประจำเสียเป็นส่วนใหญ่ เธอเล่าว่า "หากเราเปลี่ยนเมนูเมื่อไหร่ ลูกค้าด่าทุกที คือเราไม่อยากทำอย่างนั้นแล้ว เราอยากทำอย่างอื่น แต่ลูกค้าอยากทานอย่างเดิม" ผลก็คือหากร้านนี้เปลี่ยนเมนู ลูกค้าจะโกรธมาก หายไป 2 เดือนเลย ซึ่งเธอก็ยอมให้เป็นเช่นนั้นเพราะการทำร้านแบบนั้นไม่ใช่แนวคิดของเธอ หากเธอทำแต่อาหารจานเดิม เธอก็คงจะไปเปิดห้องแถวขายข้าวหน้าเป็ดอย่างเดียวตลอดปีตลอดชาติไปนานแล้ว

แต่นี่ไม่ใช่ concept ร้านอาหารของเธอ ดังนั้นเธอจึงทำร้านในแบบที่เธอต้องการ ซึ่งเธอเรียกว่าเป็น "ห้องทดลอง" ผลก็คือ "เราทำจบไปนานแล้ว ไม่มีเมนูจานไหนที่เราทำแล้วลูกค้าไม่ทาน ซึ่งเราก็เปิดร้านไว้ให้ลูกน้องได้ทำงาน แต่จะมาลุกขึ้นไปเปิดอีกแห่งนั้นไม่ได้ เพราะมันก็เท่ากับย่ำอยู่ในปัญหาเดิม มันไม่ได้สร้างสรรค์"

นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งของกนิษฐ์ที่มีความสำคัญกับชีวิตของเธอไม่น้อย เธอถามตัวเองว่า "คุ้มหรือที่เราควบคุมคุณภาพต่าง ๆ แล้วเป็นอาหารขายคนมากิน" เธอตอบว่า "ไม่ใช่" และเธอสามารถตอบตัวเองได้มากกว่านี้

อาหารกล่องกนิษฐ์

"มันมีอีก dimension หนึ่ง คือเราต้องการผลิตสินค้ามาขาย แล้วต้องตอบไปไกลกว่านี้ หากเราต้องการขายไกลกว่านี้ เราก็ต้องทำในรูป frozen food" ซึ่งเธอจะแช่แข็งอาหารอะไร ไอศกรีมหรือ? ก็มีคนทำมากแล้ว ในที่สุดเธอก็มาทำซุป เพราะระหว่างนั้นมักจะมีลูกค้าโทรฯ เข้ามาสั่งซุปอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะไปผ่าตัดมา หมอสั่งห้ามทานโน่นนี่ กนิษฐ์ก็ต้องเข้าครัวทำซุปเตรียมให็ลูกค้าที่จะส่งรถมารับไปทานที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลซึ่งลูกค้า admit อยู่

เธอทำซุปให้ลูกค้าที่โทรฯ มาสั่งทุก ๆ วัน ในที่สุดเธอจึงทำเป็นหม้อโตไว้เลยแล้วเอาเข้าตู้แช่ freez ไว้ เมื่อลูกค้าโทรฯ มาสั่งอีก เธอก็สามารถเอามา defrost แล้วส่งให้เขาเลย ต่อมาเธอก็บอกลูกค้าว่า ซุปนี้แช่แข็งมาแล้ว ลูกค้าช่วยไปอุ่นหรือ wave เองเป็นการทำทีละขั้นตอน

เธอเล่าว่า "ในบรรดา 100 กว่ารายที่สั่งซุปของเรานั้น ปรากฏว่ามาจากหลายโรงพยาบาลมาก และตอนหลังหมอเป็นคนสั่งเอง ซึ่งทำให้เรารู้ว่าอาหารนั้น ๆ คนป่วยทานแล้วจะสบายดี เราก็มาคิดว่า มันจะดีกว่านั้นไหม หากเขาทานตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ป่วยคือระวังเสียก่อน ไม่ใช่ป่วยแล้วค่อยระวัง" นี่ก็เป็นที่มาของอาหารสุขภาพ โดยเธอเริ่มทำอาหารที่เป็น low sodium, low fat ทดลองวางตามซูปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างดี

