Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2540
"L & H เดินเกมการเงินล้ำลึก"             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล กุสุมา พิเสฏฐศลาศัย
 

 
Charts & Figures

ผลการดำเนินงานของ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในรอบ 5 ปี
ผลประกอบการของบมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ณ 30 มิ.ย. 2540 และ 2539


   
www resources

โฮมเพจ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ - แลนด์แอนด์เฮ้าส์

   
search resources

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บมจ.
ไชยยันต์ ชาครกุล
Real Estate




แลนด์แอนด์เฮ้าส์ยอมประกาศขาดทุนในครึ่งปีแรกถึง 1,800 ล้านบาท ด้วยเหตุผลทางการเงินที่น่าสนใจ เป็นเกมการเงินที่ล้ำลึกจนค่ายอื่นเดินตามไม่ทัน ฐานเดิมของบริษัทที่แข็งแกร่งทำให้อนันต์ อัศวโภคิน สามารถยืนหยัดและนำพาบริษัทฟันฝ่าไปได้อีกครั้ง ในขณะที่ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ประกอบการต่างเจอกับปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนมองไม่เห็นทางออก และหลายรายกำลังเริ่มนับถอยหลัง…

"ปีที่แล้วธุรกิจเรียลเอสเตทอาการหนัก แต่ปีนี้มันอยู่ห้องไอ.ซี.ยู." อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวประโยคนี้ไว้ตั้งแต่กลางปี 2539 แน่ล่ะ..ในเวลานั้นหลายคน ๆ คนอาจจะยังนึกภาพได้ไม่ชัดเจนนัก

จน ณ วันนี้ ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปี 2540 บริษัททางด้านเรียลเอสเตทเล็ก ๆ หลายบริษัทฌาปนกิจตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว หลายบริษัทกำลังเผาหลอก รอเวลาเผาจริงปีหน้า และอีกหลาย ๆ บริษัทกำลังดิ้นพล่าน!

แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่มีการเตรียมเนื้อเตรียมตัวไว้ก่อนล่วงหน้ามานานแล้วก็ตาม ก็ยังถูกพายุเศรษฐกิจกระหน่ำซัดจนเซไปเหมือนกัน ในครึ่งแรกของปี 2540 แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ปรากฏผลขาดทุนครั้งใหญ่ถึง 1,810.85 ล้านบาท!!! นับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 8 ปี ในขณะที่ผลดำเนินงานในหลายปีที่ผ่านมา แลนด์แอนด์เฮ้าส์มีผลกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่องปีละ 1,500-2,200 ล้านบาท (ดูตารางผลประกอบการ 5 ปีประกอบ)

สาเหตุของการขาดทุนที่สำคัญมี 2 เรื่อง คือ 1. ผลจากการที่รัฐบาลปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมาเป็นระบบลอยตัวเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้แลนด์ฯ มีภาระหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 40% และ 2. ขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม

ในเรื่องของค่าเงินบาท ภายใน 2 ปีนี้แลนด์ฯ จะถึงกำหนดชำระหนี้ก้อนโตในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเมื่อต้นปีได้ชำระคืนเงินกู้ไปแล้ว 1,000 ล้านบาทและในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจะต้องชำระคืนเงินกู้ประมาณ 1,500 ล้านบาท และในปีนี้จะถึงกำหนดชำระหนี้ต่างประเทศอีกประมาณ 2,400 ล้านบาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)

แลนด์แอนด์เฮ้าส์ได้ตัดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปในไตรมาส 2 จำนวน 883.76 ล้านบาท โดยคิดจากค่าเงินบาทที่ 29 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

อดิศร ธนนันท์นราพูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ อธิบายถึงวิธีคิดอย่างแยบยลของการตัดสินใจบันทึกการขาดทุนครั้งใหญ่นี้ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

เป็นธรรมดาของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มักจะพยายามโชว์ผลกำไรที่ขยายตัวกันทุกไตรมาส แม้ผลกำไรที่มาก ๆ เหล่านั้นจะหมายถึงภาษีที่มากตามไปด้วยก็ไม่หวั่น เพราะเหตุผลสำคัญคือผลประกอบการที่ดีทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

