|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
"กลุ่มอาคเนย์"ยุคที่มี "ทุนเบียร์ช้าง"หนุนหลัง ในช่วงเวลาย้อนหลังไปประมาณ 4 ปี กำลังเปิดฉากรุกธุรกิจการเงินเกือบจะเต็มรูปแบบ ภายหลังเคลียร์ปัญหาหนี้สินและปรับโครงสร้างทีมทำงานใหม่แบบยกแผง จนใสสะอาดเพียงพอจะออกมายืดอกสู้หน้าคู่ค้า พันธมิตร และลูกค้าได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งการหวนคืนเวทีหนนี้ ของ "กลุ่มอาคเนย์"ภายใต้แบคอัพทุนหนารายใหม่ นอกจากจะมองข้ามไปไม่ได้ แต่ทุกฝ่ายต่างก็จ้องตาไม่กระพริบ...เพราะเบียร์ช้างก็คือ อาคเนย์ และอาคเนย์ก็คือ เบียร์ช้าง... กลุ่มทุนที่กำลังแผ่อิทธิผลไปทุกสายธุรกิจ...
" เราแก้ปัญหาเก่าหมดแล้ว หลังจากนี้ก็จะเป็นการมองถึงอนาคตล้วนๆ" จักรทิพย์ นิติพน ประธานคณะบริหารจัดการ อีกฐานะหนึ่งคือ ผู้บริหารอาวุโสใน "กลุ่มทีซีซี" สัญลักษณ์ที่หมายถึง "ทุนเบียร์ช้าง" ของเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี บอกถึงก้าวแรกหลังสะสางปัญหาจบสิ้นภายในเวลา 3 ปี
การได้รับคำเชื้อเชิญให้นำเงินสดเป็นฟ่อนๆ เข้ามาลงทุนในอาคเนย์กว่า 2.8 พันล้านบาท ในช่วงที่ธุรกิจเริ่มมีปัญหา ขัดแย้ง แตกคอกันเองระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเมื่อ 4 ปีก่อน ได้เปิดทางให้ "ทุนเบียร์ช้าง" ต้องเข้ามาจัดการปัญหาของอาคเนย์ ธุรกิจประกันภัยที่มีวัย 60 ปี แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ชื่อเสียงแต่เก่าก่อนของอาคเนย์นั้นดูดีเพียงพอที่ทุนเบียร์ช้างจะตัดสินใจกระโดดเข้ามาโดยไม่ลังเลใจแม้แต่น้อย...
ช่วงเวลา 3 ปีหลังจากนั้น ชื่อ"อาคเนย์" ก็ค่อยๆเงียบเสียงลง คงมีแต่ข่าวความเคลื่อนไหวการปรับองค์กรภายใน จัดการสะสางปัญหาหนี้สิน และซื้อตัวนักการเงินมาร่วมทีมอย่างเงียบเชียบ ขณะที่การทำตลาดเคลื่อนตัวช้ามาก...
ไม่นานนัก กลุ่มอาคเนย์ก็เปิดฉากรุก โดยไม่ทันให้คู่แข่งได้ทันตั้งตัว คราวนี้อาคเนย์เลือกที่จะเปิดตัวแบบแพกเกจ เป็นกลุ่มก้อน ไม่ใช่ธุรกิจเดียว โดดๆ...
