เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ได้หุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นเพิ่มขึ้นอีก 16.21% และได้ SHIN-W1 จำนวน6.46% ขณะที่รายย่อยเมินนำหุ้นแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิสมาขาย พบกลุ่มเทมาเสก โฮลดิ้งส์จะต้องควักอีกเฉียด 3 หมื่นล้านรวมใช้เงินประมาณ 1.02 แสนล้านบาทฮุบชินคอร์ป 65% ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มชินรูด ถูกแรงเทขายจากรายย่อย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ในฐานะตัวแทนของบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด แจ้งตลาดหลักทรัพย์โดยรายงานผลการเสนอซื้อหลักทรัพย์หุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ SHIN และใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ หรือ SHIN-W1 ในเบื้องต้น ซึ่งได้ทำคำเสนอซื้อ 25 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้( 9 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ในราคาหุ้นละ 49.25 บาทโดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์เป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ
ทั้งนี้จำนวนและสัดส่วนหลักทรัพย์ที่มีผู้แสดงเจตนาขายจนถึง ณ วันที่ 2 มีนาคม 2549 ปรากฏว่า มีผู้แสดงเจตนาขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นให้กับซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัดจำนวน 324.38 ล้านหุ้นหรือ 10.81% และเจตนาขายให้กับบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัดจำนวน 161.91 ล้านหุ้นหรือ 5.40% ดังนั้นเมื่อรวมทั้ง 2 บริษัทจึงมีผู้ถือหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น แสดงขายแล้วเป็นจำนวน 486.29 ล้านหุ้นหรือ 16.21%
เดิมบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ในจำนวน 1,008.55 ล้านหุ้นหรือ 33.62% และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นจำนวน 479.19 ล้านหุ้น หรือ 15.97% เมื่อรวมทั้ง 2 บริษัทจึงถือหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นอยู่จำนวน 49.59%
ทั้งนี้เมื่อนำหุ้นที่ทั้ง 2 บริษัทถืออยู่จำนวน 49.59% มารวมกับหุ้นที่มีผู้แสดงเจตนาจะเสนอขายจะทำให้ถือหุ้นอยู่แล้วจำนวน 1,974.03 ล้านหุ้นหรือ 65.80%
**ผู้ถือหุ้นชินขาย SHIN-W1 จำนวน 6.46%
สำหรับในส่วนของ SHIN-W1นั้น ซึ่งได้เสนอซื้อในราคาหุ้นละ 28.75 บาท ปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นที่แสดงเจตนาขายให้กับบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์จำนวน 96.85 ล้านหุ้นหรือ 3.23% และเจตนาขายให้กับบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน 96.85 ล้านหุ้นเช่นกัน หรือ 3.23% ซึ่งเมื่อนำมารวมกันทั้ง 2 บริษัทจะถือ SHIN-W1 จำนวน 193.70 ล้านหุ้นหรือ 6.46%
**หุ้นแอดวานซ์รายย่อยเมินขายให้
นอกจากนี้ยังได้แจ้งถึงผลการเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ ADVANC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น โดยระยะเวลารับซื้อหุ้น 33 วันทำการตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2549 ในราคาหุ้นละ 72.31 บาท ปรากฏว่า จนถึงสิ้นสุดวันที่ 2 มีนาคม 2549 ไม่มีผู้แสดงเจตนาขายหุ้นออกมาแต่อย่างใด
อนึ่ง Temasek Holdings (Private) Limited ("Temasek")เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทางอ้อมของซีดาร์ และแอสเพน โดยการถือหุ้นผ่านบริษัทย่อย ซึ่งได้แก่บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด และแอนเดอร์ตั้น อินเวสเม้นท์ พีทีอี แอลทีดี ตามลำดับ นอกจากนี้ Singapore Telecom International Pte. Ltd.ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Singapore Telecommunications Limited
**เทมาเส็กทุ่มเงินรวมแล้ว 1.02 แสนล้าน
ทั้งนี้จากการรวบรวมการเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นของเทมาเสก โฮลดิ้งส์ปรากฏว่า ซึ่งช่วงแรกได้เข้ามาซื้อหุ้นจากตระกูล ชินวัตรและดามมาพงษ์ จำนวน 1,487.74 ล้านหุ้นหรือ 49.59% ในราคาหุ้นละ 49.25 บาทคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 73,271.20 ล้านบาท และจากการทำคำเสนอซื้อที่ได้หุ้นเพิ่มในหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำนวน 486.29 ล้านหุ้นหรือ 16.21% คิดเป็นจำนวนเงิน 23,949.78 ล้านบาท และเมื่อรวมกับที่ได้ SHIN-W1 จำนวน 193.70 ล้านหุ้นหรือ 6.46% คิดเป็นจำนวนเงิน 5,568.87 ล้านบาท เมื่อรวมเงินทั้งหมดจะทำให้เทมาเสก โฮลดิ้งส์จะต้องใช้เงินซื้อหุ้นทั้งสิ้นจำนวน 102,789.85 ล้านบาท