หากดูจากงบกำไรขาดทุนของแลนด์แอนด์เฮ้าส์แล้ว หลายปีที่ผ่านมาบริษัทนับเป็นลูกค้าชั้นดีของกรมสรรพากรมาโดยตลอด เพราะจ่ายภาษีกันปีละ 600-700 ล้านบาท ปีใดที่ผลประกอบการดูจะตกต่ำแลนด์แอนด์เฮ้าส์ก็สู้อุตส่าห์ขายเงินลงทุนสร้างรายได้เข้าบริษัทมิได้ขาด โดยปี 2538 และ 2539 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวน 617.70 ล้านบาท และ 756.49 ล้านบาทตามลำดับ

แต่สำหรับปีนี้แลนด์แอนด์เฮ้าส์เลือกที่จะทำให้บริษัทขาดทุนทางบัญชีเพื่อประหยัดภาษีครึ่งปีประมาณ 140 ล้านบาทไว้

ทั้งนี้ อดิศร มือการเงินชั้นนำแห่งยุคเปิดใจกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "ในยามนี้เราต้องการรักษาสภาพคล่องของบริษัท ก็เลยมาหาทางประหยัดภาษี ด้วยการรับรู้ผลขาดทุนจากพอร์ตลงทุน ดีกว่าให้ไปหมกอยู่ที่ส่วนของผู้ถือหุ้น ถ้ารับรู้ผลขาดทุนซะก็ไม่ต้องเสียภาษี เราก็เลยทำในไตรมาส 2 ถ้าไปทำในไตรมาส 3 จะไม่ช่วยเรื่องภาษีกลางปี เพราะบริษัทจดทะเบียนต้องคำนวณภาษีปีละ 2 ครั้ง ฉะนั้นถ้าไม่รับรู้ผลขาดทุนในไตรมาส 2 เราจะมีกำไร และต้องเสียภาษีกลางปี"

อดิศรใช้วิธีขายเงินลงทุนทั้งหมดในพอร์ตออกไปแล้วซื้อคืนทันที แลนด์แอนด์เฮ้าส์เสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ไปนิดหน่อยเพื่อการนี้ แต่เมื่อเทียบกับการประหยัดภาษีครึ่งปีประมาณ 140 ล้านบาทก็นับว่าคุ้มค่า

จากงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2540 พบว่าแลนด์แอนด์เฮ้าส์มีกำไรก่อนหักภาษีประมาณ 535 ล้านบาท และจะต้องชำระภาษีเงินได้ประมาณ 116 ล้านบาท หากในไตรมาส 2 บริษัทไม่รับรู้ผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุน 1,134.38 ล้านบาท บริษัทก็จะมีผลกำไรก่อนหักภาษีประมาณ 88.6 ล้านบาท คิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายประมาณ 25 ล้านบาท (พิจารณางบการเงินประกอบ)

เมื่อไตรมาส 2 ปี 2539 แลนด์ฯ มีกำไรก่อนหักภาษี 837 ล้านบาท หากปีถัดมาหดเหลือเพียง 88.6 ล้านบาท ย่อมเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อยเพราะนั่นหมายถึงผลประกอบการเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนลดลงถึง 90% การทำกำไรจากการขายเงินลงทุนอย่างปีก่อนๆ ก็เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่ได้คล่องแล้ว เนื่องจากภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจเป็นเหตุ ทางออกที่หรูที่สุดของบริษัทยักษ์ใหญ่วงการอสังหาฯ ยามนี้จึงยอมขาดทุนดีกว่า พร้อมกับเหตุผลที่ผู้ถือหุ้นทุกคนยอมรับได้ด้วยความชื่นชม

ส่วนในเรื่องการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นอดิศรให้เหตุผลว่า "ไหนๆ จะขาดทุนแล้วเราก็ใส่ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้าไปด้วยเลยจะได้ขาดทุนไปครั้งเดียว ไตรมาสต่อไปก็ไม่ต้องกังวล ซึ่งหลายบริษัทก็ทำกันอย่างนี้"