กลุ่มอาคเนย์ จึงไม่ได้มีธุรกิจจำกัดเฉพาะ อาคเนย์ประกันภัย(2000) แต่จะมีอาคเนย์ประกันชีวิต ที่พ่วงเอา อาคเนย์แคปปิตอล รวมไว้ด้วย จนเกือบจะเรียกว่า ใช้สูตรเดียวกับ "ขายเหล้าพ่วงเบียร์" คือ ขายประกันภัย ประกันชีวิตพ่วงกับมีธุรกิจลีสซิ่งให้บริการลูกค้าได้ด้วย
แต่ถ้านับรวมเอาไทยเจริญประกันภัยและอินทรประกันภัยเข้าไว้ด้วย ก็จะเห็นถึงอาณาจักรทางเงินของกลุ่มเบียร์ช้างที่ค่อนข้างใหญ่โตและมั่นคง โดย 2 บริษัทหลังอยู่ภายใต้อาณาจักรเบียร์ช้างค่อนข้างชัดเจน การดำเนินธุรกิจจึงจำกัดเฉพาะธุรกิจต่างๆในเครือ
ส่วนอาคเนย์นั้นต่างออกไป เพราะอาคเนย์จะจับตลาดลูกค้าในวงกว้าง ผู้บริหารกลุ่มอาคเนย์ มักจะพูดเป็นเสียงเดียวว่าธุรกิจการเงินในเครือ ทีซีซี ทุนตระกูลเบียร์ช้างจะไม่บูม จนมองดูอันตราย ต่างจากทุนนอกที่กระโดดเข้ามาเต็มที่ บูมธุรกิจเสียงดังสนั่นหวั่นไหว แต่ไม่ยั่งยืนและมั่นคง
วิธีทำตลาดแบบนี้คือ ไม่มีการตรวจสภาพตลาด และลูกค้าอย่างจริงจัง สุดท้ายก็แบกกระเป๋ากลับบ้าน ซึ่งไม่ใช่วิถีทางของ "กลุ่มอาคเนย์"
จักรทิพย์บอกว่า " 3 ปีผ่านมาแก้ปัญหาเกือบจะหมดแล้ว เราขอเดินสักพักหนึ่ง ส่วนจะวิ่งอย่างไร ก็จะรู้เองว่า วิ่งอย่างไรจะไม่หกล้ม ไม่ให้ล้มลุกคลุกคลาน" ดังนั้นก้าวแรกของการเปิดตัวและทำตลาดจึงไม่ต่างจากการวิ่งจ้อกกิ้ง " ระยะทางประมาณ 10-20 กิโลเมตร เราก็จะค่อยๆวิ่ง"
รูปแบบการตลาดของกลุ่มอาคเนย์ จึงแตกต่างจากไปจากทุนนอกและทุนในประเทศทั่วๆไปที่เลือกจังหวะรีแบรนดิ้งเสียงดังกึกก้อง ในขณะที่อาคเนย์ยังพอใจที่จะเคลื่อนตัวแบบเนิบๆ จนถูกล้อเลียนว่าเฉื่อยและระมัดระวังจนเกินไป
" เราเน้นโตแบบมีคุณภาพ ไม่เน้นขนาดธุรกิจ แต่ก็ไม่เล็กจนเกินไป สามารถทำกำไรในระดับเหมาะสม และเราก็ไม่อยากทำตลาดเชิงรุก เพื่อเลื่อนมาอยู่ในระดับท็อปไฟว์แบบเจ้าอื่นๆที่เขาประกาศตัวกัน"
ความมั่นคงและแข็งแกร่ง จึงมากเพียงพอที่จะบอกว่า ขนาดใหญ่ มั่นคงแล้ว...แต่ทำไม..?....อาคเนย์จึงไม่เดินเกมอย่างรวดเร็ว ดุดันเหมือนค่ายอื่นๆผู้บริหารอาคเนย์ตอกย้ำว่า ในมุมธุรกิจประกันภัย การเลือกทำตลาดโดยเน้นหนักด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะพบคำตอบในตัวมันเอง เช่น ถ้าเลือกบุกตลาดมอเตอร์หรือประกันภัยรถยนต์อย่างหนัก ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่นอกจากไม่กำไร ก็ยังขาดทุนจนจมดิน
หรือไม่อย่างนั้นกลุ่มที่เลือกสัดส่วน 50 ต่อ 50 ก็อาจจะเห็นกำไรสูงลิบลิ่ว แต่ถ้าเทน้ำหนักให้นอนมอเตอร์ก็จะต้องมีแบงก์หรือทุนต่างประเทศหนุนอยู่เบื้องหลัง
"ตลาดไม่หายไปไหนหรอก อยู่ที่ว่าใครจะยั่งยืนกว่ากันในอนาคต"
ผู้บริหารอาคเนย์บอกว่า ไม่ได้ต้องการความยิ่งใหญ่ แต่เน้นความมั่นคงของเงินกองทุน คุณภาพการให้บริการ เป็นธรรมกับลูกค้า ตัวแทน บริษัท และมีพันธมิตรที่จะเดินร่วมกันในอนาคต ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองหลักที่จะผลักดันธุรกิจต่อไป
