ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ หวังเปลี่ยนภาพการซื้อขายกุ้งในตลาดส่งออก ล่าสุดปั้นโปรเจกต์ "กุ้งครบวงจร" จับมือร่วมกับผู้ประกอบการกุ้งตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 13 กลุ่ม เร่งปั้นคุณภาพตลาดกุ้งไทยเทียบชั้นสากล เผยการเมืองเดือดไม่กระทบต่อยูเอฟพีและพรานทะเลที่เป็นธุรกิจอาหาร
นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด และฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ จำกัด (ยูเอฟพี) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จัดตั้งโครงการ "กุ้งครบวงจร"(Integrated Operation of Shrimp Business)เนื่องจากต้องการเพิ่มศักยภาพการส่งออกกุ้งของไทย ประกอบกับต้องการเปลี่ยนวิธีการซื้อขายกุ้งในตลาดส่งออกแบบระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาตรงที่อเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยนิยมเลือกซื้อกุ้งในช่วงที่กุ้งมีราคาถูกและอ่อนตัวลงในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี แต่จากการตั้งโครงการกุ้งครบวงจรแล้วจะทำให้มีการซื้อขายกุ้งแบบล่วงหน้าและเป็นระบบมากขึ้น
"เราคาดว่าจากโครงการนี้ จะทำให้ส่งออกกุ้งได้เพิ่มขึ้น10-20% จากมูลค่าส่งออกกุ้งเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยตลาดที่ไทยส่งออกมากสุด ได้แก่ อเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น"
นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ,เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) หรือการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคี (Free Trade Area หรือ FTA) ซึ่งไทยมีการเจรจากับหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว และประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์
ปัจจุบันกลุ่มยูเอฟพีมียอดส่งออกปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยคิดเป็นวัตถุดิบกุ้งเพื่อการผลิตและส่งออกปีละประมาณ 20,000 - 40,000 ตัน หรือคิดเป็น 8-12% ของกุ้งที่ผลิตได้ในไทย ส่วนแนวโน้มของตลาดอุตสาหกรรมการส่งออกไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงอยู่ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง และต้องเข้มงวดกระบวนการผลิตที่ต้องได้มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้เป็นจุดแข็งของการผลิตกุ้งไทย
สำหรับโครงการกุ้งครบวงจรเป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกันของกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการส่งออกกุ้งของไทย อาทิ บริษัท โกล์ด คอยน์ สเปเชียลิตี้ส์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารกุ้งรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิกบริษัท ซาย อาคควา สยาม จำกัด บริษัทผู้ผลิตลูกกุ้งชั้นนำของโลกที่เชี่ยวชาญด้านการคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์กุ้งและกลุ่มเกษตรกร
โดยแต่ละกลุ่มจะดำเนินการภายใต้กรอบและข้อกำหนดที่คณะกรรมการของโครงการได้กำหนดไว้ โดยอาศัยความร่วมมือ การดูแล และความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการในแต่ละกระบวนการทั้งผู้ผลิตอาหารกุ้ง ผู้ผลิตลูกกุ้ง ผู้เลี้ยงกุ้ง โรงงานผลิตและส่งออก รวมทั้งภาครัฐที่ให้การสนับสนุน ภายใต้แนวคิด "Supply Chain" ทำให้สามารถตรวจสอบคุณภาพในแต่ละกระบวนการได้อย่างชัดเจนและโปร่งใสในทุกขั้นตอน (Full Traceability) และให้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับสมาชิกทุกกลุ่ม
ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมประมง ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกกุ้งไทยในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอีก 7.7% หรือเพิ่มจาก 418,000 ตัน เป็น 450,000 ตัน หรือ เพิ่มในด้านมูลค่าถึง 20% จาก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
**การเมืองไม่กระทบพรานทะเล**
นายอนุรัตน์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลต่อธุรกิจของบริษัทฯมากนัก เนื่องจากธุรกิจยูเอฟพีเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจที่ลงทุนในประเทศอาจเกิดความไม่มั่นใจในระยะหนึ่ง และไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง หรือมองว่ามีผลกระทบในวงกว้างในแง่จิตวิทยาของผู้บริโภค ในส่วนของพรานทะเลที่เน้นทำตลาดในประเทศก็มองว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่คนต้องทานทุกวันๆละ 3 มื้อ โดยแผนการดำเนินงานของพารนทะเลยังคงเดินหน้าเหมือนเดิมและมีการติดตามสถานการณืการเมืองอย่างใกล้ชิดในเรื่องต่างๆ เช่น การเดินขบวนกระทบต่อจุดขายพรานทะเลหรือไม่ เป็นต้น
|