แน่นอนแลนด์แอนด์เฮ้าส์เชื่อว่าการประกาศขาดทุนในช่วงที่คนอื่นก็ขาดทุนทั้งหมด เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะตกใจมากนักในขณะเดียวกันราคาหุ้นในตลาดก็จะไม่ตกลงมาฮวบฮาบอีกแน่เพราะมันตกลงมามากแล้ว และนี่คือวิธีการคิดที่ชาญฉลาดของคนกลุ่มนี้ ที่หลายค่ายอาจจะยังคิดเกมตามไม่ทัน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ แลนด์ฯ ได้หาทางแก้ปัญหาสภาพคล่องครั้งใหญ่ไปแล้ว ด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียน 162.53 ล้านหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 2,200 ล้านบาท โดยการเสนอขายนักลงทุนทั่วไป 1,500 ล้านบาท และเสนอขายนักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement) อีก 600 กว่าล้านบาท โดยขายให้กับ บริษัท ML&H Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่แลนด์แอนด์เฮ้าส์ร่วมทุนกับบริษัท Manuela Corporation ในฟิลิปปินส์ เพื่อดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในฟิลิปปินส์

เงินเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าว แลนด์ฯ เตรียมไว้ชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศจำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดชำระในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเตรียมไว้สำหรับชำระคืนเงินกู้ที่จะครบกำหนดในปีหน้า

"เรามีเงินเพิ่มทุน 2,200 ล้านบาท และรายได้จากการดำเนินงานอีกส่วนหนึ่งซึ่งจะสามารถชำระหนี้ที่จะถึงดีลในปีหน้าได้ อย่างปีนี้เราจะมียอดโอนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท" อดิศรชี้แจง

จากผลประกอบการที่ผ่านมาของบริษัทเชื่อว่า ผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนรายใหม่ๆ ยังพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนบริษัทอย่างเต็มที่

"หุ้นเพิ่มทุน 2,200 ล้านบาท เราขายได้กว่า 90% ไม่มีปัญหา" อดิศรกล่าวย้ำ นั่นหมายถึงว่านักลงทุนยังให้ความวางใจในสถานะของแลนด์แอนด์เฮ้าส์อยู่มาก

การรักษาสภาพคล่องนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด 1 ปีที่ผ่านมา แลนด์ฯ มียอดเงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 8,229.45 ล้านบาท จาก 3,847.98 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2539 เป็น 12,077.43 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันปี 2540 เงินเบิกเกินบัญชีซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงนี้เองทำให้ดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 28.97 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2539 เป็น 154.45 ล้านบาท ปี 2540 แม้จะเพิ่มขึ้นมาก แต่เมื่อเทียบกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายอื่น ๆ แล้ว แลนด์แอนด์เฮ้าส์ยังเป็นบริษัทชั้นนำที่มีความมั่นคงทางการเงินอยู่ในระดับที่วางใจได้

กลยุทธ์ทางด้านการเงินของแลนด์ฯ นั้นเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าการทำบ้านจัดสรรในยุคนี้ นอกจากจะแม่นยำในเรื่องการมองตลาดแล้ว เวทมนต์ทางการเงินต้องพอตัวเช่นกันจึงจะผงาดเป็นจอมยุทธ์อยู่ในวงการได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีวิธีทางด้านการเงินอย่างชาญฉลาด แต่ในเรื่องนโยบายทางด้านการลงทุนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าแลนด์แอนด์เฮ้าส์ค่อนข้างเจ็บตัวกับพอร์ตลงทุนขนาดใหญ่ไม่น้อยเลย

อนันต์ ได้ให้ความสำคัญในการมองลู่ทางทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจบ้านจัดสรรอย่างเดียวมานาน การสร้างฐานรายได้ใหม่ ๆ จึงถูกเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพียงแต่ว่าถ้าดูพอร์ตลงทุนทั้งหมด มันยังผูกรัดเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างหนีไม่พ้น

ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2539 ของบริษัทเปิดเผยว่า จากการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมประมาณ 19 บริษัท เป็นบริษัททางด้านอสังหาริมทรัพย์ถึง 12 บริษัท ที่เหลือคือประเภทวัสดุก่อสร้าง 2 บริษัท ทางด้านเงินทุนหลักทรัพย์ 2 บริษัท และประกันภัย 1 บริษัท โรงพยาบาล 1 บริษัทและธุรกิจค้าปลีกอีก 1 บริษัท

สยามธานี เป็นบริษัทในเครือของแลนด์ฯ ที่ถือหุ้นอยู่ถึง 70% เคยประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างบ้านสวนธนฯ ที่บางมดหลังจากนั้นไปทำโครงการบ้านสวนธนฯ บนถนนรัตนาธิเบศร์ และถนนรัชดาภิเษก บ้านสวนธนฯ รัตนาธิเบศร์ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว 14 ตึก ตึกละ 32 ยูนิต เหลือไม่ถึง 10 ยูนิต ราคา 1.3 ล้านบาทขึ้นไป เฟสใหม่จะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2541 อีก 5 ตึก ขนาด 60-80 ตร.ม. ราคา 1.3 ล้านบาทขึ้นไปเช่นกัน ส่วนที่ซอยเสือใหญ่อุทิศ 12 อาคารเสร็จแล้วเช่นกันแต่ยังเหลือขาย ในขนาด 47 ตร.ว.ราคา 1.3 ล้านบาทอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนบริษัทสยามสินธร เป็นบริษัททางด้านพัฒนาที่ดินบริษัทแรกที่แลนด์แอนด์เฮ้าส์ขยายงานออกไปโดยมีกลุ่มพันธมิตรสำคัญคือธนาคารไทยพาณิชย์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมด้วย ปัจจุบันไทยพาณิชย์ถือหุ้น 25% แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 14% และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อีก 37.5%

พันธมิตรกลุ่มนี้เกี่ยวก้อยเข้าร่วมทุนในบริษัทพัฒนาที่ดินอื่นๆ ต่อมาอีกหลายบริษัท แต่ดูเหมือนว่ากำลังประสบปัญหาทางด้านการขายอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

ผลงานในระยะแรกๆ ของสยามสินธรก็คือ โครงการรัตนโกสินทร์ วิว ตึกแฝดเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า โครงการดิโอลด์สยาม อาคารสินธร แล้วหลังจากนั้นก็ค่อนข้างเงียบไป ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โครงการที่พยายามจะเข็นเลยไม่เดินหน้าเท่าที่ควร เช่น การเข้าไปซื้อที่ดินที่หน้าสถานทูตลาวพื้นที่ 14 ไร่ บนถนนสาธร จำนวน 700 ล้านบาท เพื่อจะสร้างโครงการอาคารสำนักงาน หรือการเช่าที่ดินจากตระกูลศิริพัฒน์ 21 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนอาหารตำหนักไท บนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งหมดสัญญาเช่าไป ตั้งแต่กลางปี 2538 และได้วางแผนไว้ว่าจะสร้างเป็นศูนย์บันเทิงครบวงจรรวมทั้งแผนงานการที่จะพัฒนาที่ดินบนถนนพระราม 3

โครงการทั้งหมดได้ถูกชะลอออกไปหมด ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ใช้เงินจำนวนมากในการซื้อโครงการสมประสงค์พลาซ่า บนหาดจอมเทียนและเข้าไปถือหุ้น 25% ฟินิกซ์กอล์ฟในจังหวัดชลบุรี

