แม้ปัญหาจะรุมเร้าเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ทำให้กำลังซื้อลดลง,
คู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เพิ่มมากขึ้น, ปัญหาภายในองค์กรที่ดูท่าว่าจะสงบแล้วแต่ก็ไม่รู้ว่าจะปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไร
หรือกรณีหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างซีพีที่เตรียมตีจาก แต่สิ่งเดียวที่ทำให้แม็คโครยืนหยัดอยู่ได้ในขณะนี้ก็คือ
ต้นทุนที่ต่ำจึงขายได้ในราคาที่ต่ำเช่นกัน ส่วนอนาคตยังไม่แน่!!
ในขณะที่ธุรกิจหลายประเภทกำลังย่ำแย่ไปหับสภาพเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือน บมจ.
สยามแม็คโคร ผู้ดำเนินธุรกิจค้าส่งในนาม "แม็คโคร" จะไม่สะทกสะท้านกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนัก
และยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยการประกาศย้ำถึงจุดยืนของตนเองที่ต้องการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าคนอื่น
รับเฉพาะธุรกิจค้าส่ง และตั้งเป้าขยายตัวปีละ 2 สาขาอย่างต่อเนื่อง
แต่ภายใต้นโยบายการขายและนโยบายการขยายที่สวยหรู ในขณะนี้แม็คโครต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง
คู่แข่งมาก-เศรษฐกิจแย่ ส่งผลกำลังซื้อลด
เริ่มจากคู่แข่งเพราะไม่ว่าแม็คโครจะปฏิเสธอย่างไรว่าบิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์
บริษัทในเครือเซ็นทรัลไม่ใช่คู่แข่ง และพยายามหาคำอธิบายจัดกลุ่มในเรื่องคู่แข่ง
แบ่งออกเป็นคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า คู่แข่งทางตรงนั้นไม่มี มีแต่ทางอ้อม
คือเซฟโก้และร้ายขายส่งแบบที่เรียกกันว่ายี่ปั๊ว
แต่ดูคำให้การของแม็คโครไม่ใคร่จะมีน้ำหนักเท่าไรนัก เพราะแม้ว่าร้านยี่ปั๊วที่ว่านั้นจะมีมากและขายของแบบราคาเหมาจำนวนมากจริง
แต่ดูจะจิ๊บจ๊อยเกินไปและเป็นธุรกิจแบบเก่าแล้วเมื่อเทียบกับซูปเปอร์เซ็นเตอร์อย่างแม็คโครหรือบิ๊กซี
หรืออย่างเซฟโก้นั้นก็มีเพียง 2-3 สาขาเท่านั้น ในขณะที่แม็คโครหรือบิ๊กซีมีสาขาอยู่ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า
14-15 สาขา
ที่สำคัญสำหรับบิ๊กซีแล้ว พฤติกรรมที่ออกมาแต่ละอย่างก็ดูเหมือนจะท้าทายแม็คโครทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นการประกาศราคาสินค้าที่ต่ำแบบสุด ๆ หรือการขยายตลาดมาสู่การขายเหมาแบบยกหีบยกลัง
รวมทั้งการหาทำเลชนิดเห็นแม็คโครที่ไหน ก็จะเห็นบิ๊กซีที่นั่น นี่ยังไม่รวมโลตัสและคาร์ฟูร์
ซึ่งก็ตามมาติด ๆ ชนิดเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน
และที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้น คือ ขณะที่แม็คโครประกาศชะลอการขยายตัว บิ๊กซีกลับประกาศเป้าหมายชนิดท้าทายว่าภายใน
5 ปี จะมีสาขาครบ 60 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีไม่ต่ำกว่า 20
สาขา และตั้งเป้าว่าจะเปิดสาขาบิ๊กซีปีละ 10 แห่ง เพื่อเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดซูปเปอร์เซ็นเตอร์
50% โดยตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ไว้ที่ 22,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ใกล้เคียงกับแม็คโครเช่นกัน
มิไยผู้บริหารของแม็คโครแต่ละรายที่แวะเวียนเข้ามาบริหารตามใบสั่งของบริษัทแม้จะพูดอยู่เสมอว่า
เป็นเรื่องปกติเมื่อธุรกิจใดมีการเติบโตที่ดีย่อมมีคู่แข่งเข้ามาร่วมแบ่งแชร์ในตลาดด้วยเสมอ
