Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2540
"ต่อลมหายใจธุรกิจไทย ด้วยบทใหม่ของ ก.ม. ล้มละลาย"             
โดย จารุสุดา เรืองสุวรรณ
 


   
search resources

Economics




คำสั่งปิดกิจการชั่วคราวบริษัทเงินทุนแบบสายฟ้าแลบของกระทรวงการคลัง โดยคำแนะนำของ ธปท.ทั้ง 2 ระลอก เป็นเวลากว่า 3 เดือน หลังประกาศรอบสอง ยังไม่ปรากฏมาตรการที่ส่อแววให้เห็นว่า ทั้ง 58 ไฟแนนซ์จะสามารถกลับมาดำเนินธุรกรรมหารายได้เพื่อนำมาชำระหนี้คืนต่อไปได้ ผลกระทบได้ลามเลียไปสู่ภาคธุรกิจเป็นลูกโซ่ เพราะแหล่งเงินทุนที่จะระดมนำมาใช้ยืดอายุได้เหือดหายไป จะเหลือก็แต่เพียงหนังสือเร่งรัดหนี้สินทดแทนเท่านั้น หนทางไปสู่ภาวะล้มละลายย่อมย่างกรายเข้ามาใกล้ทุกที กฎหมายฟื้นฟูกิจการดูจะเป็นเพียงความหวังอันเดียวของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ที่เพียงส่องแสงร่ำไรอยู่ปลายถ้ำ

ข่าวการฟ้องร้องบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา 1 ใน 16 ไฟแนนซ์ที่กระทรวงการคลังออกคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว เป็นยกแรกของบรรดาเจ้าหนี้ต่างประเทศที่นำโดยธนาคาร Union Bank of Switzerland (UBS) ร่วมกับธนาคารต่างชาติอีก 6 แห่ง คดีนี้เป็นการฟ้องร้องเรียกเงินชำระหนี้เป็นมูลค่าเกือบ 1,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำ Syndication ของแบงก์ต่างชาติ คดีนี้เป็นเสมือนการเหนี่ยวไกปืนนัดแรกที่เขย่าขวัญบรรดาลูกหนี้ทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้มีเงินกู้จากต่างประเทศและไม่มีความสามารถในการส่งคืนดอกเบี้ยและเงินต้นตามกำหนด และนี่คงไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้ายที่ปรากฏขึ้นให้เห็นท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมทั้งทางการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แม้ว่าทางการจะออกมาตรการแบบเบ็ดเสร็จโดยหวังว่าจะช่วยบรรเทาและคลี่คลายปัญหาที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนี้แล้วก็ตาม

มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้รุนแรงกว่าครั้งปี 2527 เพราะเศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างหนักจนกลายเป็นวิกฤติที่ลุกลามไปถึงบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ของไทยที่ต้องเผชิญกับพิษทางเศรษฐกิจจนถึงขั้นซวนเซไปบ้างแล้ว และอาจจะต้องมีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ต้องล้มหายตายจากไปหรือถึงขั้นล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัว มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะตั้งรับกับสถานการณ์ไม่ทัน ไม่ว่าการประกาศปลดปล่อยค่าเงิน และการออกคำสั่งระงับการดำเนินธุรกิจบริษัทเงินทุน 58 แห่งอย่างชนิดสายฟ้าแลบ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทางการได้กระทำโดยไม่มีการตระเตรียมมาตรการรองรับกับปัญหาที่จะตามมาแต่อย่างใด

บทเรียนวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างรุนแรงจากช่วงปี 2520-30 กรณีราชาเงินทุน จนก่อให้เกิดโครงการกอบกู้วิกฤติสถาบันการเงินที่เรียกกันว่าโครงการทรัสต์ 4 เมษาฯ ได้กลายเป็นแรงขับดันให้กลุ่มนักกฎหมายหัวก้าวหน้าทั้งหลายพยายามที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกฎหมายล้มละลาย พ.ศ.2483 เพราะมองว่า ก.ม. ฉบับนี้จะเป็นมาตรการที่สามารถรองรับปัญหาทำนองเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งในขณะนั้น ปัญหายังไม่เกิด โดยหารู้ไม่ว่าหลังจากนั้นอีก 1 ทศวรรษปัญหาเดิมก็กลับมาย้อนรอยเข้าชนิดตั้งตัวไม่ติด

กฎหมายที่ดำริริเริ่มเปลี่ยนแปลงกันนั้นยังไปไม่ถึงไหนเพราะขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการจัดทำ ก.ม. ของไทย โดยร่าง ก.ม. ฉบับนี้ คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกฎหมายล้มละลาย ปี 2483 ได้เริ่มลงมือดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2530 จนมาแล้วเสร็จในปี 2536 หลังจากนั้น ร่างฯ นี้ก็เข้ามาอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาจนเวลาล่วงเลยมาได้กว่า 2 ปี จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ดึงเรื่องเข้าสู่ ครม. และมีมติรับร่างนี้ และจนถึงบัดนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติพิจารณารับร่าง ก.ม. ฉบับนี้ผ่านวาระแรกไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ และคาดว่าจะนำเข้าพิจารณาวาระ 2 ในสมัยประชุมนี้

"ผลกระทบที่เราจะมองเห็นชัด ๆ คือกรณี 58 ไฟแนนซ์ที่ถูกสั่งปิด หมายความว่าบริษัทที่เป็นลูกค้าของบริษัทนั้นต้องหยุดการติดต่อ ลูกค้าที่เคยมาอาศัยบริการทั้งฝากและกู้ก็ทำไม่ได้ ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านเจ้าหนี้รวมทั้งผู้ฝากเงิน ก็มีปัญหาว่าจะได้รับหนี้คืนหรือเปล่า ทางด้านผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุนในหุ้นก็มีปัญหาว่าเมื่อบริษัทที่ออกหลักทรัพย์มีปัญหา คุณภาพของหลักทรัพย์ก็ต้องลดลงไปถ้าบริษัทล้มผลกระทบขยายวงกว้างมาก

ในอดีตถ้าเจ้าหนี้มีลูกหนี้รายใด 50,000 บาท หรือเป็นเจ้าหนี้บริษัทใด 500,000 บาท ก็สามารถฟ้องล้มละลายได้ เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นหลักการที่ยึดถือมานาน จนกระทั่งเรื่องเกิดขึ้นในช่วงปี 2520-30 ถ้าหากเราปล่อยให้บริษัทนั้นล้มไปโดยที่เจ้าหนี้ฟ้องล้มละลายได้โดยไม่มีการพูดจากัน จะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล

ตรงนี้ที่เกิดไอเดีย ตาม Chapter 11 ของสหรัฐ ในปี 2527 แบงก์ชาติ กระทรวงการคลังและรัฐบาล พยายามที่จะพยุงบริษัทที่ยังสามารถประกอบธุรกิจได้ ยังไม่ล้มละลายโดยแท้ ยังอยู่ในภาวะที่เดินต่อไปได้ นี่เป็นแนวไอเดียที่ไม่ควรให้เขาล้มละลาย ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการเข้าไปช่วยดูแลให้เขาประกอบธุรกิจให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป แต่ถ้าให้เขาล้มไปคนที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายจะมีปัญหาอย่างมหาศาล ซึ่งนี่เป็นแนวทางที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2527-31

ในฐานะที่ผมเป็นประธานแก้ไขในโครงการ 4 เมษาฯ ก็สามารถประคับประคองมาได้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีกฎหมายมาห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย แล้วยังไม่มีกฎหมายมาให้คนที่เข้ามาช่วยบริษัทไม่ให้ล้ม อย่างธนาคารถ้าเขามาช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้เพราะเห็นว่ายังมีทรัพย์สินที่ดีอยู่แต่ว่ายังขาดเงิน แต่กฎหมายของเราบอกว่าถ้านำมาช่วยในระหว่างนั้นไม่สามารถที่จะได้รับการชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ อันนี้เป็นอุปสรรคใหญ่" ศ. ไพศาล กุมาลย์วิสัย ซึ่งในอดีตครั้งหนึ่งเคยถูกดึงตัวจากแวดวงตุลาการออกไปช่วยงานในตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูแลปัญหาสถาบันการเงินล้ม ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงแนวคิดเริ่มต้นของบทบัญญัติการฟื้นฟูกิจการอันถือเป็นมิติใหม่ของกฎหมายล้มละลายไทย

ในพระราชบัญญัติแก้ไขปรับปรุงกฎหมายล้มละลายปี 1978 ของสหรัฐ(The 1978 Bankruptcy Reform Act) Chapter 11 ถือเป็นต้นแบบหลักของบทบัญญัติการฟื้นฟูกิจการที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นในกฏหมายล้มละลาย โดยใน Chapter 11 นั้นเนื้อหาจะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูกิจการโดยเฉพาะ (REORGANIZATION) โดยที่ลูกหนี้ยังคงความเป็นเจ้าของธุรกิจ และควบคุมการดำเนินงานในบริษัทอยู่เช่นเดิม แต่ทั้งนี้ต้องภายใต้การควบคุมของศาล ขณะเดียวกันทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถที่จะดำเนินการประนอมหนี้กันได้ ซึ่งอาจจะเป็นการเจรจากำหนดการชำระหนี้ใหม่ หรือจัดโครงสร้างหนี้ใหม่ เป็นต้น

"ในการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ มีการพิจารณา ก.ม. จากหลายประเทศหลายระบบ เช่นระบบของสหรัฐใน Chapter 11 ระบบอังกฤษ และสิงคโปร์ที่เป็นระบบ Initial Management ซึ่งให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการเข้ามาบังคับมากกว่ารูปแบบอื่นๆ เมื่อมีการวิเคราะห์หลายๆ ระบบแล้วก็มีความเห็นว่า ถ้าจะนำระบบสิงคโปร์มาใช้ทั้งหมด อำนาจส่วนใหญ่จะตกอยู่กับศาล แล้วศาลรวมทั้งกระบวนการเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) จะต้องมีบทบาทและมีศักยภาพสูงพอที่จะเข้าไปช่วยหน่วยธุรกิจพื้นฐาน คือต้องทำให้ได้เหมือนกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้าไปช่วยสถาบันการเงิน

แต่ว่าจากการประเมิน ผมต้องเรียนว่าระบบศาลของบ้านเรา และจพท. ของบ้านเรายังไม่เก่งในทางเศรษฐกิจ เหมือนกับ ธปท. ส่วนใหญ่ผู้พิพากษาและ จพท. ของเราเป็นนักกฎหมายแท้ ๆ ซึ่งมักจะเน้นความเป็นธรรมมากกว่าแง่มุมอื่น ในเรื่องของ ก.ม. ส่วนนี้ความจริงเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะต้องนำเอาแนวคิดและปรัชญาและคนที่รู้ธุรกิจการค้าเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบรับภาระ

ฉะนั้นมองในรูปแบบ ก.ม. ของสิงคโปร์จึงไม่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการให้นำมาใช้ทั้งระบบ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งทีเดียว เพราะในทางตรงกันข้ามถ้าจะปล่อยให้เอกชนทำกันเองก็จะมีปัญหาว่ามาตรการนี้เมื่อนำเข้ามาใช้ก็จะมีคนได้เปรียบเสียเปรียบจะมีการเทกโอเวอร์กิจการที่ซวนเซนั้น เจ้าหนี้ของบริษัทนั้นอาจจะมีทั้งเจ้าหนี้รายใหญ่เจ้าหนี้รายย่อย ลูกหนี้เองหรือคนที่ระดมเงินเข้ามาช่วยเหลืออาจจะลืมฐานะมีอำนาจต่อรองมากกว่าก็จะเอาเปรียบลูกหนี้หรือเจ้าหนี้บางส่วนได้ ดังนั้นแนวคิดจึงออกมาตรงกลางว่าไม่ได้ปล่อยให้เป็นอิสระเสียทีเดียว" จรัญ ภักดีธนากุล ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกทางกฎหมายสมัยใหม่ของเมืองไทยที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ ของกระทรวงยุติธรรม อธิบายถึงหลักการคร่าว ๆ ของร่างกฎหมายฟื้นฟูกิจการ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของกฎหมายล้มละลายไทย

ขจัดเครื่องกีดขวางทางอัศวินม้าขาว

ตามบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับที่ยังใช้บังคับในปัจจุบัน ได้กลายเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผลกระทบจากวิกฤตกาณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจในลักษณะของโดมิโนที่ส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ และจนทุกวันนี้ ภาวการณ์นี้ยังไม่สามารถหาทางหยุดยั้งได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและเทศต่างชะลอการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ธนาคารต่างประเทศบางแห่งตัดเครดิต ไลน์ลูกหนี้ไทยไปเรียบร้อยแล้ว แม้กระทั่งบีไอบีเอฟ ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นแหล่งระดมทุนขนาดใหญ่ของไทยประเภท Out-In ตอนนี้ต้องหลบเลียแผลใจไปก่อน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกระแสข่าวแว่วออกมาว่าบางแห่งถึงกับเตรียมถอนเงินกลับมาตุภูมิบ้างแล้ว เพราะไม่เชื่อมั่นในความสามารถชำระหนี้คืนของลูกหนี้ไทย

