|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แนวโน้มการแข่งขันในตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่สนุกแน่ จากตัวเลขการเติบโตที่มีมากกว่า 20% จึงหอมหวนชวนเชิญให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ กระโดดเข้ามาร่วมเล่น ทำให้รายเก่าต้องรักษาส่วนแบ่ง ด้วยการส่งสินค้าตัวใหม่เข้าไปสกัดกั้นก่อน
การวางตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำเร็จรูปภายใต้แบรนด์เซอร์เทนตี้การ์ด (Certainty Guard) ของค่ายดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการปรับกลยุทธ์เพื่อต้อนรับการแข่งขันที่เชื่อว่าจะรุนแรงขึ้น ทั้งการบุกหนักของผู้เล่นหน้าเก่าที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ค่ายมาร์เก็ตติ้ง อินเทลลิเจ้นท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์อันอัน ผู้บุกเบิกตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในบ้านเรา กับค่ายยู.เอส. สัมมิท โอเวอร์ซีส์ เจ้าของแบรนด์อินโก เพียวลีนตลอดจนผู้เล่นหน้าใหม่ที่เชื่อว่าจะเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ประกอบการในตลาดผ้าอ้อมเด็ก หรือบริษัทผู้ผลิตผ้าอนามัย ที่สามารถปรับไลน์มาผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่ได้อย่างไม่ยากเย็น
เหตุผลสำคัญของการส่งเซอร์เทนตี้ การ์ด เข้าสู่ตลาดก็เพื่อขยายตลาดไปหาผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยใช้ผ้าอ้อมมาก่อน ด้วยสินค้าตัวใหม่นี้มีคุณสมบัติที่ดีกว่าเซอร์เทนตี้ธรรมดาที่วางจำหน่ายอยู่ ตรงขอบขาด้านในที่ช่วยป้องกันการรั่วซึมเวลาสวมใส่ และแถบเทปด้านหน้าติดซ้ำได้หลายครั้ง ทำให้ผู้ไม่เคยใช้ผ้าอ้อมมาก่อนสามารถติดแล้วติดอีกในบริเวณไหนก็ได้ เพราะถ้าเป็นแบบธรรมดาจะต้องติดตรงตำแหน่งเดิมที่เคยติดเท่านั้น ซึ่งเหมาะกับผู้บริโภคที่เคยใช้มาก่อน และมีประสบการณ์ในการติดมานาน
"เราออกการ์ดมาเพื่อเป็นทางเลือก เพราะเชื่อว่าว่ามี new user ใหม่ๆเข้ามาในตลาดนี้ ถ้าเข้ามาเริ่มที่เซอร์เทนตี้ธรรมดาอาจจะยากสำหรับเขา" เป็นคำกล่าวของ วัลลภ สิริขจรเดชสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
หลังจากส่งเซอร์เทนตี้ การ์ด เข้าสู่ตลาดทำให้ดีเอสจีฯ มีผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 3 ตัว คือ เซอร์เทนตี้ ราคาชิ้นละประมาณ 15 บาท เซอร์เทนตี้ การ์ด ชิ้นละ 17 บาท และดิสโป้ 123 จับตลาดพรีเมียมราคา 24 บาท
การส่งเซอร์เทนตี้ การ์ด เข้าสู่ตลาดครั้งนี้เป็นครั้งแรกของดีเอสจีฯที่หันมาใช้กลยุทธ์อัมเบลล่า แบรนด์ แทนการใช้กลยุทธ์มัลติแบรนด์จากที่เคยส่ง แฮนดี้ ไว้เป็นคู่หูคอยลุยคู่แข่งในตลาดอีโคโนมีก่อนหน้านี้ แต่เนื่องจากแฮนดี้มียอดขายไม่มาก เมื่อเทียบกับเซอร์เทนตี้ที่มียอดขายเป็นอับดับหนึ่งในเซกเมนต์อีโคโนมี คือมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 65% เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้บริหารจึงยุบแบรนด์แฮนดี้ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแบรนด์ใหม่ที่จะส่งเข้าตลาด เพื่อเปลี่ยนมาเป็นเซอร์เทนตี้การ์ดแทน เพราะเชื่อว่าชื่อของเซอร์เทนตี้จะช่วยกระชากยอดขายของแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งลอนช์เข้าสู่ตลาดให้พุ่งขึ้นตามไปด้วยไม่ยาก
"มันเป็นเรื่องของ Brand Strategy มากกว่าในแง่ของการบริหารงบประมาณ และการทำตลาด"
ตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในปีที่ผ่านมามีปริมาณการขายราว 22 ล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 350 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตราว 20% สำหรับปีนี้คาดว่าปริมาณการขายจะขยับขึ้นมาเป็น 25 ล้านชิ้น ซึ่งจะทำให้มูลค่าตลาดขยับขึ้นมาอยู่ที่ 400 ล้านบาท
ปัจจุบันตลาดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรก พรีเมียมราคา 20 บาทขึ้นไป ตลาดนี้มีผู้เล่นไม่ค่อยมากนัก เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์นำเข้า เช่น ยูรอน มีราคาจำหน่ายราว 35 บาทต่อชิ้น ส่วน ไลฟ์ลี่ ของค่ายยูนิชาร์ม ราคาต่อชิ้นที่ 27-28 บาท และดิสโป้ 123 ราคา 24 บาท สาเหตุที่มีราคาสูงกว่าเนื่องจากมีคุณสมบัติในการซึมซับดีกว่า มีขอบขาด้านในป้องกันการรั่วซึม มีสารแอนตี้ แบคทีเรีย เป็นต้น ตลาดนี้มีสัดส่วน 15%
กลุ่มที่สอง อีโคโนมีเป็นตลาดใหญ่และเติบโตขึ้นทุกวันๆ มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดพรีเมียม ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 85% มีผู้เล่นเป็นจำนวนมาก ผู้นำคือเซอร์เทนตี้มีส่วนแบ่ง 65% ตามด้วยอันอัน ส่วนแบ่ง 20% และด้วยความที่เซอร์เทนตี้เป็นผู้นำค่อนข้างมาก และห่างจากอันดับสองเช่นนี้ จึงเป็นข้อได้เปรียบที่สามารถกำหนดราคาขายในตลาดได้
แม้ว่าภาพรวมของตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่น่าจะดูดี และไปได้อีกไกล เนื่องจากตัวเลขผู้สูงอายุในบ้านเรามีเพิ่มสูงขึ้น และมูลค่าตลาดยังแค่น้อยนิดเมื่อเทียบกับตลาดผ้าอ้อมเด็ก แต่เอาเข้าจริงตลาดนี้กลับสู้ตลาดผ้าอ้อมเด็กไม้ได้ แม้ว่าปัจจุบันเด็กจะมีอัตราการเกิดน้อยลงก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากผ้าอ้อมผู้ใหญ่ถูกควบคุมจากคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ให้ถูกบรรจุว่าอยู่ในหมวดเครื่องมือแพทย์ ทำให้ไม่สามารถโฆษณาผ่านสื่อระดับแมสเพื่อบอกสรรพคุณของสินค้าได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่โดยลักษณะการใช้ และวัสดุที่ใช้ผลิตเหมือนกับสินค้าเด็กทุกประการ สิ่งที่ทำได้คือบอกเพียงแค่แบรนด์สินค้า กับการทำกิจกรรมการตลาดตามสถานที่ต่างๆเท่านั้น
จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้ตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ยังอยู่ในช่วงของการให้ความรู้กับผู้บริโภคเท่านั้น ทั้งที่สินค้านี้เข้ามาในบ้านเรากว่า 10 ปีแล้ว
เมื่อสนามรบของผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไม่สามารถทุ่มโฆษณาเพื่ออัดกันได้ จึงต้องเปลี่ยนสนามรบมาที่ P ตัวที่ 3 แทน ปัจจุบันช่องทางขายหลักของผ้าอ้อมผู้ใหญ่มีอยู่ 2 ช่องทาง ช่องทางแรก โมเดิร์นเทรด เป็นช่องทางใหญ่มีการแข่งขันรุนแรงที่สุด เพราะทุกแบรนด์ล้วนใช้ช่องทางนี้ในการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ช่องทางที่สอง โรงพยาบาล การแข่งขันไม่รุนแรงนัก การจะเข้าได้ต้องอาศัยประมูลเท่านั้น แต่เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภค และสร้างแบรนด์ให้อยู่ในใจได้เป็นอย่างดี โดยดีเอสจีฯ เป็นค่ายที่ครองตลาดโรงพยาบาลได้เกือบทั้งหมด
"สินค้าพวกนี้มันเป็น consumer trust ถ้าใช้ที่โรงพยาบาลดีแล้วไม่มีปัญหา พอออกจากโรงพยาบาลเขาจะเรียกหาสินค้าตัวนี้" ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ดีเอสจีฯ กล่าว
ด้วยความที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ จึงมีความจงรักภักดีต่อตราสินค้าค่อนข้างสูง อีกทั้งการโฆษณาไม่สามารถทำได้จึงทำให้โอกาสในการ switching แบรนด์สำหรับสินค้าพวกนี้จึงค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะหลังๆพฤติกรรมการซื้อสินค้าพวกนี้เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ผู้ใช้จะเป็นคนซื้อแต่ขณะนี้บรรดาลูกหลานเริ่มหันมาซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นของฝาก จึงทำให้นักการตลาดของแต่ละค่ายต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าถึงผู้ซื้อกลุ่มใหม่เหล่านี้ด้วยการใช้ช่องทางที่เป็นวิทยุมากขึ้น
