ไทยเร่งสปีดรายได้จากการท่องเที่ยว หวังดึงเงินต่างชาติ 6 แสนล้านบาทในโครงการอะเมซิ่งไทยแลนด์
2541-42 พร้อมทุ่มงบรวม 1.8 พันล้านบาทเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในปีแรกนักธุรกิจท่องเที่ยวชี้เป็นไปไม่ได้
หากภาครัฐไม่สนใจแก้ปัญหาแหล่งท่องเที่ยวและภาพพจน์ประเทศก่อน เน้นการท่องเที่ยวเป็นเรื่องระยะยาว
แก้ไม่ได้เพียงแค่โปรโมชั่น
ประเทศไทยในยามนี้ เรากำลังมีหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งหนี้เก่าที่ยังค้างคาอยู่
และหนี้ใหม่ที่ผู้บริหารของไทยไปเจรจากู้มาจากนานาประเทศ เมื่อมีหนี้สินก็จะต้องใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
ในภาวะเช่นนี้สิ่งที่ไทยจำเป็นต้องทำก็คือ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของคนไทยทั้งชาติ
ถ้าคนไทยไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้อาศัยอยู่ในประเทศที่ล้มละลายทางเศรษฐกิจ
ทุกวันนี้เราเพียงแต่อยู่ในขั้นใกล้และเกือบเข้าไปทุกขณะแล้ว
วิธีการลดค่าใช้จ่ายหรือลดการนำเงินตราออกนอกประเทศแบบง่าย ๆ ก็คือลดการนำเข้า
และการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทย ดังที่ภาครัฐกำลังรณรงค์ในเรื่องของการ
"ใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย" นั่นเอง
ส่วนการเพิ่มรายได้ของประเทศหรือหาเงินตราต่างประเทศเข้าไทยที่สำคัญ ๆ
ก็คือ เพิ่มการส่งออกและดึงดูดชาวต่างชาติมาเมืองไทยให้มากขึ้น ไม่ว่าจะมาเพื่อท่องเที่ยวหรือเข้ามาลงทุนก็ตาม
ในเรื่องของการส่งออกนั่น ภายหลังการประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นระบบลอยตัวแล้ว
ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยปรับตัวลดลงตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคส่งออกในการแข่งขันทางด้านราคากับประเทศอื่น
ๆ ได้ดีขึ้นและคาดว่าการส่งออกจะกระเตื้องขึ้นได้ในไม่ช้านี้
อย่างไรก็ดี โครงสร้างการส่งออกของไทยทุกวันนี้ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งไทยจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ มาประกอบและผลิตส่งออกไปอีกทอดหนึ่ง
ทำให้รายได้ที่แท้จริงที่เข้าประเทศไม่มากมายอะไรนัก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีอุตสาหกรรมพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ
ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องแก้ไขในระยะยาว
สิ่งที่รัฐบาลพอทำได้ในระยะสั้น ๆ ในทุกวันนี้ จึงไม่พ้นการส่งเสริมการส่งออกในภาคเกษตรกรรมให้มากขึ้น
และสนับสนุนในเรื่องของการท่องเที่ยวไทยอย่างจริงจัง
เมืองไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงายมากมาย มีแหล่งประวัติศาสตร์
ศิลปะวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ชาวต่างชาติสนใจศึกษา มีอาหารไทย ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์
ที่สำคัญความมีอัธยาศัยไมตรีของคนไทยจนขึ้นชื่อว่า "สยามเมืองยิ้ม"
ก็ยังเป็นจุดขายได้
ทรัพยากรท่องเที่ยวที่ไทยมีอยู่เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่ต้องลงทุน เราเพียงดูแลจัดการให้ดี
มีงบประมาณในการบำรุงรักษาอย่างเพียงพอ ก็สามารถทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลแล้ว
นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากทั้งในแง่ของผลกำไรอันเป็นตัวเงินตราต่างประเทศแล้ว
ยังเป็นการกระจายรายได้ที่สำคัญอีกทางหนึ่ง
ในแต่ละปีไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวนับแสนล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้จากการส่งออกแล้ว
ทุกวันนี้การท่องเที่ยวนำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยปี 2538 และ 2539 รายได้จากการท่องเที่ยวมีมากถึง
190,765 ล้านบาท และ 219,364 ล้านบาท ตามลำดับ
ปัจจุบันการท่องเที่ยวกลายเป็นความหวังอันสูงสุดของภาครัฐ โครงการอะเมซิ่งไทยแลนด์
2541-42 จึงเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มรายรับเข้าสู่ประเทศ โดยตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไทยในช่วง
2 ปี ดังกล่าวจำนวน 17 ล้านคน และจะมีเม็ดเงินเข้ามาถึง 1 ล้านล้านบาท งานนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)
คาดว่าจะของบประมาณทั้งสิ้น 5,667 ล้านบาท ส่วนปี 2540 ททท. ได้งบมาเพื่อใช้ในการนี้แล้วประมาณ
2 พันกว่าล้านบาท โดยเป็นงบเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ประมาณ 1.8 พันล้านบาท
จำนวนเงินลงทุนในการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างมหาศาลนี้ชวนในรู้สึกหวาดเสียวแทนท่านผู้ว่าททท.
เสรี วังส์ไพจิตร ไม่ได้ เพราะหากพลาดเป้าไปไกล ไม่สามารถสานหวังของคนไทยที่เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวเร็วขึ้นได้ก็คงจะหนาวไม่น้อย
เนื่องด้วยการจะดึงดูดให้คนมาเที่ยวเมืองไทยนั้นทำแค่การโปรโมชั่นมันคงไม่พอ
หากงัดตำราการตลาดมาว่ากันแล้ว กลยุทธ์หลัก 4 ตัวล้วนแล้วแต่สำคัญไม่แพ้กัน
คือ สินค้า(Product) ราคา(Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย(Place) และการสนับสนุนการขาย(Promotion)
คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอันดับหนึ่ง
ชนินทร์ โทณะวณิก กรรมการบริหารบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดใจว่า
โครงการอะเมซิ่งไทยแลนด์นี้เป็นโครงการที่ดี แต่จะหวังผลตามที่ตั้งเป้านั้นเป็นไปได้ยาก
"ผมคิดว่าวิธีการใช้เงินของรัฐไม่ถูกต้องนัก เช่น ถ้ามีร้านอาหาร
2 ร้าน ร้านหนึ่งมีการโฆษณาอย่างสวยหรู แต่อีกร้านหนึ่งคุณรู้ว่ามีอาหารอร่อย
คุณจะไปร้านไหน" ชนินทร์ตั้งคำถาม เขากำลังจะย้ำว่า ตัวสินค้าคือแหล่งท่องเที่ยวของไทย
รวมถึงภาพพจน์ของเมืองไทยกำลังมีปัญหา
สิ่งเหล่านี้ภาครัฐเองก็รู้ดีเพราะได้มีการสำรวจและประกาศว่าแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยทุกวันนี้
อยู่ในขั้นเสื่อมโทรมประมาณ 172 แห่ง ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้กลับคืนมาสู่ความเป็นธรรมชาติ
และมีการจัดการที่ดีนั้นจำเป็นต้องใช้เวลานาน และต้นทุนของการแก้ไขก็มักจะสูงกว่าการดูแลป้องกันเสมอ
อย่างไรก็ดีหาก ททท. จะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้และเริ่มต้นทำเสียแต่วันนี้
อย่างน้อยก็จะช่วยลดความผิดหวังของนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้ามาลงไปได้บ้าง
ประเทศไทยเราจะได้ไม่เสียฐานลูกค้าไปในระยะยาว งบประมาณ 1.8 พันล้านบาทที่ใช้เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการอะเมซิ่งไทยแลนด์ในปี
2540 หากแบ่งมาใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็คงจะดีไม่น้อย
ในส่วนของสินค้าสนับสนุน คือบริการด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ไทยมีความพร้อมอยู่มาก
เรามีบริษัททัวร์มากมาย มีโรงแรมทุกระดับไว้รองรับ มีที่พักใกล้ชิดธรรมชาติ
มีระบบการเดินทางขนส่งที่ได้มาตรฐาน แม้จะมีปัญหาเรื่องการจราจรในเมืองหลวง
และมลภาวะที่ต้องแก้ไขอยู่บ้างก็ตาม
Kurt Wachtveitl ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมโอเรียลเต็ล กล่าวว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือ
ความฉ้อฉลของไกด์ชาวไทย บ่อยครั้งที่ลูกค้าของโรงแรมต้องการเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ
ๆ ในกรุงเทพฯ แต่กลับถูกไกด์ผีที่ดักอยู่ตามหน้าโรงแรมหลอกต่าง ๆ นานา ว่าพระราชวังปิดบ้าง
เป็นวันหยุดบ้าง และพาไปซื้ออัญมณีแทน โดยพาไปตามร้านค้าที่ไกด์รู้จัก ซึ่งบ่อยครั้งจะโก่งราคาลูกค้าหรือบางครั้งก็เป็นเพชรปลอม
สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพพจน์ของเมืองไทยเสียหาย
ในประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวในระยะยาว เช่น สิงคโปร์