หลักฐานที่ปรากฎเป็นรูปธรรม และค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจไม่น้อยก็คือ การลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับอย่าง Moody's Investor Services หนี้ระยะยาวของไทยจากระดับ A3 ลงมาที่ระดับ Baa3 เป็นการปรับรวดเดียวถึง 3 notch ทำให้การหาเงินทุนของภาคธุรกิจไทย หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจ นับแต่นี้ต่อไป ต้องยากลำบาก เป็นทวีคูณ

ตามหลักสากล กฎหมายล้มละลายถือเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยยืดอายุภาคธุรกิจได้ เพราะจะได้ความคุ้มครองต่อผู้ที่จะเข้ามาให้การช่วยเหลือพยุงฐานะของบริษัท ด้วยการอัดฉีดเงินใหม่เข้ามา เพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปได้ ทว่าสำหรับประเทศไทย ก.ม. ล้มละลายกลับกลายเป็นปราการที่กั้นขวางผู้ที่จะเข้ามาช่วยกอบกู้กิจการ เพราะใน ก.ม. ได้กำหนดห้ามมิให้เจ้าหนี้ที่ยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว (insolvency) หรือสามารถชำระหนี้คืนให้ไม่ได้มีสิทธิ์ได้รับการชำระหนี้ในกรณีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีล้มละลาย

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังหลักการนี้ เพราะเกรงว่าลูกหนี้อาจมีการสร้างเจ้าหนี้ปลอมขึ้นมาเฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้เมื่อถึงขั้นล้มละลาย ทว่าหลักการนี้ในปัจจุบันไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะในบางครั้งบริษัทลูกหนี้ยังมีศักยภาพความสามารถที่จะเดินต่อไป ซึ่งเจ้าหนี้เองก็เล็งเห็นแต่ไม่อยากเข้าไปเสี่ยง เพราะหากลูกหนี้รายนั้นล้มละลายขึ้นมาอาจต้องโชคร้ายถึง 2 ครั้งทีเดียว

"ความจริงแล้วในเรื่องนี้มีความสำคัญต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่บริษัท ATEC เผชิญอยู่ เพราะไทยยังไม่มี ก.ม. ล้มละลายอย่าง chapter 11 ของสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ก.ม. ล้มละลายใหม่จะกลายเป็นเครื่องมือใหม่ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

แต่สถาบันการเงินอาจจะไม่ได้รับผลจากตรงนี้โดยตรง เพราะว่าการที่ลูกหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน หรือการฟื้นฟูกิจการที่เป็นสถาบันการเงินภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแลนั้น ๆ เช่น ถ้าเป็นไฟแนนซ์ก็คงจะทำไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ฉะนั้นจึงยังไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อไฟแนนซ์ในตอนนี้โดยตรง

แต่ผมคิดว่าคนที่จะใช้ก็คือคนที่เป็นลูกหนี้ของบริษัทไฟแนนซ์เพราะว่าประสบปัญหากันทั่วหน้า ระบบการเงินขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง การที่ขาดสภาพคล่องทำให้ผู้ที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินไม่สามารถชำระหนี้ให้ได้ในตอนนี้ กลายเป็นผิดนัดกันทั่วหน้า ซึ่งตามสัญญาของสถาบันการเงิน เมื่อผิดนัดชำระเงินก็ต้องเจอปรับดอกเบี้ยเรียกเก็บในอัตราที่สูงสุด เมื่อจ่ายไม่ได้ก็เกิดดอกเบี้ยทบต้นเรื่อย ๆ ยิ่งใครที่มีหนี้ต่างประเทศยิ่งประสบปัญหาหนักเข้าไปอีก ผมคิดว่าถ้า ก.ม. นี้ประกาศใช้เมื่อไหร่ คนจะได้อานิสงส์ และคนที่จะได้ใช้ก่อน จะเป็นบริษัทลูกหนี้ " รศ. พิเศษ เสตเสถียร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักกฎหมายประจำสำนักงาน MPS & Associate เสนอมุมมองเกี่ยวกับการขอฟื้นฟูกิจการในกฎหมายฉบับใหม่

ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ที่จะได้รับการฟื้นฟูจะต้องเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือเป็นนิติบุคคลอื่นที่กฎหมายกำหนด มีหนี้รวมไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท (ซึ่งถือว่าเข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัว) และศาลยังไม่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โดยผู้ที่มีสิทธิ์ขอฟื้นฟูกิจการได้ต้องเป็นเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้หรือหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่เจ้าหนี้ร้องขอจะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกันคนเดียวหรือหลายคนรวมกัน และมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้าน เช่นเดียวกับลูกหนี้ก็สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของตนเองได้

ในกรณีของลูกหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทประกันวินาศภัย หรือบริษัทประกันชีวิต จะสามารถขอฟื้นฟูกิจการของตนเองได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรมการประกันภัย เป็นต้น หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวนั้น หรือผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่สถาบันการเงินนั้นเอง และหากเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเหล่านั้นต้องการจะยื่นคำร้องก็ต้องได้รับคำยินยอมเป็นหนังสือจากหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลเสียก่อน

"ใน ก.ม.นี้ จะมาช่วยเปิดทางให้เจ้าหนี้ และลูกหนี้เข้ามาคุยกันได้ ข้อสังเกตที่อยากจะฝากไว้ก็คือ ระยะเวลาของกระบวนการที่ยาวนาน ผมเองเวลาที่ได้ไปพูดคุยกับสถาบันการเงินต่างประเทศ เขาพูดถึง ก.ม.ฉบับนี้ว่ามีขั้นตอนมาก ซึ่งทำให้เกิดความลังเลที่จะให้สินเชื่อ หรือเข้ามาช่วยเหลือ