ตลาดผ้าอ้อมเด็กแข่งดุ
ฟากตลาดผ้าอ้อมเด็ก การแข่งขันก็คึกคักร้อนแรงจนปรอทแทบแตก โดยเฉพาะเมื่ออดีตผู้นำอย่าง "แพมเพอร์ส" ถูก "มามี่โพะโคะ" เขี่ยตกเวทีหล่นไปไกลถึงอันดับ 4 กอปรกับการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ ที่หันสู่ตลาดพรีเมียมชูนวัตกรรมสู้ศึก หนีการตัดราคาในตลาดล่าง ล่าสุด "ดรายแพ้นทส์" ทุ่มเม็ดเงินกว่า 100 ล้านบาท ดัน "ดรายแพ้นทส์ โดยดรายเพอร์ส" เจาะกลุ่มพรีเมี่ยมขยายฐานคุณแม่มือใหม่ เป้าหมายครั้งนี้เพื่อขยับแชร์ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ภายในสิ้นปี
หลังจากที่ "แพมเพอร์ส" ค่าย พีแอนด์จีต้องเสียแชมป์ให้กับ "มามี่โพะโคะ" ของยูนิชาร์มไปตั้งแต่ปี 2546 ส่งผลให้พีแอนด์จีพยายามงัดกลยุทธ์ต่างๆเพื่อชิงตำแหน่งคืน ไม่ว่าจะเป็นการผุดนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาด การอัดโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 หรือการปรับลดราคาสินค้าเพื่อจูงใจผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นการโดดเข้าสงครามราคาอย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรกของมามี่โพะโคะในไทย ทว่าก็ยังไม่สามารถดึงแชร์กลับคืนได้ อีกทั้งมีทีท่าถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน "แพมเพอร์ส" หล่นมาไกลถึงอันดับ 4 มีส่วนแบ่งประมาณ 10% ใกล้เคียงกับ "ฮักกี้ส์" ค่ายคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ที่กระเด็นมาอยู่ที่ 5 จากเดิมที่เป็นเบอร์ 3 ของตลาดรวมผ้าอ้อมเด็ก 336 ล้านชิ้น ขณะที่มามี่โพะโคะ มีส่วนแบ่งสูงกว่า 40% รองลงมา คือ ค่ายดีเอสจี ที่มีแบรนด์ฟิตตี้ , ฟิตตี้เบสิค ,เบบี้เลิฟ รวมกัน 16% และค่ายเอสซีเอ ที่มีดรายเพอร์สวีวี่ดราย และ ดรายแพ้นท์โดยดรายเพอร์ส รวมกันประมาณ 13%
จากการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของผู้นำและส่วนแบ่งตลาด ส่งผลให้รูปแบบการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยผู้เล่นส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมควบคู่กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อรุกตลาดผ้าอ้อมระดับพรีเมียมมากขึ้น เนื่องจากต้องการหนีสงครามราคาในตลาดผ้าอ้อมระดับล่าง ที่จะส่งผลเสียต่อแบรนด์ในระยะยาว อีกทั้งแนวโน้มพฤติกรรมของพ่อแม่ในปัจจุบันต้องการผ้าอ้อมที่มีคุณภาพ ประโยชน์และสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ทำให้ในปีที่ผ่านมาผ้าอ้อมระดับพรีเมียมมีการเติบโตสูงสุด 20 - 30% ขณะที่ตลาดรวมทั้งหมดโตเพียง 18%
ล่าสุด ค่ายเอสซีเอ ได้ทำการแตกแบรนด์ "ดรายแพ้นท์โดยดรายเพอร์ส" ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบกางเกงพร้อมใส่ ขอบเอวยางยืด ออกมาเพื่อขยายฐานลูกค้าระดับพรีเมียม จากเดิมที่มีแบรนด์ดรายเพอร์สวีวี่ดรายเจาะกลุ่มระดับล่างเพียงแบรนด์เดียว ซึ่งเป็นการวางจำหน่ายพร้อมกันทั่วตลาดเอเชียในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยบริษัทได้ทุ่มงบมากกว่า 100 ล้านบาท สำหรับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การแจกสินค้าตัวอย่างกว่าแสนชิ้นในช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อให้มีประสบการณ์กับแบรนด์และสินค้าโดยตรง เช่น ออฟฟิศทำงาน ศูนย์รับดูแลเด็ก โรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าจะได้การตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี
"บริษัทแตกแบรนด์หันมาเจาะกลุ่มพรีเมียม เพื่อทำการขยายฐานลูกค้า และสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ทั้งหมดให้มีความเป็นพรีเมียมขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคในกลุ่มระดับพรีเมียมจะมีรอยัลตี้ต่อแบรนด์สูงกว่าหากได้ใช้และพอใจในคุณภาพสินค้า ขณะที่กลุ่มอีโคโนมี่ หรือกลุ่มระดับล่าง จะมีรอยัลตี้ต่อแบรนด์น้อยกว่า เพราะกลุ่มดังกล่าวจะมีราคามาเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อ" เป็นคำกล่าวของ วาสนา สินธุวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอสซีเอ ไฮยีน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผ้าอ้อมสำเร็จรูป ดรายเพอร์สวีวี่ดรายและดรายแพ้นท์ส
สำหรับ ดรายแพ้นท์โดยดรายเพอร์ส" ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบกางเกงพร้อมใส่ ขอบเอวยางยืด ที่ให้ความสะดวกเมื่อใส่และสามารถดึงออกได้ง่าย นับว่าเป็นวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ของพ่อแม่ยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี เพราะที่ผ่านมา ปัญหาที่ต้องเจอในการเปลี่ยนผ้าอ้อม คือ พฤติกรรมที่ไม่อยู่นิ่งของเด็กทำให้ยากต่อการใส่ผ้าอ้อมชนิดแบบเทปกาว รวมทั้งไม่สะดวกเมื่อต้องการเปลี่ยนในช่วงกลางคืน อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีผู้เล่นถึง 4 ราย คือ มามี่โพะโคพ , แพมเพอร์ส , ฮักกี้ส์ และ ดรายแพ้นท์ฯ ออกผ้าอ้อมแบบกางเกงพร้อมใส่ออกสู่ตลาดแล้วก็ตาม ทว่า ผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมซื้อผ้าอ้อมทั้ง 2 แบบ คือ แบบเทปกาว และ ผ้าอ้อมแบบกางเกงพร้อมใส่ เพื่อนำมาใช้สลับกัน
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอสซีเอ กล่าวเสริมว่า ที่ผู้บริโภคยังต้องเลือกซื้อผ้าอ้อมทั้ง 2 แบบ เนื่องจากปัจจุบันในท้องตลาดผ้าอ้อมแบบกางเกงจะให้ความสะดวกสบายในการสวมใส่เพียงอย่างเดียว แต่เรื่องการซึมซับยังไม่สามารถเทียบกับชนิดแถบกาวได้ ส่งผลให้บริษัททำการพัฒนาและส่งดรายแพ้นท์โดยดรายเพอร์สเข้าสู่ตลาด เพื่ออุดช่องว่างและสนองความต้องการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค และอาจมีแบรนด์อื่นเข้าสู่ตลาดนี้มากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าเติบโตขึ้นจากปีก่อน 20%และมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 17%ขึ้นเป็นที่ 2 แทนกลุ่มดีเอสจีได้ภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่จะเลี่ยงการใช้กลยุทธ์ราคา เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็มีการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคทดแทน เช่น แบรนด์ฮักกี้ การจัดแคมเปญ "ฮักกี้ส์ ใจดี แจกฟรีหมีทองคำ" ซึ่งมีไฮไลท์ที่ การแจกหมีทองคำน้ำหนัก 100 บาทในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้แต่เจ้าตลาดอย่างมามี่โพะโคะ และแพมเพอร์สก็จูงใจผู้บริโภคด้วยการแจกสินค้าพรีเมียม เช่น ตุ๊กตา
ปัจจุบัน แม้อัตราการเกิดของเด็กทารกจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จากพฤติกรรมและปริมาณการใช้ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูปของคนไทยยังมีอยู่น้อยมาก เฉลี่ยคนละประมาณ 2.13 ชิ้นต่อวันเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้านอย่างมาเลเซียที่มีอัตราการใช้คนละประมาณ 4 - 5 ชิ้นต่อวัน หรือประเทศแถบยุโรปประมาณ 7 - 8 ชิ้นต่อคนต่อวัน ซึ่งทำให้ตลาดผ้าอ้อมเด็กในบ้านเรายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก น่าติดตามว่า กลุ่มเอสซีเอ จะสามารถเหยียบบ่ากลุ่มดีเอสจี ก้าวขึ้นไปสู้กับมามี่โพะโคะของยูนิชาร์มได้หรือไม่ ที่สำคัญอดีตยักษ์ใหญ่อย่างแพมเพอร์สจะสามารถดันตัวเองกลับขึ้นมาติด 1 ใน 3 ได้อย่างไร หรือจะเหลือเพียงชื่อที่เป็นเจนเนอริกเนมไว้เท่านั้น
|
|
|
|
|