|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธนาคารพาณิชย์กว่า 21 แห่ง ซึ่งเป็นสมาชิกบัตรชำระเงินของ "วีซ่า"อาจเป็นคู่แข่งขันกันในสนามรบ โดยเฉพาะการวิ่งไล่ล่าลูกค้าบัตรเครดิต ที่ทางการจำกัดบริเวณไม่ให้ขยายใหญ่ไปกว่านี้ เพื่อชะลอหนี้ภาคครัวเรือนไม่ให้ขยายตัวจนเข้าขั้นรุนแรง แต่ในฐานะแบรนด์ชำระเงินอิเลคทรอนิคส์คู่อริที่แท้จริงของวีซ่ากลับหมายถึง "เงินสด"การแช่แข็งธุรกิจบัตรเครดิต จึงหมายถึง การปิดโอกาสการเติบโตอย่างรวดเร็วของ "วีซ่า" ดังนั้นการบุกเบิกช่องทางใหม่ๆ ในกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น บัตรพรีเพด บัตรองค์กร บัตรเดบิตหรือชนชั้นระดับสูงขึ้นไปอีก ซึ่งเกณฑ์ภาครัฐคลุมไม่ทั่วถึง จึงบอกได้ถึง โอกาสที่ "เงินพลาสติก"จะถูกต้อนเข้ามุมอับนั้น แทบจะใช้ไม่ได้กับ "วีซ่า" แบรนด์ระดับโลกแม้แต่น้อย...
เมื่อดูจากสถิติตัวเลข ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 ของวีซ่า ประเทศไทย จะเห็นปรากฏการณ์หนึ่งที่บอกได้ว่า การกักบริเวณไม่ให้ ธุรกิจบัตรเครดิตขยายใหญ่ ด้วยกฎเกณฑ์ที่ทางการกำหนดอย่างเข้มงวด เริ่มจะปรากฏผลชัดเจน
จำนวนบัตรเครดิตวีซ่าในปี 2548 เพิ่มอีก 5.7 ล้านใบ ขยายตัว 23% ทำให้วีซ่ายังครองครองเค้กก้อนใหญ่ 57% ในจำนวนนี้เป็น 1.1 ล้านบัตรออกให้กับผู้ที่มีบัตรอยู่ก่อนแล้ว เท่านี้ก็อธิบายได้ว่า การวัดความสำเร็จของธุรกิจบัตรเครดิตน่าจะอยู่ที่การใช้จ่ายผ่านบัตรไม่ใช่ปริมาณบัตรเหมือนในอดีต
" ทั้งหมดนี้คงบอกได้ว่า บัตรบางใบไม่ได้ใช้ทำรายการมากนัก" สมบรูณ์ ครบธีรนนท์ ผู้จัดการวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อัตราเฉลี่ยการถือบัตรเครดิตต่อคนที่มีสิทธิ์ทำบัตรอยู่ที่ราว 3 บัตรต่อคน นั่นก็หมายถึงการถือบัตรหลายใบต่อหนึ่งคนไม่ได้เพิ่มรายการธุรกรรมได้มากอย่างที่คาดกัน
ปริมาณบัตรที่เพิ่มเข้ามาใหม่มีอยู่บ้าง แต่ยังจำกัดวงเฉพาะกลุ่มลูกค้าหน้าเดิมๆ นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้แบงก์ต่างๆหันมากระตุ้นยอดใช้จ่ายผ่านบัตร จนสนามแข่งขันร้อนระอุ ทั้งๆที่ภาครัฐก็คุมเข้มไม่ยอมประนีประนอมกับผู้ประกอบการที่พยายามขอขยายเพดานคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มจากเดิมอยู่ตลอดเวลา
แต่รูปแบบการล่อใจให้ลูกค้าควักกระเป๋าใช้จ่ายที่ว่าแข่งขันกันอย่างรุนแรง ถึงพริกถึงขิง เมื่อเทียบกับช่วง 4-5 ปีก่อนจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง แบงก์ต่างๆเริ่มมองหาวิธีเข้าไปแตะเซ็กเม้นท์หลากหลาย ทั้งขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ ผ่านบัตรใหม่ๆ หรือเจาะเข้าถึงไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันของลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผ่านมา แบงก์ต่างๆหรือนอนแบงก์ ต่างก็มีการปรับเปลี่ยนลูกเล่นมากมาย ในการทำตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จนธุรกิจบัตรเครดิตที่จะยืนหยัดอยู่ได้ต้องมีกลยุทธ์ " มาร์เก็ตติ้ง แอคทิวิตี้" เปลี่ยนไปไม่เว้นแต่ละวัน ส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นการกระตุ้นการรูดบัตร...
" มีผู้ถือบัตรเกิดใหม่น้อยลง ขณะที่คนมีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน เกิดทุกปีก็จริง แต่ก็ยังไม่มาก การขยายตลาดบัตรเครดิต จึงถูกจำกัดวงแคบๆ"
สมบรูณ์ บอกว่า นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้แบงก์แทบทุกแห่งพยายามแข่งขันกันช่วงชิงและรักษาฐานลูกค้าเก่าๆไว้กับตัวให้ยาวนานที่สุด...
" การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่เห็นลูกค้าหน้าใหม่ในตลาดเหมือนเมื่อ 4-5 ปีก่อน ลูกค้าบัตรเครดิตยังคงเป็นคนหน้าเดิมๆเป็นส่วนใหญ่"
ปัจจุบันมีบัตรวีซ่าในตลาดเมืองไทยรวม 17.1 ล้านใบ เป็นบัตรเครดิต 5.7 ล้านใบ เดบิต 11.4 ล้านใบ มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต วีซ่า 315,000 บาทเฉลี่ย 55,100 ต่อใบต่อปี
อย่างไรก็ตาม สมบรูณ์ ก็ยังพอใจที่เห็นการใช้จ่ายผ่าน "บัตรเครดิต" ผ่านโปรโมชั่นแรงๆ โดนใจ เจาะลึกทุกไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมาย ของทั้งแบงก์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือ นอนแบงก์ เพื่อใช้แทน "เงินสด" ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
"คู่แข่งของวีซ่าคือเงินสด แต่เราก็ต้องดูแบรนด์อื่นด้วย ซึ่งท้ายที่สุดเป้าหมายวีซ่าก็คือ จะทำอย่างไรจึงจะทำให้บัตรวีซ่า เข้าไปแทนที่เงินสด"
สมบรูณ์บอกว่า นั่นก็เพราะศัตรูที่แท้จริงของ "วีซ่า" ก็คือเงินสด ส่วนการแข่งขันระหว่างแบงก์หรือนอนแบงก์ที่พบเห็นจนเป็นเรื่องเจนตาก็เป็นเรื่องของการรบพุ่งในสนามแข่งขัน แต่ทั้งหมดก็เป็นลูกค้าของวีซ่า
ขณะที่ การออกแคมเปญ จัดรายการโปรโมชั่นบัตรเครดิตในระยะหลัง จะมีรูปแบบที่ค่อนข้าง "ฟลู แพคเกจ" คือใช้จ่ายแล้ว ยังใช้บริการอื่นเพิ่มเติมได้ด้วย
นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน วีซ่าเคยมีสมการง่ายๆในการทำตลาด นั่นคือ บัตรเครดิต ก็คือ กรุงเทพ และกรุงเทพ หรือคนสังคมเมือง ที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวงก็คือ ประเทศไทย แต่เมื่อสถานการณ์รายรอบเปลี่ยนไป ถ้ายังดันทุรังใช้รูปแบบการทำธุรกิจตามแผนเดิมๆ ตลาดของวีซ่าก็คงไม่กระจายตัวอย่างรวดเร็วตามที่คาดหวังไว้
สมบรูณ์บอกว่า ปีนี้ต้องเปลี่ยนสมการใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่บีบรัดทุกแบบ สมการใหม่ในอนาคตจึงมีหน้าตาต่างไปจากเดิม นั่นคือ บัตรเครดิต บวกบัตรชำระเงินต่างๆ จะเท่ากับประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมผู้คนในเมืองหลวงและต่างจังหวัด
" นอกจากทัศนคติบัตรเครดิตที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนกรุงเทพฯแล้ว เราก็ต้องตอบคำถาม การเน้นวิถีการดำเนินธุรกิจและการตลาดที่เปลี่ยนไปเพิ่มขึ้น"
บัตรเครดิตที่ถูกกักบริเวณ จนยากจะพุ่งเร็วแบบก้าวกระโดดจึงไม่ได้ทำให้ "วีซ่า" ชะงักงัน เพราะโอกาสการขยายตลาดใหม่ๆยังมีช่องทางอีกมาก ไม่ว่า บัตรพรีเพด บัตรพรีเมียม บัตรเดบิต และบัตรสำหรับองค์กร ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นแหล่งทำเงินของวีซ่า
ที่สำคัญฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ค่อนข้างจะปลอดภัยจากกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนเหล่านี้...
