รถไฟฟ้าใต้ดินเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ของประเทศ
แต่ต้องหวังผลระยะยาว
3 กรกฎาคม 2547 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวกรุงเทพมหานคร เนื่องจากรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในเส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร ถึงแม้กระแสความตื่นเต้นของคนกรุงเทพฯจะไม่มากเท่าเมื่อครั้งที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดบริการ แต่ก็เป็นไปตามการประเมินของผู้บริหารบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ ที่เชื่อว่าผู้บริโภคต้องใช้เวลาปรับตัวระยะหนึ่ง และหลังจากเปิดเดินรถมาแล้วหนึ่งปีครึ่งพบว่า ยอดผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันทำงานเพิ่มขึ้นจาก 151,225 คน ในปี 2547 มาเป็น 179,145 คน ในปีที่แล้ว
จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ยอดรายได้สูงขึ้นจาก 445.88 ล้านบาทในปี 2547 มาเป็น 695.67 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาและถึงแม้รายได้หลักกว่า 90% จะมาจากการเดินรถ แต่รถไฟฟ้ากรุงเทพก็เริ่มมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ดำเนินงานโดยบริษัทย่อยทั้งการให้เช่าพื้นที่โฆษณา การให้เช่าพื้นที่ร้านค้าและการให้เช่าระบบโทรคมนาคม ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและเงินปันผล
ยอดรายได้ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเช่นนี้ ประกอบกับภาวะตลาดหุ้นไทยที่คึกคักอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นปี 2549 เป็นผลจากการเข้าซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ ใช้จังหวะนี้เข้าระดม ทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เพื่อนำ เงินที่ได้มาใช้ในการซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 5 ขบวน รวมทั้งเครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติ เครื่องออกบัตรโดยสารและประตูอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งชำระหนี้เงินกู้และใช้ส่วนที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียน
ถึงแม้ผู้บริหารรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL จะไม่ยอมระบุถึงจำนวนเงินที่จะนำไปใช้ในแต่ละรายการ แต่ปัจจุบัน BMCL มีภาระหนี้รวม 13,960 ล้านบาท ต้องเสียดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมา กว่า 700 ล้านบาท หรือประมาณวันละ 2 ล้านบาท การนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นครั้งนี้ไปชำระหนี้จึงมีส่วนช่วยให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงได้บ้าง
BMCL เป็นหุ้นที่มีลักษณะพิเศษหลายประการ เพราะนอกจากจุดขายในเรื่องของความภูมิใจที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงการขนส่งมวลชนของประเทศ ที่ทั้งผู้บริหาร BMCL และบล.กิมเอ็งในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน พยายามนำมากระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้ามาจองซื้อหุ้นแล้ว ยังเป็นการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมมีการขายหุ้นออกมามากที่สุดบริษัทหนึ่ง (ดูรายละเอียดจากตารางรายชื่อผู้ถือหุ้น) จนดูเหมือนว่าการเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้เป็นโอกาสให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมได้ระบายหุ้นบางส่วนเพื่อทำกำไรจากการลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
BMCL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการขายหุ้นสามัญให้ประชาชนจำนวน 2,856.23 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,315.81 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม 1,540.42 ล้านหุ้น และการจัดสรรหุ้นสามัญส่วนเกิน (green-shoe option) อีก 300 ล้านหุ้น
ความพิเศษประการที่สองของ BMCL ก็คือ ถึงแม้จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นแต่ผลดำเนินงานยังคงขาดทุน (ดูรายละเอียดจากตารางผลการดำเนินงาน) และผู้บริหาร คาดว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2551 จึงจะเริ่มมีกำไร
ขณะเดียวกันข้อมูลจากงบการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2548 ระบุว่า บริษัทมียอดขาดทุนสะสมรวม 2,474.58 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้จน กว่าจะล้างยอดขาดทุนสะสมจนหมด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ ในปี 2555 และยอดขาดทุนสะสมที่มีอยู่จำนวนนี้เองทำให้มูลค่าทางบัญชีในปัจจุบันของ BMCL อยู่ที่หุ้นละ 0.75 บาท จากราคาพาร์ 1 บาท
ด้วยเหตุนี้เอง มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินจึงต้องพยายามชี้ให้นักลงทุนมอง BMCL ในรูปแบบของการลงทุนระยะยาว โดยยกข้อดีของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ใช้บริการที่จะเพิ่มสูงขึ้น ในอนาคต โดยที่การแข่งขันในเส้นทางเดียวกันจากผู้ประกอบ การรายอื่นมีน้อยและเมื่อมีการก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยาย ก็ยังต้องมาเชื่อมต่อกับเส้นทางเดิม ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงความเป็นไปได้ของ BMCL ในการ เข้าประมูลดำเนินงานในโครงการส่วนต่อขยาย เพราะมีความได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นในเรื่องต้นทุน
เมื่อพิจารณาจากผลดำเนินงานที่ยังขาดทุนและต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเริ่มจ่ายเงินปันผล นักลงทุนที่จะซื้อหุ้น BMCL นอกจากเหตุผลของความภูมิใจ ที่จะได้มีส่วนเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศแล้ว ยังต้องมีความพร้อมที่จะถือหุ้นตัวนี้ ในระยะยาวกว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้
|