|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ผ่านมา ได้ผลักดันตลาดทุนให้ขยายตัวได้ดีในระดับหนึ่ง แต่กระนั้นก็ตามความน่าสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศที่ขนเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาลงทุนแบบระยะยาวก็ยังมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อหวังผลเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาพลักษณ์ของตลาดทุนไทยยังไม่สวยงามและเป็นที่สะดุดตานักลงทุนต่างประเทศมากนัก ดังนั้นในแผนพัฒนาฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่แต่งตัวตลาดทุนให้สวยงามเพื่อกลบจุดอ่อนเท่านั้น แต่ยังต้องหาแนวทางเพื่อแก้ไขและขจัดจุดอ่อนออกไป
จุดอ่อนของตลาดทุนไทยนั้นมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง ตั้งแต่เรื่องความเข้าใจของนักลงทุนที่มองตลาดหุ้นเป็นแหล่งของการเก็งกำไร ซึ่งถ้าคิดเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับเกมการพนัน อีกเรื่องคือความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นตัวบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น หรือพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้ก็ตามยังไม่อาจดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้เท่าที่ควร
ด้วยเหตุนี้แผนพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 2 จึงเน้นพัฒนาบริษัทจดทะเบียนให้ดำเนินการตามหลักธรรมภิบาลที่มีมาตรฐาน เพื่อความความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุน และในส่วนนี้ภาครัฐจะพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีบางประการเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานที่สูงและขยายศักยภาพของกิจการ รวมถึงการเพิ่มผลิตภัณฑ์คือผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ ขนาดกลางและย่อมให้เข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างความหลากหลายของอุปทานและก่อให้เกิดอุปสงค์
สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความเข้าใจของนักลงทุน และตัวผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน คือ การเพิ่มบทบาทการเป็นแหล่งระดมทุนให้เท่าเทียมกับบทบาทของระบบสถาบันการเงิน
ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่า การเพิ่มบทบาทตลาดทุนในเรื่องของการระดมทุนให้เท่าเทียมระบบธนาคารเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างเสถียรภาพให้ประเทศ และยังทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกอื่นในการระดมทุนขยายกิจการได้อย่างไม่ต้องพึ่งระบบธนาคารเพียงอย่างเดียว
ในปีวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา ผู้ประกอบการล้วนแล้วแต่พึ่งการระดมทุนหรือกู้เงินจากธนาคารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศ ในยามนั้นเมื่อเศรษฐกิจ ล้มผู้ประกอบการเจ้งธนาคารก็พังเพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลายเป็นภาระภาครัฐที่ต้องเข้ามาแก้ไขดูแล
หากแต่ถ้าเพิ่มบทบาทตลาดทุนให้ผู้ประกอบการรู้จักระดมทุนผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดตราสารหนี้บ้างก็จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงได้บ้าง ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มสินค้าเข้าในตลาดทุน ทำให้เกิดความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ เพราะฉะนั้นแรงดึงดูดความน่าสนใจก็จะตามมา ซึ่งในแผนแม่บทการพัฒนาตลาดทุนฉบับ 2 ที่จะเกิดขึ้นก็เพื่อลบล้างจุดอ่อนที่กล่าวมาในข้างต้น
"แผนดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2549-ปี 2553 โดยมุ่งเน้นการยกระดับความสามารถของตลาดทุนไทย เพื่อให้สามารถสนับสนุนการระดมทุนและการทำหน้าที่ทางเลือกการออมในมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยไม่เน้นเพียงการเพิ่มมูลค่ารวมเท่านั้น แต่ยังมุ่งพัฒนาเสถียรภาพของราคา รวมทั้งส่งเสริมให้มีระดับราคาหรือมูลค่าที่สมบูรณ์"
ทนง กล่าวว่า แผนแม่บทฉบับที่ 2 มีแนวทางสำคัญ 7 ด้าน ซึ่งครอบคลุมตลาดทุนทั้งในส่วนตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น และตลาดอนุพันธ์ โดยมุ่งเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศส่วนของตลาดหุ้นจาก 10%ในปัจจุบันเป็น 20% ขณะเดียวกันจะทำให้สัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันต่อผู้ลงทุนบุคคลเป็น 40% ต่อ 60%
กล่าวง่าย ๆ คือสำหรับตลาดหุ้นนั้นตามแผนต้องการเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนที่เป็นสถาบันมากกว่ารายย่อย เพราะการเข้ามาเล่นหุ้นของรายย่อยนั้นทำให้ตลาดหุ้นขาดเสถียรภาพ เพราะเป็นการเล่นหรือลงทุนในระยะสั้นหวังเก็งกำไรแบบเกมการพนัน ขณะที่เพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้นนั้นจะทำให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนสถาบันมักจะลงทุนแบบระยะยาว กินเงินปันผล
ซึ่งในส่วนนี้กล่าวได้ว่าธุรกิจกองทุนรวมน่าจะได้รับผลประโยชน์ไปเต็ม ๆ และทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงขึ้น ด้วยการออกกองทุนที่แปลกใหม่และสนองความต้องการลูกค้ามากขึ้น
แหล่งข่าวจากธุรกิจกองทุนรวม บอกว่า กระนั้นก็ตามแม้กองทุนรวมจะได้รับประโยชน์จากแผนแม่บทนี้ แต่สิ่งสำคัญคือผู้ลงทุนนั้นเป็นรายย่อย ฉะนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจก่อนว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง เป็นไปได้ทั้งกำไรและขาดทุน แต่อย่างน้อยผู้ลงทุนก็ได้รู้จักที่จะเลือกรูปแบบการออมเงินที่หลากหลายขึ้น
"การออมเงินนั้นไม่ได้หมายถึงการเก็บเงินไว้ที่ธนาคารเพียงอย่างเดียว แต่การออมคือการรู้จักกระจายความเสี่ยง ลงทุนหาผลตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ บ้างนอกจากการฝากเงินเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นไปได้ว่าแม้การลงทุนจะมีความเสี่ยง แต่บางครั้งผลตอบแทนที่ได้รับอาจคุ้มค่า"
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการสร้างความรู้และความเข้าใจให้นักลงทุนรายย่อยที่ต้องการมาลงทุนในกองทุนรวม เช่นการแนะนำให้ลงทุนในจำนวนที่น้อย ๆ ก่อนเพื่อดูผลที่ออกมา หากพอใจก็ลงเพิ่มได้ หรือถ้าไม่พอใจก็ถอนคืน ซึ่งวิธีดังกล่าวจะสร้างความเข้าใจให้นักลงทุนรายย่อยได้
ด้านตลาดตราสารหนี้ ในส่วนนี้ความต้องการนักลงทุนส่วนทางกับตลาดกับหุ้น เพราะตลาดตราสารหนี้ต้องการเพิ่มจำนวนนักลงทุนรายย่อยมากกว่าสถาบันซึ่ง ตามแผนนั้นคือการเร่งขยายตลาดให้มีขนาดทัดเทียมกับตลาดเงินเพิ่มอุปทานของตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน โดยนำตราสารหนี้ขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนแบ่งเป็นหน่วยซื้อขายย่อยเพื่อให้นักลงทุนบุคคลสามารถเข้าถึงได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมด้วยการใช้มาตรการภาษีจูงใจให้กับบุคคลธรรมดาเข้ามาลงทุน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดตราสารหนี้
อีกทั้งเร็ว ๆ นี้ตลาดตราสารอนุพันธ์กำลังจะเกิดขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจ ของตลาดดังกล่าวสำหรับนักลงทุนบุคคลยังมีไม่เพียงพอ ในส่วนนี้จึงกำหนดให้เร่งทำการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ให้นักลงทุนทั่วไปได้รูถุงประโยชน์และโทษจากความเสี่ยงของอนุพันธ์ เนื่องจากตราสารอนุพันธ์จะเป็นนวัตกรรมการเงินใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น กระนั้นก็ตามในด้านประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์ส่วนหนึ่งก็เพื่อการลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน
แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 ไม่ได้ออกมาเพื่อการสร้างโฉมตลาดทุนไทยให้งามเป็นที่ดึงดูดใจนักลงทุนในประเทศ หรือต่างประเทศเท่านั้น แต่การสร้างโฉมงามให้กลายเป็นที่น่าสนใจนั้นสิ่งหนึ่งก็เพื่อดึงทุนมหาศาลจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแบบระยะยาว ที่ไม่ใช่เข้ามาเล่นสั้นทำกำไรแล้วขนเงินออกไป
|
|
|
|
|