Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2540
"คาลิโก แจ็ค" ฟาสต์ซีฟู้ดฝีมือคนไทย             
โดย มานิตา เข็มทอง
 


   
search resources

คาลิโก แจ็ค
ธีรพงศ์ จันศิริ
Fastfood




คาลิโก แจ็ค ในวันนี้กลายเป็นหนึ่งในอินเตอร์ฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับการยอมรับเทียบเท่าฟาสต์ฟู้ดต่างชาติ หลังจากที่ใช้เวลาสร้างแบรนด์เพียง 3 ปี เตรียมฉลองเปิดสาขาที่ 9 ปลายปีนี้ ณ โรงหนังเมจอร์ซีนีเพล็กซ์ เอกมัย สวนกระแสเศรษฐกิจด้วยการตั้งเป้าขยายสาขาให้ได้ 20 แห่ง ใน 5 ปีข้างหน้า

"คาลิโก แจ็ค" เจ้าของสโลแกน "เมนูเด็ดจากทะเล" เป็นความภูมิใจของธีรพงษ์ จันศิริ ในฐานะผู้บุกเบิกตลาดอาหารทะเลในรูปแบบของฟาสต์ฟู้ดเป็นเจ้าแรกในเมืองไทย ด้วยเงินทุนเริ่มต้นประมาณ 100 ล้านบาท ในการเปิดสาขาครบทั้งหมด 9 สาขาในสิ้นปีนี้ โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้น 3 ปี นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่งดงามทีเดียว

"ผมคิดว่าเราไปได้ดีในแง่ของการขยายสาขา จากสาขาเดียวมาถึง 9 สาขาในสิ้นปีนี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่ช้าเกินไป ถ้าเทียบกับรายอื่นในอุตสาหกรรมนี้ เท่าที่ผ่านมาก็มีเพียงไม่กี่ราย ที่ขยายตัวได้เร็วขนาดนี้" ธีรพงษ์ กล่าวอย่างภูมิใจ

ทั้ง 9 สาขาของคาลิโก แจ็ค เป็นการเติบโตภายใต้การบริหารงานของบริษัท ธีน์ โฮลดิ้ง ทั้งสิ้น โดยไม่ได้ใช้ระบบแฟรนไชส์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย ซึ่งเป็นความตั้งใจของธีรพงษ์ที่ต้องการให้ระบบการทำงานมีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากเขามองว่า 3 ปีที่ผ่านมาของคาลิโก แจ็ค เป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้ลองผิดลองถูก และต่อจากนี้ ภายใน 2-5 ปีเขาคิดว่าทุกอย่างจะพร้อมและเป็นระบบมากกว่านี้ สามารถปล่อยให้ผู้อื่นเข้ามาบริหารได้ในมาตรฐานเดียวกัน

"คนที่จะเข้ามาร่วมธุรกิจกับเราต้องเข้าใจว่า ทำไมเราถึงต้องเน้นคุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากเราเป็นธุรกิจในเครือของ TUF ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีชื่อเสียงในเรื่องของคุณภาพที่ทั่วโลกรู้จักดี ดังนั้นฟาสต์ฟู้ดของเราก็ต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกให้ได้เช่นกัน" เขากล่าวอย่างมุ่งมั่น

ถึงแม้ว่าคาลิโก แจ็ค ในวันนี้จะยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเดินทางบนถนนสายธุรกิจฟาสต์ฟู้ดของบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นส์ โปรดักส์ (TUF) แต่ธีรพงษ์ก็มีความตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงของธุรกิจนี้

"เรารู้อยู่แล้วว่า ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเป็นตลาดที่ใหญ่และการแข่งขันสูงมากสำหรับเรา เพราะรอบตัวเรามีแต่ chain ระดับโลกทั้งนั้น ซึ่งการที่เราจะอยู่ในธุรกิจนี้ได้เราต้องใช้กลยุทธ์ตรงกันข้ามกับเขาตลอด เราต้องรู้กำลังและศักยภาพของเราเอง จะทำอะไรที่ใหญ่เกินตัวก็ไม่ได้"

ในวันนี้ คาลิโก แจ็ค สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ระดับหนึ่งแล้วบนถนนสายฟาสต์ฟู้ด จากศักยภาพที่โดดเด่นในด้านอาหารทะเลซึ่งไม่ซ้ำแบบใครในเมืองไทย จนได้รับการยอมรับจากห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ โดยจัดให้ คาลิโก แจ็ค รวมอยู่ในกลุ่มของฟาสต์ฟู้ดระดับอินเตอร์ทีเดียว

"ถึงแม้ศักดิ์ศรีเราจะเล็ก แต่เวลาทำงาน เราไม่เคยคิดว่าเราเล็ก เราภูมิใจในตัวเรา เราถึงได้อยู่ในระดับอินเตอร์" ธีรพงษ์ กล่าว

