วงการโบรกเกอร์ หวั่นการจัดสรรหุ้น "โรงกลั่นน้ำมันระยอง" ซ้ำรอย "ปตท." ที่จัดสรรให้พวกพ้องนักการเมืองที่มีการล็อกไว้เรียบร้อยแล้ว ระบุอาจสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ แต่ผลประโยชน์มหาศาลต้องตกไปอยู่ในกลุ่มทุนการเมืองแทน พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนร่วมช่วยกันตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส
หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบรายการแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินนั้น
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเสนอขายหุ้นของบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท. จำกัด ที่ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 99.99% ซึ่งอาจจะทำให้การเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) อาจจะมีความไม่โปร่งใส ด้วยการกันหุ้นส่วนใหญ่ไว้ให้กับผู้มีอุปการคุณ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด รวมถึงมีนามสกุลเดียวกันกับทุนการเมืองเหมือนครั้งที่กระจายหุ้นไอพีโอของปตท. ในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การกระจายหุ้นของ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) นั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่าจะกระจายหุ้นให้กับประชาชนรายย่อยเท่าใด โดยจะมีมาจาก 2 ส่วน คือ หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 1,025 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 ได้มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 22,749,892,020 บาท เป็น 32,999,892,020 บาท และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นหุ้นเดิมที่ปตท.ถืออยู่
อย่างไรก็ตาม ได้มีรายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า แม้ว่ายังไม่ทราบจำนวนหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ แต่บรรดานักการเมืองเองได้มีการเตรียมการและตกลงสัดส่วนการจัดสรรหุ้นกันไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ได้มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การจัดสรรหุ้นอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนต่างประเทศแทนที่จะคำนึงถึงนักลงทุนในประเทศ เนื่องจากในการร่างหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นนั้น แม้ว่าบล.ภัทร จะเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน แต่ได้มีการว่าจ้างนักกฎหมายจากประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ร่างหนังสือชี้ชวน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้อย่างสูงว่าการร่างหนังสือชี้ชวนของชาวต่างประเทศ อาจจะคำนึงถึงนักลงทุนต่างประเทศ และพวกพ้องตนเองเป็นหลัก
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากการจัดสรรหุ้นให้กับพวกพ้องของตนเองแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในอนาคตจะตกอยู่กับผู้ถือหุ้นเหล่านั้น เหมือนกรณีของปตท. ที่ขณะนี้กำไรสุทธิปี 2548 กว่า 8 หมื่นล้านบาท สัดส่วนไม่น้อยหรือประมาณ 50% จะต้องตกไปอยู่กับบรรดาเครือข่ายทุนนักการเมือง แทนที่จะตกเป็นของแผ่นดินหรือประเทศชาติ
"ผลประโยชน์ของชาติจะต้องตกไปอยู่กับกลุ่มทุนนักการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่ก่อนหน้านี้ เกิดปัญหาการขาดทุนหรือราคาพลังงานปรับตัวขึ้นไปสูงมากๆ กลับมีเงินจากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเข้ามาชดเชย ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อมีกำไร ผลประโยชน์เหล่านี้ก็ควรตกเป็นของรัฐบาลเพื่อนำมาพัฒนาประเทศชาติต่อไป"
ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร ปตท. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอขายหุ้นโรงกลั่นน้ำมันระยอง ให้กับนักลงทุนสถาบันอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งรอดูผลการตอบรับอยู่ โดยหุ้นที่เสนอขายมี 2 ส่วนคือ หุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวน 1,025 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมที่มีอยู่กว่า 10 ล้านหุ้น ทำให้หลังจากขายหุ้นแล้วปตท. จะลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 99.900% เหลือประมาณ 50% เท่านั้น
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากทุนการเมืองจะพยายามใช้อำนาจในการบีบบังคับให้ปตท. กระจายหุ้นเพื่อนำบริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยองเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ยังมีโรงกลั่นอีกแห่งหนึ่งที่ปตท.ถือหุ้นร่วมกับกลุ่มคาลเท็กซ์ เป็นรายต่อไปที่ทุนการเมืองกำลังใช้ความพยายามในการกระจายหุ้นเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
"การนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถสร้างผลกำไรให้กับทุนการเมืองได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะนอกจากจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลแล้ว ยังมีมูลค่าเพิ่มจากราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย ดังนั้นหากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นมากเท่าใด ก็เท่ากับประเทศชาติต้องเสียผลประโยชน์มากเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับผลการจัดสรรหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 800 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 35 บาท มูลค่ารวม 28,000 ล้านบาท ที่รายงานต่อสำนักงานก.ล.ต. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 32545 นั้น ปรากฏว่า รายชื่อ 10 อันดับแรกที่ได้รับการจัดสรรหุ้นสูงสุด ประกอบด้วย นายทวีฉัตร จุฬางกูร ได้รับการจัดสรรจำนวน 2.20 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 77 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.24% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด นายประยุทธ มหากิจศิริ 2.06 ล้านหุ้น มูลค่า 72.10 ล้านบาท สัดส่วน 0.22%
นายวิชัย ชัยสถาพร 2 ล้านหุ้น มูลค่า 70 ล้านบาท สัดส่วน 0.22% นายดิษฐพล ดำรงรัตน์ 1.71 ล้านหุ้น มูลค่า 59.99 ล้านบาท สัดส่วน 0.19% นางสุวิมล มหากิจศิริ 1.55 ล้านหุ้น มูลค่า 54.11 ล้านบาท สัดส่วน 0.17% นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ 1.50 ล้านหุ้น มูลค่า 52.50 ล้านบาท สัดส่วน 0.14% นายสาวิณี สินธุ 1.31 ล้านหุ้น มูลค่า 45.85 ล้านบาท สัดส่วน 0.14% นางกัญญารัตน์ เบญจวัง 1.09 ล้านหุ้น มูลค่า 38.04 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.12% และนายสัมศักดิ์ ปัฐพาณิชย์โชติ 1.01 ล้านหุ้น มูลค่า 35.42 ล้านบาท สัดส่วน 0.11%
ส่วนอันดับสิบนางวรรณสมร วรรณเมธี จำนวน 1 ล้านหุ้น มูลค่า 35 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.11% ซึ่งจาก 10 อันดับแรก พบว่า มีตระกูลมหากิจศิริ ได้รับการจัดสรรรวม 3 คน จำนวนหุ้นรวม 5.11 ล้านหุ้น รวมมูลค่าทั้งสิ้น 178.71 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.53% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด
บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและจำหน่ายผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตามสัญญาจัดสร้าง และประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียม มีบมจ.ปตท. ถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 99.99% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อนำเม็ดเงินไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนในโครงการ Reforming Complex และ Upgrading Complex
ขณะที่ ผลการดำเนินงานในงบการเงินรอบบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ถึง 2547 และงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.48 นั้นบริษัทมีรายได้รวม 86,519ล้านบาท 94,131 ล้านบาท 118,112 ล้านบาท และ 109,051 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,185 ล้านบาท 3,991 ล้านบาท 7,616 ล้านบาท และ 12,313 ล้านบาท ตามลำดับ
|