การแถลงข่าวผลการดำเนินงานปี 2548 เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา เป็นการออกงานครั้งแรกในบทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ของกานต์ ตระกูลฮุน และเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ได้มีการย้ายห้องแถลงข่าวจากห้องท่าหลวง ที่เคยใช้มาตลอดในสมัยของชุมพล ณ ลำเลียง มาเป็นห้องบางซื่อ ซึ่งเป็นห้องที่ใช้ในการจัดสัมมนาของเครือ
การตกแต่งของห้องบางซื่อมีการจัดเรียงที่นั่งเป็นวงกลมลดหลั่นลงมา โดยมีจุดรวมสายตาอยู่บริเวณด้านหน้าห้อง
"ห้องลักษณะนี้ใช้กันหลายที่แม้แต่ที่ฮาร์วาร์ด เพราะรูปแบบ ของที่นั่งช่วยให้อาจารย์ที่อยู่ด้านหน้ามองเห็นนักศึกษาได้สะดวก" กานต์เริ่มต้นด้วยการให้สาเหตุที่มีการย้ายห้องแถลงข่าว
ถึงแม้จะเป็นการแถลงข่าวในบทบาทดังกล่าวเป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้กานต์ก็ได้มีโอกาสร่วมในการแถลงข่าวมาบ้างแล้ว ในฐานะผู้ช่วยของชุมพลและยังมีโอกาสได้ซักซ้อมตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวแทนชุมพลมาหลายครั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ "ผู้จัดการ" เป็น สื่อมวลชนรายแรกที่ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ในการเกษียณอายุ ก่อนกำหนดของชุมพล (โปรดอ่าน "สัญญาณการวางมือของชุมพล ณ ลำเลียง" ฉบับมีนาคม 2548)
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2548 ที่แถลงออกมาในวันนั้น ปูนซิเมนต์ไทยและบริษัทย่อยมียอดขายรวม 218,265 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 13% มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนรายการพิเศษ 30,713 ล้านบาท ลดลง 9% เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและการหยุด ซ่อมบำรุงเครื่องจักรของโรงงานระยองโอเลฟินส์ ในกลุ่มปิโตรเคมีเป็นเวลา 35 วัน และมีกำไรสุทธิ 32,236 ล้านบาท ลดลง 12%
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส CFO ของปูนซิเมนต์ไทยอธิบายเพิ่มเติม ว่า การหยุดเดินเครื่องระยองโอเลฟินส์ทำให้เสียรายได้เป็นจำนวนถึง 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีภาระภาษีที่ต้องจ่ายสูงขึ้นจาก เดิมอีกด้วย โดยภาษีที่ต้องเสียในปีที่แล้วคิดเป็นเงิน 1,500 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานแยกรายกลุ่มธุรกิจ กลุ่มปิโตรเคมียังคงเป็นผู้นำด้วยการสร้างผลกำไรถึง 16,656 ล้านบาทหรือราว 50% ของผลกำไรรวมทั้งเครือ ตามมาด้วยธุรกิจซีเมนต์ที่มีกำไรสุทธิ 7,916 ล้านบาทและธุรกิจกระดาษ 3,689 ล้านบาท ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีกำไรสุทธิ 3,071 ล้านบาท
กานต์คาดว่า ยอดขายรวมของทั้งเครือในปีนี้น่าจะมีอัตรา การเติบโตไม่เกิน 10% โดยปิโตรเคมีจะยังคงเป็นกลุ่มหลัก โดยเฉพาะ มาร์จินที่น่าจะยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ประกอบกับหลังจากที่หยุดโรงงานไป ขณะนี้กลับมาเดินเครื่องเต็มที่แล้ว ส่วน ธุรกิจปูนซีเมนต์คาดว่าจะมีการขยายตัวราว 6% นอกจากตลาดในประเทศก็จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจมีความต้อง การเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นเรื่องต้นทุน พลังงานที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงาน
"ตอนนี้ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น 10% คาดว่าอีกระยะ จะลดลง เรามีมาตรการลดการใช้พลังงานมาตลอด แต่ต้นทุนก็ยังเพิ่มขึ้น" กานต์กล่าว
ถึงแม้ผลการดำเนินงานจะลดลงจากปี 2547 อยู่ 12% แต่ปูนซิเมนต์ไทยก็ยังเตรียมจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราเดียวกับปีที่แล้วที่หุ้นละ 15 บาท โดยบริษัทจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วหุ้นละ 7.50 บาท คงเหลือเงินปันผลอีกหุ้นละ 7.50 บาท มีกำหนดจ่ายในวันที่ 20 เมษายนนี้
|