Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์27 กุมภาพันธ์ 2549
ฟิลิปส์ พัฒนาช่องทางต่างจังหวัด ขยายฐานลูกค้าไฮเอนด์             
 


   
www resources

Philips Thailand Homepage

   
search resources

ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย), บจก.
Marketing
Electric




ฟิลิปส์ เดินเกมพัฒนาช่องทางขายในต่างจังหวัด หวังขยายฐานลูกค้าไฮเอนด์ให้กว้างขึ้น หลังจากให้ความสำคัญกับตลาดกรุงเทพฯด้วยการทำกลยุทธ์ Experience Marketing และการทำ TSMP โดยมีการเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าของฟิลิปส์กับคู่แข่ง และการทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนการตัดสินใจซื้อ ณ จุดขาย

สมรภูมิการแข่งขันในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้านอกจากจะมีสินค้าที่ดี มีความหลากหลายของราคาให้ผู้บริโภคได้เลือกแล้ว ช่องทางการจำหน่ายก็มีส่วนสำคัญและมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสินค้าและราคา เพราะแต่ละช่องทางก็มีตำแหน่งทางการตลาดที่แตกต่างกัน ฟิลิปส์ซึ่งวางตัวเองเป็นพรีเมี่ยมแบรนด์ที่มาจากยุโรปแต่มีราคาแพงในสายตาผู้บริโภค ทำให้ฟิลิปส์ต้องมีการใช้กลยุทธ์ Experience Marketing เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคได้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของฟิลิปส์กับคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า แต่ทั้งนี้ฟิลิปส์ก็ยังมีการทำสินค้าราคาถูกเพื่อตอบสนองทุกความต้องการของตลาด เช่น ทีวี 29 นิ้ว ราคาต่ำกว่า 1 หมื่นบาท พลาสม่าทีวี 42 นิ้วราคา 99,000 บาท เพียงแต่สินค้าเหล่านี้ไม่ได้เป็นไฮไลท์หลัก ฟิลิปส์ยังคงให้ความสำคัญกับการทำตลาดสินค้าไฮเอนด์ มีการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะของฟิลิปส์เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากสินค้าไฮเอนด์มีศักยภาพในการสร้างกำไรสูงกว่าสินค้าระดับล่างซึ่งต้องเผชิญกับการตัดราคาของคู่แข่ง

การทำ Experience Marketing ตลอดจนถึงการใช้ Total Store Management program (TSMP เป็นการพัฒนาให้พนักงานขายมีความรู้ที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆไปสู่ผู้บริโภค รวมถึงการจัดหน้าร้านให้ดึงดูดสายตาลูกค้า) ของฟิลิปส์ในช่วงที่ผ่านมามักเป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรด้านการขายของฟิลิปส์ซึ่งส่วนใหญ่จะประจำอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ฟิลิปส์มองว่าตลาดต่างจังหวัดหลายแห่งมีศักยภาพที่จะตอบรับกับสินค้าไฮเอนด์ของฟิลิปส์ ดังนั้นจึงมีการพัฒนาช่องทางการขายในต่างจังหวัดให้สามารถสร้างยอดขายจากสินค้าไฮเอนด์ได้มากขึ้น

ฟิลิปส์วางกลยุทธ์ในการพัฒนาช่องทางจำหน่ายในปีนี้ไว้ 3 แนวทางคือ การ Co- Development ร่วมกับร้านค้า การสร้างความพร้อมของช่องทางจำหน่าย และการสร้างความพร้อมในการบริการลูกค้า

การ Co-Development มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างยอดขายสินค้าพรีเมี่ยมให้มากขึ้น โดยจะมีการพัฒนาบุคลากรขายของร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งในเรื่องของทักษะการขาย ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและเทคโนโลยี โดยรูปแบบร้านค้าจะมี 2 แบบคือ Pro Shop เป็นร้านที่ขายสินค้าระดับพรีเมี่ยม เช่น แอลซีดี และพลาสม่าทีวี มาไม่น้อยกว่า 2 ปี ส่วน Step Shop เป็นร้านที่เพิ่งเริ่มทำตลาดสินค้าระดับพรีเมี่ยม นอกจากนี้ยังมีการอบรมทักษะการขายสินค้าเฉพาะอย่างเช่น ทีวีจอแบนบาง พลาสม่าทีวี แอลซีดีทีวี เครื่องเล่นดีวีดี ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นไฮไลท์หลักในการทำตลาดในปีนี้ โดยอิงกระแสฟุตบอลโลกในการผลักดันให้สินค้าหมวดภาพมีการเติบโตมากขึ้น

