ในระยะนี้ เราจะเห็นโฆษณากระเป๋าเงินดิจิตอลซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มลูกค้าวัยรุ่น และวัยเริ่มต้นทำงานที่เน้นชีวิตที่ทันสมัย ทั้งทางหน้าจอทีวีและมีการจัดกิจกรรมโดยการใช้มินิคอนเสิร์ตเข้าช่วยในการดึงลูกค้า
สถานการณ์แบบนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า สังคมเศรษฐกิจของเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว และความหวังที่จะเห็น e-money ที่ผมเฝ้ารอมานาน ก็ใกล้จะเป็นจริงแล้วเช่นกัน
มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร เราจะไปถึงจุดนั้นได้จริงหรือไม่ และยังมีอุปสรรคอีกมากมายแค่ไหนที่จะไปถึงฝั่งฝัน ผมจะเล่าชี้แจงให้ฟังในบรรทัดต่อๆ ไปครับ
ผมเฝ้าติดตามเรื่องราวการเปลี่ยน แปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งมานานพอสมควรแล้ว ระบบที่ว่านั้นคือระบบการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าด้วยเงินตรา ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยธนบัตร และเหรียญกษาปณ์เป็นหลัก และเป็นระบบที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว การเข้าไปเปลี่ยนแปลงในจุดนี้คนทำต้องกินดีหมีเข้าไปเพราะต้องใช้ความกล้าหาญมากๆ เพราะเท่ากับเป็นการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา เรายังทำได้ แต่เพียงการเพิ่มสื่อกลางการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า เช่น นำบัตรเครดิต, เช็ค, บัตร เดบิต ฯลฯ เข้าไปเท่านั้น
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีความเพียรพยายามของหลายกลุ่มธุรกิจที่จะสร้างระบบอีมันนี่ซึ่งมาพร้อมกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต โดยการปรับเปลี่ยนให้ระบบการซื้อขายสินค้า ในอินเทอร์เน็ตทั้งหมดหันมาใช้ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายแทน และให้ทั้งโลกมีเพียงระบบเงินตราเดียว หรืออาจจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเทียบ กับสกุลเงินของแต่ละประเทศก็ตามที และถ้า เป็นไปได้พวกเขาก็อยากจะให้การซื้อขายในทุกระดับใช้ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด มิใช่แค่เพียงการซื้อขายแลกเปลี่ยนผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น โดยอาศัยตัวกลางที่ทำหน้าที่ เสมือนเป็นกระเป๋าตังค์ที่เก็บเงินอิเล็กทรอนิกส์ นั้น เช่นอาจจะเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด ซึ่งแน่นอนว่า ร้านค้าที่เราไปทำการซื้อขายด้วยก็ต้องรองรับบัตรนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความพยายามเหล่านี้จะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ท่ามกลางความล้มเหลวนั้น ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ สองสามอย่างเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ไทย ได้แก่
พฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มยอมรับเทคโน โลยีใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ (ทุกวันนี้ เราจะเห็นผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ติดกายกันเกือบทุกคน โดยเฉพาะ ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง) พร้อมๆ กับการรับเอาโทรศัพท์มือถือมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือในการ ทำงาน, การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่นเดียวกับการใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่เราก็เริ่มเห็นเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทุกวันนี้จำนวนบัตรเครดิต ที่หมุนเวียนในตลาดมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่บัตรเดบิตก็สามารถใช้จับจ่ายซื้อสินค้าได้สะดวกขึ้นมีระบบรองรับเป็นเรื่องเป็นราว โดยเฉพาะการพยายามเข้าสู่ตลาดวัยรุ่นของบัตรเงินสดที่กล่าวถึงในช่วงต้นอย่างโอเคแคช (ของบริษัทเพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัด) และบัตรสมาร์ทเพิร์ส (ของบริษัทไทยสมาร์ท คาร์ด จำกัด) ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับตู้เอทีเอ็มของธนาคารทั่วไปได้ และสามารถนำไปใช้ในร้านค้าต่างๆ ได้หลากหลายขึ้น
ในช่วงหนึ่งที่ผมได้ใช้ชีวิตในประเทศออสเตรเลีย บัตรเดบิตเป็นบัตรสำคัญที่ผมใช้ เป็นเครื่องมือในการจับจ่ายซื้อสินค้าโดยผมไม่ต้องถือเงินสดจำนวนมากมายนัก และในแต่ละร้านไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กร้านน้อยอย่างโชวห่วยหน้าปากซอย หรือห้างสรรพสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ล้วนมีระบบรองรับบัตรเดบิตนี้ทำให้การซื้อสินค้าเล็กๆ น้อยๆซึ่งอาจจะเป็นหนังสือพิมพ์สักเล่มหนึ่งไปจน ถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่สามารถทำได้โดยสะดวก ซึ่งผมก็คาดว่าระบบการเงินในอนาคต ของประเทศไทยก็จะรองรับได้ในระดับนั้น
นอกจากนี้ การผสมผสานเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือเข้ากับอินเทอร์เน็ต การซื้อขาย สินค้าบนอินเทอร์เน็ตที่อาศัยบัตรเครดิต และ ในอนาคตอันใกล้ก็จะต้องมีการผสมผสานการใช้งานบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเข้ากับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ (เช่น การเติมเงิน) ก็ทำให้ระบบการเงินเชื่อมต่อเข้ากับระบบเทคโนโลยีการสื่อสารและทำให้ช่องว่างระหว่าง เทคโนโลยีกับผู้บริโภคเริ่มแคบลงๆ
