หากไม่เป็นเพราะความชื่นชอบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แล้ว วันนี้พันโทพงศ์พิพัฒน์
ชมะนันทน์ คงเป็นนายทหารฝ่ายยุทธการกองพลทหารม้าที่ 2 ที่ต้องทำหน้าที่วางแผนการรบ
และคงเติบโตไปตามสายงานตามประสานายทหารหนุ่มอนาคตไกล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เขาเป็นบุตรชายคนเดียวของ พล.อ. เกรียงศักดิ์
ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของเมืองไทย เส้นทางชีวิตของเขาจึงเหมือนถูกขีดเส้นไว้ตั้งแต่ต้น
แต่พันโทพงศ์พิพัฒน์ กลับเลือกเส้นทางชีวิตนักธุรกิจหนุ่มในยุคของอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีแทนที่จะเดินไปตามเส้นทางเดียวกับผู้เป็นพ่อ
หลังจากจบชั้นมัธยม พันโทพงศ์พิพัฒน์ เดินเข้าสู่รั้วเตรียมทหาร และเมื่อเรียนไปได้เพียงปีเดียว
ก็สอบชิงทุนไปเรียนต่อทางด้านนายร้อยทหารบกที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งการเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาแห่งนี้เองได้กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เส้นทางเดินชีวิตของพันโทพงศ์พิพัฒน์ต้องพลิกผันในเวลาต่อมา
"เยอรมันนั้นก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ตอนที่ผมเรียนอยู่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
ผมมีโอกาสได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลาอย่างอินเตอร์เน็ตนั้นผมเคยได้ใช้สมัยอยู่ที่นั่นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
ซึ่งเวลานั้นยังแทบไม่มีใครรู้เรื่องอินเตอร์เน็ตเท่าไหร่เลย"
นับตั้งแต่นั้นพันโทพงศ์พิพัฒน์ก็กลายเป็นนายทหารหนุ่มยุคดิจิตอลที่พิสมัยเทคโนโลยี
คอยติดตามพัฒนาการในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และแม้ว่าอาชีพทหารในยุคสมัยนี้อาจทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ได้ก็ตาม
แต่ยังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในชีวิต
หลังจากเรียนจบจากเสนาธิการทหารบก เขาก็ตัดสินใจอำลาชีวิตนายทหารหนุ่ม
เพื่อเข้ามาสู่เส้นทางของนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว
"เรามีมุมมองในเรื่องเหล่านี้ เพราะจากการที่ติดตามและศึกษาเรื่องเหล่านี้เราพบว่าโลกมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีออกไปมากมาย
และถ้าเราจับให้ถูกว่าอะไรเป็นเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทต่อคนในอนาคต เช่น การที่เราเห็นถึงอนาคตของอินเตอร์เน็ตว่าจะมีอิทธิพลในอนาคต
เราก็เลือกที่จะเดินไปกับมัน"
ที่สำคัญเขาได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ. เกรียงศักดิ์ เป็นอย่างดี แม้ว่าเขาจะต้องผละออกจากเส้นทางนายทหารที่คลุกคลีมาตั้งแต่เล็กมาสู่ชีวิตนักธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนและกำไรเป็นสำคัญ
"คุณพ่อให้เลือกทางเดินของตัวเองไม่บังคับ และคุณพ่อผมเองก็ศึกษาเรื่องเทคโนโลยีมานานแล้ว
สมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นคนตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"
ชื่อของบริษัทชมะนันทน์กรุ๊ป จึงข้ามฟากจากธุรกิจค้าพืชไร่ อันเป็นธุรกิจเริ่มแรกของ
พล.อ.เกรียงศักดิ์ มายังทำเนียบธุรกิจด้านไอทีตั้งแต่ปี 2537 โดยมีพันโทพงศ์พิพัฒน์เป็นผู้ขับเคลื่อน
อดีตนายทหารหนุ่มเชื่อมั่นว่าไม่ช้าเกินไปสำหรับการแจ้งเกิดในธุรกิจด้านไอที
แม้ว่าจะมีผู้จับจองตลาดอยู่แล้ว เพราะเป้าหมายของเขาไม่ใช่ผู้ค้าคอมพิวเตอร์หรือธุรกิจโทรคมนาคม