เช่นในช่วงที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้ทำซีเคียวริไทเซชั่น เป็นกระบวนการเปลี่ยนทรัพย์สินที่ไม่มีสภาพคล่องให้เป็นเงินสด เท่าที่ผมทราบ เมื่อครั้งที่เกิดปัญหา saving & loan ในสหรัฐ เขาได้ใช้กระบวนการนี้ในการแก้ปัญหา คือแปลงหนี้ ให้เป็นเงินมาช่วยสภาพคล่อง สถาบันการเงินต่างประเทศบางแห่ง เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะทำซีเคียวริไทเซชั่น การที่จะเอาทรัพย์สินบางอย่างเช่น ที่ดินไปทำการบังคับคดี ในเรื่องนี้ต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ทำได้ง่ายหรือลำบากแค่ไหน ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งที่เขานำมาตัดสินใจที่จะให้สินเชื่อหรือปล่อยกู้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของ ก.ม. ล้มละลาย และการบังคับคดีเป็นปัจจัยที่ทำให้สถาบันการเงินต่างประเทศลังเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทไทยที่จะขอสินเชื่อเขา และเมื่อ ก.ม. ออกมาใช้จริงก็คงต้องพิสูจน์ว่าจะสามารถทำได้รวดเร็วแค่ไหน" อาจารย์พิเศษให้ข้อสังเกตถึงข้อจำกัดของ ก.ม. ใหม่ที่อาจจะทำให้นำไปใช้ในการแก้ปัญหาสถาบันการเงินได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ขณะนี้ มุมมองของนักกฎหมายฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย เกริก วณิกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายได้สรุปปัญหาที่บริษัทลูกหนี้ประสบอยู่ในขณะนี้ว่า ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาสภาพคล่อง (Liquidity) และปัญหาทุนหมดจนทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว (insolvency) เพราะมีการกู้หนี้ยืมสินมาใช้แล้วเกิดการขาดทุน ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ครอบคลุมถึงปัญหาทั้งสอง และอาจจะประสบปัญหาในการจัดทำแผนเพื่อการฟื้นฟูกิจการเพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและส่วนใหญ่วิธีการแก้ปัญหาจะเป็นการควบรวมกิจการ (M&A/Takeover) หรือการลดและเพิ่มทุน

"มันเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ในการพิจารณาแผน ซึ่งในความเห็นของผม ถ้าเป็นปัญหาสภาพคล่องจริง ๆ ผมว่าเราทำได ้ เพราะสถาบันการเงินจะปล่อยให้อยู่แล้ว ในทางปฏิบัติที่ทำกันมากที่สุด เป็นการควบรวมกิจการซึ่งออกมา 3 รูปแบบ คือการควบรวมตาม ก.ม. แพ่งและพาณิชย์และ ก.ม. มหาชน การรวมกิจการ (takeover) เข้าไปบริหาร สุดท้ายเป็นวิธีที่ทำกันมาก ในสถาบันการเงินเป็นการซื้อกิจการออกมา เป็นการโอนกิจการภายในออกมา และเมื่อให้สินเชื่อไป เขาก็มีสิทธิ์ที่จะโอนสิทธิ์เรียกร้องนั้นมาบริหารต่อในสถาบันใหม่

ในการควบกิจการทั้ง 3 รูปแบบนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้ซื้อจะต้องรู้ว่าการเข้าไปช่วยเหลือเขานั้นเขามีอะไรอยู่บ้าง คือจะต้องมีการตรวจสอบสินทรัพย์ หนี้สิน และทุน หรือเป็นการ Due diligent เพื่อทราบว่าเขามีอะไรบ้าง ซึ่งต้องใช้เวลาเช่นกัน นอกจากนั้นต้องเข้าไปดูทั้งด้านบัญชี และ ก.ม.ด้วย และมีการประเมินทรัพย์สินที่จับต้องได้ ต้องมีการประเมินราคา รวมทั้งดูภาระผูกพัน ก.ม. นี้ เป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ลูกหนี้มาขอปรับตัวเอง และมีแผนมา ถ้าเป็นแผนของการควบรวมก็เข้าล็อกกับแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงการคลังได้ดำเนินการอยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ดี ถึงแม้จะเป็นทางเลือกใหม่ แต่เราต้องมาดูว่า สาเหตุปัญหาและการแก้ไขจะเป็นอย่างไร เพราะปัญหาของสถาบันการเงินที่มีความละเอียดอ่อนและบางเบา"

อย่างไรก็ตาม หากปัญหาที่สถาบันการเงินประสบอยู่นั้นเกิดมาจากปัญหาสภาพคล่อง และการบริหารงานผิดพลาดจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว การแก้ไขสามารถกระทำได้ แต่ในกรณีที่สาเหตุของปัญหาเกิดจากระบบ (systemic) เกริก มองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะสามารถคลี่คลายปัญหาได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพราะขณะนี้เงินในระบบเหือดแห้งลง ทำให้สภาพคล่องในระบบหายไป

"ถ้าจะอธิบายง่าย ๆ ก็คือว่า สมมติประเทศไทยมีเงินอยู่ 100 บาท แล้วเราให้นำเงินต่างประเทศเข้ามาอีก 40 บาท ประเทศไทยก็จะมีเงิน 140 บาท ถ้าเงิน 40 บาทมีการนำไปลงทุนในอุตสาหกรรมส่งออกแน่นอนเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถสร้างผลผลิตในการสร้างเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ แต่เงิน 40 บาทนั้นกลับนำไปใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าซื้อรถยนต์ หารายได้จากตลาดหุ้น ซึ่งจะเห็นว่ามันไม่ได้เป็นการหาเงินตราต่างประเทศเข้ามา แต่ที่มีปัญหามาก ๆ ก็คือ ว่าส่วนที่ลงในอสังหาริมทรัพย์และลูกหนี้เช่าซื้อนั้นเป็นการลงทุนระยะยาว แต่เงินกู้ที่นำเข้ามามีระยะเวลาสั้น เมื่อเขาถอนเงินออกไปจากที่เคยใช้ 140 บาท ก็เหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ธุรกิจก็ไม่มีเงินมาต่อ ก็ไม่มีการซื้อ แต่ลูกหนี้สถาบันการเงินที่กู้เงินก็ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ แล้วเงินก็เริ่มขาด ขณะเดียวกันเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่เขาปล่อยผ่านสถาบันการเงิน เมื่อปัญหาเริ่มแพร่ไปเรื่อย ๆ เขาก็ไม่มีเงินก็เริ่มเป็นปัญหาเศรษฐกิจมากระทบถึงธุรกิจ เป็นปัญหาในเรื่องระบบ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผม ถ้าเป็นปัญหาเรื่องระบบ ก.ม. นี้จะไม่เกี่ยวข้องเลย เพราะไม่รู้ว่าจะไปแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องอย่างไร แต่ถ้าเป็นปัญหาในเรื่องของการบริหารก็อาจจะพอใช้ได้ ซึ่งสำหรับปัญหาของสถาบันการเงินหากจะมาใช้ ก.ม.นี้ทันทีผมว่ายังมองไม่เห็น"