จาคอป คอร์เนลิโอ อาเดรียโน เดอ ยองเงอ กรรมการผู้จัดการใหม่หมาด ๆ เพราะเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ได้กล่าวว่า
"เขาค่อนข้างจะแปลกใจเสียด้วยซ้ำว่า ในช่วง 6 ปีแรกนั้น แม็คโครอยู่ได้อย่างไรโดยไม่มีคู่แข่งเลยสักรายเดียว
และเพิ่งจะเมื่อ 2 ปีหลังนี้เท่านั้นที่มีให้เห็นอย่างชัดเจน"
นอกจากเรื่องคู่แข่งแล้วจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
ซึ่งจะมีผลต่อแม็คโครแน่นอนถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นเวลานาน เนื่องจากแม็คโครมีมาร์จินประมาณ
9% เท่านั้น จึงต้องอาศัยการขายสินค้าในปริมาณมากเป็นหลัก ดังนั้น สำหรับปีนี้ผลของเศรษฐกิจตกต่ำคงไม่กระทบเท่าไรแต่ปีหน้ามีแน่
ประกอบกับทางการได้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10% ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มประมาณ
2.81% ซึ่งตรงนี้ย่อมเป็นภาระทางการเงินของผู้ผลิต ซึ่งผู้บริหารของแม็คโครก็ยืนยันว่าจะพยายามตรึงราคาที่ต่ำที่สุดให้ได้นานที่สุด
โดยย้ำว่าซัพพลายเออร์จะขึ้นราคา แม็คโครก็จะไม่ยอมถึงขนาดว่าขู่ว่าถ้าขึ้นจะไปซื้อรายอื่นแทนก็มี
ซึ่งดูเหมือนกลยุทธ์การขู่นี้น่าจะใช้ได้ในช่วงแรกเท่านั้น เพราะถ้าราคาสินค้าขึ้นจริง
ๆ แม็คโครก็ต้องปรับตามเช่นกัน แต่ยังเป็นการปรับขึ้นตามซัพพลายเออร์เท่านั้น
เพราะจาคอปย้ำว่ามาร์จินยังคงเท่าเดิม
องค์กรระส่ำ จาคอปแก้วิกฤต
และไม่เพียงปัจจัยภายนอกเท่านั้นที่มีผลให้การดำเนินในช่วงนี้ยากลำบากขึ้น
ปัจจัยภายในก็เข้ามารุมเร้าอยู่ไม่ใช่น้อย
เริ่มจากการเติบโตที่เร็วเกินไปของแม็คโคร ในระยะเวลา 8 ปี แม็คโครเปิดไปแล้ว
15 สาขา และเตรียมเปิดเป็นสาขาที่ 16 ที่ จ. นครสวรรค์ในต้นปีหน้า ซึ่งเท่ากับว่าขยายปีละ
2 สาขา แต่ในความเป็นจริงบางทีเปิดถึง 3-4 สาขาทีเดียว
ในสายตาของบริษัทแม่ในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นมองว่าเป็นการเติบโตที่ออกจะเร็วไปสักหน่อย
จึงมีนโยบายให้ชะลอการลงทุน แต่ยังคงรักษาระดับปีละ 2 สาขาอยู่และหันมาเน้นเรื่องการจัดระบบระเบียบภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นี่จึงอาจเป็นที่มาของใบสั่งย้ายเอียน เอ็ม แฮมินตัน กรรมการผู้จัดการคนแรกของแม็คโคร
ประเทศไทย ซึ่งอยู่มาเป็นเวลาถึง 7 ปีกว่าตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ถูกย้ายไปประจำที่ประเทศอังกฤษ
และให้แอนโทนี ลีโอเนล สตีล มารับหน้าที่แทน
การเข้ามาของสตีลค่อนข้างจะอยู่ในช่วงสั้นเพราะเพียงปีเศษ เขาก็ขอลาออกซึ่งสร้างความกังขาให้กับคนภายนอกเป็นอย่างมาก
เพราะค่อนข้างจะกระทันหัน และให้เหตุผลเพียงว่ามีปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้น
แต่ในช่วงที่สตีลเข้ามานี่เอง ภายในองค์กรของแม็คโครที่กำลังเติบโตและเฟื่องฟูอย่างน่าอิจฉา
บุคลากรที่เคยมีความภาคภูมิใจในความเป็นแม็คโครเริ่มระส่ำ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า
มีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการทำงาน จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงและกลางพากันลาออก
สำทับกับข่าวดังกล่าวได้มีผู้บริหารของแม็คโครอย่างน้อย 3 รายตบเท้าลาออกและพร้อม
ๆ กับการลาออกก็มีเสียงจากคนในองค์กรว่า บางคนที่ออกไปนั้นสมควรแล้ว
แต่ทันทีที่ผู้บริหารส่วนหนึ่งออกไปแม็คโครก็มีผู้บริหารเลือดใหม่เข้ามาเสริมทัพ
ได้แก่ ฟิลลิป วิลเลี่ยม ค็อกซ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารสินค้า
(บริโภค) ในอดีตเคยเป็นกรรมการผู้จัดการ บ. มาบุญครองศิริชัย ซุปเปอร์มาร์เก็ต