ช่องว่างทางการตลาด เป็นที่มาของ "คาลิโก แจ็ค"
ฟาสต์ซีฟู้ดรายแรกของคนไทย

ธีรพงษ์ได้เล่าถึงเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เริ่มจากการที่ TUF ต้องการบุกตลาดอาหารทะเลในเมืองไทยให้มากขึ้นกว่าในอดีต เพราะที่ผ่านมาตลาดหลักของ TUF กว่า 90% เป็นตลาดในต่างประเทศ ประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัวที่เขาได้จากการติดต่อทำธุรกิจกับฟาสต์ฟู้ดและร้านอาหารในอเมริกามานาน เขาจึงใช้ศักยภาพอันแข็งแกร่งนี้ก่อตั้งบริษัท ธีร์ โฮลดิ้ง ขึ้นมาเพื่อบริหารฟาสต์ซีฟู้ด "คาลิโก แจ็ค" อันเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค

ธีพงษ์ใช้เวลานานถึง 1 ปีในการคิดคอนเซ็ปต์และออกแบบร้าน รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากร กว่าจะกลายมาเป็น คาลิโก แจ็ค สาขาแรกที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ได้ในเดือนสิงหาคม 2537 จากนั้นเขาก็ทยอยเปิดสาขามาเรื่อยเฉลี่ยปีละ 2 สาขา

"เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วไม่มีใครทำแบบซีฟู้ดเลย มีแต่ฟาสต์ฟู้ดที่เป็นเนื้อกับไก่เป็นหลัก เราก็คิดว่าน่าจะมีช่องทางทางการตลาดบ้าง ประกอบกับสินค้าของเราส่งออกเป็นส่วนใหญ่น่าจะเข้ามาเปิดตลาดในประเทศบ้าง และช่วงที่ผ่านมาก็มีข่าวที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับเนื้อวัวที่อังกฤษ ความตื่นตัวของอาหารประเภทปลาก็มีมากขึ้น เป็นโชคดีของเราและเราก็เลยได้ทำในสิ่งที่เรามีความแข็งแกร่ง" ผู้บริหารหนุ่มเล่า

นอกจากนี้เขายังเล่าถึงที่มาของการคิดแบรนด์เนมขึ้นมาเอง แทนที่จะซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศอย่างรายอื่นที่นิยมทำกันว่า เนื่องจากแฟรนไชส์ต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่มีแห่งไหนที่เข้ากับคอนเซ็ปต์ที่เขาต้องการเลย

คอนเซ็ปต์ที่ว่าก็คือความยืดหยุ่นและเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินธุรกิจ

เขามีมุมมองในเรื่องนี้ว่า "การที่เราซื้อเอาลิขสิทธิ์มาตั้งสาขาในประเทศไทยก็เป็นความง่ายในแง่ของการบริหารงาน ซึ่งเขาทำไว้เป็นระบบอยู่แล้ว แต่นั่นหมายความว่าเราต้องเสียค่าลิขสิทธิ์และค่า Royalty Fee และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เราต้องสูญเสียความเป็นอิสระในการจัดการไปด้วย ซึ่งผมไม่ต้องการเสียสิ่งเหล่านี้ไป ผมจึงคิดที่จะสร้างแบรนด์เนมขึ้นมาเอง"

แม้ว่าการเริ่มต้นของเขาจะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ปัจจุบันชื่อของคาลิโก แจ็ค ได้ติดหูผู้ที่รักการบริโภคอาหารทะเลแล้ว นี่คือความสำเร็จของแผนการตลาดที่ธีรพงษ์และทีมงานได้วางไว้

บริษัทธีร์ โฮสดิ้ง เป็นบริษัทสำเร็จรูปในตัว ประกอบไปด้วยแผนก Marketing Communication ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจกรรมทางด้านการสื่อสาร โดยเน้นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์และตัวสินค้า ทั้งในภาพรวมและภาพย่อย

ส่วนแผนก QC (Quality Control) เป็นแผนกที่ดูแลและควบคุมคุณภาพการทำงานทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การจัดการคุณภาพอาหาร และการให้บริการ รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรทุกระดับด้วย

เน้นสร้าง brand awareness ไม่เน้นยอดขาย

"เราต้องยอมรับว่าในช่วงเศรษฐกิจที่ซบเซาขณะนี้ กำลังซื้อของคนก็ตกลงไปมาก ดังนั้นเราต้องหันมาใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในระยะยาว เพื่อเวลาที่เศรษฐกิจดีคนก็จะเข้ามาสู่ร้านของเราเอง" ธีรพงษ์กล่าว และเขาได้เผยถึงแผนในการตลาดในช่วงที่คู่แข่งหลายรายของเขากำลังขวัญกระเจิง ถึงขั้นงัดแคมเปญด้านราคามาใช้เพื่อดึงดูดลูกค้าด้วยว่า

