Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2540
ถนนสายใหม่ ศรีสุข จันทรางศุตัดเส้นทางสู่ปลัดคมนาคม             
โดย พิจิตรา ยิ้มจันทร์
 

 
Charts & Figures

ตำแหน่งราชการ "ศรีสุข" ในกระทรวงคมนาคม


   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงคมนาคม

   
search resources

กระทรวงคมนาคม
ศรีสุข จันทรางศุ




ผู้ทำหน้าที่สนองนโยบายข้าราชการการเมืองด้วยดีมาตลอด กับกระทรวงคมนาคม ที่มีโครงการขนาดนับแสนล้านบาทอันเป็นที่หมายปองของบริษัทเอกชน อนาคตในตำแหน่งซี 11 ถึงขั้นปลัดกระทรวงคมนาคม คงไม่พ้นคนชื่อศรีสุข จันทรางศุ เพราะการทำงานทุกวันนี้เพื่อให้ถึงจุดสูงสุดในราชการที่ใฝ่ฝันไว้

วันที่9 เดือน 9 ปี 2540 นับเป็นฤกษ์งามยามดี ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเสนอวาระการแต่งตั้งอธิบดีกรมทางหลวงคนใหม่ ที่ชื่อศรีสุข จันทรางศุ โดยการโยกข้ามห้วยมาจากกรมการบินพาณิชย์ ซึ่งศรีสุขครองตำแหน่งยาวนานถึง 8 ปี ใน 2 วาระ

ครั้งนี้มีคนเล่าขานว่าเท่ากับเป็นการปูทางอันสวยหรูเพื่อให้ดอกเตอร์หนุ่มใหญ่จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงคมนาคมคนต่อไป !

หนทางนี้แผ้วทางไว้เพื่อบุคคลคนนี้โดยเฉพาะแล้วกระนั้นหรือ

หลังจากจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธาเมื่อปี 2509 ศรีสุข ก็เข้าทำงานเป็นนายช่างตรี กองสำรวจออกแบบ กรมทางหลวง

จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ด้านการขนส่ง หรือ Transportation และเดินทางไปศึกษาต่อถึงระดับปริญญาเอก ด้านการวางแผนระบบขนส่งที่สหรัฐอเมริกา จนจบในปี 2516

ด้วยความเป็นคนหนุ่มอายุแค่ 30 ปีต้นๆ มีความคล่องแคล่ว และมีความรู้ถึงระดับดอกเตอร์ ประกอบกับบิดาก็รับราชการในกระทรวงคมนาคม จนได้ระดับซีสูงสุดคือปลัดกระทรวงคมนาคมในช่วงปี 2510-2519 ศรีสุขจึงเป็นบุคคลที่จัดได้ว่ามีอนาคตดีในหน้าที่การงาน

ศรีสุขได้ปรับฐานะไปรับหน้าที่ในกองงานคณะกรรมการขนส่งและคมนาคม สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ในเวลาเพียง 7 ปี ศรีสุขก็ได้ก้าวไปถึงตำแหน่งผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการขนส่งและคมนาคม สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม บางคนมองว่า เป็นการก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่รวดเร็วด้วยวัยหนุ่มฉกรรจ์ แต่ใครจะรู้ว่าตำแหน่งระดับนี้ คงไม่สามารถเรียกได้ว่าสูงสุดสำหรับเขา

แม้จะก้าวหน้าเร็วกว่าเพื่อนในรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน

เพราะหลังจากนั้นเพียง 4 ปี ศรีสุขก็เลื่อนขั้นแทบจะเรียกได้ว่าปีต่อปี จากผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมชั้น 2 มาเป็นรองอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ชั้น 1 และรองปลัดกระทรวงคมนาคม

แน่นอนว่า การได้มีโอกาสเข้าช่วยเหลืองานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในต่างกรรมต่างวาระ ทำให้ศรีสุขสามารถชูบทบาทเด่นชัดให้กับเจ้ากระทรวงได้ไม่ยาก เป็นการปูทางให้ขึ้นสู่ระดับซีที่มากขึ้นในเวลาไม่นาน

ที่ดูเหมือนจะเด่นชัดที่สุดก็คือการเข้าไปช่วยเหลืองานรับใช้ใกล้ชิดกับ บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