"ก็มีคนสั่งมา 400 กล่อง โดยเฉพาะแถบพหลโยธินนี่ขายดี ตอนหลังจะสั่งตัวละ 6 กล่อง แล้วมาเพิ่มเป็นตัวละโหล มีอาหาร 10 ตัวก็ 120 กล่อง ก็เรียกว่าใช้ได้ คือเราไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย เพียงแต่ว่าเรามีการฆ่าเชื้ออย่างรวดเร็วและทำให้เย็นอย่างรวดเร็ว" นี่เป็นวิธีการฆ่าเชื้ออย่างง่าย ๆ เพราะเธอทราบว่าแบคทีเรียที่มีจะฟักตัวเมื่อไหร่ อุณหภูมิเท่าไหร่ เธอก็พยายามหลีกเลี่ยงจุดที่จะทำให้เกิดแบคทีเรีย โดยให้อุณหภูมิช่วงนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นวิธีง่ายๆ จากร้อนแล้วมาเย็นให้เร็วๆ ไม่ใช่ทำแบบอุ่นๆ ซึ่งมันจะขึ้นฟอง

กนิษฐ์เริ่มทำอาหารกล่องมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว และตอนที่เริ่มทำนั้นเธอก็เอาส่งเข้าประกวดด้วยเพราะความที่อยากจะรู้ว่ามีค่าสารอาหารเท่าใดบ้าง เนื่องจากเธอเองไม่มีเครื่องมือตรวจ ซึ่งก็ถูกส่งไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม และได้รางวัลชมเชยจากงานประกวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโลก ในงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมโลก เมื่อปี 2538 มาด้วย

เมนูอาหารกล่องของเธอนั้นมีหลายรายการ เช่น ซุปฟักทอง, ซุปแครอท, ซุปผักขม, สปาเกตตี้มังสะวิรัติ, เห็ดและผักโขม, ลาซานญ่ามังสะวิรัติ, ลาซานญ่าไก่, ปลานึ่งแตงกวา ซอสไลน์ขาว, ไก่อบครีมไวน์ขาวแตงกวา, ขาลูกวัว ออสโซบูโก้, ข้าวซ้อมมืออบลูกเดือย ข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น สนนราคาตั้งแต่ 28 บาทถึง 120 บาท

กนิษฐ์วางอาหารกล่องที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ด้วย ซึ่งก็ขายได้พอสมควร เธอทำตอนนี้ทั้งหมดอาทิตย์ละ 1,000 กล่อง ส่งวาง 4-5 แห่งและที่หน้าร้านถนนตีทอง ตรงข้ามวัดสุทัศน์เทพวราราม

ฝีมืออาหารกล่องของเธอนั้นเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้าอยู่ไม่น้อย ในคราวที่เธอไปออกงานที่ญี่ปุ่นนั้น ปรากฏว่าเมื่อกลับมามีนัลงทุนชาวญี่ปุ่นมาติดต่อเธอถึงร้านที่ถนนตีทองโดยมาพร้อมทุกแผนก ตั้งแต่มาร์เก็ตติ้ง บัญชี นำเข้าฯ เธอถึงกับอึ้งในความสำเร็จที่ได้รับ

"พวกญี่ปุ่นที่มาติดต่อนั้นมาตามกล่องสินค้าที่เราวางขาย มาถึงร้านพี่นี่เงียบกริบ พูดไม่ออก คือทำให้เขาทานได้ แต่มันคนละ scale กับที่เขาต้องการ เพราะการที่เราจะทำมาก ๆ นั้น เราต้องมีที่มาของวัตถุดิบของเราที่ดินปลูกวัตถุดิบต้องไม่มียาฆ่าแมลง เพราะสินค้าที่เราต้องการนั้น 50% ต้องเป็น organic อีก 50% ต้องเขียนว่า controlled คือต้องควบคุมสารกำจัดแมลงได้เพราะสินค้าที่เราส่งเข้าประกวดนั้นเราควบคุมเรื่องสารฆ่าแมลงได้ แต่ตอนที่เราประกวดนั้นเราทำแค่ 1,000 กล่อง แต่ที่เขาต้องการมันมากกว่านี้"