"เรามีการเพิ่มเมนูใหม่ที่มีระดับราคาถูกลงมาใช้แทนการลดราคา โดยขายเป็นเซ็ต ได้แก่ เซ็ตข้าวผัดสเปน เซ็ตข้าวผัดกระเทียม และซีฟู้ดบาร์บีคิว เป็นต้น เราพยายามทำทุกหนทางเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับร้านเรา และคุณภาพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของร้านเรา" และจากศักยภาพในเรื่องของวัตถุดิบที่ได้จากบริษัทแม่ในฐานะผู้ผลิตเอง ทำให้เมนูของคาลิโก แจ็ค มีการพัฒนาให้ผู้บริโภครู้สึกแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลาประกอบกับทางบริษัทฯ มีแผนทางการตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะปีนี้ดูเหมือนจะโหมมากขึ้นด้วย เพื่อสร้างความตระหนักในยี่ห้อสินค้าให้เกิดแก่ผู้บริโภค

สำหรับงบประมาณทางด้านการตลาดประชาสัมพันธ์ ธีรพงษ์ได้ตั้งไว้ปีละประมาณ 15 ล้านบาท โดยในปีที่แล้วเน้นยิงสื่อทางโทรทัศน์เป็นหลัก แต่ในปีนี้จะมีการใช้สื่อที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยจะเน้นหนักที่สื่อทางวิทยุและในโรงภาพยนตร์ ส่วนป้ายโฆษณาตามท้ายรถตุ๊กๆ และนิตยสารต่างๆ เป็นสื่อรองลงมา

ขยายถึง 20 สาขา ภายใน 5 ปีข้างหน้า

คาลิโก แจ็ค ถือเป็นความมุ่งมั่นที่สำคัญในการที่จะทำให้ TUF สามารถเข้ามาบุกตลาดในเมืองไทยและประเทศเพื่อบ้านข้างเคียงได้ ประกอบกับเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงธีรพงษ์จึงให้ความเอาใจใส่และดูแลมากเป็นพิเศษ

"ผู้บริหารที่แท้จริงแล้วต้องทำในสิ่งที่คนอื่นไม่อยากทำ จะต้องทำในสิ่งที่ยากและลำบาก อย่างเช่นบริษัทนี้ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ของเรา ผมจึงให้เวลากับงานนี้มากพอสมควร ส่วนบริษัทอื่นที่เข้าที่เข้าทางแล้ว เราก็สามารถปล่อยให้คนอื่นดูแลได้"

สำหรับภาวะเศรษฐกิจทรุดเช่นนี้กลับส่งผลดีต่อการขยายสาขาของคาลิโก แจ็ค เนื่องจากมีทำเลให้เลือกมากขึ้น และธีรพงษ์ก็เลือกที่จะลงทุนในวันนี้ เพื่อผลตอบแทนที่จะได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า

"เราเป็นบริษัทใหม่ที่ไม่มีปัญหาทางด้านการเงินและการจัดการ สภาพเศรษฐกิจในวันนี้จึงเป็นเรื่องดีสำหรับเราเพราะคู่แข่งส่วนใหญ่จะชะลอการขยายสาขา แต่เรากลับมีแผนที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และตอนนี้ก็ได้ติดต่อทำเลไว้หลายแห่งแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นในกรุงเทพฯ ส่วนที่ต่างจังหวัดก็มี 2 แห่งที่เซ็นสัญญาไปแล้วคือที่ เดอะมอลล์ โคราช และที่ PTT Service Area บนมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพ-ชลบุรี

สำหรับแผนในการขยายสาขาไปยังภูมิภาคนี้ธีรพงษ์มีความเชื่อว่า คาลิโก แจ็ค สามารถขยายไปได้ง่ายและเร็วกว่ารายอื่นที่เป็นซับแฟรนไชส์ เนื่องจากเขามีอำนาจในการตัดสินใจเองว่าจะไปหรือไม่ไปที่ไหน ประกอบกับ TUF ก็เป็นฐานสำคัญในเรื่องของชื่อเสียงและวัตถุดิบ การขยายสาขาไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขาและนโยบายหลักในการทำธุรกิจในต่างแดนของเขาก็คือ การมีพันธมิตรทางธุรกิจ เพราะเขาเชื่อว่าการเข้าไปเพียงลำพังนั้นจะเสียเปรียบคนที่อยู่ในพื้นที่อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี แม้เขาจะได้เปรียบคู่แข่งในการขยายสาขา แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่เขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับคู่แข่งรายอื่นๆ ก็คือ ต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบของคาลิโก แจ็ค ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งธีรพงษ์กล่าวว่าอาจจะต้องมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย เนื่องจากกำลังซื้อมีน้อยอยู่แล้ว ถ้าปรับมากเขาก็จะไม่สามารถรักษาลูกค้าที่มีอยู่ไว้ได้

"เรายอมเจ็บตัวนิดหน่อยในวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้า" เขากล่าวทิ้งท้าย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us