เข้ามารับตำแหน่งแทน สมชัย สุวรรณนาวาสิทธิ์ ที่ลาออกไปโดยให้เหตุผลว่าจะไปทำธุรกิจส่วนตัว
จุมพล ดิฐวรรณกุล เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า (อุปโภค)
ในอดีตเคยเป็นผู้อำนวยการบริหารประจำประเทศไทยของ บ.แคว็กเกอร์ โอตส์ เอเชีย
อิงค์ สาขาประเทศไทย โดยเข้ามาแทนอนุชัย วีรพัฒนกุลที่ย้ายตัวเองไปรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส
ด้านผลิตภัณฑ์และจัดซื้อของบิ๊กซี
ส่วนผู้บริหารอีกรายที่ลาออกไปคือ โกษา พงศ์สุพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารข้อมูล
ซึ่งในระยะแรกยังไม่มีใครมารับหน้าที่แทน
อย่างไรก็ตาม การเข้าออกของผู้บริหารระดับสูงหรือพนักงานในบริษัทต่าง ๆ
นั้นถือเป็นเรื่องปกติ เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดจากสาเหตุไม่ปกติก็อาจจะมีปัญหาได้
แม้ผู้บริหารจะกล่าวว่าแม็คโครทำงานด้วยระบบเป็นหลัก ทำนองว่าใครเข้ามาก็เหมือนกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงไม่ว่าองค์กรระดับใดคือ ขวัญกำลังใจของบุคลากร ถ้าตรงนี้เสียไปแม้ระบบจะดีก็อาจทำให้บริษัทเพลี่ยงพล้ำได้ในเชิงธุรกิจ
ปัจจัยที่เข้ามาไล่ ๆ กับการลาออกของผู้บริหาร คือกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็มีอาการจะขอถอนหุ้นจากแม็คโครส่งผลให้หุ้นแม็คโครช่วงหนึ่งมีราคาตกลงอย่างหนัก
จากราคาหุ้นเฉลี่ยประมาณ 100 บาทกว่าลงไปเกือบ 40%
และแม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการปฏิเสธข่าวดังกล่าวจากทั้งผู้บริหารของแม็คโคร
และทางซีพีเองว่ายังเหนียวแน่นต่อกันเหมือนเดิม แต่หุ้นของแม็คโครก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นมาเท่าไรนัก
โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นแม็คโครขึ้นลงอยู่ในระดับราคาหุ้นละ 55-65
บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของกลุ่มซีพีนั้นค่อนข้างจะเข้าใจกันได้ เนื่องจากเสมือนเป็นนโยบายของกลุ่มซีพี
เมื่อเข้าไปลงทุนที่ใดแล้วต้องได้โนว์ฮาวหรือเทคโนโลยีของธุรกิจนั้น และเมื่อมีโอกาสก็จะหันมาทำกิจการเป็นของตนเอง
รวมทั้งการถอนตัวจากกิจการที่ตนเองได้ร่วมทุนในตอนแรกแล้ว
ในเรื่องนี้บริษัทแม่ของแม็คโครก็พอจะรู้และไม่กังวลนัก เพราะการได้ซีพีมาร่วมเมื่อ
8 ปีก่อนนั้น ถือว่าเป็นการกรุยทางที่ดี แต่มาวันนี้ก็ถือว่าแม็คโครตั้งไข่ได้แล้ว
การเดินไปข้างหน้าโดยไม่มีพี่เลี้ยง ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่จะลำบากอะไร
จากปัญหาที่รุมเร้าทั้งภายในและภายนอก ทำให้การเข้ามาของเอ็มดีคนใหม่อย่างจาคอปค่อนข้างจะเป็นที่คาดหวังจากสายตาบุคคลภายนอกว่า
เขาจะเข้ามาช่วยประสานงานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานดีขึ้น
แต่นอกเหนือจากการบริหารงานโดยทั่วไปแล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมาของจาคอปในอเมริกาใต้
ดูจะเหมาะกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจในประเทศไทยได้อย่างเหมาะเจาะ
10 ปีในบราซิล และอีก 5 ปีในเวเนซุเอลา ที่ต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างโชกโชนเช่นกัน
ภาวะเงินเฟ้อที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกเดือน ทำให้บางครั้งต้องยกเลิกสัญญาและตกลงซื้อขายสินค้ากันใหม่
เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก
เมื่อเทียบกับประสบการณ์ในอเมริกาใต้รวม 15 ปี จาคอปเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศไทยดีกว่าเยอะ
และค่อนข้างมั่นใจว่า ประเทศไทยจะกลับสู่สภาพเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็วภายในระยะเพียงปีครึ่งเท่านั้น
"ถ้าเรามองให้เป็นโอกาสที่ดีในการปรับปรุงองค์กร ให้มามองตัวเองเพื่อปรับปรุงสิ่งที่เรายังบกพร่องอยู่
ถือว่าช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดี" จาคอปกล่าว
แม็คโครยังคงเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป โดยเน้นการขายสินค้าในราคาต่ำที่สุด
โดยเหตุผลที่ว่ามีการบริหารต้นทุนขายที่ต่ำนั่นเอง และจากลักษณะการขายแบบเหมายกหีบเป็นจำนวนมากเท่านั้นโดยไม่ลงไปในส่วนการค้าปลีก
ทำให้ลดต้นทุนในเรื่องการขายลงไปได้มาก
ด้วยปัจจัยพื้นฐานและคอนเซ็ปต์หลักนี่เองที่ทำให้แม็คโครยังคงครองส่วนแบ่งในตลาดประเภทนี้อยู่ถึง
15% ของมูลค่ารวมประมาณ 2.3 แสนล้านบาท โดยมีคู่แข่งคือเซฟโก้และร้านค้าส่งยี่ปั๊วในเซ็กเมนต์ของธุรกิจค้าส่งแบบบริการตัวเองเท่านั้น
ปัจจัยพื้นฐานดียังไปได้
อย่างไรก็ตามในอนาคตการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ส่วนแบ่งตลาดของแม็คโครลดลงนั่นเป็นเรื่องธรรมดาและแนวโน้มก็พอจะเห็นอยู่
พิจารณาจากตัวเลขการเติบโตของแม็คโคร แม้จะโตอย่างต่อเนื่องแต่ก็อยู่ในอัตราที่ลดลง
โดยเฉพาะในช่วงปี'37 แม็คโครมียอดขาย 18,793 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 43% ซึ่งเท่ากับอัตราของปี'36
(เป็นตัวเลขในงบการเงินรวม)
ส่วนปี'38 ทำยอดขายได้ 25,011 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 33% และในปี'39
บริษัทมียอดขายสูงถึง 31,655 ล้านบาท แต่มีอัตราเติบโตเพียง 26%
ขณะเดียวกันในส่วนของกำไรนั้นปี'37 แม็คโครมีกำไร 411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น
60% และเพิ่มเป็น 619 ล้านบาทในปี'38 คิดเป็นอัตราเพิ่ม 50%
ส่วนปี'39 เพิ่มเป็น 763 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่ม 23% และคาดว่าในปีนี้แม็คโครจะมีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ
30%
จากการเติบโตในอัตราที่ถดถอยจึงเห็นแนวโน้มได้ว่าแชร์ในตลาดของแม็คโครคงลดไปแน่
แต่โดยภาพรวมกิจการของบริษัทยังคงดีอยู่เพราะทั้งยอดขายและกำไรยังเพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตาม แม็คโครยังมี 3 บริษัทย่อย และอีก 1 บริษัทร่วม อันได้แก่
บ.แม็คโครพร็อพเพอร์ตี้, บ. แม็คโครออโต้แคร์, บ. แม็คโครออฟฟิศเซ็นเตอร์
และ บ. พีเพิลส์ เฮ็ลธ์แคร์ ตามลำดับ โดยบริษัทย่อยถือในสัดส่วน 99.99% ส่วนบริษัทร่วมถือ
45% ซึ่งพิจารณาจากการเติบโตและขยายงานของบริษัทเหล่านี้พบว่าในอนาคตจะมีนัยสำคัญต่อรายได้และกำไรของบริษัทแม่อยู่มิใช่น้อย
และเนื่องจากแม็คโครเป็นธุรกิจ Wholesale ในลักษณะ cash and carry คือรับเฉพาะเงินสดและให้ลูกค้าบริการตัวเอง
เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหาร ทำให้กิจการมีกระแสเงินสดที่สูง ประกอบกับการชะลอการลงทุนบริษัทจึงมีสัดส่วนการก่อหนี้ที่ต่ำเพียง
5-6% ของส่วนผู้ถือหุ้นเท่านั้น ย่อมแสดงถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งได้เป็นอย่างดี
โดยรวมแล้วแม็คโครยังมีอนาคตที่สดใสอย่างแน่นอนสำหรับในปีนี้ ทั้งความสามารถของผู้บริหารและทีมงานระบบงานของแม็คโครเอง
รวมทั้งความเข้มแข็งทางการเงิน ส่วนปีหน้านั้นเนื่องจากกำลังซื้อของคนลดลงอย่างแน่นอน
ซึ่งต้องดูกันว่าผู้ค้าส่งรายใดจะมีกลยุทธ์ใหม่ที่จะดึงใจลูกค้าได้มากกว่ากัน