สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเผยตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ม.ค.49 ยังขยายตัวได้ดี ทั้งผลการจัดเก็บภาษี ดัชนีราคาสินค้า และการท่องเที่ยว แต่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับลดลง เนื่องจากความกังวลทางการเมืองในปัจจุบัน ด้านการส่งออกขยายตัวได้ดี ขณะที่การนำเข้าเติบโตลดลง ทำให้ขาดดุลการค้าเพียง 442 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังโดยรวมในเดือนมกราคม 2549 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการคลังล่าสุดพบว่าภาษีฐานรายได้ที่จัดเก็บจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลขยายตัวดี โดยขยายตัวที่ร้อยละ 13.3 ต่อปี เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 ต่อปีในปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงรายได้ของภาคธุรกิจและประชาชนขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ภาษีฐานการบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 15.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.6 ต่อปี ในเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน
โดยภาคการเกษตรยังขยายตัวได้ดี ตามดัชนีราคาสินค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.5 ต่อปี ในเดือนมกราคม 2549 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.4 ในเดือนธันวาคม 2548 ทำให้คาดว่ารายได้เกษตรกรจะยังคงขยายตัวในระดับสูง สำหรับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2548 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมโรงงานในหมวดผลิตภัณฑ์เคมี ฐานที่สูงของปีก่อนของหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงการชะลอตัวของอุปสงค์ของภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ผลผลิตในหมวดวัสดุก่อสร้างและเหล็กลดลง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกยังขยายตัวดี โดยเฉพาะในหมวดแผงวงจร และ
ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ สำหรับภาคบริการเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับการจ้างงานในภาคบริการที่ขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ในเดือนธันวาคม 2548 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 1.0 ในเดือนพฤศจิกายน 2548
ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 83.6 จุด ในเดือนธันวาคม 2548 เหลือ 82.0 จุด ในเดือนมกราคม 2549 โดยมีปัจจัยหลักมาจากความกังวลของสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2549 ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งสะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 19.5 ต่อปี ในเดือนมกราคม 2549 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมกราคม ขยายตัวร้อยละ 10.5 ต่อปี ลดลงจากอัตราการขยายตัวในเดือนธันวาคม 2548 ที่เร่งตัวที่ร้อยละ 41.3 ต่อปี
ด้านการค้าต่างประเทศ แนวโน้มการส่งออกสินค้าที่เร่งตัวขึ้น และการนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวลดลงมาก โดยมูลค่าการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 8,946 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี ดีขึ้นจากเดือนธันวาคม 2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 9,388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 ต่อปี ชะลอลงมาจากเดือนธันวาคม 2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 27.9 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้ายังคงขาดดุลที่ 442 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2549 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.9 ต่อปี เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 1.4 ในเดือนธันวาคม 2548 อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 53.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2549 หรือเท่ากับ 5.7 เดือนของมูลค่าการนำเข้า หรือประมาณ 3.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
สำหรับรายได้สุทธิของรัฐบาลจัดเก็บได้รวมทั้งสิ้น 99,743 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 209 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.2 โดยภาษีฐานรายได้ยังคงสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 13.3 ต่อปี ในเดือนมกราคม ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขึ้นร้อยละ 11.3 และภาษีเงินได้นิติบุคคลขยายตัวร้อยละ 16.3 นอกจากนี้ ภาษีที่เก็บจากฐานการบริโภคโดยวัดจากฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ขยายตัวดีขึ้นจากเดือนธันวาคม 2548 ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.6 ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดี
ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรก (ต.ค.48-ม.ค.49) ของปีงบประมาณ 2549 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 372.9 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.1 และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณจำนวน 4,182 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 สำหรับในด้านรายจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2549 (ต.ค.-ธ.ค.48) ได้มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 454,340 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายในปีงบประมาณจำนวน 312,008 ล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 142,332 ล้านบาท โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2549 คิดเป็นร้อยละ 22.9 สูงกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ที่ร้อยละ 22.0
|