เนื่องจาก สถาบันการเงินมีลักษณะของการทำธุรกิจที่แตกต่างจากบริษัททั่วไป เพราะสินค้า และบริการที่ขายนั้นล้วนแล้วแต่เป็นเงินทั้งสิ้น ดังนั้นเจ้าหนี้ตาม ก.ม. จึงมีทั้งผู้ฝากเงินและผู้ให้กู้ยืม ซึ่งไม่ได้มีเพียง 2 รายแต่มีหลายพันหลายหมื่นราย อันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการประชุมขอมติจากเจ้าหนี้เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจฟองซิเอร์ ฉบับที่ 3 ซึ่งใน ก.ม. ฉบับนี้บัญญัติว่าถ้ามีการควบรวมสถาบันการเงินซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย และห้ามมิให้มีการฟ้อง และดำเนินการล้มละลายสถาบันการเงินดังกล่าวในระหว่างการดำเนินการควบหรือโอนกิจการตามที่รัฐมนตรีว่าการได้รับความเห็นชอบ ดังนั้นจึงทำให้การนำ ก.ม. ฉบับนี้มาปรับใช้กับสถาบันการเงินมีข้อจำกัดมากขึ้น

"ฉะนั้น ผมคิดว่าในลักษณะอย่างนั้นเขาก็เลือกที่จะเข้ามาอยู่ใน ก.ม. ของ ธปท. จะดีกว่าเพราะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินโดยตรง เพราะธุรกิจทุกอย่างเป็นเงินหมด ถ้าเงินขาดทำง่าย ๆ ก็คือ เพิ่มเงิน หรือ ไม่ก็ควบกิจการ ปกติถ้าเขาเพิ่มทุนได ้ก็ไม่มีใครมาควบกิจการ ถ้าเราจะช่วยเหลือด้วยการให้คนที่แข็งแรงกว่ามาช่วยพยุงไว้ก็คือ ควบรวม หรือโอนกิจการ ซึ่ง พ.ร.ก. นี้ได้เพิ่มเติมในเรื่องของการคุ้มครอง ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน" เกริก อธิบาย พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ก.ม. ล้มละลายใหม่นี้ ลูกหนี้ จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากกว่าเจ้าหนี้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ลูกหนี้จนตรอกก็สามารถมายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งการฟ้องล้มละลายก็จะกระทำไม่ได้ ต้องหยุดหรือแม้แต่มีการฟ้องไปแล้วก็ต้องหยุดรอ

ในช่วงปี 2520-2523 ธนาคารแห่งประเทศไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เนื่องจากมีการจัดระบบของสถาบันการเงินให้เข้ารูปเข้ารอย และที่สำคัญยิ่งก็คือสามารถจัดการกับการเงินนอกระบบได้อย่างเฉียบขาด ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากคนไม่มีความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินทั้งระบบ มีการนำเงินไปฝากนอกระบบ ที่ออกมาในรูปของแชร์ลูกโซ่ แชร์น้ำมัน เป็นต้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้เกิดเงินฝืดในระบบ ทำให้ปัญหาทับทวีคูณขึ้น ในเรื่องนี้ ศ. ไพศาล ในฐานะที่เป็นหนึ่งในแบงก์ชาติที่เข้าไปสางปัญหานี้ โดยมีสมหมาย ฮุนตระกูล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ได้เล่าถึงวิธีการแก้ไขปัญหาว่า

"แบงก์ชาติจะทราบว่าปริมาณเงินในตลาดมีเท่าไหร่ แต่เมื่อมีเงินมากขนาดนั้นแล้วยังเกิดเงินฝืด ก็เข้าไปสอบสวนได้ความว่ามีเงินจำนวนหนึ่งประมาณ 20,000 ล้านบาท ในธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สามารถนำไปปล่อยกู้ได้ เพราะเจ้าของฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์และฝากอยู่ประมาณ 3 เดือน ก็ย้ายไปเป็นบัญชีใหม่มีประมาณ 50-60 บัญชี ดังนั้นธนาคารก็ไม่สามารถนำเงินจำนวนนี้ไปปล่อยกู้ได้เกิน 3 เดือนก็เกิดภาวะเงินฝืดขึ้น ขณะที่ทางรัฐบาลมีการปราบปรามการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนที่เป็นต้นตอของปัญหาเป็นการตัดเส้นทางนี้"

แต่ประเด็นที่สำคัญที่ทำให้ปัญหาในช่วงนั้นผ่านพ้นวิกฤติไปได้เพราะแบงก์ชาติมีความน่าเชื่อถือ สามารถเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินนั้น ๆ ให้เวลาบริษัทดำเนินกิจการต่อไปตามแผนของแบงก์ชาติที่วางไว้อย่างรัดกุมโดยเน้นแก้ไขที่ 4 จุดใหญ่ ๆ คือ หนี้เสีย เงินทุนต้องหาทุนใหม่เข้ามา ผู้บริหารต้องเป็นมืออาชีพ และต้องมีแผนฟื้นฟูที่อยู่ในวิสัยฟื้นฟูได้ ซึ่ง บงล. ธนชาติ ในปัจจุบันหรือลีกวงหมิงในอดีตเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงฝีมือแบงก์ชาติในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

เน้นที่ บจ. เป็นพื้นฐาน : สกัดลุกลามทั้งระบบ

การสร้าง ก.ม. ฉบับนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหน่วยธุรกิจที่ทำการค้าขายทั่วไป หรือบริษัท จำกัด (บจ.) เพราะเมื่อถึงคราวต้องซวดเซ บรรดาบริษัทเหล่านี้ไม่มีทางเอาตัวรอดได้และต้องตกเป็นหน่วยที่ล้มละลายไปในที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่สู่วงกว้าง แม้ว่าในความเป็นจริงยังมีบริษัทอีกมากมายที่มีศักยภาพที่จะฟื้นตัว แต่ถ้าปราศจากซึ่งบทบัญญัติการฟื้นฟูกิจการของ ก.ม. ล้มละลายแล้ว บริษัทเหล่านี้ก็ต้องถูกผลักเข้าสู่กระบวนการล้มละลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลักการใหญ่ ๆ ของบทบัญญัติฟื้นฟูกิจการในกฎหมายล้มละลายจะใช้ฐานจากที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งจะต้องรวมถึง Financial Rescuer หรือผู้ที่จะเข้ามาช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บริษัทลูกหนี้ โดยจะต้องเป็นหน่วยงานเอกชนเท่านั้นใช่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็หมายความว่า ก.ม. ฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทำงานกันเอง แต่อยู่ภายใต้การดูแลของศาล ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีขอบเขตกติกา มิให้เกิดมีการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน โดยกระบวนการทุกอย่างจะต้องผ่านกระบวนการทางศาลเพื่อตรวจสอบในท้ายที่สุด

ในร่าง ก.ม. ใหม่นี้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ จะมีบทบาทมากขึ้นเริ่มตั้งแต่การประชุมตั้งผู้บริหารแผน โดยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดประชุมและรายงานผลการประชุมให้ศาลทราบ นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่เข้าไปจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน และในระหว่างที่บริหารกิจการของลูกหนี้อยู่นั้นจะต้องเป็นผู้ทำการชี้แจงเกี่ยวกับทรัพย์สินต่างๆ ของลูกหนี้ให้ศาลทราบ พร้อมกันนั้นก็ยังจะต้องทำหน้าที่ในการพิจารณาการขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยื่นเข้ามา และยังสามารถขออำนาจศาลสั่งเพิกถอนการฉ้อฉลในกรณีที่บริษัทลูกหนี้ได้ทำการฉ้อฉล

"ในเบื้องต้นผมเองก็เป็นห่วงเหมือนกันว่า จพท. ในกรมบังคับคดี ในทาง ก.ม. จะแต่งตั้งนิติกรของกรมบังคับคดีซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักกฎหมายที่ต่อไปจะเป็นผู้พิพากษา นักกฎหมายเหล่านี้จะทำงานด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการถูกร้องเรียน หลีกเลี่ยงการถูกฟ้อง ในการทำงานของ จพท. โดยเฉพาะในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จสิ้น ส่วนใหญ่ จพท. จะไม่ลงไปจัดการจริง ๆ แต่จะทำในลักษณะเลิกกิจการมากกว่าเพื่อป้องกันความเดือดร้อนที่จะมาถึงตัว

เมื่อ ก.ม.ใหม่ออกมา บทบาทของ จพท. ที่มีความคิดอย่างนั้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยน แล้วผมคิดว่าการแต่งตั้ง จพท. ที่ทำกันมาก็จะต้องมีการปรับคุณสมบัติ เนื่องจาก ก.ม. ฉบับปัจจุบันแม้ว่าจะประกาศใช้มา ตั้งแต่ปี 2483 แต่ไม่ได้ล้าสมัยเลย เพราะได้เปิดกว้างให้ รมว. ยุติธรรมแต่งตั้งใครก็ได้มาเป็น จพท. และ ก.ม. ไม่ได้เขียนคุณสมบัติไว้เลย ฉะนั้นถ้าจะให้ ก.ม. นี้ประสบความสำเร็จในการให้ จพท. ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนแรกก็คือจะต้องมีการปรับคุณสมบัติ จพท. ให้กว้างขึ้นนอกจากที่มีเฉพาะนัก ก.ม. ซึ่งปัจจุบันกรมบังคับคดีก็ได้ศึกษาเรื่องนี้ โดยมีการประสานไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อขอบรรจุเจ้าหน้าที่ที่จบปริญญาสาขาอื่น ๆ มาเป็น จพท. เช่นทางด้านบัญชี บริหาร การเงิน เข้ามาช่วยในจุดนี้ หากปรับในจุดนี้ได้ ปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพความสามารถของ จพท. ก็คงจะแก้ได้" ไกรสร บารมีอวยชัย รองอธิบดีกรมบังคับคดี ได้พูดถึงแนวทางในการตระเตรียมตัวของกรมบังคับคดี เพื่อรองรับกับ ก.ม. ใหม่ที่ใกล้จะคลอดออกมาในปลายปีนี้

โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับใหม่ฉบับนี้ ได้กำหนดให้ จพท. เป็นตัวอุดช่องว่างที่จะทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต้องสะดุดหยุดชะงัก แต่เมื่ออุปสรรคนั้นแก้ไขได้ จพท. ก็จะส่งเรื่องกลับไปให้กับผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราวให้ดำเนินการต่อไป

"แต่ข้อเสียก็คือว่าเมื่อให้ จพท. เข้ามาแล้วช่วงจังหวะนั้นอาจจะต้องมีการตัดสินใจหรือกระทำการอันหนึ่งอันใดแต่ติดขัดที่ระเบียบราชการจึงไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวความผิดในระเบียบราชการ ก็อาจจะทำให้ประสิทธิผลที่ จะเกิดขึ้นชะงักโดยใช่เหตุ แต่ในที่สุดก็ยึดทางสายกลางคือ โดยหลักการให้เอกชนเข้ามาเป็นคนทำ ศาลเข้ามาคุมตรงปลายมองดูคล้าย ๆ ประนีประนอมยอมความ คู่ความก็เจรจากันเองแต่ศาลก็คุมอยู่ว่ามีการขัดต่อ ก.ม. ไหม เอาเปรียบกันมากเกินไปหรือไม่

