เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ เป็นอดีตซิตี้แบงเกอร์อีกคนหนึ่งที่หักเหออกจากถนนสายการธนาคารสู่ตลาดทุน
เขาเคยทำงานที่ซิตี้แบงก์ ประเทศไทยนาน 8 ปีครึ่งหลังเรียนจบ MBA จากColumbia
University สหรัฐฯ เขาเริ่มต้นที่ธนาคารแห่งนี้ด้วยการเป็น management trainee
อยู่ 1 ปี แล้วจึงถูกจับลงในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ หลังจากนั้นก็มาดูโพรดักส์คัสโตเดียน
(custodian) และอยู่ในสายงานนี้ตลอด เริ่มจาก product manager จนเป็น business
manager
เขากล่าวว่า "คัสโตเดียนที่ซิตี้แบงก์ นี่โตขึ้นมามาก ปี 1988 มีคน
8 คนทำรายการ 300 รายการต่อเดือน ก่อนผมออกปี 1996 มีคน 70 คนมีการทำรายการประมาณ
20,000 รายการต่อเดือน มันก็พัฒนาขึ้นมาเยอะ volume เยอะขึ้นมาก"
เมื่อเขาออกจากซิตี้แบงก์ เพื่อมาทำเรื่องกองทุนรวมใน AJF นั้น ระหว่างที่จัดตั้งบริษัท
เขานั่งอยู่ในแบงก์กรุงศรีฯ ระยะหนึ่งก่อน ด้วยตำแหน่ง SVP Mutual Business
Development Office แล้วจึงมาเป็น MD ใน AJF เมื่อจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยในต้นปีที่ผ่านมา
เขามองว่าการมาดูกองทุนเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขาก็จริง เพราะต้องดูแลลูกค้าที่เป็นรายย่อย
"เพราะในสมัยที่ผมอยู่ซิตี้แบงก์ ลูกค้าสถาบัน 100% เรารู้แล้วว่าวิธีการทำ
ทำอย่างไร โอกาสที่จะเรียนรู้ทางด้านนั้นก็มีอกี แต่ว่าผมอยากรู้ทางด้านนี้มากขึ้น
คุยกับลูกค้ารายย่อย เราคิดว่าเรามีความรู้อยู่บ้าง เรื่องคัสโตเดียนนี่ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง
และผมก็ร่วมพัฒนาในตลาดกองทุนรวมนี่มาเหมือนกัน เคยนั่งเป็นอนุกรรมการของ
ก.ล.ต. สร้างกฎกองทุนเปิดร่วมกับ บลจ.ต่างๆ"
จะว่าไปแล้ว เขาจึงไม่รู้สึกแปลกวงการแต่อย่างใด เพราะธุรกิจคัสโตเดียนแบงก์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับ
บลจ.อยู่มาก
ใน AJF มีพนักงาน 24 คน มี fund manager และรวมผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนด้วยทั้งหมด
3 คน มีดีลเลอร์อีก 2 คน หรือนัยหนึ่งมีทีมการลงทุนทั้งหมด 5 คน
ในจำนวนพนักงานเท่านี้ หากเพิ่มกองทุนหรือขนาดกองทุนใหญ่ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มคน
"เรามีหลักการของกลุ่ม JF ว่า JF Fund manager ที่ HK มี 14-15 คน บริหารกองทุนประมาณ
300,000 บาท ครอบคลุม 10 ประเทศในเอเชีย เขาถามเราว่ากองทุนของเราจะโตเท่าไร
ผมให้เป็น 20,000 ล้านบาท เขาบอกมีคนบริหาร 4 คนก็เกินพอ เพราะดูตลาดไทยแห่งเดียว
ของเขานั้นต้องดูหลายประเทศ ทั่วโลกนั่นแหละ ไม่ใช่เฉพาะเอเชียด้วย ต้องดูยุโรป
อเมริกาด้วย"
เรืองวิทย์ยึดมั่นหลักการที่ว่า "การทำให้คนมีประสิทธิภาพสูงก็คือมีข้อมูลให้
การที่จะบริหารการลงทุนในหลายๆ ประเทศได้นั้น มันต้องมีข้อมูล feed เข้ามาจากหลายๆ
ประเทศ ซึ่งอันนี้คือแผนงานของกลุ่ม JF คือทุกวันจันทร์ทุกคนมานั่งเสนอแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอด
อันนี้ไม่ต้องซื้อหา แต่เป็นวิธีการทำงานอยู่แล้ว"
ด้านภาวะอุตสาหกรรมกองทุนรวมที่ย่ำแย่ตามสถานการณ์การลงทุนในเวลานี้ เรืองวิทย์ให้ความเห็นว่า
"มันก็เลวร้ายลงไปเหมือนอุตสาหกรรมอื่น เราจะมาโดดเดี่ยวดีกว่าคนอื่นคงไม่ได้
นั่นคือสาเหตุที่เราเน้นการอบรมให้ผู้ลงทุนเข้าใจ เป็นสิ่งที่เราเห็นมาแล้วว่าคนอื่นที่เขาทำและเน้นเรื่องการหาผู้ถือหน่วยลงทุนมามากๆ
เป็นอย่างไร บางคนก็โดยรองเท้าแตะบ้าง บางคนก็มีกล่องอะไรมาวางอยู่หน้าออฟฟิศบ้าง
เราไม่อยากเจออย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเริ่มมาตั้งแต่การที่เราดีไซน์กองทุนว่าให้ผู้ลงทุนสถาบันก่อน
minimum สูงๆ เข้าไว้ 50,000 บาท ดังนั้นการที่คนจะถูกบังคับมาซื้อ มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้น้อย
คนที่จะเอามาลงทุนก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจดี ถูกบังคับมาไม่ได้ ต้องเข้าใจ
นี่คือเราพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างเก่า ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี
เราก็ต้องอธิบาย แต่ผมคิดว่า เขาน่าจะยอมรับคำอธิบายของเรามากกว่าเก่า"