ในส่วนของการสร้างความพร้อมให้กับช่องทางจำหน่าย จะมีการพัฒนาร้านค้า 120 แห่งให้เป็น Pixel Plus Connected Planet ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยี เอ็นเตอร์เทรนเมนต์ผ่านทางฮาร์ดแวร์ต่างๆ เช่น เพลง เกมส์และโทรศัพท์มือถือที่สามารถเชื่อมต่อกับสินค้าหมวดภาพระดับพรีเมี่ยมได้ โดยในปีนี้บริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์หมวดเสียงภายใต้คอนเซ็ปต์ "เอวี ไอที คอนเวอร์เจนต์" เช่น เครื่องเสียงรุ่นแมกซ์ ดีวีดี ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านช่องยูเอสบีในโน้ตบุ๊ค ซึ่งจะวางตลาดในช่วงไตรมาสสองปีนี้ นอกจากนี้ Pixel Plus Connected Planet ยังมีการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ตลอดจนถึงการให้ข้อแนะนำในการเลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม Philips @ its Best ณ จุดขายเพื่อเจาะลูกค้าระดับบน

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการให้บริการในปีที่ผ่านมาฟิลิปส์มีการให้บริการ Privilege Service กับลูกค้าที่ซื้อสินค้าระดับไฮเอนด์ของฟิลิปส์ เช่น พลาสม่าทีวี, แอลซีดี ทีวี, โปรเจคชั่น ทีวี, ดีแอลพี ทีวี, ตู้เย็นแบบ Side by Side และเครื่องซักผ้าซิลเวอร์ นาโน (เฉพาะรุ่น H1245A) โดยจะมีการสาธิตการใช้สินค้า การเปลี่ยนเครื่องใหม่หากสินค้ามีปัญหาใน 14 วันแรกที่ซื้อไป ถ้าชำรุดหลังจากนั้นก็มีเครื่องยืมระหว่างซ่อมและการรับประกันซ่อมเสร็จภายใน 7 วัน มาในปีนี้เราจะขยายบริการดังกล่าวไปยังต่างจังหวัดโดยใช้ชื่อว่า Pixel Plus Care ซึ่งการบริการทุกอย่างยังคงเหมือนกับ Privilege Service จะต่างก็เพียง Privilege เป็นการสาธิตโดยพนักงานของฟิลิปส์ ขณะที่พิกเซล พลัส แคร์ เป็นการให้บริการโดยพนักงานของร้านค้านั้นๆ

"ปีนี้เราจะมีการพัฒนาช่องทางขายในจังหวัดเชียงใหม่ พัทยา โคราช หัวหิน ขอนแก่น ภูเก็ต อุดรฯ เพื่อให้บริการที่รวดเร็วขึ้น และจังหวัดเหล่านี้มีศักยภาพในการเติบโตสูง อย่างที่หัวหินมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เข้ามามากมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบางโครงการหนีซึนามิขึ้นมา ส่วนพัทยาหรือเชียงใหม่ก็เป็นเมืองท่องเที่ยวมีชาวต่างชาติมากจึงเชื่อว่าจังหวัดเหล่านี้มีศักยภาพสูง ฟิลิปส์จึงหวังที่จะขยายตลาดสินค้าไฮเอนด์ไปสู่จังหวัดเหล่านี้" สมชัย ถาวรรุ่งโรจน์ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) กล่าว

อย่างไรก็ดีคู่แข่งหลายรายของฟิลิปส์ก็มีการพัฒนาช่องทางการขายเช่นกัน โดยโซนี่มีการทำร้านโซนี่ยูนิเวอร์สมาร่วม 10 ปี เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภคและให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ๆของโซนี่ ล่าสุดก็มีการเปิดตัวโซนี่ สไตล์ที่สยามพารากอนในช่องปลายปีที่ผ่านมา แต่แบรนด์ชอปของโซนี่ทั้งหมดก็กระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯเท่านั้นไม่ได้มีการขยายไปสู่ต่างจังหวัด เช่นเดียวกับซัมซุงที่มีร้านค้าหลักในการขายสินค้าไฮเอนด์มีอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เช่น ซัมซุงพลาซ่า และซัมซุง แกลเลอรี่ ชอป แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นร้านค้าของแบรนด์โซนี่และซัมซุงทำให้สามารถควบคุมการจัดการได้ง่ายกว่า ในขณะที่ฟิลิปส์ไม่ได้มีแบรนด์ชอปเหมือน 2 ค่ายดังกล่าว