ประเทศเล็ก ๆ ที่แทบจะไม่มีทรัพยากรสำคัญทางด้านการท่องเที่ยวเลย สิงคโปร์ใช้แหล่งชอปปิ้งปลอดภาษีเป็นจุดดึงดูดชาวต่างชาติ
ร้านค้าของที่ระลึกในสิงคโปร์หากประพฤติตนไม่ดี ขายสินค้าเกินราคา ขายของปลอม
นักท่องเที่ยวสามารถร้องเรียนไปยังตำรวจท่องเที่ยวได้ หากมีการตรวจสอบว่าเป็นจริง
ร้านนั้นจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย และจะถูกขึ้นบัญชีในหนังสือที่แจกแก่นักท่องเที่ยวด้วย
ซึ่งหมายถึงว่าอนาคตทางการค้าของร้านเหล่านั้นจะถูกกระทบทันที
อย่างไรก็ดี ในเรื่องความปลอดภัยก็เป็นเรื่องสำคัญ โรงแรมในเมืองไทยมีตัวอย่างไฟไหม้ให้เห็นหลายแห่ง
แต่ละแห่งล้วนแล้วแต่ฟ้องถึงการขาดการดูแลเอาใจใส่ของทั้งผู้ประกอบการเอง
และภาครัฐ ซึ่งปัญหานี้สมาคมโรงแรมกำลังมีการรณรงค์เพื่อแก้ไขอย่างเต็มที่
การจัดระบบบริหารการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง นวินทร์ วงศ์จุลละรัต
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โรงแรมโรสกาเด้น (สวนสามพราน) ยกตัวอย่างว่า ในบริเวณสนามหลวง
และรอบๆ วัดพระแก้ว ซึ่งนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของไทยก็ว่าได้
บริเวณดังกล่าวนี้มีที่จอดรถไม่เพียงพอ แต่หากมีการจัดการที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาได้
เช่น จัดเป็นรถวิ่งรอบสนามหลวงซึ่งจะหยุดจอดตามจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นลงได้ทั้งวันโดยเสียค่าโดยสารครั้งเดียว
"ทุกวันนี้ บริษัททัวร์ใดพาลูกค้ามาก็มีรถมาจอดรอ รถก็เต็มไปหมด แต่ถ้าทำเป็นระบบรวมบริษัททัวร์เพียงพาลูกค้ามาส่ง
นอกจากนั้นก็เป็นระบบกลางจัดการไป ทุกอย่างก็จะดีขึ้น" นวินทร์กล่าว
ระบบการจัดการทางด้านการท่องเที่ยวจำเป็น และไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้อีกมาก
สิ่งเหล่านี้เองคือปัญหาหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากกลับมาเยือนเมืองไทยอีก
การพยายามชักชวนนักท่องเที่ยวรายใหม่ ๆ ให้มาเยือนเมืองไทยเป็นสิ่งจำเป็น
แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวที่เคยมาเมืองไทยแล้วรู้สึกประทับใจ
และกลับมาเยือนไทยทุกปี พร้อมกับเพื่อน ๆ ของคนเหล่านั้น เที่ยวไทยถูกจริงหรือ
เมื่อลดค่าเงินบาท
ภายหลังนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวของภาครัฐ ทำให้ค่าเงินบาทลดลงประมาณ
40-50% เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักหลายสกุล การลดราคาประเทศโดยรวมเช่นนี้ย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวประเภทอินบาวด์อย่างแน่นอน
เพราะสามารถแข่งขันในด้านราคาได้มากขึ้น
บริษัททัวร์ของไทยหลายแห่งที่มีลูกค้าทั้งอินบาวด์ และเอาต์บาวด์ ต่างปรับกลยุทธ์หันมาเน้นการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นเพราะมองว่านี่คือจุดที่จะทำให้อยู่รอดต่อไปได้
ขณะที่ทัวร์เอาต์บาวด์แทบจะตายสนิท จากผลของนโยบายที่ภาครัฐงดการสัมมนานอกสถานที่
และรณรงค์ให้คนไทยเที่ยวไทยมากขึ้น
นวลจันทร์ เพียรธรรม ประธานกรรมการบริษัทเอ็นซีทัวร์กล่าวว่า บริษัทหันมาเน้นทัวร์อินบาวด์
หรือทัวร์ในประเทศมากขึ้น สำหรับทัวร์อินบาวด์แม้ตลาดจะดีกว่าเอาต์บาวด์ในตอนนี้ก็จริง