ล่าสุด มีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Near-field communication หรือ NFC ซึ่งใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารในระยะทางที่สั้นๆ (เพียงไม่กี่เซนติเมตร) และความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลก็ไม่ได้สูงมากนักแต่เป้าหมายของการนำ NFC มาใช้ก็เพื่อมาแทนที่การใช้ธนบัตร, เหรียญกษาปณ์, ตั๋ว และคีย์การ์ดต่างๆ โดยนำการ์ดแบบไร้สัมผัส (con-tactless) มาผสมผสานกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ
ปัจจุบันมีการใช้การ์ด แบบไร้สัมผัสอยู่ในหลายกิจกรรม โดยเฉพาะ ระบบขนส่งมวลชน (เราอาจจะเห็นได้จากระบบรถไฟใต้ดินของไทยเรา), การซื้อขายสินค้าบางชนิด และตั๋วเข้าชมงานต่างๆ
และเริ่มมีการนำการ์ดแบบไร้สัมผัสนี้มาใส่เข้าไว้ในโทรศัพท์มือถือบ้างแล้ว เช่น ใน ฮ่องกงและญี่ปุ่น ซึ่งทำให้โทรศัพท์มือถือที่เราใช้อยู่สามารถทำหน้าที่เป็นได้ทั้งกระเป๋าเงินดิจิตอล, ตั๋วชมภาพยนตร์ หรือตั๋วรถไฟ โดยอาศัยหน้าจอของโทรศัพท์มือถือ จะช่วยให้การเติมเงินและการตรวจสอบสถานะของกระเป๋าและตั๋วสะดวกขึ้น สามารถเติมเงินได้ ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องอาศัยเคาน์เตอร์ขาย ตั๋วคอยช่วยเช็กตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังมีการนำบัตรแบบไร้สัมผัสมาใช้ควบคุมการเปิดปิดประตูบ้านได้ด้วย และเป็นการเพิ่มช่องทางการโฆษณาสินค้า โดยการทำโปสเตอร์โฆษณาอัจฉริยะที่เพียงแค่เรานำโทรศัพท์มือถือที่มีการ์ดไร้สัมผัสเข้าไปใกล้ๆ โปสเตอร์ก็สามารถเชื่อมต่อเข้ายังเว็บไซต์ของโฆษณานั้น เพื่อชมสินค้า ใหม่ๆ, ซื้อสินค้า หรืออาจจะดาวน์โหลดริงโทนและวอลล์เปเปอร์น่ารักๆ มาใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่แต่ละบริษัทต่างคนต่างคิดขึ้นมามากมายทำให้เป็นเรื่องยากอยู่ที่จะไปใช้งานข้ามเครือข่ายกันได้ แม้จะมีการพยายามสร้างฟอรัม (NFC Forum) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มอุตสาหกรรมในวงการนี้ ไม่ว่า จะเป็นโนเกีย, ฟิลิปส์, โซนี่, มาสเตอร์การ์ด, มัทซึชิตะ, ไมโครซอฟท์, โมโตโรล่า, เอ็นอีซี, ซัมซุง, เท็กซัส อินสตรูเมนต์, วีซ่า ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือยังไม่ได้สนับสนุนอย่างเต็มตัวนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพวกเขายังมองว่า NFC จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งรายได้ และยังไม่เห็นว่าจะสามารถสร้างรายได้จากเทคโนโลยีใหม่นี้ได้มากนัก
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องของเทคโน โลยีที่ NFC มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะทางการติดต่อและความเร็วในการส่งผ่านข้อมูล ทำให้ การประยุกต์ใช้เพื่อสร้างรายได้อาจจะไม่กว้าง ขวางเท่าเทคโนโลยีไร้สายแท้ๆ อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม NTT DoCoMo ได้ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น 34% ในบริษัทซูมิโตโม มิตซุย การ์ด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตอันดับสองของประเทศญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเข้ารุกตลาดการให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินอย่างเต็มตัวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าอย่างเต็มตัวที่คงจะต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตา
จริงๆ แล้วโทรศัพท์มือถือก็สามารถใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินมาได้แล้วพักใหญ่ แต่ยังไม่ค่อยสะดวกนักในแง่การใช้งาน
แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังกล่าวข้างต้นนี้ซึ่งสอดคล้องกับการที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้วนั้น ทำให้โทรศัพท์ มือถือเพิ่มบทบาทในการทำธุรกรรมทางการ เงินที่ลึกซึ้งมากขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นกระเป๋า เงินอย่างเต็มตัว เพราะสามารถใช้งานได้กับธุรกรรมปกติในชีวิตประจำวันซึ่งโทรศัพท์มือถือก็มุ่งไปในทิศทางนั้นอยู่และสามารถเชื่อมประสานเข้ากับระบบการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตโดยสามารถตัดเงินจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง
ความฝันที่จะสร้างระบบเงินอิเล็ก ทรอนิกส์หรือ e-money แบบสมบูรณ์แบบ โดยเข้าไปแทนที่การใช้ธนบัตร, เหรียญกษาปณ์ รวมถึงบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ทั้งในกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันกับธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตใดๆ ก็ไม่ใช่แค่ความฝันกลางฤดูร้อนอีกต่อไป
ผมเฝ้าดูมาสิบปีและกำลังเฝ้าดูต่อไปแบบระทึกใจ
1. In the very near future', The Economist Technology Quarterly, ฉบับ December 10th, 2005 หน้า 20-21.
2. โชจิ, ฮิดากา (2545), ยูบิควิตัส, (Ubiquitous) คีย์เวิร์ดของโลก IT แห่งอนาคต, กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
3. "วัยทีนกรี๊ด! กระเป๋าเงินดิจิตอล", นิตยสาร Positioning, ฉบับกุมภาพันธ์ 2006 หน้า 136-138
|