โครงการสมประสงค์พลาซ่าเป็นโครงการศูนย์การค้าร้างของสมประสงค์กรุ๊ป ที่สร้างเสร็จมาตั้งแต่ปี 2534 โดยทางบริษัทสยามสินธรได้วางแผนที่จะปรับปรุงเป็นโรงแรมส่วนหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการจอมเทียนซีไซด์พัทยา และขายลดราคาอย่างมากในส่วนของอาคารพาณิชย์ และจากการสำรวจของ "ผู้จัดการรายเดือน" เมื่อปลายเดือนกันยายน 40 ก็พบว่า ณ วันนี้โครงการนี้ยังเป็นโครงการร้าง ยังไม่เห็นอนาคตเช่นเคย

ตราบใดที่ภาวะเศรษฐกิจยังซบเซาต่อเนื่องเช่นนี้ การที่จะพลิกฟื้นโครงการอสังหาริมทรัพย์บนหาดจอมเทียนให้เกิดความคึกคักขึ้นคงไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย เพราะปัจจุบันยังมีโครงการร้างที่เป็นผลพวงมาจากการเก็งกำไรยังมีอีกมากมาย เช่นเดียวกับการไปซื้อโครงการสนามกอล์ฟ เพื่อหวังที่จะสร้างบ้านราคาแพงรอบๆ โครงการก็คงยังไม่ถึงเวลาเช่นกัน

เมื่อตลาดอาคารสูงก็ทำไม่ได้ ตลาดศูนย์การค้าที่วางแผนให้ทีมงานของแฟชั่นไอร์แลนด์เป็นหัวหอกก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องขายหุ้นส่วนหนึ่งให้กับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาไป สยามสินธรก็ได้ลงมาเล่นตลาดบ้านแข่งกับบริษัทในเครืออื่นเช่นกัน โครงการที่กำลังพัฒนาจริงๆ ของสยามสินธรขณะนี้ก็คือ โครงการบ้านนริศา ในเนื้อที่ 120 ไร่ บนถนนประชาอุทิศธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยว 100 ตารางวาขึ้นไป ราคาเริ่มต้นที่ 60 ล้านบาท และในเดือนกันยายน จะเปิดโครงการ "นริศราญ" ถนนธนบุรีปากท่อ กม.11 ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยวเนื้อที่ 70 ตารางวาขึ้นไป ราคาเริ่มต้นที่ 4 ล้านบาท

ถึงแม้ใช้เงินในการลงทุนไปมากมาย แต่สยามสินธรยังมีตัวเลขของผลกำไรอยู่ที่ 105 ล้านบาทในปี 2538 และ 130 ล้านบาทในปี 2539

ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด มหาชน เป็นบริษัทในเครืออีกบริษัทหนึ่งที่ระยะแรกจะเน้นไปในโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ และอาคารสำนักงาน เช่น โครงการเซ็นเตอร์พอยท์ อาคารคิวเฮ้าส์ อโศก คิวเฮ้าส์สาธร และขณะนี้กำลังพัฒนาอีกหลายโครงการเช่น เพลินจิตเฮ้าส์ สาธรคอมเพล็กซ์ และคอนโดตากอากาศที่หัวหิน

และในระยะหลังก็พยายามแทรกตลาดไปสู่โครงการบ้านจัดสรรแนวราบมากขึ้น จากสาเหตุที่ว่าโครงการอาคารสูงภาวะซื้อขายแทบจะนิ่งสนิท ขณะนี้ควอลิตี้เฮ้าส์มีโครงการบ้านจัดสรรที่กำลังก่อสร้างพร้อมๆ กัน อยู่ประมาณ 10 โครงการ

กลายเป็นว่าบริษัทในเครือของแลนด์ฯ ที่ขยายไปพัฒนาโครงการทางด้านตึกสูงกลับหันมาสู่โปรดักส์หลักดั้งเดิมของบริษัทแม่ ซึ่งน่าจะเป็นสินค้าที่กลุ่มนี้ถนัดที่สุด เพราะผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็คือลูกหม้อเก่าแก่ที่เริ่มต้นการทำงานจากแลนด์แอนด์เฮ้าส์ทั้งนั้น เช่น จุมพล มีสุข กรรมการผู้จัดการบริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ ธงชัย จิระดิลก ดูแลบริษัทสยามสินธร