บรรหารปรับระดับการศึกษาของตนเองโดยศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ควารู้ด้านภาษาอังกฤษก็ยังไม่คล่องแคล่วพอ แต่ต้องติดต่องานกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศบ่อยครั้งตามหน้าที่ ก็ได้อาศัยรองปลัดกระทรวงคมนาคมอย่างศรีสุขเข้าช่วยเหลือทั้งด้านข้อมูลและล่ามแปล จนเรียกได้ว่าเป็นเงาตามตัวของบรรหารแทบจะตลอดเวลา

แม้เมื่อบรรหารกลับจากการดูงานต่างประเทศ ศรีสุขซึ่งติดตามไปด้วยก็ยังได้ช่วยเหลือหิ้วถุงเหล้าจากร้านปลอดภาษีในสนามบิน จนเป็นที่ฮือฮาในหมู่ข้าราชการประจำที่ไปรับนายบรรหารขณะนั้น ถึงความเหมาะสมสำหรับข้าราชการประจำนี้

ด้วยผลงานที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งเตะตากรรมการ ก่อนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่นาน บรรหารก็ได้เสนอชื่อศรีสุขให้ขึ้นรับตำแหน่งอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ ด้วยวัยเพียง 44 ปี เมื่อปี 2531 หลังจากเป็นรองปลัดกระทรวงได้ประมาณ 1 ปี

และเป็นก้างย่างที่สำคัญของศรีสุข ในการขึ้นสู่อำนาจระดับสูงที่สามารถตอบสนองผลงานผลงานกับรัฐมนตรีว่าการที่เป็นข้าราชการการเมือง

นับจากวันนั้น ศรีสุขก็สร้างผลงานชิ้นใหญ่ที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ในยุคที่ธุรกิจการบินของประเทศกำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่

ในช่วงที่มนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีโครงการขนาดใหญ่ ที่กระทรวงเน้นการเข้าร่วมทุนกับภาคเอกชนอยู่หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และด้านสื่อสาร อย่างโครงการทางรถไฟยกระดับโฮปเวลล์ การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติสายใหม่ การให้เอกชนลงทุนและขยายการติดตั้งโทรศัพท์

และกรมการบินพาณิชย์ก็ได้เสนอแนวคิดในการขุดซากของโครงการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ขึ้นมา แน่นอนว่า สนามบินหนองงูเห่าเป็นหัวใจหลัก ด้วยนโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินพาณิชย์ระดับภูมิภาค เพราะอัตราการเติบโตของผู้โดยสารผ่านเข้าออกที่สนามบินดอนเมืองมีเพิ่มมากขึ้น โดยศักยภาพของสนามแห่งเก่านั้นไม่เพียงพอที่จะรองรับ

จะด้วยปัจจัยของการศึกษาในตัวเลขผู้โดยสาร เที่ยวบิยที่ผ่านเข้าออกสนามบินเก่าด้านไหนก็ตาม มีการเสนอตัวเลขของปริมาณผู้โดยสาร โดยระบุว่าปีค.ศ. 2000 นั้น ดอนเมืองจะเต็มและรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 35 ล้านคน ดังนั้นจึงควรมีสนามบินใหม่

โดยที่ท่าอากาศยานดอนเมืองก็ต้องมีการขยายการก่อสร้างครั้งใหม่ด้วยการจัดทำแผนแม่บทระยะยาวและจ้างบริษัทที่ปรึกษา มีการคัดเลือกบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ เข้ามาดำเนินการ โดยที่ศรีสุขซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของการท่าอากาศยานฯ ร่วมในการคัดเลือก

แม้จะมีข่าวว่า หลุยส์ เบอร์เจอร์ เป็นบริษัทที่อยู่ในบัญชีดำของธนาคารโลก แต่ศรีสุขเป็นผู้ออกมารับประกันว่าไม่มีปัญหา และหลุยส์ เบอร์เจอร์ ก็ได้รับการคัดเลือกไปอย่างลอยลำในการวางแผนพัฒนาและขยายการปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง

แต่การขยายดอนเมืองตามความเห็นของศรีสุขนั้นยังไม่เหมาะสม และชี้ว่าดอนเมืองแทบจะเป็นสนามบินที่ยาวที่สุดในโลกแล้ว ไม่พ้นที่น่าจะมีสนามบินใหม่มารองรับ

งานด้านการบินหลายงานที่ศรีสุขจับนับได้ว่าทำได้ดี เพียงแต่การเข้าเป็นคณะกรรมการในบริษัทการบินไทยเท่านั้น ศรีสุขไม่มีโอกาสเข้าถึง ทั้งที่ดูแลงานด้านการบินโดยตรง เจ้าตัวเคยพูดว่า "เขาคงไม่ให้ผมเป็น" ซึ่งคนที่ใกล้ชิดระบุว่า เป็นเพราะกองทัพอากาศซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการบินไทยขณะนั้น ไม่ได้คัดเลือกศรีสุขให้มาร่วมวงด้วย

นโยบายหลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงที่ศรีสุขเป็นอธิบดี

เสนอแนวทางด้านขนส่งสินค้าทางอากาศร่วมกับเอกชน การให้เอกชนมีเครื่องบินส่วนตัว แผนการปรับปรุงสนามบินในระดับภูมิภาค โดยการวางแผนแม่บทรองรับการก่อสร้างสนามบินเชียงรายที่ศรีสุขลงมือวางแปลนสนามบินด้วยตัวเอง จนถึงการปรับปรุงสนามบินโคราชเพื่อ "น้าชาติ" ที่หวังผลักดันโคราชเป็นประตูสู่อีสาน และรองรับงานโคราชเอ็กซโป' 35

เพียงแต่งานเหล่านี้ค้างเติ่ง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ก็นับได้ว่า ศรีสุขสร้างผลงานสนองระดับนโยบายการเมืองค่อนข้างดีไม่น้อย โดยเฉพาะกับพรรคชาติไทยในขณะนั้น

แล้วตำแหน่งอธิบดี ซึ่งดูเหมือนกำลังรุ่งเรืองก็มีอันต้องถูกเปลี่ยนไปอีกครั้ง เมื่อนุกูล ประจวบเหมาะ เสนอให้ย้ายศรีสุขกลับไปเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม และให้รุ่งโรจน์ ศรีประเสริฐสุข ขึ้นมารับตำแหน่งแทน เมื่อปี 2535 ด้วยเหตุผลว่า ศรีสุขครบวาระการเป็นอธิบดีแล้ว

แต่เบื้องหลังส่วนหนึ่งนั้น มีการระบุว่า นุกูลไม่ต้องการให้ศรีสุขเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่หนองงูเห่ามากกว่าเพราะหลุยส์ เบอร์เจอร์ ซึ่งร่วมกับนาโก้ เป็นตัวเก็งในการประมูลงานที่ปรึกษาครั้งนี้ โดยศรีสุขเป็นประธานคัดเลือก

ประกอบกับศรีสุขยังรู้จักผู้บริหารระดับสูงในทอท.หลายคน ซึ่งมีส่วนในการร่วมพิจารณางานโครงการหนองงูเห่า แต่ในที่สุด หลุยส์ เบอร์เจอร์ และนาโก้ ก็ได้เป้นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมทั่วไปของสนามบินใหม่

แม้แต่สนามบินเชียงราย ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงก็เคยถูกอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเดินทางไปเชียงรายตำหนิว่าเป็นสนามบินที่มีสภาพการใช้งานไม่เหมาะสม

ยุคที่นุกูลคุมกระทรวงคมนาคม จึงเป็นช่วงที่ศรีสุขถูกควบคุมการทำงานมากที่สุด

แต่ก็คงไม่นานมากจนเกินรอ เพราะการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของ ทวี ไกรคุปต์ ทำให้ศรีสุข กลับมาเป็นอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ในปี 2536 อย่างไม่ยากเย็น แม้มีข้อกังขามากมายก็ตาม

อาศัยสายสัมพันธ์ของการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมากหรือน้อยแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่า ทวีกับศรีสุขสนิทกันมาก

เป็นการกลับมาที่ทำให้ศรีสุขได้สานต่อโครงการสนามบินหนองงูเห่า และการได้เข้าไปเป็นกรรมการของการบินไทย

