|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การบินไทยเปิดสายการบินใหม่ “กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด”ขยายฐานลูกค้าสู่ศูนย์ธุรกิจตะวันออกกลาง “ปากีสถาน” หวังดันเป้าเติบโต 150 ล้าน บาทต่อเดือน หลัง2 เที่ยวบิน “การาจี-ลาฮอร์”ประสบความสำเร็จ ฑูตไทยประสานรัฐบาลปากีฯจัดแคมเปณ “Visit Pakistan” เพิ่มยอดขายให้การบินไทย-บูมท่องเที่ยวในอิสลามาบัด
30 ปีที่สายการบินไทย เปิดให้บริการข้ามฟ้าสู่ประเทศปากีสถานมาอย่างยาวนาน โดยไฟลท์แรก สายการบินไทยได้เปิดศักราชที่เมืองการาจี (KHI) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.1976 จนถึงปัจจุบัน จากนั้นต่อมาเมื่อ ก.ค.1994 การบินไทยได้เปิดไฟลท์เพิ่มขึ้นที่เมืองลาฮอร์ (LHE) เพื่อขยายฐานลูกค้าอีกหนึ่งเส้นทาง
และเมื่อปลายปี 2548 ที่ผ่านมาในวันที่ 2 พ.ย.สายการบินเที่ยวใหม่ล่าสุดบินตรงจากกรุงเทพฯถึง กรุงอิสลามาบัด ได้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ นับเป็นจุดบินที่ 3 นอกเหนือไปจากทั้ง 2 แห่งคือการาจีและลาฮอร์ ที่การบินไทยได้ขยายเส้นทาง เปิดให้บริการบินตรงจากกรุงเทพฯไปสู่ กรุงอิสลามาบัด (ISB) เมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศปากีสถาน
ทั้งนี้การบินไทยได้ตั้งเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้า ตลอดจนเป้าหมายที่จะปั้นเม็ดเงินก้อนโต ซึ่งถือเป็นการสร้างผลกำไรที่น่าสนใจท่ามกลางสถานการณ์ที่ ไม่เรื่องที่ง่ายดายนัก เนื่องจากในสภาพความเป็นจริงเป็นที่รู้กันดีว่า ด้วยปัจจัยบรรยากาศการเมืองที่ไม่อยู่ในภาวะที่นิ่ง อีกทั้งจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังคงพุ่งสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งอย่างหนัก อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆเหล่านี้กำลังรอท้าทายพิสูจน์ศักยภาพของการบินไทย
การบินไทยเปิดสายการบินใหม่ “กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด”
การเดินทางไปรับตำแหน่งในฐานะผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศปากีสถาน ของ “กิตติพงศ์ สารสมบูรณ์” เป็นเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งทีมงานของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ที่กรุงอิสลามาบัดนั้นต่างต้องทำงานอย่างหนักเพื่อศึกษาข้อมูลในด้านต่างๆของประเทศปากีสถาน ทั้งในด้านวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ตลอดจนด้านธุรกิจ เพื่อประมวลออกมาสู่การวางแผนการตลาดอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
โดยการเปิดสายการบินใหม่เส้นทางกรุงเทพฯ-อิสลามาบัด เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2548 ที่ผ่านมานั้น บริษัทการบินไทย ฯต้องการขยายบริการสู่ปากีสถานได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากสองเส้นทางที่มีอยู่เดิม คือเมืองการาจีและลาฮอร์ ส่งผลให้บริษัทการบินไทยฯสามารถขยายการบริการสู่ศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางได้อย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากเส้นทางกรุงเทพฯ-อิสลามาบัด มีด้วยกัน 2 เที่ยวบินประกอบด้วย เที่ยวบิน TG 509 บินในวันพุธและวันเสาร์ ออกจากกรุงเทพฯเวลา 19.30 น.ถึงกรุงอิสลามาบัด เวลา 22.45 น. และเที่ยวบิน TG 510 ในวันพฤหัสบดีและวันเสาร์ ออกจากอิสลามาบัด เวลา 23.00 น.ถึงกรุงเทพฯเวลา 06.30 น. จากตารางการบินนี้จะทำให้ผู้โดยสารทั้งจากประเทศไทย และประเทศอื่นๆในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการเดินทางทั้งขาเข้าและออก อย่างไรก็ตามกล่าวได้ว่าการบินไทย คือสายการบินแรก และสายการบินเดียวจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังกรุงอิสลามาบัด
สำหรับแผนการตลาดที่การบินไทย วางไว้คือให้ครอบคลุมผู้โดยสาร 3 กลุ่มหลักได้แก่ 1.กลุ่มเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business travel) 2.กลุ่มเดินทางเพื่อเยี่ยมครอบครัวและญาติ (Visit family and relatives) และ3.กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อการพักผ่อน (Leisue travel) โดยแต่ละกลุ่มลูกค้าการบินไทยได้วางกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าทั้งในและนอกประเทศปากีสถาน เพราะนอกเหนือไปจากการสร้างรายได้เข้าสู่ไทยแล้วด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับปากีสถาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
“สิงคโปร์ แอร์ไลน์”คู่แข่งที่ต้องจับตา
“เมื่อก่อนยังถือว่าเรายังไม่มีคู่แข่งมากนัก แต่เมื่อมีสิงคโปร์ แอร์ไลน์ มาเปิดสายการบิน บินวนที่ลาฮอร์ ทำให้เราต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากทางสิงคโปร์ แอร์ไลน์ นำเรื่องความเหนือกว่า ในด้านเกม สิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่อง แต่เมื่อล่าสุดเราได้ กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด คาดว่าจะต่อสู้กับคู่แข่งได้ เนื่องจากจะทำให้ลูกค้าสามารถบินไป-กลับ ได้ถึง3 จุด คือลาฮอร์ การาจี และอิสลามาบัด จุดนี้เราเหนือกว่าชัดเจน”
กิตติพงศ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปเยียนกรุงอิสลามาบัด เมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งชี้ถึงตัวเลขความสำเร็จในด้านการตลาดสายการบินใหม่ กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด ที่จะเติบโตขึ้นว่าสามารถแบ่งช่วงเวลาในการประเมินไว้ 3 ช่วง ได้แก่1. ในช่วง Winter Program จะเป็นช่วงที่กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักท่องเที่ยว เดินทางเข้า-ออกปากีสถาน เพื่อการท่องเที่ยวในลักษณะครอบครัวและแบบเดี่ยว ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวนี้จะมาจากชาวต่างชาติที่ทำงานประจำในกรุงอิสลามาบัด ขณะเดียวกันชาวปากีสถานเอง จำนวนไม่น้อยที่ต้องการเดินทางไปเยี่ยมญาติและท่องเที่ยว หลังจากผ่านพ้นช่วงรอมฎอนไปแล้วจะมีวันหยุดยาวนานถึง 1 สัปดาห์ ดังนั้นคาดว่าจะมีรายได้เติบโตในช่วงนี้ประมาณ12-13 %
สำหรับในช่วง Summer Program คาดว่าจะมีลูกค้านนิยมใช้บริการจำนวนมากกว่าช่วง Winter Program โดยจะทั้งกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มเดินทางเพื่อเยี่ยมครอบครัวและญาติและเดินทางเพื่อการพักผ่อน ผสมผสานกันโดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางไปเยี่ยมญาติชาวอิสลามาบัดที่พักอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งจากประเทศจีนและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ก่อนหน้านี้เรามีทั้งหมด 9 เที่ยวบิน คือที่ลาฮอร์มี 5 เที่ยวบิน และอีก 4 เที่ยวบินที่การาจี ตัวเลขรายได้เฉลี่ยเดือนละ 400 ล้านบาท แต่เมื่อเรามีกรุงเทพฯ-อิสลามาบัดเพิ่มขึ้นมาอีก คาดว่าน่าจะได้ถึง 150 ล้านบาทต่อเดือนสำหรับที่นี่แห่งเดียว”
อย่างไรก็ตามถึงแม้การบินไทย จะทำธุรกิจด้านนี้ในปากีสถานมายาวนาน แต่ในแง่การทำตลาดกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ ในแต่ละระดับนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการบินไทย ต้องการสร้างแบรนด์ให้อยู่ในใจของลูกค้า อย่างมีระดับ แต่ขณะเดียวกันกลับยังคงจำเป็นที่จะต้องหาทางรักษากลุ่มลูกค้าระดับล่างที่มีจำนวนไม่น้อยไว้ด้วยเช่นกัน นั่นคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ใช้บริการตั๋วราคาถูก มีตัวเลขจากปี 2005 ทั้งสิ้น 4,000 คนเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากปากีสถาน เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ตามข้อตกลงการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างสองประเทศ