กนิษฐ์ก้าวมาถึงจุดหักเหสำคัญของชีวิตทางธุรกิจของเธอ

หากทำเท่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เธอก็สนุกสนานและสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าจะไปมากกว่านี้ก็ต้องเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ "เพราะคนที่มาติดต่อนั้นล้วนแล้วแต่ต้องการ scale ใหญ่ ซึ่งหากทำอย่างนั้นก็ต้องขี่หลังเสือแล้วเป็นการลงทุนแบบหยุดการผลิตไม่ได้ เครื่องจักรต้องทำการผลิตทุกวันและต้องมีวัตถุดิบป้อนทุกวัน"

ซึ่งเธอยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะก้าวกระโดดครั้งนี้อย่างไร

เครื่องเทศฝรั่ง

เรื่องเครื่องเทศฝรั่งหรือ herb นั้นก็มีประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมสำหรับกนิษฐ์ที่ทำให้เธอต้องขวนขวายศึกษาเรื่องนี้ด้วยตนเอง หลายปีมาแล้วที่เธอสั่งนำเข้าเครื่องเทศจากต่างประเทศ เมื่อสินค้าเดินทางมาถึง เธอไม่สามารถออกของได้ และสินค้าเธอทั้งหมดก็ถูกทำลายทิ้งเพราะเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรให้เหตุผลว่าตรวจพบรังสี

เธอไม่ต้องเสียภาษีที่แพงมากเป็นเท่าตัวของมูลค่าของ แต่ก็ต้องสูญเสียเครื่องเทศทั้งหมดในล็อตนั้นไป

ครั้งหนึ่งเมื่อเธอมีโอกาสติดตามมารดาไปทอดกฐินที่ออสเตรเลีย เธอได้มีโอกาสแวะดูโรงเพาะชำเครื่องเทศ และได้นำเมล็ดเครื่องเทศเหล่านั้นกลับมาเพาะชำที่เชียงใหม่ ปรึกษากับรุ่นน้องที่จบด้านเกษตร ซึ่งพวกเขาบอกว่าสามารถปลูกได้ในเชียงใหม่ เธอจึงทดลองปลูกโดยสั่งเมล็ดมาใหม่จากออสเตรเลีย

"มันก็ขึ้นบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่มีกลิ่น มีแต่ใบงามดี เราก็เลยเอาไปเพาะหลาย ๆ ที่ ที่ อมก๋อย หนองหอย เพาะในที่หลาย ๆ ระดับ ใช้เวลาทดลองอยู่ 3 ปีเต็มๆ จึงเริ่มใช้ได้ ที่ที่ปลูกดีที่สุดคือที่บ่อหลวง เพราะมีน้ำดีไหล่เขาดี เครื่องเทศพวกนี้ไม่ชอบให้น้ำท่วม"

กนิษฐ์ว่าจ้างให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าใจเป็นผู้เพาะปลูก โดยเธอเป็นผู้เพาะ ผู้ส่งเสริมและผู้รับซื้อ เธอต้องหากลุ่มเกษตรกรที่ยอมปลูกผลผลิต organic ไม่ใช้สารเคมี ไม่มียาฆ่าแมลงซึ่งเธอยอมรับว่าหาเกษตรกรที่จะเข้าใจแนวคิดเช่นนี้ยากมาก เพราะว่าเกษตรกรส่วนมากที่เชียงใหม่นั้นนิยมปลูกมะเขือเทศ กะหล่ำปลี ที่ขายได้อยู่แล้ว ซึ่งพืชผลเหล่านี้ต้องใช้ยาฆ่าแมลง หากปลูกเครื่องเทศไว้ใกล้ ๆ ก็ต้องโดนสารเคมีไปด้วย เครื่องเทศก็จะไม่มีกลิ่น

