|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
เงินเฟ้อเดือนก.พ.เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 0.3% จากการขึ้นค่าไฟฟ้า และค่าโดยสาร แต่เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 5.6% โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนทั้งปี คาดยังอยู่ระหว่าง 3.5-4.5%
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) ในเดือนก.พ.2549 เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนม.ค.2549 เป็นเพราะดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.5% จากการเพิ่มขึ้นของค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนก.พ.ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) 19.01 สตางค์/หน่วย และค่าโดยสารธารณะ ทั้งค่ารถร่วมบริการในกรุงเทพเพิ่มขึ้น 1 บาท รถบขส.เพิ่มขึ้นอีก 3 สตางค์/กิโลเมตร และค่าโดยสารในภูมิภาคบางจังหวัดสูงขึ้นด้วย ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงเล็กน้อย เพราะราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลดลง ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่เปลี่ยนแปลง เพราะราคาอาหารสดต่างๆ ทั้งเนื้อหมู ไก่ ไข่ ปลา และผักสด มีราคาลดลง มีเพียงราคาผลไม้ และสัตว์น้ำที่ราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ เงินเฟ้อในเดือนก.พ.เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2548 เพิ่มขึ้น 5.6% ถือเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวลง เพราะเดือนม.ค.2549 เพิ่มขึ้น 5.9% ซึ่งเป็นผลจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 3.2% จากการสูงขึ้นของเนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ น้ำมันพืช ขณะที่ดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 7.1% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง 38.8% ค่าโดยสารสาธารณะ 26.7%
"เงินเฟ้อเดือนนี้เพิ่ม 0.3% เป็นเพราะหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ดึงให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเงินเฟ้อเมื่อเทียบเดือนกับเดือนก่อนหน้าในปีเดียวกันเพิ่มขึ้นเดือนละ 0.3% ก็ไม่น่าห่วง สบายใจได้ แต่เชื่อว่า หากเทียบเดือนเดียวกันของปีนี้กับปีก่อน ดัชนีจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 5.6-5.7% ไปจนถึงกลางปี จากนั้นจะเริ่มลดลง เพราะแรงกดดันต่างๆ เริ่มลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สถานการณ์การเมืองจะไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อแน่นอน" นายการุณกล่าว
ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% แต่ค่อนมาทาง 3.5% มากกว่า โดยอยู่บนสมมติฐานที่ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4.7-5.7% อัตราแลกเปลี่ยน 41 บาท/เหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วันเฉลี่ยทั้งปี 4.5% ค่าแรงงานขั้นต่ำ 190 บาท/วัน และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 55-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นางนทีทิพย์ ทองเขาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กล่าวว่า ค่าไฟฟ้ามีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อ 3% ถือว่าน้อยมาก ส่วนค่าเอฟทีที่ปรับขึ้น 19.01 สตางค์/หน่วยนั้น มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อน้อยมาก เพราะไม่ใช่ทุกบ้านที่ถูกเก็บเพิ่ม 19.01 สตางค์/หน่วย จะเสียเพิ่มเฉพาะบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่าหน่วยที่กำหนดเท่านั้น ส่วนปัญหาราคาน้ำตาลทราย ขณะนี้ เกือบจะไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อแล้ว เพราะปัญหาได้คลี่คลายลงมากแล้ว ซึ่งน้ำตาลทรายมีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อเพียง 0.01% เท่านั้น
|
|
 |
|
|