สำหรับซัมซุง นอกจากจะมีแบรนด์ชอปของตัวเองแล้ว ปีนี้ซัมซุงยังมีแผนที่จะพัฒนาช่องทางจำหน่ายร่วมกับร้านค้าดีลเลอร์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขายสินค้าไฮเอนด์ภายใต้แนวคิด together for number one เพื่อรองรับยุค Digital Convergence ที่สินค้ามีการเชื่อมต่อถึงกันไม่ว่าจะเป็น เอวี ไอที ทำให้ช่องทางเหล่านั้นมีโอกาสในการขายสินค้าข้ามหมวดมากขึ้น การที่กล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ ทีวี สื่อบันทึกข้อมูล คอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อถึงกันได้ ทำให้แนวโน้มของสินค้าเอวีและไอทีจะผนวกเข้ามาอยู่ภายในร้านเดียวกัน ไม่มีการแยกว่าเป็นร้านเอวี หรือร้านไอทีเหมือนในอดีต

ในส่วนของแอลจีมี ดิจิตอลเซ็นเตอร์ ที่สาทร และที่เชียงใหม่ เพียง 2 แห่งเท่านั้นที่เป็นต้นแบบให้กับร้านค้าที่จะพัฒนาตัวเองให้สามารถสร้างยอดขายสินค้าไฮเอนด์ได้ โดยสินค้าไฮเอนด์ของแอลจีสามารถสร้างกำไรหรือมาร์จิ้นได้สูงกว่าสินค้าปกติ 30% นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาแอลจีก็มีการทำอินสโตร์โปรโมชั่นเพื่อนำสินค้าไฮเอนด์ไปโรดโชว์ในต่างจังหวัดสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคเป็นเทคโนโลยีของแอลจีและเป็นการสร้างสีสันให้กับร้านค้า ดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน แต่ทุกอย่างเป็นการดำเนินการโดยแอลจี เมื่อกิจกรรมสิ้นสุดทุกอย่างก็กลับเป็นปกติ บุคลากรของร้านค้าบางส่วนยังขาดศักยภาพที่จะทำการขายสินค้าไฮเอนด์ได้ และด้วยความที่เป็นสินค้ามีราคาแพง ผู้บริโภคมีการใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อค่อนข้างนาน การให้ข้อมูลที่จะสร้างความเข้าใจและน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งจุดนี้ฟิลิปส์มีความได้เปรียบอยู่มากเพราะมีการพัฒนาศักยภาพให้กับพนักงานขายของร้านค้าในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ดีในปีนี้แอลจีมีแผนที่จะพัฒนาชอปกว่า 100 แห่ง ซึ่งจะมีทั้งที่เป็นของดีลเลอร์และของแอลจีเองเพื่อที่จะเป็นชอปสำหรับสร้างยอดขายให้กับสินค้าไฮเอนด์โดยเฉพาะ ซึ่งคาดว่ารูปแบบชอปใหม่ทั้ง 100 แห่งจะมีสัดส่วนยอดขายสินค้าไฮเอนด์สูงถึง 60% และในระยะยาวบริษัทตั้งเป้าที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีสัดส่วนยอดขายสินค้าไฮเอนด์สูงถึง 70% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีเพยง 30% เท่านั้น

จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ในการพัฒนาช่องทางขายถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะทำให้สินค้านั้นขายได้หรือขายไม่ได้ ที่ผ่านมาแบรนด์น้องใหม่มักเข้าสู่ตลาดด้วยการทำสินค้าราคาถูก แต่ถ้าจะอยู่ในตลาดได้ยาวนานก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งหลายๆแบรนด์ก็ไล่ตามกันทัน ในขณะที่ช่วงเวลาของการตัดสินใจซื้อที่สำคัญที่สุดอยู่ ณ จุดขาย ดังนั้นหลายๆแบรนด์จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางจำหน่ายทั้งการฝึกอบรมบุคลากรด้านการขาย การจัดดิสเพลย์หน้าร้าน รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบร้านค้าใหม่ๆ และการขยายโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับร้านค้าเหล่านั้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us