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีข้อติติงในเรื่องของการให้ศาลเข้ามามีอำนาจ เช่น การตั้งผู้ทำแผนที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติแต่ใน ก.ม. บังคับว่าจะต้องให้ศาลเป็นผู้อนุมัติสุดท้าย แต่เมื่อมีเหตุสมควรอันในอันหนึ่ง ไม่อนุมัติก็ได้ หลายคนก็สงสัยว่าศาลจะใช้อำนาจนอกลู่นอกทางไปอีกหรือไม่ แต่ว่าเราก็พยายามชี้แจงว่าในทางปฏิบัติถ้าแนวคิดนี้ประจักษ์ชัดในหมู่ผู้พิพากษาแล้วก็คงจะไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่ก็ทำงานกันอยู่ในกรอบอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องของ จพท. ไม่มีทางเลือก เพราะทุกอย่างจะโยนไปที่ จพท.ในกรณีที่เกิดการชะงักงันเป็นการชั่วคราว ถึงแม้ว่า จพท. ของเราในปัจจุบันจะยังไม่เก่งในสายตาของภาคเอกชน แต่ก็เป็นทางออกทางหนึ่งที่เรามีกลไกเข้ามาช่วยและทางกระทรวงยุติธรรม ก็ได้รับข้อสังเกตของคณะกรรมการไปแล้ว ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุง จพท. เฉพาะมาตรการพิเศษนี้ อาจจะต้องหาคนที่รู้ทางเศรษฐศาสตร์ รู้ทาง ก.ม. ทั้งธุรกิจและการจัดการเข้ามาประกอบกัน นี่เป็นปัญหาเรื่องคน ไม่ใช่ปัญหาในเรื่องของระบบ" จรัญ ชี้แจงข้อข้องใจของภาคธุรกิจที่มีต่อสถาบันตุลาการในเรื่อง ความรู้ความสามารถที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีฟื้นฟูกิจการอันถือเป็นคดีใหม่ที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะถึงกระบวนการล้มละลาย

ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของ ก.ม. ใหม่ ได้มีสมมติฐานว่าเจ้าหนี้อาจจะเป็นตัวก่อปัญหาทำให้บริษัทซวนเซก็ได้ เพราะเจ้าหนี้บางรายเข้มงวดมากเกินไป หรือบางรายต้องการเข้าเทกโอเวอร์กิจการของลูกหนี้ โดยใน ก.ม. จะไม่เปิดโอกาสของเจ้าหนี้ที่จะใช้ ก.ม. ล้มละลายเป็นเครื่องมือในการบีบลูกหนี้ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Automatic Stay ซึ่งในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการนี้ ห้ามเจ้าหนี้ทั้งหมดเข้ามาบีบบังคับลูกหนี้ชำระหนี้

แต่ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นต้นตอของปัญหาเสียเอง โดยเฉพาะผู้บริหารที่นำพาบริษัทตกอยู่ในฐานะที่ซวนเซจนถึงขั้นมีหนี้สินล้นพ้นตัว ในบทบัญญัติพิเศษของ ก.ม. ล้มละลายใหม่สามารถถอดถอนผู้บริหารเดิมออกทันที เพราะตราบใดที่ผู้บริหารเก่ายังอยู่ ถึงจะมีแหล่งเงินทุนใหม่ถมเข้ามาและมีการกันเจ้าหนี้ไม่ให้ดำเนินการใด ๆ ระหว่างนั้นก็ตาม การฟื้นฟูบริษัทย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังอาจจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรการนี้เรียกว่า Automatic Takeover โดยผู้บริหารเดิมจะหลุดจากตำแหน่งทันทีและอำนาจของการบริหารจะตกอยู้ที่ผู้ทำแผน ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดที่ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้โดยชอบเป็นผู้เลือกผู้ทำแผนและเสนอให้ศาลเห็นชอบ เมื่อศาลเห็นชอบ ผู้ทำแผนก็จะรับมอบอำนาจซึ่งเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติโดยผลของ ก.ม. ทันที

"ในขณะที่แก้ปัญหาเจ้าหนี้ด้วย Automatic Stay แต่ถ้ามาตรการตั้งผู้ทำแผนต้องหยุดชะงัก ก็จะเกิดช่องว่างในช่วงจัดตั้งผู้ทำแผน ผู้บริหารเดิมของลูกหนี้ก็บิดเบี้ยวเงินออกไปได้ ช่วงนี้อันตรายมาก ผมเข้าใจว่าทางศาลจะต้องเห็นจุดสำคัญตรงนี้ แล้วใน ก.ม. ก็ได้เปิดช่องทางให้ตั้งผู้บริหารชั่วคราวขึ้นมา ฉะนั้นขั้นตอนจะเดินจากผู้บริหารเดิมของลูกหนี้ ถ้ายังตั้งผู้ทำแผนไม่ได้ ส่งไปให้ จพท. ให้เข้ามาบริหารแทนผู้บริหารเดิม คือต้องเอาผู้บริหารเดิมออกไป ผู้บริหารเดิมมีปัญหา ตั้งผู้บริหารชั่วคราวได้ ก็ตั้งผู้ทำแผน และผู้ทำแผนก็คือผู้บริหารตัวจริง

ผู้ทำแผนจะมีเวลาบริหารอยู่ช่วงหนึ่ง หน้าที่อย่างหนึ่ง คือทำแผนให้เสร็จโดยเร็วที่สุด แต่ระหว่างที่ทำแผนก็บริหารบริษัทไปด้วย เมื่อทำแผนเสร็จก็เสนอแผนนั้นให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนนั้นด้วยมติพิเศษ ตอนที่เจ้าหนี้พิจารณาให้ความเห็นชอบนั้นเป็นมติธรรมดา แต่ถ้าเป็นมติเห็นชอบแผน ซึ่งถือเป็นหัวใจ ต้องเป็นมติพิเศษ เมื่อได้มติพิเศษก็ส่งไปที่ศาลให้ความเห็นชอบ เมื่อศาลเห็นแผนก็จะบอกว่า ใครเป็นผู้บริหารแผน เมื่อศาลให้ความเห็นชอบ อำนาจจัดการก็จะเปลี่ยนจากผู้ทำแผนมาเป็นผู้บริหารแผนทันที แต่ถ้าตั้งผู้บริหารแผนไม่ได้ความเห็นชอบตรงนี้ ก็อาจจะมีการตั้งผู้บริหารแผนชั่วคราว ที่ ก.ม. เปิดช่องเอาไว้ ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ ก็อาจจะไปอยู่ที่ จพท. ซึ่งในทางปฏิบัติคงจะไปถึง จพท. น้อยมาก แต่เป็นการปิดช่องว่างเอาไว้" จรัญ อธิบายเนื้อหาของ ก.ม. ใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาในกรณีที่ผู้บริหารบริษัทสร้างปัญหาขึ้นมา

ซึ่งหลังจากตั้งผู้บริหารแผนได้แล้วก็จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารกิจการของลูกหนี้ไปตามแผนที่จัดทำขึ้น โดยในแผนจะต้องระบุถึงจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระคืนตามความยินยอมของเจ้าหนี้ไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐเข้าไปบังคับ ซึ่งในทางปฏิบัติการลดจำนวนหนี้ลงอาจจะเป็นวิธีที่เจ้าหนี้ยอมรับไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการให้จำนวนเงินเท่าเดิม แต่ผ่อนผันเรื่องดอกเบี้ยและระยะเวลา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องเขียนอยู่ในแผน และผู้บริหารแผนต้องทำให้ได้ตามแผนในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี

เมื่อไหร่ที่ผู้บริหารแผนทำได้สำเร็จทุกคนก็พอใจ อำนาจบริหารก็ตกไปอยู่ที่ลูกหนี้ คือตัวบริษัท ถ้าผู้บริหารเดิมไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ดี ที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็อาจจะมีมติตั้งผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทน ก็เท่ากับเป็นการคืนอำนาจบริหารให้กับบริษัทนั้น ซึ่งในที่สุดก็ไม่ต้องไปถึงขั้นกระบวนการล้มละลาย เจ้าหนี้สามารถไปขอรับชำระหนี้ได้

แม้แต่ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่จริงใจที่จะแก้ปัญหา แต่อยากจะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายไปเลย คือเข้าข่ายที่เรียกว่าล้มบนฟูก ใน ก.ม. ฉบับนี้ก็ได้แก้ปัญหาจุดนี้ไว้แล้วโดยบุคคลอื่นสามารถขอใช้มาตรการนี้ได้แม้ลูกหนี้ไม่ยินยอมเพราะฉะนั้นถ้าอยากจะล้มก็ล้มไม่ได้ ต้องเข้าโครงการฟื้นฟู

นอกจากนี้ ปัญหาของบริษัทลูกหนี้อาจจะเกิดขึ้นจากการมีลูกหนี้ไม่ดี ซึ่งในจุดนี้ ก.ม. ใหม่ได้พยายามที่จะหาทางแก ้โดยเมื่อผู้ทำแผน หรือ จพท. มีคำขอขึ้นอยู่ที่ว่าอำนาจขณะนั้นอยู่ที่ใคร ศาลมีอำนาจบังคับให้บุคคลที่รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือรับว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ต้องชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่บริษัทได้ ภายในระยะเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร ซึ่งหากลูกหนี้นั้น ๆ ยอมรับว่าเป็นหนี้จริงสามารถบังคับคดีได้โดยไม่ต้องรอขอให้ศาลสั่งให้ชำระ ซึ่งเป็นมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยกู้สถานะของบริษัทให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามในบทบัญญัตินี้ ยังมีข้อโต้แย้งว่าจะมีลูกหนี้สักกี่รายที่ยืดอกยอมรับว่าเป็นหนี้ เพราะหากลูกหนี้ไม่ยอมรับ ข้อบังคับข้อนี้ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้

"โอกาสที่จะใช้ ก.ม. นี้มีเยอะ สถาบันการเงินสามารถใช้ ก.ม. นี้ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระของรัฐมากเกินไป รัฐจะมีทางเลือก 2 ทางในกรณีที่เป็นสถาบันการเงิน ถ้าสถาบันเหล่านี้ซวดเซถ้ารัฐเห็นว่ารัฐไม่รับภาระ รัฐก็ต้องให้ความยินยอมให้เจ้าหนี้รายอื่นเขามาใช้มาตรการนี้ แต่ถ้ารัฐเห็นว่าสำคัญปล่อยไม่ได้รัฐก็สามารถที่จะไม่อนุญาตให้ใครใช้ ก.ม. นี้ได้ แล้วให้ใช้ ก.ม. ทางการเงินการคลังเข้าไปแก้ปัญหาแทนเหมือนอย่างที่ทำในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหา ส่วนบริษัทอื่นที่มิใช่สถาบันการเงินมีตัวเลขเยอะที่ถูกบังคับเข้ากระบวนการล้มละลายโดยไม่มีทางเยียวยา เพราะว่ารัฐไม่เข้าไปช่วยบริษัทเหล่านั้นก็ล้มละลายไปโดยปริยาย แต่ถ้ามี ก.ม. ตัวนี้ออกมา สมมติที่ผ่านมาเรามีบริษัทที่ล้มละลายปีละประมาณ 100 บริษัท เมื่อมี ก.ม. ตัวนี้ออกมาอาจจะเหลือเพียง 50 บริษัท" จรัญ สรุปถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจาก ก.ม. ใหม่ฉบับนี้

ถึงแม้ว่า ก.ม. ฉบับนี้จะเป็นเบาะเข้ามารองรับบริษัทต่าง ๆ มิให้ต้องล้มกระแทกพื้นเจ็บตัว แต่ก็มิได้หมายความว่าทุกบริษัทจะสามารถฟื้นฟูกิจการได้ ดังที่ วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมได้ให้ทัศนะไว้ว่า

"หลักการอยู่ที่ว่า บริษัทที่มีปัญหาจริง ๆ ถ้าเจ้าหนี้เห็นว่ามันควรจะฟื้นฟูก็จะฟื้นฟู การเข้าไปช่วยมันมีหลายทางถ้าเอาเงินอัดได้ฟื้นก็โอเค แต่ถ้ามันอัดไม่ได้ก็ต้องแบ่งสเกล คือมันมีหลักที่เรียกว่า out of business ในบางส่วนต้องตัดออกเพื่อให้สเกลมันสามารถแก้ไขได้ ส่วนที่ตัดออกก็เข้ากลไก liquidation แต่ว่าตัว frame ยังอยู่และมีทางแก้ไขเยอะแยะ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันทำไม่ได้เพราะขาด ก.ม. รองรับว่าทำได้แล้วดี แต่ไม่มีการโกง เรื่องนี้สำคัญ เราต้องสร้างให้เป็นทางเลือกในการเยียวยา

แต่ต้องเข้าใจว่าการฟื้นฟูไม่ได้สำเร็จทุกกรณี มันมีหลักอยู่ว่าถ้าล้มวันนี้แล้วได้มากก็ควรจะล้ม เราต้องมีหลักเกณฑ์บางอย่าง ซึ่งร่างตรงนี้เราจะ input เข้าไปในคณะกรรมาธิการ เพราะร่างนี้ร่างมาได้ 10 ปีแล้วมันก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสหรัฐ สิงคโปร์ ก็มีการเปลี่ยนเหมือนกัน ก.ม. บ้านเราแก้ไขนานกว่าจะแก้ไขได้เพราะขั้นตอนนาน"

กว่าวันนั้นวันที่ ก.ม. ฟื้นฟูกิจการผ่านสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติได้ อย่าให้สถานการณ์ต้องเข้าขั้นกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เลย ไหน ๆ ก็รอมาตั้ง 10 ปีแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us