ช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา ถือเป็นช่วง ที่เครือซิเมนต์ไทย ได้มีการทยอยขายหุ้น
และขายกิจการออกมาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงจากนโยบายลดบทบาทในบริษัท ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักลง
คงเหลือธุรกิจที่จะเป็นธงนำของเครือเพียง 3 กลุ่มคือ ซีเมนต์ ปิโตรเคมี และกระดาษ
ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การลดบทบาทธุรกิจที่ไม่ใช่ธงนำก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
โดยคณะกรรมการปูนซิเมนต์ไทย ได้อนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทสยามมิชลินกรุ๊ปลง
10% จากเดิมที่ถืออยู่ 50% เหลือเพียง 40% โดยขายหุ้นส่วนดังกล่าวให้กับบริษัทมิชลิน
ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนจากจากฝรั่งเศส ที่จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน
60% แทน
สยามมิชลินกรุ๊ป เป็นโฮลดิ้ง คัมปะนีในธุรกิจยางรถยนต์ของปูนใหญ่ และเป็นผู้ผลิตยางสำหรับรถยนต์นั่ง
รถปิกอัพ จักรยานยนต์ และรถบรรทุก โดยใช้เครื่องหมายการค้า "มิชลิน"
นอกจากนั้น ยังรับผลิตและหล่อดอกยางเครื่องบินให้กับสายการบินทั่วโลก
บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ
100 บาท ก่อนหน้านี้ปูนซิเมนต์ไทยถือหุ้นอยู่ในบริษัทนี้ ในสัดส่วนเท่ากับมิชลิน
คือ ฝ่ายละ 2 ล้านหุ้น
การลดสัดส่วนการถือหุ้นลงครั้งนี้ ปูนใหญ่ได้ขายหุ้นให้กับมิชลินจำนวน 4
แสนหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 445 ล้านบาท หรือเท่ากับราคาหุ้นละ 1,112.50 บาท
"เราได้กำไรจากการขายหุ้นล๊อตนี้ ประมาณ 250 ล้านบาท" ชุมพล
ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย บอก
ปัจจุบัน สยามมิชลินกรุ๊ป มีโรงงานผลิตยาง 3 แห่ง อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง
จ.ชลบรี ที่อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และ ที่อ.หนองแค จ.สระบุรี นอกจากนี้
ยังมีโรงงานผลิตแม่พิมพ์ยาง และโรงงานผลิตลวดโครงยาง (Steel Cord) อีกอย่างละ
1 แห่ง
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สยามมิชลินเพิ่งจะมีการลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อขยายกำลังการผลิตยางที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จากปีละ 2.6 ล้านเส้น เพิ่มขึ้นอีก 3.5
ล้านเส้น เป็นกำลังผลิตรวมเฉพาะที่โรงงานแห่งนี้ปีละ 6.1 ล้านเส้น และเมื่อรวมกำลังการผลิตจากทั้ง
3 โรงงาน จะสามารถผลิตยางได้ปีละ 9.6 ล้านเส้น โดยใช้เงินลงทุนในการขยายกำลังการผลิตครั้งนี้ถึง
3,820 ล้านบาท
การเพิ่มกำลังการผลิตครั้งนี้ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการขยายตัวสูงมากในช่วง
2 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังมีแนวโน้มดีต่อไปอีกในอนาคต แต่ปูนใหญ่ก็ไม่จัดให้เป็นธงนำของเครือ
เนื่องจากไม่มีความชำนาญ นโยบายการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวหลังจากนี้ของปูนซิเมนต์ไทย
จะเป็นเพียงแค่ผู้ร่วมทุน (Joint Venture) รายหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางปี 2542 ปูนซิเมนต์ไทยก็เพิ่งลดสัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
ซึ่งประกอบด้วยบริษัทนวโลหะอุตสาหกรรม, บริษัทสยามเอทีอุตสาหกรรม และบริษัทผลิตภัณฑ์วิศวกรรมไทย
จากเดิมที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เหลือเพียงบริษัทละ 29.9% โดยการขายหุ้นให้กับกลุ่มโตโยต้า
"ธุรกิจยางรถยนต์ เราถือว่าเป็นธุรกิจกลางๆ คือ ไม่ใช่ธุรกิจหลัก
แต่ก็ไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นเป้าหมายที่จะต้องถูกลดบทบาท" ชุมพลกล่าว
"แต่ธุรกิจในกลุ่มนี้ หากใครเสนอราคามาดีๆ เราก็ขาย"
การเจรจาขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของปูนใหญ่ ยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง
โดยชุมพลคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ อาจจะมีการขายหุ้นของบริษัทในกลุ่มนี้ออกมาอีก
1-2 ราย
"เราไม่ต้องการให้คนทั่วไปมีความรู้สึกว่าเราอยากขายหุ้นในกลุ่มนี้มาก
แต่ต้องให้เขาเสนอราคาที่ดีๆ มาก่อน แล้วเราจึงค่อยพิจารณา" เขาสรุป