แต่ก็ไม่ง่าย เนื่องจากค่าเงินบาทถูกลง ทำให้ชาวต่างชาติที่ได้รับการเชิญชวนมาเมืองไทยพยายามจะกดราคาให้ถูกลงไปอีก
โดยไม่คำนึงว่าบริษัททัวร์จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งการประสานงานกับเอเยนซีต่างประเทศและเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราใหม่
นักท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่จะมองว่าเมื่อค่าเงินบาทถูกลงไป 40-50%
ราคาทัวร์จะควรจะถูกลงไปในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละครั้งนั้นที่สำคัญก็คือ ค่าพาหนะ อาหาร และที่พัก
ซึ่งในส่วนของค่าพาหนะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถยนต์ เรือ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น
เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอันเป็นต้นทุนสำคัญแพงขึ้นมาเกือบ 50% จากการลอยตัวค่าเงินบาท
ในเรื่องของอาหารยุคเงินเฟ้อก็ไม่น้อยหน้า ทั้งอาหารข้างถนนจนถึงอาหารในโรงแรมต่างปรับราคาขึ้นตามต้นทุนผักปลา
และราคาแก๊สที่แพงขึ้น อาหารข้างถนนปรับราคากันคราวละ 5 บาท 10 บาท ขณะที่อาหารในโรงแรมปรับตัวครั้งละ
10-15%
ส่วนเรื่องของโรงแรมที่พักก็ไม่แตกต่าง โรงแรมส่วนใหญ่ปรับราคาเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น
ชนินทร์ เล่าว่า "ผมศึกษามาในช่วงที่เม็กซิโกค่าเงินตก มันมีโรงแรมอยู่
2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งไม่ขึ้นราคาหวังจะดึงลูกค้าเข้ามาเยอะๆ แต่อีกกลุ่มขึ้นราคาเท่ากับเงินเหรียญ
2 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่ากลุ่มที่ขึ้นราคาและเก็บค่าห้องเป็นเงินเหรียญได้ประโยชน์มากกว่า
พวกที่ไม่ขึ้นราคากลับตาย เพราะคนที่จะเดินทางไปไหน ค่าห้อง 70 เหรียญ หรือ
100 เหรียญมันไม่มีความหมายถ้าเขาจะไป อีกอย่างหนึ่งถ้าคิดเป็นเงินเหรียญเขาจะรู้งบประมาณที่แน่นอนโดยไม่ต้องคิดกลับไปกลับมาจากค่าเงินบาท"
ชนินทร์นำสิ่งที่เกิดขึ้นในเม็กซิโกนี้มาปรับใช้กับโรงแรมในเครือดุสิตธานี
ทุกวันนี้ดุสิตธานีรับเงินตราจากเงินหลายสกุล แล้วแต่ว่าลูกค้าเหล่านั้นต้องการให้โค้ดราคาเป็นเงินสกุลใด
ในส่วนของโรงแรมโรสกาเด้น (สวนสามพราน) นั้น นวินทร์ เปิดเผยว่า การลดค่าเงินบาททำให้ราคาที่พักและอาหารของโรงแรมถูกลงไปประมาณ
40% แต่โรสกาเด้นได้ปรับราคาขึ้นมาเพียง 10% เท่านั้น "ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมาก
เพราะเรายังรับเงินเฉพาะสกุลบาทเท่านั้น จะเห็นเลยว่าราคาของเราถูกลงไปเยอะ"
Kurt Wachtveitl เองก็ให้ความเห็นไม่แตกต่างกันนัก เขามองว่าโรงแรมโอเรียลเต็ลนั้น
ลูกค้าเกือบ 100% เป็นชาวต่างประเทศ ดังนั้นการขึ้นราคาค่าที่พัก 7% อาหาร
10% การแสดงต่าง ๆ 20% สำหรับชาวต่างชาติจะไม่ทำให้เขารู้สึกว่าแพงขึ้น เนื่องจากทางโรงแรมนั้นใช้เงินสกุลบาทอยู่ขณะที่ค่าเงินบาทก็อ่อนตัวลงไป
40-50%
ราคาค่าพาหนะ อาหารและที่พักซึ่งเพิ่มขึ้นนี้แม้จะไม่มากมายนักเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทที่ถูกลงเมื่อหักลบกันแล้ว
ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติอาจจะลดลงไปประมาณ 21-20% เท่านั้น
