"เราต้องรู้จักใช้ฝรั่ง ไม่ใช่ให้มาเป็นนาย"
24 ตุลาคม 2543 ที่ห้องจินดาธร ชั้น 8 อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย
บัณฑูร ล่ำซำ ถือฤกษ์ในเวลา 15.59 น. ประกาศ"8 โปรแกรมยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว"
ที่ธนาคารกสิกรไทยจะนำมาใช้ในช่วงหลังจากนี้
"ยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ประการ จะไม่เห็นผลในทันที แต่จะค่อยๆ เริ่มแสดงศักยภาพออกมาในอีก
1-2 ปีข้างหน้า"กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ระบุ
8 โปรแกรมยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นการเตรียมพร้อมรับกับการแข่งขันของวงการธนาคารพาณิชย์
ที่คาดว่าจะเข้มข้นขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการรุกเข้ามาของธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศ
ที่มีความได้เปรียบมากกว่า ทั้งฐานเงินทุน และเทคโนโลยี
โปรแกรมยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ประการ เป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดการของธนาคารกสิกรไทย
โดยก่อนหน้านี้ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารได้มีการตั้งโจทย์ใหญ่ขึ้นมาข้อหนึ่งว่า
ธนาคารกสิกรไทย จะจัดการกับตัวเองอย่างไร ให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้สภาวะแวดล้อม
ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง
ก่อนการกำหนดโปรแกรมยุทธศาสตร์ ธนาคารกสิกรไทยได้มีการประเมินสภาวะธุรกิจ
เพื่อกำหนดทิศทางของยุทธศาสตร์ใหม่
"ประเด็นเชิงกลยุทธ์ ที่เรานำมาคำนึงถึงในการประเมิน คือ วิกฤตทางเศรษฐกิจ
และการเงิน ที่กำลังเผชิญอยู่ การเปิดเสรีทางการเงินของทางการ ภาวะการแข่งขันจากธนาคารต่างประเทศ
การลดลงของส่วนต่างดอกเบี้ย และทางเลือกของลูกค้า ที่มีมากขึ้น"บัณฑูรอธิบาย
จากการประเมิน ได้มีการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ขึ้นมาว่าธนาคารกสิกรไทย จะยืนยันการเป็นธนาคารพาณิชย์ของคนไทย
โดยมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกินกว่า 51% และการบริหารจะอยู่ในมือของคนไทยเป็นส่วนใหญ่
"เป้าหมายของเราต้องการจะเป็นธนาคารของคนไทย ที่สามารถแข่งขันได้ในมาตรฐานสากล
บนปรัชญา ที่ว่าประเทศนี้ น่าจะมีธนาคารของคนไทยเหลืออยู่บ้าง"
บทสรุปของโปรแกรมยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ประการ ธนาคารกสิกรไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
เพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประสบความสำเร็จ
โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างด้านกำลังคน
ยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ประกอบด้วย
1. ปรับโครงสร้างการปฏิบัติการ เป็นการรวมศูนย์งานด้านเอกสาร ระบบบัญชี
จากเดิม ที่กระจายอยู่ตามสาขา ให้มาอยู่ ที่เดียวกันคือ ที่สำนักงานใหญ่
ส่วนบทบาทของสาขาในช่วงหลังจากนี้ไป จะเป็นเพียงจุดให้บริการการขายเท่านั้น
2. ปรับโครงสร้างสายงานเครดิต โดยการยกเครื่องแนวคิด และแนวทางในการปล่อยสินเชื่อใหม่
สร้างวัฒนธรรมเครดิต(Cradit Culture) ให้เกิดขึ้น โดยในการพิจารณาให้สินเชื่อหลังจากนี้
จะต้องพิจารณาจากความเป็นไปได้ของโครงการ กระแสเงินสด และพฤติกรรมของคนกู้เป็นหลัก
ตัดตัวแปรในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้กับลูกค้าออกไปจากกระบวนการพิจารณาสินเชื่อทั้งหมด
"ธนาคารพาณิชย์ไทยในอดีต ทำแบบกึ่งๆ โรงรับจำนำ ใครมีหลักประกันก็ให้กู้
ซึ่งหลังจากนี้จะทำแค่นี้ไม่ได้"
3. พัฒนาการธุรกิจ เพื่อเพิ่มค่าธรรมเนียม เพิ่มช่องทางรายได้ให้มากขึ้น
นอกเหนือจากส่วนต่างดอกเบี้ย โดยจะเน้นค่าธรรมเนียมจากการเปิด L/C เพราะทิศทางธุรกิจของไทยหลังจากนี้
จะต้องเน้นรายได้จากการส่งออก
4. พัฒนาระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า จะต้องหาทางทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกที่ดีตั้งแต่แรก
และมีต่อเนื่องไปตลอดกระบวนการที่เขาเข้ามาสัมผัสกับธนาคาร และเมื่อจบสิ้นธุรกรรมแต่ละครั้งแล้ว
เขาจะต้องกลับมาเป็นลูกค้าของแบงก์กสิกรไทยอีก
5. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องมีการสร้างสถาปัตยกรรม
และแผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถเอื้อประโยชน์กับงานของธนาคารให้ได้มากที่สุด
"ปัญหานี้ เปรียบเสมือนคอขวด คือ เมื่อทุกกระบวนการทำมาดีหมดแล้ว แต่มาติดขัดอยู่
ที่ขั้นตอนนี้ ซึ่งหลังจากนี้ เราต้องทุ่มเททรัพยากรทุกอย่าง เพื่อเขียนโปรแกรมการให้บริการให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้"บัณฑูรย้ำว่าประเด็นนี้
แม้จะต้องแก้กันแต่รากเหง้า แต่แบงก์ก็พร้อม ที่จะทุ่มเททั้งเงินทุน สมอง
และเวลา เพื่อทำให้สำเร็จ
6. การบริหารเชิงข้อมูล เพื่อเพิ่มผลตอบแทน การดำเนินงานทุกอย่างหลังจากนี้
จะต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยประเมิน วัดผลออกมาเป็นตัวเลข เพื่อนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น
7. พัฒนาระบบบริหาร และจัดการบุคคลากร ให้พนักงานของธนาคารทุกคน ต้องมีความสามารถ
ทักษะ ที่เพรียบพร้อมกับงานของแบงก์ ทั้งทางด้านภาษา และเทคโนโลยี
8. พัฒนาธุรกิจอิเลคทรอนิคส์ โดยการทำงานของธนาคารทุกกระบวนการจากนี้ไป
จะต้องสามารถกระทำโดยผ่านช่องทางไซเบอร์สเปซไปพร้อมกันได้ด้วย
โปรแกรมยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ประการ จะเริ่มต้นดำเนินการโดยพร้อมเพรียงกัน"แต่ผลของมันจะค่อยๆ
โผล่ออกมาให้เห็นทีละชิ้น ไม่เสร็จสมบูรณ์พร้อมกันหมด อย่างแรก ที่จะเห็นเป็นรูปธรรมก่อนอื่น
คือ การปรับโครงสร้างการปฏิบัติงาน ที่จะมีผลทันทีในปีหน้า"บัณฑูรย้ำว่าสิ่งที่ประกาศออกมาเป็นสิ่งเรื่องของอนาคต
เขาบอกว่า เพื่อให้โปรแกรมยุทธศาสตร์ทั้ง 8 บรรลุถึงเป้าหมาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับธนาคารกสิกรไทยหลังจากนี้ไป
คือ จะมีการระดมกำลังคนเข้ามาทำงานมากขึ้น
และงานหลายอย่างที่คนในไม่สามารถทำได้ เพราะต้องอาศัยเทคโนโลยี และความรู้ใหม่ๆ
จากต่างประเทศ ก็จำเป็นต้องให้คนต่างชาติ ที่มีความชำนาญเข้ามาช่วย
เขาย้ำว่าขณะนี้ มีชาวต่างประเทศหลายคนที่มีความพร้อม ที่จะเข้ามาเป็นพนักงานประจำ
ในตำแหน่งผู้บริหารระสูงให้กับธนาคารกสิกรไทย
ซึ่งหากมีการแต่งตั้งเกิดขึ้น จะถือเป็นครั้งแรก ที่ธนาคารกสิกรไทยมีการแต่งตั้งให้ชาวต่างประเทศ
ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง
"การเอาความรู้จากต่างชาติมาใช้ในธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ
แต่เราเอาเขาเข้ามา เพื่อให้มาช่วย ไม่ใช่เข้ามาเป็นนาย"
บัณฑูรอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างยุทธศาสตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาล ที่ 5 นำมาใช้ เพื่อปกป้องประเทศให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกเมื่อ
100 กว่าปีก่อน โดยการเปิดประเทศ เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรม และแนวคิดของชาวตะวันตก
แทนการปิดประเทศ
แบงก์กสิกรไทย ก็จะดำเนินการโดยยึดตามแนวทางนี้เช่นกัน
แม้ว่า 8 มาตรการที่บัณฑูรจะนำมาใช้ในการกอบกู้สถานภาพของธนาคารกสิกรไทย
จะต้องใช้เวลายาวนาน ซึ่งเขาก็ยอมรับเองว่าจะต้องมากกว่า 2 ปี จึงจะเห็นผล
แต่แนวทางการต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดของธนาคาร ที่ยังคงมีสัญชาติไทยเหลืออยู่แห่งนี้
น่าจะเป็นแนวทาง ที่ธนาคารอื่นๆ ควรยึดเป็นแบบอย่าง
และ ที่สำคัญ เป็นแนวทาง ที่ทุกฝ่ายควรต้องเอาใจช่วยด้วยเป็นอย่างยิ่ง