หลังจากค้นหาผู้ที่จะมาเป็นเจ้าของเก้าอี้กรรมการผู้จัดการบริษัทไมโครซอฟท์ประเทศไทย
แทนอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ ที่ต้องอำลาตำแหน่งนี้อย่างกระทันหัน ด้วยเหตุผลหลายประการ
ในที่สุดไมโครซอฟท์ก็ได้ พีระพงษ์ เอื้อสุนทรวัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัทคอมแพค
ประเทศไทยมาสวมตำแหน่งนี้แทน
แม้ว่าคนคุ้นเคยกันในแวดวงคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี แต่การข้ามฟากจากธุรกิจค้าเครื่องฮาร์ดแวร์
มาสู่ธุรกิจซอฟต์แวร์ พีระพงษ์ก็มักได้รับคำถามอยู่เนืองๆ ว่า จากธุรกิจฮาร์ดแวร์
มาสู่ธุรกิจด้านซอฟต์แวร์จะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท หรือมุมมองไปอย่างไรบ้าง
พีระพงษ์ กล่าวว่า สำหรับตัวเขาแล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่เท่าใดนัก
เพราะเขายังต้องทำหน้าที่ผลักดันสินค้าออกสู่ตลาดเช่นเดิม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์
เปรียบแล้วก็เป็นสินค้าประเภทหนึ่งเหมือนกัน
แต่สิ่งที่แตกต่างในความเห็นของเขาก็คือ การขายฮาร์ดแวร์ต้องจำนวนมากเป็นวอลุ่มขนาดใหญ่
เปรียบแล้วก็เหมือนกับการขายสินค้าอุปโภคบริโภค
สำหรับธุรกิจด้านซอฟต์แวร์แล้ว ยังต้องมีส่วนประกอบอื่น ๆ ในการทำตลาด
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสร้างการเรียนรู้ให้กับคนใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
นับได้ว่า เป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของพีระพงษ์เลยก็ว่าได้ เพราะทุกวันนี้อุปสรรคอย่างหนึ่งของการเติบโตด้านรายได้ของไมโครซอฟท์และผู้ผลิตซอฟต์แวร์
ก็คือปัญหาการถูกก๊อปปี้ซอฟต์แวร์ แม้ว่าหลังจากมีกฎหมายลิขสิทธิ์ประกาศใช้เมื่อสองปีที่แล้ว
ทำให้มีการตื่นตัวมากขึ้นมีคนหันมาใช้ซอฟต์แวร์ของแท้กันบ้างแต่ก็เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้นปริมาณการก๊อปปี้ยังไม่ได้ลดลง
"เรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสนุกสำหรับผม เพราะมันเป็นสิ่งท้าทายว่าผมจะทำอย่างไรที่จะให้คนเข้าใจ
และหันมาใช้ซอฟต์แวร์ของแท้"
แนวคิดของพีระพงษ์ในเวลานี้ นอกเหนือจากกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงผลดีของการใช้ซอฟต์แวร์ของแท้
คือการช่วยเหลือบรรดาซอฟต์แวร์เฮาส์ ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือ (TOOL) เพื่อใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์
สิ่งที่พีระพงษ์ยังเห็นถึงความแตกต่างของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ก็คือการเดินเข้าไปติดต่อกับหน่วยงานราชการที่หากไปในฐานะเจ้าของฮาร์ดแวร์แล้ว
มักจะถูกมองว่าไปขายของ ไม่เหมือนกับซอฟต์แวร์ที่จะได้รับการต้อนรับมากกว่า
จะว่าไปแล้ว การมาของพีระพงษ์ดูเหมือนจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมไม่น้อย เพราะแม้ว่าอาภรณ์
ศรีพิพัฒน์ จะอยู่เคียงคู่กับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เพราะเป็นผู้ผลักดันให้บิลเกตต์ตัดสินใจยอมมาตั้งสำนักงานสาขาในเมืองไทย
และยังฝากฝีไม้ลายมือในการผลักดันสร้างให้ไมโครซอฟท์เป็นที่รู้จักในตลาด
แต่เวลานี้ไมโครซอฟท์ก็ผ่านพ้นช่วงสร้างการเรียนรู้ให้กับตลาดไปแล้ว มาถึงช่วงเวลาที่ต้องอาศัยฝีไม้ลายมือทางด้านการตลาด
เพราะเวลานี้ไมโครซอฟท์ก็มีคู่แข่งที่ยืนเรียงรายกันอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นออราเคิล
และซันไมโครซิสเต็มส์ คู่แข่งตัวฉกาจในเรื่องของเน็ตพีซี หรือโนเวลล์ที่ต่อกรอยู่เงียบ
