|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2549
|
|
โลกาภิวัตน์กำลังสร้างความแตกแยกระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในยุโรป ซึ่งมีนัยสำคัญไม่เฉพาะต่ออนาคตของยุโรป แต่ยังรวมไปถึงอนาคตของโลกาภิวัตน์เองด้วย
ขณะนี้กำลังเกิดการแตกแยกที่แปลก ประหลาดขึ้นในยุโรป โดยผู้นำการเมืองและ ผู้นำธุรกิจของยุโรปกำลังขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของยุโรปกำลังเฉลิมฉลองผลกำไรที่พุ่งสูงทำสถิติใหม่ แต่นักการเมืองกลับร้องเตือนด้วยความไม่พอใจ ถึงความกลัวที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของคนงานในยุโรป
สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือ แหล่งที่มา ของความสุขและความกลัวนั้นเป็นแหล่งเดียวกันนั่นคือ โลกาภิวัตน์ การที่สหภาพยุโรป (EU) กลายเป็นกลุ่มของประเทศที่เติบโตอย่างเชื่องช้าและล้าหลัง ในขณะที่บริษัทของยุโรปกลับมีพลวัตสูง ทำให้ยุโรป กำลังกลายเป็นทวีปแห่งบริษัทข้ามชาติที่มีความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นกลุ่มที่รวมของประเทศที่ไร้ความสามารถในการแข่งขัน
ในยุโรป บริษัทอย่าง BASF และ Alcatel มีการส่งออกพุ่งขึ้น จนทำให้ยอดขายและผลกำไรพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดหุ้นในชาติต่างๆ ของยุโรปก็เติบโตขึ้นตามไปด้วยในช่วงปีที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นเยอรมนีเติบโตขึ้นร้อยละ 28 ขณะที่ตลาดหุ้นฝรั่งเศสเติบโตร้อยละ 23 และตลาดหุ้นอังกฤษร้อยละ 16 บริษัทต่างๆ ในยุโรปต่างมีผลกำไรพุ่งทำลายสถิติกันทั่วหน้า รวม ทั้งราคาหุ้นของบริษัทก็พุ่งสูงจนเทียบเท่ากับบริษัทในสหรัฐฯ
ทว่า นักเศรษฐศาสตร์ในยุโรปต่างยังคงชี้ว่า อัตราการเติบโต ทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดของยุโรป น่าจะยังคงอยู่ที่เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น หรือเติบโตช้ากว่าสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 1 อันเนื่องมาจากตลาด แรงงานที่ไม่ยืดหยุ่นและระบบราชการที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง แม้ว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีจะมีสัญญาณว่าจะฟื้นตัวก็ตาม
ความขัดแย้งระหว่างบริษัทยุโรปที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กับเศรษฐกิจของประเทศยุโรปที่เติบโตอย่างเชื่องช้า คือเหตุผลที่มาของ สัญญาณทางเศรษฐกิจแปลกๆ หลายอย่างที่ขัดแย้งกันเอง ที่เราได้เห็นจากชาติต่างๆ ในยุโรป
อย่างเช่นตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ของเยอรมนีเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งๆ ที่ความเชื่อมั่นของธุรกิจพุ่งสูงขึ้น แต่อัตราการว่างงานในเยอรมนีกลับยังคงอยู่ในระดับสูง และยอดขายปลีก ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสก็ลดลง
ในขณะที่ความท้าทายของโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนและอินเดียเป็นตัวแทนสำคัญ กำลังหลอนหลอก นักการเมืองในยุโรป แต่ศักยภาพมหาศาลของตลาดจีนและอินเดียกลับสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้แก่ CEO ของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ ในยุโรป
ในเยอรมนี แม้จะมีการพูดกันถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็คาดกันว่า การฟื้นตัวคงจะอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น ซึ่งน้อยเกินกว่าที่จะส่งผลช่วยลดอัตราการว่างงาน ของเยอรมนี ที่อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 12 ลงได้ (ในขณะที่อัตราการ ว่างงานทั่วยุโรปโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8.3)