หลังจากที่เอาพันธุ์ชุดแรก ๆ มาจากออสเตรเลียนั้น เธอก็เปลี่ยนมาใช้จากเมืองซาคราเมนโต้ สหรัฐ และไปเอาจากโพรวองซ์ ฝรั่งเศส แต่พันธุ์ใด ๆ ที่เอามาปลูก ในที่สุดก็จะกลายพันธุ์หมด แต่ก็ยังให้กลิ่นที่ดีใช้ได้

ตอนนี้เธอมีเกษตรกรที่ปลูกเครื่องเทศให้คิดเป็นปริมาณเครื่องเทศรวม 200,000 ต้นแล้ว และเธอเริ่มรับซื้อมาได้ตั้งแต่ปี 2539 เธอเล่าว่าราคาที่เธอให้กับเกษตรกรนั้นไม่ทราบจะคิดอย่างไร เธอจึงรับซื้อราคาเท่ากับราคาข้าว และสูงกว่าราคามะเขือเทศ กะหล่ำปลี

ส่วนราคาที่เธอนำมาแปรรูปขายนั้น ราคาขายในตลาดตอนที่เธอเริ่มทดลองปลูกเมื่อหลายปีก่อนนั้นราคานำเข้าอยู่ที่ ก.ก. ละ 200 บาท มาตอนนี้ราคาขึ้นมาถึง 900 บาทแล้ว ราคา thyme จะแพงกว่าเครื่องเทศตัวอื่น แต่เธอขายในราคาแค่ 400-500 บาท/ก.ก. เท่านั้น ซึ่งในราคานี้เธอกล่าวว่าสามารถอยู่ได้ แต่ไม่คิดถึงต้นทุนที่ทุ่มเทไปเมื่อ 5-6 ปีก่อนที่เริ่มทดลองปลูก เพราะเธอ "ไม่ทราบว่าจะคิดอย่างไร ก็คิดแต่ว่าอยู่ที่อีก 5 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร เราพึ่งพาตัวเองได้ แน่ใจว่าไม่มีอะไรเป็น organic จริง ๆ

เธอมองไปถึงว่า ใน 5 ปีข้างหน้า เครื่องเทศที่เธอริเริ่มปลูกในตอนนี้สามารถทดแทนเครื่องเทศนำเข้าได้ทั้งหมด ทั้งนี้มูลค่าเครื่องเทศนำเข้าทั้งหมด คิดเป็นเม็ดเงินถึง 500-600 ล้านบาท และไทยขาดดุลการค้าในสินค้านี้มาโดยตลอด ทั้งที่สินค้าเหล่านี้เป็นผลผลิตจากป่าทั้งสิ้น

เครื่องเทศนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำอาหาร มันเป็นตัวที่ทำให้อาหารมีคุณลักษณะหรือ character ที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี เครื่องเทศสามารถมาแปรรูปผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากการขายสดหรืออบแห้ง เพื่อใช้ในร้านอาหาร ยังสามารถนำมา blend ทำเป็นกลิ่นหรือ favour ส่งให้โรงงานทำไส้กรอกไปปรุงรสไส้กรอกได้อีกด้วย ซึ่งก็เป็นการขายตลาดอีกด้านหนึ่ง กนิษฐ์เล่าว่า "อย่าง majoram นั้นใช้แก้คาวหมู คาวไก่ได้ดีมาก ความจริงขายเดี่ยวๆ นี่ได้เยอะกว่า แต่ว่าเราอยากจะ blend ขายเพราะว่ามันก็ตื่นเต้นดี และเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น ก็อาจจะให้แม่บ้านได้ลองใช้ ลองโรยปลาแล้วย่างดู"

นอกจากนี้ เครื่องเทศยังเอามาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ชำระล้างตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าได้ เช่น แชมพู ครีมนวดผม อย่างเช่น thyme มีคุณสมบัติทำให้ผมไม่ร่วงและหนังศีรษะสะอาด