ๆ กับวินโดว์สเอ็นที เนสเคปในการเป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์เบลาเซอร์
ความสำเร็จอย่างหนึ่งของไมโครซอฟท์ มาจากการเป็นนักโปรโมตสินค้าตัวยง มักจะอาศัยการตลาดนำผลิตภัณฑ์เสมอมา
เพื่อเรียกร้องความสนใจของลูกค้าและตีกันคู่แข่ง เรียกว่า ความสามารถของสินค้าเอาไปแค่
50% ที่เหลือเป็นแรงหนุนจากตลาด
แม้ว่าหลายครั้งความอหังการของไมโครซอฟท์ ที่มักจะคุยโวทำให้ตัวเองตกเป็นเป้าของคู่แข่งขัน
และมักจะถูกโดดเดี่ยวเสมอมา แต่ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ไมโครซอฟท์ใช้ได้เสมอมา
หลายคนเชื่อว่า ความเป็นนักการตลาดของพีระพงษ์จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับไมโครซอฟท์เวลานี้
และเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตกรรมการผู้จัดการอย่างอาภรณ์ ซึ่งมีสไตล์ของนักเทคนิเชียล
จะเหมาะสำหรับในช่วงเริ่มต้นของไมโครซอฟท์ที่ต้องอาศัยการให้ความรู้กับผู้ใช้
แต่หลายคนก็ยังกังวลว่า สไตล์ของพีระพงษ์ แม้จะเป็นนักการตลาด แต่ไม่ชื่นชอบการให้สัมภาษณ์เท่าที่ควร
อาจจะทำให้ข่าวคราวของไมโครซอฟท์อาจต้องเบาบางลงไป ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์ที่แล้วมาก็เป็นได้
เพื่อไม่ให้เสียชื่อนักการตลาด แม้จะมารับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน และยังไม่สามารถตอบข้อซักถามของบรรดาผู้สื่อข่าวก็ตาม
แต่พีระพงษ์ก็ลงมือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายประเภทไมโครซอฟท์ เซอร์ทิไฟด์ โซลูชั่น
โพรไวเดอร์ ชุดใหม่จำนวน 22 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีหน้าใหม่เพิ่มขึ้นหลายราย
แม้จะไม่ใช่มิติใหม่สำหรับไมโครซอฟท์ เพราะที่แล้วมาอาภรณ์ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างและขยายช่องทางจัดจำหน่ายอยู่แล้ว
แต่งานนี้กลับทำเอาบรรดาตัวแทนยินดีปรีดากันเป็นแถว แถมบางรายยังแอบถอนหายใจอย่างโล่งอกเสียด้วย
เนื่องจากมีเสียงร่ำลือกันในบรรดาตัวแทนจำหน่ายว่า ในยุคของอาภรณ์ หากไม่ใช่ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบแล้ว
โอกาสที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายจึงยากไปด้วย แม้จะมีคุณสมบัติครบถ้วนก็ตาม
เรียกว่า แม้แต่บริษัทข้ามชาติอย่างไมโครซอฟท์ ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่อง "สี"
ของสถาบันไม่พ้น
กระนั้นก็ตาม แม้จะได้รับเสียงเชียร์จากบรรดาตัวแทนจำหน่าย เพราะปัญหาลึกๆ
บางประการ แต่โจทย์สำคัญอีกข้อหนึ่งที่พีระพงษ์ต้องเจอในเวลานี้ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจจมดิ่งเหวและปัญหาค่าเงินบาทลอยตัว
ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น
พีระพงษ์ลงมือตอบโจทย์ปัญหาค่าเงินบาทที่อ่อนยวบยาบ ด้วยการกำหนดราคาซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์เป็นเงินบาท
เพื่อช่วยบรรดาตัวแทนจำหน่ายไม่ให้เกิดความสับสนกับการคิดราคาสินค้า
แต่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่ทำเอาลูกค้าสำคัญ ๆ ของไมโครซอฟท์ต้องปิดตัว ล้มหายตายจากไป
โดยเฉพาะยิ่งลูกค้าไฟแนนซ์ ยังไม่รวมลูกค้าอื่น ๆ ที่รอวันปิดตัวลงอีก และยังไม่รวมถึงราคาซอฟต์แวร์ที่ต้องแพงขึ้นตามค่าเงินบาทก็อาจเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ซอฟต์แวร์ก๊อปปี้เฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้ง
แม้จะเป็นช่วงโอกาสที่ดีของพีระพงษ์ ที่จะใช้ฝีไม้ลายมือในด้านการตลาดแต่ก็เป็นจังหวะ
ที่ท้าทายความสามารถของเขาไม่น้อยกับการที่จะพลิกปัญหาเหล่านี้ให้เป็นโอกาสดังที่เขาหวังได้หรือไม่