Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2540
ใครจะต่อลมหายใจ 'เกีย กรุ๊ป'             
 

   
related stories

พรีเมียร์ เกีย มอเตอร์ ทำได้แค่เฝ้ารอเท่านั้น

   
search resources

เกีย กรุ๊ป




เกีย กรุ๊ป กำลังประสบปัญหาจวนล้มละลาย นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งเกาหลีใต้ แหล่งผลิตรถยนต์ที่กำลังก้าวขึ้นมาเทียบชั้นระดับโลกไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือกำลังการผลิต

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตัดสินใจ ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือตามกฎหมายคุ้มครองการล้มละลาย โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 ให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมกันพยุงฐานะของเกียไม่ให้ล้มละลาย

เกีย กรุ๊ป ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเกาหลีใต้ได้ตกอยู่ภายใต้การคุ้มครองของเจ้าหนี้ ด้วยหนี้สินที่สูงถึง 11.8 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 13,200 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายกิจการอย่างรวดเร็ว ขณะที่ยอดจำหน่ายกลับย่ำแย่ลง

วิกฤติครั้งนี้ได้ทำให้ เกีย กรุ๊ป กลายเป็นเป้าหมายหลักของการชิงไหวชิงพริบของกลุ่มการค้าชั้นนำทั้ง 4 รายในเกาหลีใต้ คือ แอลจี, ซัมซุง, ฮุนได และแดวู

ที่สำคัญอย่างยิ่ง การได้มาซึ่ง เกีย กรุ๊ป นั้นไม่ใช่เพียงแค่ได้เป็นเจ้าของแชโบลใหญ่อันดับ 8 ของประเทศ แต่หมายถึงว่าผู้ใดที่มีชัย ก็จะก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติ และกลายเป็นองค์กรธุรกิจมหึมาที่ยากต่อกร

รัฐบาลโสมยื่นข้อเสนอให้เวลาเกียจัดการกับปัญหาด้วยตนเอง โดยปลอดแรงกดดันจากความจำเป็นต้องหาเงินมาชำระหนี้ กระนั้นก็ตาม ได้มีข่าวลือหนาหูในเชิงที่ว่า จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่และกุนซือในคณะรัฐบาล คือการเปลี่ยนผู้บริหารชุดปัจจุบันของเกีย และจัดแจงนำเกียใส่พานให้แชโบลรายอื่นนำไปบริหาร

ซึ่งแชโบลตัวเต็งย่อมหนีไม่พ้นซัมซุง

เพราะธุรกิจรถยนต์ในเครือซัมซุง กำลังอยู่ในยุคเริ่มต้น และรถยนต์คันแรกจะออกวางตลาดในปีหน้า ซึ่งถ้าซัมซุงได้ไปนั่นหมายถึงว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์ในเกาหลีใต้จะไม่ล้นตลาดอย่างมากมายเหมือนที่เป็นอยู่ และแนวโน้มในอนาคต เพราะผู้ผลิตจะไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการผลิตที่ล้นตลาดถ้าปล่อยไป อาจกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องมาตามแก้แบบซ้ำรอยเดิมก็เป็นได้

นักเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปริมาณการผลิตรถยนต์ที่ล้นเกินภายในประเทศ และเชื่อว่าวิกฤติการณ์ของ เกีย น่าจะเป็นโอกาสทองของรัฐที่จะลงมือปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้

"หากมองจากจุดยืนของชาติแล้ว การให้ซัมซุงเทกโอเวอร์เกียจะเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะแม้ว่าจะให้ฮุนไดรับหน้าที่นี้ ซัมซุงก็คงเดินหน้าขยายกำลังการผลิตรถยนต์ในชื่อตนต่อไปอยู่ดี แต่หากซัมซุงได้เกียไป กำลังการผลิตโดยรวมก็อาจจะไม่เพิ่มขึ้น" นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันโบรกเกอร์ต่างชาติในกรุงโซลให้ความเห็น

ที่สำคัญ ซัมซุง มอเตอร์ กิจการที่เพิ่งตั้งขึ้นหมาดๆ นั้น การได้ครอบครองเกียจะถอได้ว่าเป็นทางลัดของการแก้ปัญหา ในด้านการคิดค้นโมเดลหลากหลายใหม่ๆ สำหรับรถในชื่อซัมซุง รวมถึงการหาซัปพลายเออร์ และดีลเลอร์ทั่วประเทศ ยิ่งกว่านั้นเมื่อปี 2537 ซัมซุงได้พยายามเข้าเทกโอเวอร์เกียมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่กระแสต่อต้านที่เชี่ยวกรากของสาธารณชนทำให้ซัมซุง ต้องยอมถอย