ส่วนโครงการเวฟ ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ไปร่วมลงทุนถึง 36% ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนานั้น ในภาวะตลาดอย่างนี้ก็คงปิดยอดขายไม่ง่าย เช่นเดียวกับโครงการบ้านจัดสรรที่ไปร่วมลงทุนกับต่างจังหวัด

ถึงแม้ทางกลุ่มแลนด์ฯ จะยอมรับว่าแม้จะเจ็บตัวบ้างแต่ไม่ได้รับผลกระทบจากจุดนี้มากนัก เพราะมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ถือหุ้นรายใหญ่ ในขณะเดียวกันบริษัทก็ได้กระจายความเสี่ยงไปยังบริษัทอื่นๆ และทำกำไรอีกมากเช่น บริษัทบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประกันคุ้มภัย

อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงเวลานี้ แลนด์แอนด์เฮ้าส์คงต้องระวังตัวหนักขึ้นเพื่อไม่ให้ปัญหาของบริษัทร่วมทุนเหล่านั้นสวิงกลับมามีผลกระทบกับบริษัทหลัก การเล่นบทอนุรักษ์นิยมไม่ไปลงทุนธุรกิจใหม่เพื่อถนอมเนื้อถนอมตัว และรักษาสภาพคล่องทางด้านการเงินคงเป็นเรื่องที่ต้องทำไปอีกนานเช่นกัน

ในช่วงปีที่ผ่านมาการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างหนึ่งของอนันต์ก็คือ การตัดสินใจไปเข้าร่วมกับ Manuela Corporation ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศฟิลิปปินส์ ก่อตั้งบริษัท ML&H โดยแลนด์ฯ ถือหุ้น 40% Manuela 60% และบริษัทนี้ได้เข้าร่วมกับกลุ่มเมโทรฯ คอร์เปอเรชั่นและรัฐบาลฟิลิปปินส์ ก่อตั้งบริษัท Fort Bonifacio Land Corporation ซึ่งเอกชนถือหุ้น 55% รัฐบาลถือหุ้น 45% เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 1,337 ไร่ และเป็นโครงการหนึ่งของแผนพัฒนาแห่งชาติฟิลิปปินส์ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเอกชนเข้ามาลงทุนในธุกิจอสังหาริมทรัพย์

โดยเฉพาะเงื่อนไขพิเศษของการลงทุนที่ฟิลิปปินส์ค่อนข้างพิเศษกว่าที่อื่น คือ ลูกค้าจะจ่ายดาวน์ 10% เป็นเวลา 5 เดือน เดือนที่ 6 สามารถกู้แบงก์ได้ 90% มาจ่ายให้กับทางโครงการเลย

การลงทุนที่อินโดนีเซียนั้น เป็นการร่วมลงทุนระหว่างแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 20% มารูเบนี่จากญี่ปุ่น 26% ลัคกี้โกลสตาร์จากประเทศเกาหลี 25% บริษัทในประเทศอินโดนีเซีย 29% เพื่อทำโครงการ "Kota Wisata" บนพื้นที่ประมาณ 2,800 ไร่ ทางตอนใต้ของเมืองจาการ์ตา

และที่สำคัญเมื่อคำนวณมูลค่าของเงินลงทุนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ลงทุนใน 2 ประเทศนี้เข้าด้วยกันแล้ว ปรากฏว่าจะมีมูลค่าประมาณ 80% ของเงินกู้ต่างประเทศ ซึ่งหมายความว่านโยบายค่าเงินบาทลอยตัวที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทจากการกู้เงินในต่างประเทศ จะได้รับการชดเชยไปโดยอัตโนมัติ

จากเดือนพ.ย.39 ถึงเดือนมิ.ย.40 ในฟิลิปปินส์มียอดขายสูงถึง 1,500 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 1,500 ล้านบาทจากที่เคยตั้งเป้าไว้ 1,000 ยูนิตเท่านั้น

