ศูนย์ข้อมูลฯ แจ้งผลการจัดเก็บข้อมูลที่อยู่อาศัยปี 2548 พบการออกใบอนุญาตจัดสรรขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 12.5% รวมทั้งสิ้น 46,299 หน่วย จาก 308 โครงการ ขณะเดียวกันบ้านใหม่สร้างเสร็จจดทะเบียนจำนวน 72,072 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4% ด้านปล่อยสินเชื่อบุคคลทั่วประเทศทั้งปี 272,535 ล้านบาท ลดลง 7.4%
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรอบปี 2548 ว่า สถานการณ์โดยรวมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินจำนวนทั้งสิ้น 46,299 หน่วย จาก 308 โครงการ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในส่วนของจำนวนหน่วย 12.5% และจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปี 2547 โดยที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์มีจำนวนสูงสุดคือ 20,336 หน่วย ในขณะที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างทาวน์เฮาส์ในปี 2547 มีจำนวน 15,991 หน่วย สำหรับบ้านเดี่ยวมีการออกใบอนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 17,822 หน่วย โดยในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวน 17,719 หน่วย
ทั้งนี้ เมื่อมีการเปรียบเทียบข้อมูลรายไตรมาส พบว่าไตรมาส 1/2548 เป็นช่วงที่จำนวนที่อยู่อาศัยขออนุญาตจัดสรรขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 58% บ้านเดี่ยวเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนหน่วยสูงสุด แต่ในช่วงไตรมาส 4/2548 การขยายตัวกับมีสัดส่วนลดลงถึง 34.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี
อย่างไรก็ตาม หากแบ่งโครงการที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินตามทำเลที่ตั้งโครงการ พบว่ามีที่อยู่อาศัยขออนุญาตจัดสรรในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวน 18,433 หน่วย จาก 161 โครงการ ขณะที่มีจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรในพื้นที่ปริมณฑล 27,866 หน่วย จาก 147 โครงการ
สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรร คือ 72,072 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มีจำนวน 69,050 หน่วย ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยสร้างโดยผู้ประกอบการ 35,935 หน่วย ประชาชนสร้างเอง 25,244 หน่วย และอาคารชุด 10,893 หน่วย โดยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จโดยผู้ประกอบการรวมอาคารชุดขยายตัวเพิ่ม 65% ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 46,643 หน่วย เพิ่มขึ้น 5.4% ทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ 13,858 หน่วย ลดลง 10% อาคารชุด 10,893 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 29% และบ้านแฝด 678 หน่วย ลดลง 28.3%
ด้านสินเชื่อผู้ประกอบการปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ในรอบปี 2548 ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 28,587 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2547 มีอัตราการปล่อยสินเชื่อลดลงถึง 38% โดยในไตรมาส 4/2548 มียอดสินเชื่อปล่อยใหม่จำนวนทั้งสิ้น 4,975 ล้านบาท ลดลงประมาณ 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มียอดการปล่อยสินเชื่อสูงถึง 11,174 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการคงค้าง ณ ปี 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 773,846 ล้านบาท
ทั้งนี้พิจารณาจากมูลค่าสินเชื่อบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ยอดโดยรวมในช่วงปี 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 272,535 ล้านบาท ลดลงประมาณ 7.4% เมื่อเทียบกับปี 2547 ซึ่งมีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ 294,403 ล้านบาท โดยไตรมาส 4/2548 มียอดสินเชื่อปล่อยใหม่จำนวน 68,611 ล้านบาท ขณะที่เมื่อช่วงเดียวกันของปี 2547 มียอดการปล่อยสินเชื่อจำนวนทั้งสิ้น 81,122 ล้านบาท
ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากข้อมูลดังกล่าว เกือบทั้งหมดสะท้อนภาพอุปทาน (Supply) ซึ่งยังขาดข้อมูลด้านอุปสงค์ (Demand) และข้อมูลที่ยังไม่มีหน่วยงานใดจัดเก็บ ได้แก่ ข้อมูลที่อยู่อาศัยที่เริ่มก่อสร้าง (Housing Starts: Hard Start), ที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง, ที่อยู่อาศัยที่ขายได้ (Home Sales) และที่อยู่อาศัยคงเหลือพร้อมขาย
“เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลฯจึงได้ริเริ่มจัดทำแบบสอบถามและออกสำรวจภาคสนามโครงการที่อยู่อาศัยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2549 เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริงของธุรกิจ และมีแผนจะติดตามข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการสำรวจข้อมูลภาคสนาม โดยการดำเนินโครงการสำรวจกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่โครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการเปิดขายหรือให้เช่า 3 ประเภท ได้แก่ โครงการบ้านจัดสรร, โครงการอาคารชุดพักอาศัย , โครงการเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ และอพาร์ทเม้นท์ให้เช่า”
โดยกำหนดพื้นที่เป่าหมายทำการสำรวจให้ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครปฐม, สมุทรสาคร) ภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่,ลำพูน ภาคกลาง ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นครนายก ภาคตะวันออก ประกอบด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา, ขอนแก่น และภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต, สงขลา
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่าภายในปี 2549 การจัดทำฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ โดยศูนย์ข้อมูลฯ จะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเนื่องจากมีข้อมูลใน 2 ส่วนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน จะเข้าระบบฐานข้อมูลกลาง ซึ่งทำให้ผู้ใช้ข้อมูลได้รับประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะด้านการกำหนดทิศทางการลงทุนของภาคเอกชน การพิจารณาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในระบบสถาบันการเงิน และการกำหนดนโยบายส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ
|