หากกนิษฐ์จะมุ่งสู่อุตสาหกรรมก็ต้องหาผู้ร่วมทุน "เพราะผลผลิตพวกนี้ในแง่อุตสาหกรรมสามารถทำได้มหาศาล สกัดน้ำมัน เอามาทำสบู่ น้ำหอม สเปร์ยฉีดกันยุง เอามาทดแทนพวกเคมีคัลได้หมด และจะเป็นมิติใหม่ของผลิตภัณฑ์ มีความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง"

ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตคือการปลูกนั้น มันจบแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการรุกหาตลาดรองรับ ปีหน้ากนิษฐ์คิดว่าเธอต้องเริ่มมองหาตลาดเพื่อนบ้านควบคู่ไปกับในประเทศด้วย ซึ่งเธออาจจะไปทางเวียดนาม และอีกจุดคือเรื่องการแปรรูปที่ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ไฟแนนซ์สนับสนุน

การขยับขยายธุรกิจของเธอแต่ละครั้งซึ่งดำเนินไปตามความฝันที่จุนเจือหล่อเลี้ยงอยู่นั้น จำเป็นที่จะต้องมีเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนด้วย ซึ่งนายธนาคารที่ยอมให้สินเชื่อแก่เธอโดยไม่ต้องเสนอรายงานความเป็นไปได้ของโครงการหรือ feasibility study ก็คือ ปกรณ์ ทวีสิน ตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยทนุ

กนิษฐ์เล่าว่า "ความฝันของดิฉันเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายให้ผู้ใหญ่สูงสุดในแบงก์เข้าใจ ซึ่งคนเดียวที่จะเข้าใจได้คือกรรมการผู้จัดการใหญ่ เราไม่มีการเขียนโปรเจกต์อะไรให้ท่านเลย เขียนแค่จดหมายหน้าเดียว แล้วก็หิ้ว herb ที่ไม่มีกลิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้ว กับพิซซ่า 1 กล่องไปให้ลองทาน เท่านี้เอง แล้วก็คุยว่าเราคิดอย่างไร"

ทั้งนี้เธอคิดว่าสิ่งที่เธอทำนั้นเป็นการแปรรูปเกษตรกรรม สนับสนุนให้เกิดการปลูก และรับซื้อมาใช้ในร้านอาหารของตัวเองและร้านอื่น ๆ ในวันข้างหน้า นอกจากนี้ก็ขายให้โรงงานไปปรุงไส้กรอก ขายร้านพิซซ่า ทดแทนการนำเข้าส่วนหนึ่ง ซึ่งจุดนี้มีน้ำหนักอยู่มาก เหตุที่แบงก์ให้การสนับสนุนก็เพราะเป็นเรื่องของเกษตรกรรม เป็นการแปรรูป และสนับสนุนธุรกิจรายย่อยซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่ารายใหญ่

"ที่วันนั้นไปพูดก็กู้มาได้ 7 ล้านบาท โดยไม่ต้องทำตัวเลข เพราะทำไปก็เหมือนโกหก"

ครั้นเมื่อต้องการมาทำต่อในเรื่องอุตสาหกรรม กนิษฐ์ก็ไปคุยกับปกรณ์อีก ซึ่งก็ได้รับการท้วงติงที่ดี เพราะปกรณ์มองว่าเรื่องเครื่องจักรนั้นไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่สิ่งที่น่าห่วงคือเรื่องซัปพลายจะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งนี่ก็เป็นจุดที่ทำให้กนิษฐ์ต้องมาเร่งเพิ่มผลผลิตเพื่อให้ปริมาณมากพอที่จะป้อนการทำงานของเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าเธอต้องเพิ่มการปลูกเครื่องเทศให้ได้ในปริมาณ 500,000 ตัน ซึ่งคาดว่าจะทำได้ในราวกลางปี 2541

