IIPA ชง USTR ขึ้นบัญชีไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ให้เหตุผลการละเมิดยังไม่หมดไป แถมมีการละเมิดรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งสัญญาณดาวเทียม เคเบิลทีวี และอินเทอร์เน็ต เผยปี 2548 ที่ผ่านมา การละเมิดในไทยสร้างความเสียหายให้ธุรกิจสหรัฐฯ สูงถึง 1 หมื่นล้านบาท
รายงานจากข่าวกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า สมาพันธ์ทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IIPA) ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เพื่อเสนอให้เลื่อนสถานะไทยไปอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพราะขณะนี้ USTR อยู่ระหว่างการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาประจำปี 2549 จำนวน 68 ประเทศ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) จากปีที่ผ่านมา ที่ USTR คงสถานะให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ซึ่งหากมีการเลื่อนสถานะของไทยจริง จะทำให้สหรัฐฯ จับตามองไทยเป็นพิเศษในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการค้า และการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทยได้
ทั้งนี้ เหตุผลที่ IIPA ต้องการให้เลื่อนสถานะไทย เพราะยังมีการละเมิดอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะการละเมิดซีดีภาพยนตร์และเพลง เพราะไทยมีโรงงานผลิตซีดี ดีวีดี วีซีดีมากถึงถึง 42 แห่ง มีกำลังผลิต 542.5 ล้านแผ่นต่อปี โรงงานส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเพทฯ และปริมณฑล มีบางแห่งอยู่ตามตะเข็บชายแดนลาวและพม่า ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านที่ผลิตสินค้าละเมิด เช่น มาเลเซีย ลาว และจีน ยังใช้ไทยเป็นฐานในการส่งสินค้าละเมิดต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งศุลกากรของไทยไม่มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีการละเมิดหนังสืออย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่จะละเมิดด้วยการถ่ายเอกสารตำราวิชาการ หรือตำราเรียน
สำหรับการปราบปรามการละเมิดนั้น IIPA ระบุว่า ความสำเร็จของการปราบปรามของไทยขึ้นอยู่กับบุคคลที่กำกับดูแลการ ซึ่งการปราบปรามมีประสิทธิภาพมากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 แต่หลังจากนั้นเริ่มไม่ได้ผล เพราะมีการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำกับดูแลใหม่ และกว่าจะดำเนินการปราบปรามก็เกือบจะสิ้นปีแล้ว
"ผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปราบปรามการละเมิดต้องสร้างกลไกที่ไม่ทำให้การละเมิดกลับมาได้อีก โดยเฉพาะในระดับค้าปลีก ซึ่งครั้งหนึ่งรัฐบาลไทยเคยรณรงค์อย่างหนักในเรื่องนี้มาแล้ว ส่วนกรณีการใช้ซอฟต์แวร์ทางธุรกิจเถื่อน ที่มีการใช้มากถึง 77% นั้น ถือได้ว่าสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทางธุรกิจในไทยอย่างมหาศาล"รายงานข่าวอ้างถึงเหตุผลที่ IIPA ให้กับ USTR
นอกจากนี้ การละเมิดแบบใหม่ๆ ยังได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการละเมิดสัญญาณดาวเทียม เคเบิลทีวี และการละเมิดทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีการรายงานว่าในปี 2547 มีการละเมิดซอฟต์แวร์ออนไลน์ในไทย 1,304 ครั้ง แต่ในปี 2548 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 8,915 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้น 583% ส่วนใหญ่เป็นการละเมิดในระดับประชาชนกับประชาชน (P2P)
สำหรับในปี 2548 การละเมิดในไทยสร้างความเสียหายต่อสหรัฐฯ สูงถึง 308.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,043.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีมูลค่าความเสียหาย 184.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,211.1 ล้านบาท ส่วนการละเมิดใน 68 ประเทศ สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงสหรัฐฯ สูงถึง 15,826.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 617,245.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีความเสียหาย 15,112.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 589,383.6 ล้านบาท
|