"ต่างประเทศเราก็คงยังไม่ไปไหนเพราะตอนนี้ที่น่าลงทุนที่สุดคือบ้านเรา แต่จะเป็นเมื่อไหร่เท่านั้น เพราะเศรษฐกิจปักหัวลงมาในรูปตัวยูไม่ใช่ตัววี"

ย้อนกลับมาดูทางด้านโปรดักส์หลักของบริษัททางด้านที่อยู่อาศัยนั้น ในขณะที่โครงการบ้านจัดสรรอื่นๆ ส่วนใหญ่กำลังประสบปัญหาในเรื่องการขายส่งผลต่อเนื่องไปยังเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท ทำให้การก่อสร้างและการโอนมีปัญหา แลนด์แอนด์เฮ้าส์กลับลอยตัวกับปัญหาดังกล่าว แน่นอนการขายของบริษัทในปีนี้ย่อมน้อยลงแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับทำให้แลนด์ฯ มีโอกาสมากขึ้นกว่ากลุ่มอื่น

โดยเฉพาะภาพพจน์ของคำว่า "หนึ่งในโครงการแลนด์แอนด์เฮ้าส์" เป็นสิ่งที่ขายได้มาตลอด ถึงแม้จะมีคู่แข่งมากมาย เมื่อถึงยุคนี้ที่คนซื้อต้องสกรีนโครงการที่จะซื้ออย่างหนักแลนด์แอนด์เฮ้าส์ก็ยังเป็นตัวเลือกในระดับต้นๆ

เมื่อมองไปทางด้านแหล่งเงิน นอกจากการวางแผนการเงินอย่างระมัดระวังแล้ว แลนด์แอนด์เฮ้าส์กับธนาคารไทยพาณิชย์มีความผูกพันแน่นแฟ้นกันมาตลอด แลนด์ฯ จึงไม่ได้มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้ง 58 แห่งที่ปิดไป โชคดีชั้นที่ 3 ที่ตามมาก็คือลูกค้ารายย่อยของแลนด์ฯ ทุกโครงการไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินกู้ระยะยาวเหมือนบริษัทอื่นๆ (อ่านในล้อมกรอบประกอบ)

ลูกค้าของแลนด์ฯ อาจจะสะดุดบ้างก็ตรงที่ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งสร้างครอบครัว และเคยมีรายได้ในระดับปานกลางค่อนข้างสูงซื้อบ้านระดับราคาประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกมรสุมเศรษฐกิจกระหน่ำซัดเข้าเต็มๆ ด้วยการถูกให้ออกจากงาน หรือลดเงินเดือนลง ซึ่งอาจจะมีปัญหาในการผ่อนงวดเงินดาวน์ หรือชะลอการโอน

นพพร สุนทรจิตต์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดยืนยันกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่าแลนด์แอนด์เฮ้าส์มีผลกระทบในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก และที่สำคัญในปี 2540 ยังมีตัวเลขโอนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกิดจากยอดการขายเมื่อปี 2539 ในครึ่งปีแรกบริษัทก็สามารถโอนไปได้แล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผน ส่วนครึ่งปีหลังก็ไม่มีปัญหาแน่นอน

อย่างไรก็ตามนพพรยอมรับว่า การโอนของลูกบ้านอาจจะล่าช้า และชะลอไปบ้างก็ในช่วงที่รอดอกเบี้ย 9% พอรู้ว่ายอดเงินช่วยเหลือในส่วนนี้หมดก็มาโอนกันตามปกติ

ส่วนยอดขายในปี 2540 นั้นได้ตั้งไว้ประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งที่คาดว่าเป็นยอดที่ต่ำมากแล้ว สำหรับจำนวนโครงการที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าจะเปิดประมาณ 7 โครงการนั้นก็ได้เปิดจริงตามแผน นอกจากชะลอโครงการที่จังหวัดอุบลออกไปเท่านั้น