กนิษฐ์กล่าวว่า "โชคดีที่คุณปกรณ์เตือนเรื่องซัปพลาย หากไม่เตือนเรื่องนี้ ป่านนี้ก็คงเริ่มไปแล้ว และก็ต้องมาเจอปัญหาเรื่องซัปพลายขาดก็ต้องมานั่งรอ ดังนั้นตอนนี้ก็ชะงักไปก่อน"

เธอมีความใฝ่ฝันในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเธออธิบายว่า "สุดยอดของอุตสาหกรรมนี้ก็คือการกลั่นออกมาเป็นน้ำมัน การแปรรูปตัวนี้เป็นขั้นสุดยอดแล้ว คือการที่คุณสามารถแปรรูปสินค้าเกษตรกรรมมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมตัวหนึ่งได้นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นี่คือสิ่งที่เราควรทำ"

เธอให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่าการแปรรูปเกษตรกรรมนั้นต้องเป็นภารกิจหลักของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม เพราะประเทศไทยมีพื้นฐานทางเกษตรกรรม หากทำตรงนี้สำเร็จจะช่วยประเทศชาติได้มาก

"ตอนที่ทำอาหารกล่องส่งประกวดนั้น เขาจะถามคำถามสำคัญอยู่อันหนึ่งคือ เรามี value added แค่ไหน และที่เราชนะก็เพราะเรามีตัวนี้มาก แครอทจากไร่เอาขึ้นมาบด มา blend กับนม หอมใหญ่ เนย น้ำตาล เกลือ น้ำ พริกไทย เครื่องเทศนิดหน่อยและลูกจันทร์ แล้วก็มาแปรรูปใส่กล่องขาย มูลค่าเพิ่มมาเป็นกล่องละ 39 บาท นี่เป็น value added ที่เราให้แก่เกษตรกรรม

ดิฉันยังเสียดายว่าเรียนมาผิดทาง พวกที่เรียนทาง food science นั้นไปทำอะไรกันหมด คิดแค่ว่าเข้าโรงงานทำมาม่าห่อกันเท่านั้นเองหรือ โดยไม่คิดเรื่องเหล่านี้ คณะที่สอนเรื่องนี้ไม่มีการสอนเรื่องสปิริต จิตวิญญาณ ความรักชาติกันเลยหรือ มันต้อง link กันให้ได้ เพราะประเทศนี้มีรากเหง้าเป็นเกษตรกรรมกันทั้งนั้น เราห่างเรื่องนี้มากจนน่าตกใจ"

โรงเรียนสอนทำอาหารกนิษฐ์

นอกเหนือจากสารพัดงานที่ "มนุษย์พันธุ์พิเศษ" นี้ได้ทำมาแล้ว เธอยังคงมีความฝันต่อเนื่องอีกในเรื่องของการทำโรงเรียนสอนอาหารฝรั่งเศสกนิษฐ์ เธอมีความคิดว่า "อยากจะสอนให้คนทำอาหารเป็น ช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะวิชาความรู้ที่เราได้ติดตัวมานั้น ก็ควรเอามาให้คนอื่นบ้าง หากคนมาเรียนแล้วไปตั้งร้านได้ก็ดี เพราะสมัยนี้ไม่ใช่ว่าคนไม่มาร้านกนิษฐ์เพราะมีคนไปเปิดแข่ง มันแข่งกันไม่ได้ เดี๋ยวนี้มันจุดใครจุดมัน ก็จะได้ลูกค้าในละแวกนั้นมากกว่า ซึ่งโรงเรียนนี้ เราก็อยากให้คนทำอาชีพร้านอาหารมาเรียนจริง ๆ"

โรงเรียนสอนทำอาหารกนิษฐ์เริ่มเปิดมาได้ 5-6 เดือนแล้ว มีการดีไซน์หลักสูตรที่เหมาะสมปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดในแต่ละเดือน โดยแนวคิดหลักคือการปรุงอาหารให้อร่อยและรักษาคุณค่าอาหาร ให้รู้จักวิธีการปรุง การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ และเครื่องปรุงทุกอย่างให้ประสานกัน มีสัดส่วนอย่างพอเหมาะในเวลาที่ถูกต้อง และปรุงอย่างถูกวิธี มีการสอนตั้งแต่หลักสูตรพื้นฐานสำหรับผู้ไม่เคยทำอาหารมาก่อน จนถึงเทคนิคขั้นสูงเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้ หรือทำอาหารรับประทานเองและเลี้ยงแขก