ซึ่งไม่มากมายอะไรนัก และสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนผ่านมาที่ราคาทัวร์อินบาวด์ที่ถูกลงแต่ไม่ถูกจริงอย่างที่นักท่องเที่ยวติงกันมา
นักท่องเที่ยวเอเชียยังนำแต่หวังไม่ได้มาก
อย่างไรก็ตามการไปโรดโชว์ในประเทศใหม่ ๆ ย่อมสำคัญมาก กลุ่มเป้าหมายใหม่
ๆ ย่อมสำคัญมาก ซึ่ง ททท. เองกำลังเดินหน้าในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
จากสถิติการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสแรกปีนี้ เฉพาะที่ผ่านมาทางสนามบินดอนเมืองเท่านั้น
พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 1,481,824 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 4%
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชีย 762,286
คน หรือประมาณ 54.85% จากทั้งหมด โดยมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นนำเป็นอันดับหนึ่งคือ
256,512 คน คิดเป็น 17.31%
สำหรับนักท่องเที่ยวยุโรปมีเข้ามาทั้งสิ้น 28.58% เป็นชาวเยอรมันมากที่สุด
ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวจากอเมริกันคิดเป็น 6.99% และนักท่องเที่ยวจากที่อื่น
ๆ อีก 0.58%
ประเทศที่เศรษฐกิจดี ประชาชนย่อมมีแนวโน้มจะเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น หากมองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ในแทบเอเชียด้วยกันไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย จะพบว่าประเทศเหล่านี้เพิ่งมีการปรับลดค่าเงินสกุลท้องถิ่นลงตามหลังไทยเมื่อไม่นานมานี้
เพราะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ มาเลเซียเองก็กำลังโปรโมตในเรื่องการท่องเที่ยวแข่งกับไทยอยู่ตลอดเวลา
ส่วนหนึ่งจะเป็นผลดีในแง่ที่ชาวต่างประเทศอาจจะเดินทางมาครั้งเดียวแวะเที่ยวประเทศย่านเอเชียที่อยู่ใกล้เคียงกันไปด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะคาดเดาได้บ้างก็คือว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเชียที่เดินทางมาไทยอาจจะลดลงไปบ้างเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ
"ไทยจำเป็นต้องเปิดตลาดใหม่ๆ ไม่ใช่นำงบทั้งหมดไปลงกับประเทศที่คนรู้จักไทยค่อนข้างดีอยู่แล้ว
เพราะมันจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า" ผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวรายหนึ่งแสดงความคิดเห็น
โปรโมชั่น 1.8 พันล้านบาท ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือเปล่า
แหล่งข่าวในแวดวงท่องเที่ยวอีกท่านหนึ่งออกความเห็นว่า "ปัญหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของไทย
ไม่ว่าจะเรื่องแหล่งท่องเที่ยว การจราจร การจัดระบบและบริหารการท่องเที่ยวต่าง
ๆ พูดกันมา 10 ปีก็ไม่เห็นมีการแก้ไข การโฆษณานั้นจะให้งบ 100 ล้านบาท หรือ
1,000 ล้านบาทมันก็ไม่พอกัน เพราะการท่องเที่ยวเป็นเรื่องระยะยาว ต้องแก้ที่พื้นฐาน
ไม่ใช่ฉาบฉวยแค่การโปรโมชั่น"
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากเป้ารายได้ 2 ปีที่ 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายได้จากต่างประเทศ
