|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2549
|
|
ด้วยสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ทั้งในแนวกว้างและลึก ทำให้บ่อยครั้งที่วีรพงษ์ รามางกูร มักถูกจับยืนอยู่ตรงกลางท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดของคนหลายกลุ่ม และด้วยความที่เขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการวางนโยบายเศรษฐกิจมหภาค รู้เห็นการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของประเทศมาตลอด 25 ปี ความรู้ในสมองของเขา จึงกลายเป็นที่ต้องการของภาคการเมืองและธุรกิจ นับสิบๆ องค์กร
หลายยุคหลายสมัยมาแล้ว บทบาทที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มักถูกจำกัดอยู่กับเนื้องานเฉพาะในกระทรวงการคลัง ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา ในอดีต จึงไม่เพียงไม่โดดเด่น แต่ยังไม่อาจก้าวล่วงไปรับรู้ข้อมูลในหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ทั้งที่การดำเนินงานของหน่วยงานทั้ง 2 ล้วนเชื่อมโยง และต้องสอดประสานไปกับการทำงานของกระทรวงการคลังทั้งสิ้น
แต่สำหรับยุคที่มีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ชื่อวีรพงษ์ รามางกูร ข้อจำกัดดังกล่าวถูกสลายไปโดยสิ้นเชิง
ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขยายบทบาทให้วีรพงษ์เข้าไปช่วยดูแลงานทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒน์ เพื่อให้การดำเนิน นโยบายของทั้ง 3 หน่วยงานเดินไปในทิศทางที่สอดคล้องต้องกัน เปรียบเสมือนการ ร่วมกัน "คัดท้าย" นาวาประเทศไปสู่จุดหมายปลายทาง โดยที่เรือนั้นไม่อับปางลง
คำว่า "คัดท้าย" มีหมายความว่า หากเปรียบเศรษฐกิจระดับชาติว่าเป็นดั่งเรือแล้ว กระทรวง ทบวง กรม เปรียบได้ดั่งฝีพายที่ต้องพาเรือให้วิ่งไปข้างหน้า สู่การพัฒนา และกระทรวงการคลังคือผู้คัดท้ายเรือเพื่อให้ลอยลำไปได้ โดยไม่พบอุปสรรค ทั้งที่มองเห็นได้อยู่เบื้องหน้า หรือที่จมอยู่ใต้น้ำ
วีรพงษ์เปรียบเปรยภาพความสัมพันธ์ใน 3 หน่วยงานนี้ว่า สภาพัฒน์มีหน้าที่ ดูแลแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศระยะปานกลางถึงระยะยาว 5-10 ปี รวมถึงมีหน้าที่ ต้องดูแผนการลงทุนในโครงการพัฒนาประเทศในอีกหลายด้าน เพราะกระทรวงต่างๆ ล้วนอยากมีโครงการ และผลงานในการพัฒนาประเทศ
ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ต้องคอยดูแลเสถียรภาพระยะสั้น โดยเฉพาะนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่กระทรวงการคลังเป็นองค์กรหลักในการบริหารเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีรัฐมนตรีว่าการเป็นผู้กำกับนโยบายทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินทุนในการพัฒนาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ต้องเชื่อมโยงเสถียรภาพทางการเงิน การคลัง
เศรษฐกิจส่วนย่อยมีขึ้น-มีลง หรืออาจล้มหายไปได้ ในความเห็นของวีรพงษ์
"แต่เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจมหภาคเกิดปัญหาขึ้นมา ทุกคนจะล้มตายลงพร้อมกัน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ซึ่งใช้ระบบคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีรองนายกฯ ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี แต่จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นเบอร์ 2" วีรพงษ์บอกกับ "ผู้จัดการ"
เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า ความสำคัญของกระทรวงการคลังนั้นมีมาก และด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงนี้มาก่อน การที่เขาได้เข้ามาช่วยงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระ และสามารถเสนอความคิดเห็นได้เต็มที่
"ความสนิทสนมส่วนตัวที่มีต่อ รมว.คลัง และผู้ว่า ธปท. (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) นั้น มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่าบางทีสาธารณชนอยากเห็นธนาคารชาติเป็นอิสระ แต่บางครั้งกระทรวงการคลังต้องมีความเกรงใจต่อธนาคารชาติ ถ้ามีคนกลางคอยคุยทั้ง 2 ฝ่าย ก็ทำให้งานมีความเข้าอกเข้าใจถึงข้อจำกัดของกันและกันมากขึ้น" ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว
"แต่หากผมมีความเห็นที่แตกต่าง ไม่ว่าจะมีตำแหน่ง ที่ปรึกษา รมว.คลัง หรือไม่ ผมก็พูดอยู่แล้ว มีบ้างที่พูดผ่านสื่อ ก็ทำให้ท่านเคือง แต่มันตัดไม่ได้ขายไม่ขาดคนรักกันตั้ง 40 ปี เคยกินนอนมาด้วยกันอยู่บ้านเดียวกัน เรียนหนังสือจบด้วยกันทั้งคู่ ญาติพี่น้อง ครอบครัวทั้ง 2 ฝ่ายรู้จักกัน ส่วนมากมีแต่ผมว่าเขา เขาไม่เคยว่าผมหรอก เขาก็ยังขี้เล่นคุยสนุกเหมือนเดิม ไม่แก่เลย"
วีรพงษ์ยังได้สะท้อนมุมมองทางเศรษฐกิจจากประสบ การณ์ที่ผ่านงานด้านนี้มาอย่างยาวนานกว่า 25 ปี ผ่านการลดค่าเงินมาถึง 2 รอบว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในจุดที่ปลอดภัยแล้วในด้านการเงินการคลัง และกำลังเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว แต่ยังไม่เต็มที่ถึงขั้นรุ่งเรือง เพราะการเติบโตของ จีดีพีที่ 4-5% นั้นยังถือว่าต่ำมาก
เช่นเดียวกับรายจ่ายของรัฐบาลที่ 17% ต่อจีดีพี ที่ยังคงต่ำกว่าระดับการพัฒนาของประเทศในเวลานี้อย่างมาก ด้านรายรับของรัฐบาล 17% ต่อจีดีพี ก็ถือว่ายังต่ำเกินไป ทั้งที่ควรจะอยู่ระหว่าง 20-25% จากที่รัฐบาลได้ลดภาษีลงเรื่อยๆ ในช่วงวิกฤติ ส่วนรายจ่ายรัฐบาลที่เป็นงบสมดุลนั้นยังถือว่าค่อนข้างต่ำ เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วงบประมาณการลงทุนไม่ได้อยู่ในงบประมาณแผ่นดิน แต่อยู่ในงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
ยอดหนี้ต่างประเทศภาครัฐและเอกชนรวมกันยังต่ำกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ ถือว่ามั่นคง และเป็นหนี้ระยะ สั้นก็เพียงเล็กน้อย ยอดหนี้รัฐบาลต่อจีดีพี 45% ในปีก่อน แต่จะลดลงเหลือ 39% ในปีนี้ ถือว่ามั่นคง พร้อมที่ก้าวไปข้างหน้าได้ ประสิทธิภาพจากการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 72-73% นั้น ยังไม่อยู่ในภาวะร้อนแรงเหมือนอดีตที่มีการผลิตแบบเกินตัว ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมต้องลงทุนเพิ่มเติม
"เรื่องวิกฤติการณ์ไม่มีหรอก ฟองสบู่ก็ยังอีกห่างไกล เพราะเครื่องยนต์ยังไม่ร้อน ด้วยจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ตอนนี้เราไม่ได้ร้อนแรงอะไร และก็ยังลำบากอยู่ ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวแถวๆ 5 หรือต่ำกว่าคนยังอึดอัดหรือเดือดร้อนอยู่ ถ้า 6% สบาย แต่หาก 8% ขึ้นไปก็รุ่งเรืองและช่วงนี้นายท้ายเรือต้องไม่นอน"
ด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจในเวลานี้มีการเปลี่ยน แปลงไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขันกันในประเทศและระหว่าง ประเทศ มีความแหลมคมมากขึ้น และจากวิกฤติในไทยเมื่อปี 2540 ไม่เพียงแต่ทำให้ไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ต่างๆ ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาของนายทุน เพราะครอบครัวต่างๆ ที่ล้มหายตายจากนั้นมีอยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็มีตระกูลหน้าใหม่เกิดขึ้นตามมามาก
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างดังกล่าว ยังทำให้เกิดการเข้ามาลงทุนของต่างชาติเพิ่มขึ้น กฎระเบียบ ที่โดนบีบคั้นมาจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป องค์การการค้าโลก หรือประชาคมระหว่างประเทศ ก็บังคับให้ไทยต้องเร่งปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จนทำให้หลายอย่างไม่อาจเลือกตามใจตัวเอง เช่นการทำสัญญาเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ
"ถามว่าขณะที่เราเกินดุลการค้ากับอเมริกามากมาย เรากล้าสละการเกินดุลนี้ได้หรือไม่ ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้ดีที่สุด เป็นสิ่งที่ผมต้องคอยเตือนสื่อมวลชนอยู่เรื่อย เพราะว่าอะไรที่เป็นของใหม่ หรือต้องเปลี่ยนแปลงคนก็กลัวกันทั้งนั้น เพราะเราไม่รู้ว่าข้างหน้ามันจะดีหรือไม่ดี"