นอกจากนี้ก็มีหลักสูตรอาหารสุขภาพสำหรับครอบครัว อาหารเด็กอ่อน 7 เดือน-2 ขวบ

ในฐานะที่จบวิชาชีพกุ๊ก เธอให้ความเห็นเกี่ยวกับวงการนี้ว่า "กุ๊กไทยนั้นจะมี 2 แบบคือเก่ง ไม่ว่าจะมาจากการแอบเรียนแอบจำ หรือไปเรียนมาเอง กับอีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีโอกาสเรียนรู้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่อยู่ตามโรงแรม 3 ดาวหรือรีสอร์ตต่าง ๆ และหากเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวนั้นก็มักจะมีเชนที่มีกุ๊กมาจากต่างประเทศเป็น Chef ส่วนกุ๊กคนไทยก็จะเป็นได้แค่ Sous Chef เท่านั้น ซึ่งอัตราเงินเดือนจะแตกต่างกันมากระหว่าง 2 ตำแหน่งนี้"

นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เธออยากให้คนที่มาเรียนในโรงเรียนของเธอนั้นเป็นกลุ่มที่ทำอาชีพด้านนี้โดยตรง เป็นพ่อครัวหรือผู้ช่วยตามโรงแรมระดับกลาง ๆ และรีสอร์ตต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มคนที่อยากจะประกอบอาชีพร้านอาหารภัตตาคารโดยตรง แต่ตอนนี้เธอยังไม่ได้ลูกค้ากลุ่มนี้สักเท่าใด คนที่มาเรียนส่วนมากจะเป็นแม่บ้านและผู้สนใจการทำอาหารฝรั่งเศส

นอกจากนี้เธอมีอีกจุดหนึ่งที่ต่างออกไปจากการเรียนการสอนทำอาหารทั่วไป คือ เธอไม่ได้ยึดติดกับสูตรอาหารอย่างตายตัวตามที่กุ๊กฝรั่งยึดถือ เพราะเธอมีแนวคิดว่า "เนื่องจากดิฉันจบปริญญา แต่ไปเรียนสายกรรมกร มันเป็นความขัดแย้งที่เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง คือดิฉันเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือจะมองอาหารแบบหนึ่ง หากเรียนมาเราก็จะมองอีกแบบหนึ่ง เรามองแยกเลย ไม่เห็นต้องทำตามที่สูตรบอกก็ได้ ในเมื่อเราไม่มีของนั้น เราก็ดูว่ามีอะไรที่จะทดแทนได้ มันก็ทำอาหารขึ้นมาได้" หลากหลายแต่เป็นหนึ่งเดียว

เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้สามารถทำโน่นทำนี่สารพัดได้ด้วยเพียงสองแขนของตน เธอยังมีจุดที่น่าสนใจที่อธิบายให้ตนเองได้อีกว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ทำไปนั้นเพื่ออะไร

ความฝันของเธอนั้น สูงสุดคือ "ความอยากที่จะผลิตสินค้าบางตัวที่มีวงจรชีวิต หรือ cycle ผลิตได้เอง หากเป็นยี่ห้อก็ 2-3 ยี่ห้อ ซึ่งมันจะทำการตลาดขึ้นมาได้ เลี้ยงเราได้ เลี้ยงลูกน้องที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ ได้ ซึ่งก็มีตัวเดียวคือเครื่องเทศ ซึ่งเอามาทำอาหารกล่องได้ อย่างแครอท ฟักทอง บร็อคเคอรี่ ซึ่งมันก็ไม่พ้นเกษตรกับการแปรรูปเท่านั้นเอง ร้านอาหารเป็นเพียงห้องทดลอง แต่ก็ดีกว่าห้องทดลองตรงที่คนกินแล้วจ่ายตังค์"