แต่เป็นเทคโนโลยีใหม่อย่างเช่น อินเตอร์เน็ต และมัลติมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย
"เวลานั้นเทคโนโลยีกำลังพัฒนาอยู่หลายระบบ ซึ่งเราก็ต้องเลือกว่าจะเดินไปกับเทคโนโลยีประเภทไหน
และผมก็เห็นว่าอินเตอร์เน็ตที่ผมเคยได้ใช้มันเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วนี่แหละจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต"
ชมะนันทน์กรุ๊ปประเดิมงานแรกคือ โดยได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดทำข้อมูลของรัฐสภาบรรจุลงแผ่นซีดีรอม
ข้อมูลของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ในสังกัดของรัฐสภา ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท
เค.ซี.มัลติมีเดีย บริษัทในเครือที่ตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวกับมัลติมีเดีย
หลังจากคว้างานของรัฐสภา พันโทพงศ์พิพัฒน์ลงมือขยายเครือข่ายธุรกิจชมะนันทน์กรุ๊ปออกไปโดยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ
"อินเตอร์เน็ต" เป็นธงนำ
ชมะนันทน์กรุ๊ป เป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่เดินเข้าสู่ธุรกิจร้านไซเบอร์คาเฟ่
ซึ่งเป็นร้านที่ให้บริการเช่าใช้อินเตอร์เน็ตและบริการอาหารเครื่องดื่ม หลังจากร้านไซเบอร์คาเฟ่
สาขาแรกบนเพลินจิตทาวเวอร์เปิดให้บริการ สาขา 2 และ 3 ทยอยเปิดตัวตามมาท่ามกลางการแข่งขันของร้านประเภทเดียวกันนี้ที่เปิดขึ้นราวดอกเห็ด
ทั้งที่เป็นสาขาจากต่างประเทศ เช่นไซบีเรียคาเฟ่ และบริษัทท้องถิ่นที่คิดค้นรูปแบบขึ้นมาเอง
ล่าสุดชมะนันทน์กรุ๊ปก็เป็นหนึ่งเดียวที่ได้รับเลือกจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย
ให้เปิดร้านไซเบอร์คาเฟ่ขึ้นได้ บนท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งนับเป็นทำเลทองของธุรกิจประเภทนี้ที่หลายคนจับจ้อง
หลังจาก 3 สาขาแรกแล้ว พันโทพงศ์พิพัฒน์ก็เตรียมหาทำเลใหม่ ๆ ในย่านธุรกิจสำหรับไซบีเรียคาเฟ่สาขาที่
4 และ 5 ที่จะทยอยเปิดตัวออกมา รวมทั้งในต่างจังหวัดด้วยการขายแฟรนไชส์ให้กับบรรดานักลงทุนในต่างจังหวัด
ตามแนวคิดของพงศ์พิพัฒน์ ร้านไซเบอร์คาเฟ่ไม่เพียงแต่จะทำธุกิจด้วยตัวเองแล้ว
เขาจะนำร้านไซเบอร์คาเฟ่จะเป็นช่องทางจัดจำหน่าย และบริการหลังการขายและฝึกอบรมให้กับลูกค้าของบริษัทชมะนันทน์
เวิล์ดเน็ต บริษัทในเครือที่ตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ต
ซึ่งได้รับการอนุมัติจากการสื่อสารฯ มาตั้งแต่ต้นปีนี้
ส่วนบริษัทชมะนันทน์กรุ๊ปจะทำธุรกิจจำหน่ายคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ และออกแบบระบบทางด้านอินทราเน็ต
ซึ่งเป็นระบบอินเตอร์เน็ตภายในองค์กร เหมาะสำหรับลูกค้าที่เป็นบริษัท หรือหน่วยราชการ
พันโทพงศ์พิพัฒน์กล่าวว่า เวลานี้เขาได้รับทาบทามจากประเทศเขมรให้ไปทำธุรกิจทางด้านอินเตอร์เน็ต
แม้ว่าชื่อเสียงของชมะนันทน์กรุ๊ปจะไม่ถูกจัดอยู่ในทำเนียบของยักษ์ใหญ่ธุรกิจไอที
แต่การขยายตัวอย่างเงียบ ๆ ภายใต้ความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในการติดตามความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของพันโทพงศ์พิพัฒน์
และเมื่อบวกกับสายสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการและชื่อเสียงของ พล.อ.เกรียงศักดิ์
3 ปีเต็มกับการแจ้งเกิดในธุรกิจไอที สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างกลุ่มชมะนันทน์กรุ๊ปก็ไม่อาจมองข้ามได้