**หุ้นกลุ่มชินคอร์ปแดงเถือก
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปวานนี้(8 มี.ค.) หุ้น SHIN ราคาปิดที่ 44.00 บาท ลดลง 3.25 บาท หรือ 6.88% มูลค่าการซื้อขาย 41.48 ล้านบาท, หุ้น ADVANCราคาปิดที่ 93.50 บาท ลดลง 2.00 บาท หรือ 2.09% มูลค่าการซื้อขาย 583.99 ล้านบาท, หุ้น SATTEL ราคาปิดที่ 11.80 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 4.07% มูลค่าการซื้อขาย 77.79 ล้านบาท,หุ้น CSL ราคาปิดที่ 3.52 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 0.56% มูลค่าการซื้อขาย 12.47 ล้านบาท, หุ้น ITV ราคาปิดที่ 10.20 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 2.86% มูลค่าการซื้อขาย 33.68 ล้านบาท
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การปรับลดลงของราคาหุ้นบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ SHIN ในช่วงวานนี้ เนื่องจากผู้ที่ซื้อหุ้น SHIN ตั้งแต่เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาจะไม่มีกรรมสิทธิครบถ้วนในการขายหุ้นคืนให้กับผู้ขอทำเทนดอร์ออฟเฟอร์ เนื่องจากจะไม่ได้รับใบหุ้นจากบริษัทเพราะจะต้องจ่ายเงินภายหลังจากซื้อ 3 วันซึ่งเลยกำหนดเวลาในการรับซื้อหุ้นคืนทั้งหมด
"ราคาหุ้น SHIN ที่ร่วงลงเพราะราคาหุ้นในตอนนี้ไม่มีพรีเมี่ยมของราคาหุ้น และยังรวมทั้งมีคำขู่ของกลุ่มพันธมิตรที่ได้มีการยื่นไปยังสถานฑูตสิงคโปร์ว่าให้มีการยกเลิกการเจรจาซื้อขายในดีลดังกล่าว"นายโกสินทร์กล่าว
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า เชื่อว่าการซื้อขายหุ้นบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ SHIN ระหว่างครอบครัวนายกรัฐมนตรีกับกลุ่มเทมาเสก ประเทศสิงคโปร์ จะไม่มีการยกเลิก เนื่องจากซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ส่วนบุคคลสามารถกระทำได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่พอใจของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเรียกร้องสิทธิในเรื่องสัมปทานต่างๆที่บริษัทได้รับ
ทั้งนี้ สิ่งที่จะต้องติดตามคือจำนวนนักลงทุนที่นำหุ้นที่ถือครองมาขายให้กับกลุ่มเทมาเสกว่าสุดท้ายจะทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของกลุ่มเทมาเสกเป็นเท่าไหร่ และจำนวนหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เหลือเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อความผันผวนของราคาหุ้นได้ เนื่องจากหากจำนวนหุ้นในส่วนของรายย่อยมีจำนวนน้อยมากการแกว่งตัวจะเกิดขึ้นตามภาวะตลาดหลักทรัพย์
"หากจำนวนหุ้นในกระดานมีน้อยหุ้นชินจะกลายเป็นหุ้นที่เคลื่อนไหวตามดัชนีของตลาดหุ้น ซึ่งจะต่างจากที่ผ่านมาที่ราคาหุ้นของบริษัทจะเป็นไปตามผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นหลัก"แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งนักวิเคราะห์กล่าวอย่างไรก็ตาม ในส่วนของลูกค้าบริษัท บริษัทมีคำแนะนำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นชินอยู่มีการขายหุ้นออกมา เพราะหลังจากทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์จบแล้วก็จะมีความเสี่ยงมากโดยไม่ทราบว่าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจะมีการปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาเทนเดอร์ก็ได้
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งเตรียมที่จะยกเลิกการทำบทวิเคราะห์หุ้น SHIN ไม่ว่าจะยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ตามเนื่องจากความน่าสนใจน้อยลงเพราะจำนวนหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหุ้นจะน้อยมาก แต่จะหันไปเน้นบริษัทในกลุ่มแทน
**ล้มดีลต้องบอยคอต AIS
แหล่งข่าวจากวาณิชธนกิจ เปิดเผยว่า เชื่อว่าจะไม่มีการล้มเลิกการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ของเทมาเสก เนื่องจาก กองทุนของสิงคโปร์นั้นซื้อเพื่อเป็นโอกาสในการลงทุนในระยะยาว ไม่ได้มีการซื้อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่อยู่ในตำแหน่งจะไม่ซื้อหุ้น เพราะ การที่สิงคโปร์ซื้อหุ้นชิน เพราะ ต้องการในเรื่องสัมปทานประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งสัมปทานดังกล่าวได้มีมานานแล้วดังนั้นจากการชุมนุมกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกนั้นไม่ส่งผลทำให้สิงคโปร์มีการยกเลิกในการซื้อหุ้นบริษัท ชิน ซึ่งหากจะทำให้สิงคโปร์มีการยกเลิกในการซื้อหุ้นครั้งนี้จะต้องดำเนินการให้ตรงจุด คือ ต้องบอกให้ประชาชนไทยมีการยกเลิกการให้บริการของ AIS ก็จะทำให้สิงคโปร์ไม่มีการซื้อหุ้น
“การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อกดดันให้นายกมีการลาออกและจะทำให้กองทุนสิงคโปร์ไม่ซื้อหุ้นนั้นส่วนตัวมองว่าไม่น่ามีผล แต่การที่จะทำให้ดิวครั้งมีการยกเลิกควรที่จะมีการทำให้ตรงจุดคือ ก็ให้ประชาชนไม่ใช้บริการของAIS ซึ่งหากประชาชนมีการยกเลิกการใช้บริการจริง กองทุนสิงคโปร์ก็จะมีการยกเลิกการซื้อหุ้นครั้งนี้ เพราะ ผลประกอบการของก็จะมีการปรับตัวลดลง ซึ่งไม่คุ้มกับการที่จะไปซื้อหุ้น ”
|