นอกจากนี้เธอก็ยอมรับว่าแม้จะทำสินค้าหลากหลาย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นหนึ่งเดียว

เธอกำลังติดต่อหาผู้ร่วมทุนในการก้าวไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารกล่องและเรื่องเครื่องเทศ ซึ่งเธอต้องการเงินทุนและเทคโนโลยี

เธอเล่าว่า "การขยายทำ processing food นั้นทำง่ายมากหากมีเครื่องจักรที่ดี มีเงินลงทุน และมีวิทยากรเข้าไป ตัวที่ยากคือวัตถุดิบซึ่งหากมีการร่วมทุนจริง เราก็จะได้ไปคุมเรื่องวัตถุดิบ การปลูกซึ่งเราอยากทำตรงนี้มากกว่า เราสามารถให้ know how ให้ข้อมูลกับผู้ร่วมทุนได้ว่าการปรุงแต่งอย่างไรจึงเป็นรสชาติของกนิษฐ์ ไม่ใช่เป็นซุปธรรมดา มันต้องมีความเป็นตัวเราอยู่ตรงนั้น เพราะอะไรจึงอร่อย เพราะอะไรจึงไม่ใช่ซุปทั่วไป"

พาร์ตเนอร์หรือผู้ร่วมทุนนั้นต้องเป็นผู้อยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว อาจเป็นฝรั่งเศส ญี่ปุ่นหรือไต้หวัน ซึ่งหากเธอไม่ได้พาร์ตเนอร์ อุตสาหกรรมก็คงเกิดไม่ได้

อย่างไรก็ดี เธอมิได้วาดความฝันให้สวยหรูเกินไป เพราะหากไม่ได้พาร์ตเนอร์ กนิษฐ์ก็สามารถทำธุรกิจที่เธอชื่นชอบต่อไปได้ โดยเธออาจจะทำในระบบไดเร็กต์ เมลล์ ซึ่งก็จะเป็นเสน่ห์ไปอีกแบบของอาหารกนิษฐ์

ในจุดที่เธอทำ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกเครื่องเทศ มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหาร มีกำลังคนที่เข้าใจเรื่องอาหาร 3 องค์ประกอบนี้ หากเธอจะผลักเป็นอุตสาหกรรม ก็สามารถทำได้ "เรามีความพร้อม ทุกอย่างจะรวมเป็นหนึ่งเดียว แต่หากว่าเราไม่ทำ ก็ต่างคนต่างอยู่ได้ทั้งสามจุด หากเรา keep อย่างนี้ มันก็อยู่ของมันไป แต่หากเรารวมทั้งสามจุดมันก็มีความพร้อมที่จะทำได้ อาจจะไม่ต้องดึงคนอื่นมาก็ได้ เราทำของเราเอง ค่อย ๆ ทำไป"

นอกจากอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว เธอยังสามารถคิดบริการได้อีกมากมาย เช่น ทำ catering หรือบริการจัดเลี้ยง เป็นต้น หรือมีการขายแฟรนไชส์ โดยเธอมีกุ๊กติดไปด้วย หรืออาจจะส่งคนมาเทรน เธอก็มีสถานที่ฝึกฝนให้เช่นกัน

ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยความฝันที่หล่อเลี้ยงชีวิต หากเธอไม่ใช่ "มนุษย์พันธุ์พิเศษ" เธอก็คงทำร้านอาหารฝรั่งเศสด้วยเมนูจานเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่านับสิบปี แต่นี่เธอเป็นคนแปลกที่ทำอะไรต้องหัวชนฝา หากไม่เห็นผล เธอก็จะมีความสงสัย ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้

ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ ได้ช่วยต่อชีวิตของเธอได้วันต่อวัน "ถ้าเราไม่สงสัย มันก็จะราบเรียบ successful จะทำให้เราตายมากกว่า เราจะเฉื่อยชา relax ซึ่งมันก็จะเริ่ม dead ในที่สุด"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us