“ ถึงแม้สายการบินของเรา จะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มราคาสูงก็ตาม แต่เราก็ไม่ต้องการที่จะให้เรากลายเป็นสายการบินราคาถูก เพราะหากเรานำกลยุทธ์การลดราคามาใช้ เท่ากับเราลดเครื่องมือในการต่อสู้กับคู่ลงเช่นกัน ซึ่งต่อไปก็ต้องทำในเช่นนี้อีก จะส่งผลให้เราไม่สามารถยกระดับสายการบินและผู้โดยสารของเราได้
ดังนั้นเราน่าจะหาลูกค้ากลุ่มอื่นมาชดเชยแทน โดยอาจจะเป็นกลุ่มอีกระดับหนึ่ง ในราคาที่เหมาะสม และเชื่อว่าเราจะไม่สูญเสียลูกค้ากลุ่มแรงงานกลุ่มนี้ไปทั้งหมดแน่นอน”
“ตักศิลา-ตัก-ติ-ไบ” จุดขายท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
นอกเหนือไปจากนำกลยุทธ์ทางการตลาดและการขยายเส้นทางการบินเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทั้งในปากีสถานแล้ว การบินไทยยังมีกลยุทธ์ในการดึงกลุ่มลูกค้าคนไทย ที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ เท่านั้นแต่ยังดึงศักยภาพสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในกรุงอิสลามาบัดต่างๆที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรกดโลกโดย UNESCO คือ ตักศิลา ในอดีตคือแหล่งศูนย์รวมแห่งการศึกษาและศาสนาพุทธในยุคโบราณ ก่อนที่จะถูก ชาวฮั่นขาวรุกรานและทำลายในพุทธศตวรรษที่ 10 และ ตาก-ติ-ไบ พุทธศาสนสถานอีกแห่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจากนักท่องเที่ยวในเชิงศิลปะวัฒนธรรม ด้านประวัติศาสตร์ ทั้งจากไทย จีน และญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาพุทธ
“ในจุดนี้ต้องนับว่าการบินไทยไม่เพียงแต่จะได้ลูกค้าของเราเอง แต่อีกด้านหนึ่งต้องถือว่าเราได้ช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวให้กับปากีสถานไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะในส่วนของเมืองตักศิลา รัฐบาลไทยได้มีโครงการให้การสนับสนุนงบประมาณในการขุดค้นทางด้านประวัติศาสตร์ ร่วมกัน”
โอกาสในการลงทุนของการบินไทย ควบคู่ไปกับการดำเนินการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวให้กับปากีสถานนั้น ยังมีข้ออุปสรรคที่มาจากภายในเอง โดย “พิษณุ จันทร์วิทัน” เอกอัตรราชทูตไทย ประจำกรุงอิสลามาบัด ระบุว่า ในปากีสถานเองยังมีปัญหาเรื่องกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา ที่มีความขัดแย้งกันตลอด แต่การที่การบินไทยเลือกเน้นไปยังกลุ่มลูกค้านักธุรกิจ ชาวต่างชาติที่ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ที่ประจำการอยู่ในกรุงอิสลามาบัด น่าจะส่งผลให้การทำเปิดเที่ยวบินกรุงเทพฯ-อิสลามาบัด ประสบความสำเร็จได้
“จากตัวเลขมีชาวปากีสฯเดินทางไปไทยปีละ 50,000 คนแต่ปรากฏว่าคนไทยเองกลับรู้จักที่นี่น้อยมาก เพียงไม่กี่พันคนในแต่ละปี เพราะคนที่มาเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการมีที่เที่ยว ที่รับประทานอาหารดีๆ แต่ที่ปากีฯหากจะกินอาหารที่ดีก็จะมีราคาสูง เช่นเดียวกับหากต้องการที่พักที่ดี ก็จะเสียค่าใช้จ่ายแพง ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรคต่อการทำทัวร์”
ดังนั้นจึงจะจัดทำโครงการ Visit Pakistan คาดว่าจะเสร็จสิ้นในราวปลายปี 49 นี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับรัฐบาลปากีสถานเพื่อรวบรวบข้อมูลด้านต่างๆของปากีสถานทั้ง ศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยว ถ่ายทอดโดยนักเขียนสารคดีด้านการท่องเที่ยวของไทย คาดว่าจากโครงการ Visit Pakistan จะส่งผลดีต่อตัวเลขเป้าหมายการเติบโตให้กับการบินไทยได้มากขึ้น..
|
|
|
|
|