"แต่ถามว่าเราไม่ทำกับอเมริกาได้ไหม พอตั้งคำถาม ก็ชักกลุ้ม เพราะว่าของมันไม่ได้หยุดนิ่ง มีทั้งคู่ค้าและคู่แข่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือในกรณีภาษีถ้าคู่แข่งเปลี่ยนโครงสร้างภาษี ทำให้ฐานะการแข่งขันเราด้อยกว่า เราก็ต้องหาทางปรับตัวเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ ทั้งคลังและสภาพัฒน์ต้องช่วยกัน ขณะที่แบงก์ชาติต้องคอยดูแลอย่าให้ล่ม หัวเรือต้องคอยระวัง ทางท้ายเรือก็ต้องคอยคัดท้ายเบนไปมาตามกระแสน้ำที่จะเปลี่ยนไป เรือมันถึงจะอยู่รอดปลอดภัย และวิ่งไปข้างหน้าได้"
เมื่อปีก่อน วีรพงษ์ได้รับเชิญให้เข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษา ในบริษัทเอกชน 2 แห่ง คือ กลุ่มวังขนาย และบล.ฟินันซ่า จากการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษามาอย่างยาวนานมาถึง 20 ปีทำให้เขาผ่านการทำงานกับคนทุกรุ่นตั้งแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นเสมือนคนรุ่นพ่อ จนถึงกลุ่มผู้บริหารหนุ่มแห่งฟินันซ่า ซึ่งเป็นคนรุ่นลูก
"นอกจากสายสัมพันธ์เดิมๆ ก็ยังได้พบกับคนรุ่นใหม่ ที่มีความต่างกันระหว่างบอร์ดในแต่ละบริษัท มีรุ่นใหม่ๆ รุ่นพี่ รุ่นน้อง รุ่นลูก มีหลายแบบ อันนี้ทำให้เราไม่ล้าสมัย เพราะได้ติดตามโลกทัศน์อันหลากหลาย เสาร์อาทิตย์เดินแผงพระ คุยกับคนขายพระเก๊ ก็สนุกดี ไม่มีใครรู้ว่า ผมเป็น ใคร"
การเข้าไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาองค์กรต่างๆ นั้น บทบาทของวีรพงษ์จะแตกต่างอย่างมากกับที่ปรึกษาโดยทั่วไป เพราะเป็นนโยบายที่ชัดเจนของเขาว่า หากจะเข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษาให้แก่ที่ใดแล้ว เขาต้องมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจในนโยบายที่สำคัญๆ ร่วมกับผู้บริหารในกิจการนั้นด้วย แต่หากคิดจะเพียงแค่เชิญให้เขาเข้าไปโดยไม่มีงานให้ทำแล้ว เขาก็เลือกที่จะไม่เข้าไปรับตำแหน่ง เพราะบทบาทเช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับตัวองค์กร
นอกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของทั้ง 2 บริษัทข้างต้นแล้ว ปัจจุบันวีรพงษ์ยังมีตำแหน่งในภาคเอกชนถึง 18 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งประธาน หรือกรรมการบริษัท มีหน้าที่ ไม่มากนัก เพราะการปฏิบัติงานตกอยู่กับคนที่เป็นผู้จัดการ
เขาบอกว่าความซับซ้อนของงานในภาคเอกชนมีน้อย กว่างานในภาครัฐบาล แม้จะมีตำแหน่งมากมาย แต่งานที่กิน เวลาของเขามากที่สุด กลับเป็นงานในตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องใช้เวลาเข้าไปนั่งทำงานที่กระทรวง 2-3 วันต่อสัปดาห์
และทุกเดือนที่ธนาคารกรุงเทพ วีรพงษ์ยังมีโอกาสพบกับพลเอกเปรม ผู้ที่เขานับถือให้เป็นบิดาคนที่ 2 ในฐานะ ที่เป็นผู้ให้โอกาสแก่เขา จนกระทั่งเขาได้กลายมาเป็นวีรพงษ์ อย่างเช่นทุกวันนี้
"ผมยังมีความเคารพรักท่านไม่มีทางเป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะดุด่าอะไรก็รับได้ เดี๋ยวนี้ท่านใจดีกว่าตอนเป็นนายกฯ ซึ่งยังเจ้าระเบียบ ผมเขียนเลขด้วยตัวเลขไทยได้ก็เพราะท่าน เขียนเป็นตัวเลขอารบิกยังไม่ได้เลย ท่านเป็นคนละเอียด กิริยามารยาท ขั้นตอน โดนดุและสอนเรื่อยมา พูดไทยคำอังกฤษคำก็โดนดุให้ได้อาย ผมก็เลยติดแบบนั้นมา ผมพิเศษ ตรงที่ท่านอบรมเรื่องกิริยามารยาท เรื่องความถูกต้องความมีระเบียบ ยังไงก็คงเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว"
ในประเทศอื่นๆ จะมีนักวิชาการสลับเปลี่ยนหมุนเวียน กันมาทำงานร่วมกับรัฐบาลเป็นประจำ แต่สำหรับประเทศไทยที่ซึ่งพื้นที่ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย และนักวิชาการที่เป็นข้าราชการ มักจะถูกแยกขาดจากกันเสมอ วีรพงษ์ ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะอยู่ในพื้นที่ไหน แต่ปล่อยให้ชีวิตพัดพาไปตามเหตุการณ์ แต่ความเห็นใดในทางเศรษฐกิจที่เขามีและสามารถช่วยแก้ไขสิ่งผิด ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ได้แล้ว นั่นจะเป็นความ ดีใจอย่างเงียบๆ ของเขาแค่นั้น
|
|
|
|
|