" สมัยก่อนอาคเนย์ขาดพันธมิตร ไปไหน ใครก็ไม่เอา แต่ 3 ปีผ่านไปทุกอย่างลงตัว การเดินมาทิศทางนี้จึงอธิบายได้ว่า ที่เราไม่ทำการตลาดเชิงรุกก็เพราะเราจะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน"
ในกลุ่มอาคเนย์ ธุรกิจประกันภัยหรืออาคเนย์ประกันภัย(2000) นับจากปี 2546 ยังทำกำไรติดต่อกันถึง 3 ปี มีกำไรสุทธิ 76.4 ล้านบาท มีทรัพย์สิน 2,047 ล้านบาท ขยายตัว 2 เท่าจากปี 2545 ที่มีทรัพย์สินเพียง 1,445.45 ล้านบาท มีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ใช้สำรองจ่ายสินไหมสูงถึง 304.9% หรือ 3 เท่า และมีเงินกองทุนสูงถึง 6 เท่า ของอัตราที่กรมการประกันภัยกำหนด
เป้าหมายของอาคเนย์ประกันภัยปีนี้คือ การเติบโตเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 20% พร้อมการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายตลาดเพอร์ซัลนอลไลน์หรือประกันภัยส่วนบุคคลที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป
ธุรกิจประกันชีวิตหรืออาคเนย์ประกันชีวิต ปีที่ผ่านมามียอดเบี้ยรับรวม 1.5 พันล้านบาท มีอัตราความคงอยู่ของเบี้ยปีต่อไปสูงถึง 80% ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับปีนี้ 1.6 พันล้านบาท มีการขยายตัวระดับ 8-10%
ส่วนอาคเนย์แคปปิตอลธุรกิจให้เช่ารถยนต์แบบลีสซิ่ง ถือเป็นการวางรากฐานการให้บริการ ที่แบงก์ไม่สามารถให้บริการได้ และกลุ่มนี้ก็เป็นธุรกิจสายใหม่ของกลุ่มอาคเนย์ โดยให้บริการบริหารการใช้รถยนต์ของลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ เช่น แบงก์กรุงเทพ ซิงเกอร์ประเทศไทย เบอรี่ยุคเกอร์และบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ
ธุรกิจไลน์ใหม่จะมีการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ต่อทะเบียน ประกันภัย ซ่อมรถเวีย ลูกค้าเพียงแค่เติมน้ำมันอย่างเดียว ซึ่งธุรกิจให้บริการลักษณะนี้จะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น เพราะภาครัฐไม่ต้องซื้อรถใช้เอง เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายสูง
อาคเนย์แคปปิตอล จึงมีฐานลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ที่จะเอื้อธุรกิจในเครือไปด้วยในตัว รวมทั้งเสริมธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตซึ่งกันและกันได้ด้วย
ถ้าสูตรขายเหล้าพ่วงเบียร์เคยสำเร็จและทำให้ ชื่อของ "เบียร์ช้าง" เกิดในตลาดเบียร์ จนที่สุดก็กัดกินส่วนแบ่งการตลาดไปต่อหน้าต่อตาคู่แข่งอย่างง่ายดาย วิธีทำตลาดแบบกลุ่มก้อน คือขายประกันภัย ประกันชีวิต พ่วงธุรกิจลีสซิ่งก็คงไม่ยากจนเกินไปสำหรับสายธุรกิจการเงินของ "ทุนเบียร์ช้าง"....
|
|
 |
|
|