ศรีสุขได้เป็นประธานคัดเลือกที่ปรึกษาออกแบบอาคารผู้โดยสารของสนามบินหนองงูเห่า ซึ่งดูเหมือนเป็นการคัดเลือกที่ใช้ระยะการพิจารณานานพอสมควร และมีการท้วงติงจากสถานทูตสหรัฐฯ ในเรื่องการคัดเลือกเพราะเห็นความไม่เป็นธรรม จนในที่สุดก็ได้กลุ่มบริษัท เมอรืฟี่ จาห์น เข้ามา

ครั้งนี้หลายคนเชื่อว่า เป็นไปตามขั้นตอนอย่างแท้จริง เพียงแต่แบบที่บริษัทจากสหรัฐอเมริกาเสนอนั้น ยังไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศของไทย

นับจากการกลับเข้ามาเป็นอธิบดีกรมการบินพาณิชย์อีกครั้ง ศรีสุขได้บทเรียนจากครั้งก่อนมาก การทำงานในระดับกรม ก็ได้คัดเลือกเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ศรีสุขไว้วางใจเท่านั้นเข้ามาร่วมงาน

การได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจสำคัญอย่างบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โดยที่วิทยุการบินนั้น แทบจะผูกขาดการเป็นกรรมการสู่ประธาน สามารถประสานงานกับ ร.อ.เผด็จ ลิมปิสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการอย่างดี สนิทกันมากจนเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนซี้กัน

ความรุ่งเรืองของศรีสุข คงมีมากที่สุดในยุคที่สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งที่หลายคนคิดว่าสุวัจน์ซึ่งมีความเด็ดขาดในการทำงานอาจจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งของศรีสุข

กลับเป็นว่า สุวัจน์ไว้วางใจศรีสุขมากที่สุด นอกจากกรรมการเดิมที่เป็นอยู่แล้ว ยังมอบตำแหน่งประธานคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย ให้ด้วย ทำให้ศรีสุขก้าวเข้ามาดูงานด้านสื่อสารอย่างเต็มตัว

ความไว้ใจของสุวัจน์นั้นมีการระบุว่าเพราะศรีสุขรู้จักสนิทสนมกับพี่ชายของสุวัจน์ ที่ชื่อเทวัญ ลิปตพัลลภ แห่งบริษัท ประยูรวิศว์การช่าง เมื่อครั้งศรีสุขอยู่กรมทางหลวงนั่นเอง

ในที่สุดก็คือสุวัจน์เสนอชื่อศรีสุขให้เป็นอธิบดีกรมทางหลวง คืนสู่งานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและอธิบดีคนใหม่เชี่ยวชาญตั้งแต่เริ่มต้นจับงานมา ซึ่งดูเหมือนจะเหมาะเจาะลงตัวสำหรับทั้งสองฝ่าย

ทำให้ศรีสุขศึกษางานใหญ่ทางบกเพิ่มขึ้น และเป็นซี 10 ที่เชี่ยวชาญงานที่พร้อมจะรับงานใหญ่ในอนาคต ขณะที่สุวัจน์ได้คนที่รู้ใจทำงานเกี่ยวกับถนนหนทางให้ หลังจากที่ประพล สมุทรประภูต ทำงานไม่ได้ดังใจมาแล้ว

เป็นการเสนอเปลี่ยนตำแหน่งให้กับศรีสุข เหมือนที่ครั้งบรรหารเคยปูนบำเหน็จให้เป็นอธิบดีก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐมนตรี ซึ่งครั้งนี้ก็คงเหมือนกัน เพราะสถานภาพของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นั้นสั่นคลอนเต็มที่แล้ว

ที่สำคัญก็คือเป็นการต่อเส้นทางสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมให้กับศรีสุข เนื่องจากเป็นสิ่งที่ศรีสุขมุ่งมั่นต่อตำแหน่งนี้มาช้านานเพื่อให้สมกับที่อยู่ "จันทรางศุ" ซึ่งเคยมีดร.สิริลักขณ์ จันทรางศุ ผู้เป็นบิดานั่งอยู่ในเก้าอี้ตัวนี้มาแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us