6 แสนล้านบาท และจากคนไทยเที่ยวไทยอีก 4 แสนล้านบาท ขณะที่ ททท. คาดว่าจะต้องใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์รวม
2 ปีเพียง 5.67 พันล้านบาทก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่า แม้จะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งในสายตาของนักธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหลายก็ตาม
คนเหล่านี้พูดกันราวกับประสานเสียงว่า "ถึงอย่างไรทำบ้างก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร"
แต่ก็ไม่หวังว่าธุรกิจท่องเที่ยวในไทยจะบูมมากมายอย่างปี 2530 เพราะสถานการณ์มันผิดกัน
นักการตลาดบางท่านให้ความเห็นในมุมมองตอกย้ำลงไปที่จุดเดิมว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์จะให้ผลอย่างมากในระยะสั้น
แต่ในระยะยาวแล้วคุณภาพของสินค้ามีความจำเป็นอย่างมาก ตราบใดที่การบริหารจัดการในเรื่องของทรัพยากรการท่องเที่ยวและปัจจัยสนับสนุนยังมีภาพที่ไม่สวยนัก
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยหวังใจจากการท่องเที่ยวนั้นคงเป็นไปได้ยาก
เขายกตัวอย่างว่า สินค้าที่โฆษณาออกทีวีบางยี่ห้อ เมื่อโฆษณาออกมาเป็นที่เกรียวกราวมาก
ผู้ชมทางบ้านติดอกติดใจ จนทำให้ยอดขายในช่วงแรกพุ่งกระฉูด แต่หลังจากนั้นไม่นานบริษัทนั้นก็พบว่าเงินที่ทุ่มไปกับการโฆษณานับ
100 ล้านบาทนั้นเสมือนสูญเปล่า เพราะลืมที่จะมองว่าสินค้าของตนนั้นไม่เป็นที่ถูกปากถูกใจลูกค้าได้ดังที่โฆษณาไว้อย่างสวยหรู
"และเมื่อลูกค้าผิดหวังกับสินค้าแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการยากที่เขาจะหวนกลับมาอีก
กลายเป็นการเสียลูกค้าในระยะยาว" เซียนการตลาดสรุป
แต่ ททท. ก็มั่นใจว่ากิจกรรมที่เตรียมไว้ซึ่งเน้นใน 6 เรื่องหลัก คือ การชอปปิ้งสินค้าไทย
อาหารไทย การส่งเสริมการประชุมนิทรรศการและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล
ส่งเสริมงานประเพณีและกิจกรรมพิเศษ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเน้นสิ่งแวดล้อมและการกีฬา
รวมถึงการจัดรายการนำเที่ยวต่าง ๆ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้
และการทุ่มงบโฆษณาอย่างพอเพียงจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ตามเป้า
ซึ่งหากงบประมาณในส่วนนี้น้อยลงก็ย่อมหมายถึงเป้านักท่องเที่ยว 17 ล้านคนใน
2 ปีก็ต้องปรับลดลงมาด้วย
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2540-2544) จะมีเป้าหมายว่าในปี
2540 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 7.75 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ
245,122 ล้านบาท และขยายตัวปีละ 15% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นปีละ
7% และสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี
งานอะเมซิ่งไทยแลนด์เปรียบเสมือนกิจกรรมเสริม เพื่อให้แผนดังกล่าวประสบความสำเร็จ
ขณะที่บรรยากาศการท่องเที่ยวในปีนี้ดูไม่สดใสนัก ในภาวะที่ลำบากเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่หากคนไทยไม่ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือ
ความหวังที่การท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นเร็วขึ้นอาจจะเป็นได้แค่หวังเท่านั้น