ปัจจุบันแลนด์แอนด์เฮ้าส์กำลังพัฒนาโครงการทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดรวม 34 โครงการ เป็นโครงการบ้านเดี่ยว 28 โครงการ ทาวน์เฮาส์ 4 โครงการ คอนโดมิเนียม 2 โครงการ แบ่งเป็นโครงการในกรุงเทพฯ 27 โครงการ ส่วนโครงการในภูมิภาคมีทั้งหมด 4 จังหวัดคือ โครงการในจังหวัดเชียงใหม่ 3 โครงการ โครงการในจังหวัดขอนแก่น 2 โครงการ โครงการในโคราช 1 โครงการ และโครงการในจังหวัดภูเก็ต 1 โครงการ

"มันเป็นยุทธวิธีทำลายกำแพงความคุ้มกันในตลาดที่เยี่ยมมากเพราะเข้าไปที่ไหนก็จะเจอโครงการของเขา ไม่ว่าระดับราคาไหนมีหมด ลูกค้าก็ต้องเลือกเอาสักหลังอยู่ดี นี่คือจุดแข็งในเรื่องความสามารถในการบริหารโครงการพร้อมๆ กันของเขา" แหล่งข่าวรายหนึ่งจากบริษัทพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ คู่แข่งของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ยอมรับ

ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แลนด์แอนด์เฮ้าส์มีโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ในระดับราคา 1.3 ล้านบาท - 3 ล้านบาทประมาณ 14 โครงการ บ้านระดับราคา 3.5 ล้านบาท - 4.5 ล้านบาท บ้านระดับราคา 5.7 ล้านบาท 1 โครงการ และราคา 7-10 ล้านบาทขึ้นไปประมาณ 5 โครงการ

โครงการที่เปิดในภูมิภาคส่วนใหญ่ จะมีราคาตั้งแต่ 8 แสนบาทขึ้นไปถึง 2.5 ล้านบาท ยกเว้นโครงการบ้านพฤกษ์วารี ถนนเชียงใหม่แม่โจ้ บ้านนันทวัน ภูเก็ต ราคาประมาณ 4 ล้านบาท บ้านลดาวัลย์ในภูเก็ตราคาประมาณ 7 ล้านบาท บ้านนันทวันที่ขอนแก่นและบ้านนันทวันที่โคราชราคาประมาณ 5.2-6.2 ล้านบาท

การให้ความสำคัญกับตัวโปรดักส์ โดยเฉพาะในด้านการออกแบบให้แตกต่างจากสินค้าของคู่แข่งในตลาดเดียวกัน คือกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้แลนด์แอนด์เฮ้าส์ประสบความสำเร็จตลอดมา แต่ในขณะนี้กลยุทธ์ก็ถูกนำมาใช้ในการเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดของบริษัทอื่นเช่นกัน

ที่ผ่านมากฤษดานคร ศุภาลัย พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เป็นบริษัทที่เป็นคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่าไม่ว่าจะขยับไปทำเลไหน ก็จะวิ่งไล่เปิดตามมาติดๆ ทันที นี่ยังไม่รวมถึงรายเล็กรายน้อยอื่น ๆ แต่ในช่วงปี 2541 เป็นต้นไป บาดแผลที่บริษัทคู่แข่งได้รับจากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้เชื่อได้ว่าทำให้บริษัทเหล่านั้นต้องหยุดเยียวยากันพักใหญ่แน่นอน

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มแลนด์ฯ ก็คือการบริหารโครงการหลังการขาย โครงการของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ถูกร้องเรียนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ถ้าเทียบกับบ้านที่สร้างเสร็จในแต่ละปี เมื่อปี 2539 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ให้รางวัลกลุ่มแลนด์ฯ เป็นบริษัทบ้านจัดสรรดีเด่นประจำปี และนี่คือสิ่งหนึ่งที่แลนด์แอนด์เฮ้าส์ภูมิใจนักหนาว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีใครเลียนแบบและตามทันได้

ถึงแม้ตลาดโดยรวมแทบจะตายสนิท แต่สำหรับผู้ที่มีกำลังซื้อที่แท้จริงแล้ว ชื่อของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ยังขายได้อยู่แน่นอน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us