ไทยสกายทีวี เป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวีในยุคแรกๆ ที่เปิดให้บริการหลังจากไอบีซีเคเบิลทีวีนำร่องให้บริการไปได้ไม่นาน
ตลอด 5-6 ปีเต็มของการดำเนินธุรกิจ ไทยสกายทีวีต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย
ไทยสกายทีวี ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับความรุ่งเรืองในยุคอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู
6 ปีที่แล้ว คีรี กาญจนพาสน์ มังกรจีนแห่งฮ่องกงเจ้าของบริษัทธนายง เป็นผู้ให้กำเนิดไทยสกายทีวีขึ้นมา
ด้วยความที่ใช้ชีวิตอยู่ฮ่องกงมานานจึงมองเห็นถึงลู่ทางธุรกิจด้านโทรคมนาคม
และบรอดคาสติ้งในเมืองไทย
คีรีเปิดตัวไทยสกายทีวีออกสู่ตลาดด้วยความยิ่งใหญ่ตามสไตล์คนที่ทำอะไรเล็กๆ
ไม่เป็น คีรีทุ่มเงินกว่า 100 ล้านบาท ดึงการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี
2535 เข้ามาจัดในไทย
แต่ก็เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ไทยสกายทีวีมีผลงานที่สร้างชื่อได้ เพราะนับจากนั้นไทยสกายทีวีก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหามาตลอด
โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น และโครงสร้างการบริหารภายใน
แม้คีรีจะประสบความสำเร็จในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ธุรกิจเคเบิลทีวีไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ที่พอปลูกบ้านเสร็จแล้วก็ขายได้เงินเข้ากระเป๋า
แต่ธุรกิจเคเบิลทีวีต้องอาศัยเงินทุน และระยะเวลาความอดทนในการลงทุนกว่าที่จะได้ผลกำไรกลับคืนมาและนั่นไม่ใช่สไตล์ของคีรี
ต่อมาคีรีก็ขายหุ้นของไทยสกายทีวีให้กับกลุ่มวัฏจักร ซึ่งกำลังต้องการขยายจากสื่อสิ่งพิมพไปยังสื่ออื่นๆ
การที่ไทยสกายทีวีตกมาอยู่ในมือของกลุ่มวัฏจักร หลายคนมองว่าอาจจะทำให้สถานการณ์ของไทยสกายทีวีดีขึ้น
เพราะอยู่ในธุรกิจสื่อมีข้อมูลข่าวสารอยู่แล้ว
แต่เอาเข้าจริงแล้ว เมืองไทยไม่เหมือนอเมริกา การที่ซีเอ็นเอ็นเกิดได้ในอเมริกา
ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จในเมืองไทย เมื่อเคเบิลทีวียังเป็นของใหม่ และคนไทยส่วนใหญ่นิยมดูภาพยนตร์จากต่างประเทศ
ในขณะที่รายการของไทยสกายทีวี ซึ่งมุ่งเน้นรายการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านข่าว
และภาพยนตร์ไทยเก่าๆ และละครเก่า จึงไม่ได้รับความนิยมจากคนดู
สถานการณ์ของไทยสกายทีวีจึงตกเป็นรองไอบีซีหลายขุม แม้ว่าในช่วงหลังจะเริ่มหันมาทุ่มซื้อรายการจากต่างประเทศ
แต่ก็ไม่สามารถสู้กับไอบีซีที่โกยซอฟต์แวร์ต่างประเทศมาไว้ในมือจำนวนมากแล้ว
ตลอดเวลา 1-2 ปีมานี้ ไทยสกายทีวีมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารมาตลอด
ตั้งแต่วิชัย ตันตราธิวุธ ที่ถูกส่งมาจากกลุ่มวัฏจักร ยงยุทธ ฟูพงศ์ศิริพันธ์
จนมาถึงประมุท สูตระบุตร อดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.
แต่จนแล้วจนรอดสถานการณ์ของไทยสกายทีวีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น
ยิ่งทั้งไอบีซีและยูทีวี คู่แข่งหน้าใหม่ในตลาดต่างทุ่มเงินทุนเร่งขยายทั้งด้านซอฟต์แวร์รายการ
และเครือข่ายกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อสร้างความเป็นต่อในการแข่งขัน ไทยสกายทีวีลำบากมาก
ขึ้นตัวเลขยอดสมาชิกลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งล่าสุด ไทยสกายทีวีถูกชินวัตรแซทเทิลไลท์ตัดสัญญาณดาวเทียมระบบดีทีเอช
เพราะค้างค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจำนวน 1.5 ทรานสปอนเดอร์ มาเป็นเวลา 1
ปีเต็ม จึงทำให้ไทยสกายทีวีต้องหยุดให้บริการระบบดีทีเอชให้กับลูกค้าไปโดยปริยาย
ลูกค้า MMDS ของไทยสกายทีวีก็มีอยู่ไม่กี่รายเท่านั้น
เหตุการณ์ครั้งนี้อาจถึงเวลาแล้วที่ไทยสกายทีวีต้องตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไปในธุรกิจนี้