|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2549
|
|
ปรากฏแสงอาทิตย์เล็ดลอดเข้ามาทางด้านหน้าทั้งที่ยังมองไม่เห็นทางออกเป็นจังหวะเดียวกับที่รถยนต์แล่นผ่านเลขหลักกิโลเมตรที่ 9 ที่กำกับอยู่บนผนังด้านซ้ายมือ จากนั้นถนนก็พลันตีโค้งบิดตัวเลี้ยวขึ้นไปสู่ Umihotaru เกาะกลางอ่าวโตเกียวที่เกิดจากฝีมือสร้างของมนุษย์ (man-made island)
นัยว่าความตื่นตาตื่นใจกับ panorama view 360 องศาที่อยู่เบื้องหน้าจะบดบังสัญชาตญาณจนลืมรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของแสงสว่างระหว่างภายในกับภายนอกอุโมงค์ที่เพิ่งผ่านพ้นออกมา
แท้ที่จริงแล้วนี่คือผลจากการประยุกต์ความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์เข้ากับชีววิทยาที่อาศัยความโค้งของถนนช่วยชะลอความเร็วรถซึ่งคำนวณออกมาเป็นระยะเวลาพอดีกับที่ระบบประสาทอัตโนมัติใช้ปรับขนาดม่านตาให้รับกับความจ้าของแดดภายนอกเสริมทัศนวิสัยในการขับขี่ได้อย่างปลอดภัย
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความประณีตในการออกแบบ toll road ใต้ท้องทะเลที่ยาวที่สุดในโลกซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาประเทศว่าด้วยการสร้างระบบเครือข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับการทะยานขึ้นสู่ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 1960 อันเป็นห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมามากมายยกตัวอย่างเช่น Shinkansen รถไฟที่แล่นเร็วที่สุดในโลกสร้างขึ้นมารองรับ Tokyo Olympic 1964 ทว่าโครงการ Aqua-line ที่ริเริ่มขึ้นในปี 1966 กลับไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยข้อจำกัดหลายประการ
ความชำนาญในการเจาะอุโมงค์ในภูเขาหรือการสร้างรถไฟใต้ดินไม่อาจนำมาใช้กับการขุดอุโมงค์ลอดทะเลได้เนื่องจากดินใต้ท้องทะเลมีความอ่อนตัวกว่าหินผาหรือแม้กระทั่งพื้นดินบนเกาะของญี่ปุ่นอย่างเทียบกันไม่ได้ นอกจากนี้แล้วแรงดันของปริมาณน้ำทั้งอ่าวอาจจะพังทลายอุโมงค์ได้ทุกขณะและนี่ยังไม่ได้นับรวมถึงแรงสะเทือนของแผ่นดินไหวที่มักจะมีจุดกำเนิดจากใต้ทะเล
กระนั้นก็ดีการสร้างระบบวงแหวนรอบนอกมหานครโตเกียวมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น อีกครั้นจะสร้างเป็นสะพานข้ามอ่าวซึ่งไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงเทคโนโลยีญี่ปุ่นในขณะนั้นก็ตาม แต่สะพานอาจเป็นอุปสรรคต่อเรือเดินสมุทรที่ขนส่งสินค้าในเขตอุตสาหกรรมหลายแห่งที่เรียงรายรอบอ่าวโตเกียวกลายเป็นความฝันอันเลื่อนลอยอยู่นับสิบปีจนกระทั่งความก้าวล้ำทางวิศวกรรมโยธาที่ญี่ปุ่นได้เพาะบ่มมาแรมปีจนมั่นใจว่าสามารถเอาชนะธรรมชาติได้โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความปลอดภัยซึ่งนำไปสู่การลงมือก่อสร้าง Aqua-line ทางหลวงสาย 409 ในปี 1989
เส้นทางเชื่อมอ่าวที่เลือกไม่ใช่บริเวณที่แคบที่สุดของอ่าวโตเกียวแต่เป็น การโยงสองจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมทั้งระบบในเขต Kanto (ได้แก่ มหานครโตเกียวและปริมณฑล) โดยแบ่งโครงการออกเป็นสองช่วง คือ (1) Aqua Tunnel อุโมงค์คู่ขนานความยาวประมาณ 10 กิโลเมตรลอดใต้อ่าวโตเกียวที่ระดับความลึกสุดที่ 60 เมตรจากฝั่ง Kawasaki ทางตะวันตกของโตเกียวมาถึง Umihotaru เพื่อคงผิวทะเลไว้เป็นเส้นทางการเดินเรือสมุทร (2) Aqua Bridge สะพานเหนือทะเลความยาวประมาณ 5 กิโลเมตรจาก Umihotaru สู่ฝั่งทางตะวันออกที่เมือง Kisaradzu ในจังหวัด Chiba ซึ่งไปเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนที่ซับซ้อนรอบนอกเมืองหลวงที่กึ่งกลางของ Aqua Tunnel สร้างเป็นหอคอยคู่ (ที่เรียกว่า Kaze no Tou) ขนาดต่างกันขึ้นมาสำหรับระบายอากาศ ซึ่งเป็นอีกมาตรการหนึ่งเพื่อความปลอดภัยภายในอุโมงค์คู่ขนานโดยออกแบบให้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์สถิติกระแสลมที่พัดผ่านอ่าวโตเกียวในทุกฤดูกาล
เครื่องขุดเจาะอุโมงค์อัตโนมัติทรงกระบอกเส้นผ่าศูนย์กลางของใบพัด 14.14 เมตรซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 8 เครื่องถูกกระจายไปยัง 3 จุด คือ Ukishima (ทางลงจากฝั่ง Kawasaki) 2 เครื่อง Kaze no Tou 4 เครื่อง และ Umihotaru 2 เครื่องแล้วแยกกันขุดไปเจอกันที่ตรงกลางของทั้งสองช่วงอุโมงค์ ซึ่ง แผนงานที่รัดกุมนี้ช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างทั้ง 20 กิโลเมตร (ความยาว 10 กิโลเมตร จำนวน 2 อุโมงค์) ลงเหลือ เพียง 2 ปี
ในระหว่างการก่อสร้างนั้นหอคอยคู่นี้ใช้เป็นหนึ่งในสามของทางลง work base สำหรับการขุดและสร้างกำแพงภายในอุโมงค์ซึ่งป้องกันการพังทลายด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Slurry Shield Tunneling Method หลังจากสร้างเสร็จแล้ว Kaze no Tou ทำหน้าที่เสมือน "จมูก" ของอุโมงค์ที่ทอดตัวอยู่เบื้องล่าง
คำว่า Umihotaru แปลตรงตามศัพท์หมายถึงหิ่งห้อยทะเลซึ่งเป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กเพียง 3 mm แต่มีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่รอบทะเลของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในอ่าวโตเกียว สอดคล้องกับลักษณะของหิ่งห้อยทะเลชื่อ "Umihotaru" จึงถูกหยิบยืมมาใช้กับ man-made island เกาะนี้ที่มีบทบาทเป็น Parking Area* เพียงแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่สร้างอยู่กลางทะเล
อีกด้านหนึ่งสะพาน Aqua Bridge ถูกออกแบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของทะเลในอ่าวโตเกียวมากที่สุดโดยใช้ฐานของเกาะ Umihotaru ยึดตอม่อสะพาน ซึ่งฝังอยู่ใต้ทะเลทอดยาวไปสู่แผ่นดินด้านตะวันออกจนถึงเมือง Kisaradzu
ในที่สุด Aqua-line สร้างเสร็จด้วยงบประมาณ 1.44 ล้านล้านเยนและเปิดใช้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 1997 ย่นระยะทางระหว่าง Kawasaki-Kisaradzu จาก 110 เหลือ 15 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาสัญจรข้ามฟากไม่ถึง 15 นาที ไม่เพียงเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางอย่างมีพลวัตแต่ยังลดปริมาณการบริโภคน้ำมันช่วยประหยัดพลังงานของโลก อีกทั้งผลักดันโอกาสทางธุรกิจให้เปิดกว้าง เช่น เส้นทางใหม่ของรถประจำทางจากสนามบิน Narita สนามบิน Haneda-Kawasaki-Yokohama-Shizuoka, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวบน Umihotaru, ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า เป็นต้น ในขณะที่ภาครัฐก็มีรายได้เพิ่มจากค่าผ่านทางและเพิ่มศักยภาพให้กรมทางหลวงต่อกรในด้านการบริการกับแข่งกิจการรถไฟญี่ปุ่น
ผลพวงจากความมานะในการตัดผ่าใต้ผืนน้ำทำ by-pass ให้กับหัวใจเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังก่อประโยชน์อื่นอีกนานัปการเกินกว่าจะยกมากล่าวได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะสะท้อนการบริหารเงินภาษีราษฎรอย่างคุ้มค่าเพราะนี่คือญี่ปุ่นประเทศที่ปรัชญาการพัฒนาประเทศได้ก้าวผ่านมิตินั้นไปนานมากแล้ว
*อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :
นิตยสารผู้จัดการ คอลัมน์ Japan Walker ฉบับเดือนมิถุนายน 2547 หรือที่
http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=11296
|
|
|
|
|