"หากสามารถดึงเกียเข้ามาได้ ก็เท่ากับว่าซัมซุงจะก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ของเกาหลีโดยอัตโนมัติ" แฮงค์ มอร์ริส กรรมการผู้จัดการจากคอร์โย ซีเคียวริตีส์ ให้ภาพที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ซัมซุง กรุ๊ป ได้ประกาศในเวลาต่อมาว่าไม่สนใจที่จะเข้าซื้อกิจการของเกีย มอเตอร์ หรือบริษัทย่อยใดๆ ของเกีย กรุ๊ป ที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

แต่แม้ซัมซุงจะประกาศออกมาเช่นนั้น ฮุนไดและแดวูก็คงไม่อาจนิ่งนอนใจได้ และยังคงคัดค้านอย่างหัวชนฝาในการผนวก ซัมซุง-เกีย ด้วยวิตกว่าพลังอันเต็มเปี่ยมของซัมซุงจะมีผลกัดเซาะธุรกิจรอบด้านของตน ทั้งคู่ลงทุนถึงขนาดยอมตกลงในหลักการที่จะร่วมมือเทกโอเวอร์เกีย มอเตอร์ หากเป็นวิธีเดียวในการหยุดยั้งซัมซุงได้

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นแนวหน้าคู่นี้ระบุว่า แต่ละฝ่ายได้เข้ามาช่วยถือหุ้นในบริษัทเกีย สตีล กิจการเหล็กกล้าอีกแห่งในเครือเกีย กรุ๊ป กลยุทธ์อันน่าแปลกใจนี้ จะมีผลช่วยเพิ่มพลังในการฟื้นตัวแก่กิจการเกีย มอเตอร์ เนื่องจากธุรกิจเหล็กกล้าเป็นสายที่ขาดทุนมากที่สุดในกลุ่มเกีย

ฮุนไดและแดวูยังเข้าซื้อหุ้นในเกีย มอเตอร์ ด้วยและเป็นที่เชื่อกันในวงกว้างว่า ทั้งคู่ถือหุ้นมากพอที่จะป้องกันเกียจากการถูกกลืนผ่านการกว้านซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ กระนั้นบริษัททั้งสองยัไม่ยอมยืนยันรายงานข่าวข้างต้น

การชิงไหวพริบระหว่างซัมซุงกับฮุนไดและแดวูนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายอาจไม่ได้กลายเป็นผู้ชนะก็ได้ เพราะแอลจี กรุ๊ป ที่ค่อนข้างเงียบ แต่ในทางลึกแล้ว กระแสข่าวรายงานว่า แอลจี กรุ๊ป เป็นทางเลือกซึ่งผู้บริหารของเกียพอใจที่สุด นอกจากนี้เสียงของฟอร์ด มอเตอร์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของ เกีย มอเตอร์ ก็ยังมีความสำคัญอยู่ และผู้เกี่ยวข้องต้องคอยเงี่ยหูฟังเช่นกันว่า ยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตกรายนี้จะเอาอย่างไรกับกรณีที่เกิดขึ้น

เฮนรี่ มอริส กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอร์โย อินเตอร์เนชั่นแนล (ฮ่องกง) กลุ่มการลงทุนของเกาหลีรายหนึ่งคิดว่า เกียมีสายการผลิตรถยนต์ที่แข็งแกร่งแต่ที่ต้องสูญเสียจวนจะล้มละลายอยู่ในปัจจุบันนั้นมีสาเหตุมาจากการทุ่มเงินทุนไป ในอุตสาหกรรมที่ไม่ให้ผลตอบแทนอย่างเช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า และการก่อสร้าง สภาวะเช่นนี้เป็นสภาวะที่แชโบลหลายแห่งกำลังเผชิญอยู่ และพฤติกรรมดังกล่าวได้กลายเป็นเงาสะท้อนวัฒนธรรมธุรกิจของเกาหลีใต้ ที่เน้นขนาดขององค์กรและส่วนแบ่งตลาด มากกว่าผลกำไร แม้ยอดการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เกือบจะกล่าวได้ว่าไม่ได้กำไร

การต่อลมหายใจของ เกีย กรุ๊ป จะออกมาในรูปแบบใด อีกไม่นานนัก คงเห็นภาพชัดเจนขึ้น แต่เชื่อได้ว่า พรีเมียร์ กรุ๊ป คงจะประสานความสัมพันธ์กับเกียยุคใหม่ได้ไม่ยากเย็นนัก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us