กลุ่มใหม่ จึงมีทั้งลูกค้าเศรษฐีกระเป๋าหนัก ที่นอกเหนือจากบัตรทอง บัตรแพลตตินัม ก็ยังมีกลุ่มที่ใช้จ่ายวงเงินต่อบัตรสูงกว่านั้น ที่จะเรียกว่า "วีซ่า อินฟินิต" ที่ผ่านมามีแบงก์เพียง 3-4 แห่งที่ให้บริการลูกค้ากลุ่มนี้ โดยรวมคนระดับสูงเหล่านี้จะมีเพียง 2-3 % ของบัตรวีซ่ารวม หรือคิดเป็นเพียง 2-3 ราย ตรงกันข้ามยอดใช้จ่ายผ่านบัตรต่อรายกลับสูงลิ่ว เทียบไม่ได้กับลูกค้าบัตรเครดิตทั่วไป
อีกกลุ่มที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ บัตรเดบิต ซึ่งปีที่ผ่านมามีบัตรเดบิตวีซ่าถึง 11.4 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 27% พัฒนามากว่า 7 ปี มีอัตราการเติบโตปีละ 20% ขณะที่ปริมาณบัตรขยายตัวเฉลี่ย 20-30% ต่อปี แต่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรกลับค่อนข้างต่ำ ทั้งที่แบงก์หลายแห่งพยายามกระตุ้นด้วยการเติมสิทธิประโยชน์ให้ไม่ต่างจากลูกค้าบัตรเครดิต
" เซ็กเมนท์นี้มีโอกาสเติบโตสูงที่สุด แต่ก็ยังพบว่า 90% ส่วนใหญ่ใช้บัตรกดเงินสด ไม่ค่อยนำมาใช้จ่าย ขณะเดียวกันทีมทำโปรโมชั่นบัตรเดบิตก็ต่างจากบัตรเครดิต ที่ผ่านมาจึงเห็นถึงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย"
ที่กำลังเริ่มเป็นที่จับตามองในตลาดก็คือ บัตร วีซ่า พรีเพด และวีซ่า แคช ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการในตลาดเพียง 2 รายคือ เพย์เม้นท์ โซลูชั่นบริษัทลูกของ แคปปิตอล โอเค และSMART PURSE ของ เซเว่น อีเลฟเว่น แต่จะมีเพิ่มเข้ามาอีก 1-2 รายในปีนี้
ส่วนใหญ่บัตรพรีเพดหรือ บัตรเติมเงินจะเน้นจับกลุ่มวัยรุ่น เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายโดยไม่ต้องพกพาเงินสดหรือใช้เป็นบัตรของขวัญ และบัตรเพื่อจ่ายค่าแรง สำหรับพนักงานโรงงาน
ผู้ออกบัตรไม่ต้องมีวงเงิน แต่ลูกค้าต้องนำเงินตัวเองเติมในบัตร โดยผู้ออกบัตรจะคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมกดเอทีเอ็ม ค่าธรรมเนียมเติมวงเงิน สารพัดจะคิดจากการให้บริการที่เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า แลกกับสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการใช้บริการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
สมบรูณ์บอกว่า มีคนใช้บริการผ่านบัตรลักษณะนี้ร่วม 2 แสนใบ แต่ถึงอย่างนั้นการเติบโตก็คงไม่สูงแบบพุ่งปรี๊ดปร๊าด...
ลูกค้าที่กำลังมาแรงอีกกลุ่มก็คือ บัตรสำหรับองค์กร หรือ วีซ่า คอร์ปอเรท วีซา เพอร์เชสซิ่ง และวีซ่า บิสซิเนส กลุ่มนี้จะเป็นองค์กรและหน่วยงานราชการที่ต้องการนำบัตรอิเลคทรอนิคส์มาใช้แทนเงินสด เพื่อลดขั้นตอนการเบิกจ่าย ลดต้นทุนการดำเนินการขององค์กร โดยเชื่อว่าไตรมาสแรกปีนี้แบงก์ต่างๆจะเพิ่มการให้บริการลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น
สมบรูณ์บอกว่า ทั้งบัตรองค์กรและบัตรพรีเพด ถือเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ และตลาดก็กำลังขยายตัว โดยฝ่ายแรกเพียงหนึ่งองค์กรก็มีการใช้จ่ายผ่านบัตรสูงกว่าบัตรเครดิตทั่วไป และหลายสถาบันก็กำลังโปรโมทมากขึ้น ทั้งจำนวนบัตรและยอดการใช้จ่าย แต่ท้ายที่สุด "บัตรเครดิต" ก็ยังคงเป็นพระเอก" อยู่ดี
การรุกเข้าถึงตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ทำให้จุดรับบัตรที่มีอยู่ 146,000 แห่ง จะต้องขยับขยายไปสู่ร้านค้าประเภทใหม่ๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ประกันภัย ภาษี และสุขภาพ
นอกจากนั้น วีซ่าก็กำลังผลักดันให้แบงก์ต่างๆหันมาใช้ชิปการ์ดแทนที่แม่เหล็ก ซึ่งผู้ให้บริการคือแบงก์ต่างๆหรือร้านค้าต้องอัปเกรดเครื่องรูปชิปการ์ด เพื่อลดปัญหาโจรขโมย เพิ่มความปลอดภัยสำหรับผู้ถือบัตร ขณะที่ฐานลูกค้าที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ก็ต้องรองรับด้วยเครื่องรูดบัตรเต็มเหยียด
เพียงเท่านี้ก็คงจะอธิบายได้ว่า ไม่ว่ากฎเกณฑ์ทางการจะออกมาเข้มงวดแค่ไหน แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้ง การเติบใหญ่ของ แบรนด์ชำระเงินระดับโลกอย่าง "วีซ่า" ได้...
คนไทยก็ยังถูกกระตุ้นให้ควักกระเป๋าใช้จ่ายอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน...
|
|
|
|
|