นายกรัฐมนตรี Angela Merkel ของเยอรมนี ถึงกับเรียกร้องให้ออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อควบคุมโลกา ภิวัตน์ ซึ่งกำลังคุกคามและอาจก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคมเยอรมนีครั้งใหญ่ได้
แต่ขณะเดียวกัน Siemens บริษัทยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีเอง กลับกำลังได้รับผลดีจากโลกาภิวัตน์ หลังจากยอมเจ็บปวดทรมานมานานหลายปีในการปรับโครงสร้าง บริษัท ยอดขายและคำสั่งซื้อก็ได้พุ่งพรวดขึ้น จนทำให้ Klaus Kleinfeld CEO หนุ่มคนเก่งของบริษัทดังกล่าว ซึ่งใช้วิธีตัดลดค่าใช้จ่ายอย่างแข็งกร้าว ได้รับการยกย่องจากสื่อว่าจะเป็น "Jack Welch คนต่อไป"
ส่วนในลอนดอน นักการเมืองกำลังวิตกว่า เศรษฐกิจของอังกฤษซึ่งเคยแข็งแกร่ง กำลังชะลอตัวลงจนใกล้จะเป็นเหมือนเยอรมนี ในขณะที่นักค้าหุ้นและวาณิชธนกิจ เพิ่งจะสร่างจากปาร์ตี้ฉลองโบนัสก้อนโตทำลายสถิติ ส่วนในปารีส การเข้ามาครอบครองกิจการบริษัทฝรั่งเศสของบริษัทต่างชาติกำลังกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากขึ้นทุกที
ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เกิดความ ไม่พอใจอย่างมากในฝรั่งเศส เมื่อมีข่าวลือว่า PepsiCo จะครอบครอง Danone (แต่ต่อมาก็เป็นเพียงข่าวลือ) ส่วนเมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรี Dominique de Villepin แห่งฝรั่งเศส ก็เพิ่งกล่าวสนับสนุน "ความรักชาติทางเศรษฐกิจ" และให้ความเห็นข้ามพรมแดนไปถึงกรณี Mittal Steel ในเนเธอร์แลนด์ ที่กำลังเสนอซื้อ Arcelor ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่สุดของยุโรปว่า การเสนอซื้อดังกล่าวมีปัญหา เพราะไม่มีการเสนอโครงการด้านอุตสาหกรรม
การเข้ามายุ่มย่ามของนักการเมืองเช่นนี้ สร้างความกังวลให้แก่ผู้นำธุรกิจของฝรั่งเศส ซึ่งกำลังเรียกร้องให้ฝรั่งเศสปฏิรูประบบตลาดเสรีอย่างเร่งด่วน Laurence Parisot ผู้นำ Medef สมาคมนายจ้างของฝรั่งเศส กำลังผลักดันให้รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ที่จะทำให้การจ้างงาน และการเลิกจ้างกระทำได้ง่ายขึ้น และเสนอระบบการให้เงินโบนัสแก่ผู้ว่างงานที่สามารถหางานใหม่ได้ และยังตำหนิประธานาธิบดี Jacques Chirac เกี่ยวกับข้อเสนอด้านภาษีของเขาว่า เป็นข้อเสนอ ที่ขัดแย้งกันในตัวเอง
เยอรมนีอาจจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุด ถึงทัศนคติของผู้นำการเมืองและผู้นำธุรกิจของยุโรป ที่นับวันจะแตก แยกไปคนละทิศละทางมากยิ่งขึ้น แม้จะส่งสัญญาณการฟื้นตัว แต่เยอรมนีดูเหมือนจะไม่มีทางที่จะกลับไปเติบโตในอัตราร้อยละ 4.4 เหมือนในช่วงทศวรรษ 1960 ได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ระบบรัฐสวัสดิการจะฉุดลากศักยภาพทางเศรษฐกิจของเยอรมนีให้ลดต่ำลง
แต่ฝ่ายที่ฟื้นตัวจริงๆ กลับเป็นบรรดาบริษัทชั้นนำของเยอรมนี ซึ่งหลายปีมานี้ ได้ปฏิรูปตัวเองอย่างจริงจัง โดยมีการทำข้อตกลงใหม่ กับสหภาพแรงงาน ซึ่งช่วยลดค่าจ้างแรงงานที่สูงลิ่วลง และย้ายโรงงาน ผลิตบางส่วนไปยังฮังการีและจีน ผลก็คือ เมื่อปีที่แล้ว เยอรมนีสามารถ เอาชนะสหรัฐฯ ในการเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก และดัชนี DAX ของเยอรมนีก็พุ่งขึ้นเกือบร้อยละ 30 ในปีที่แล้วเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 ของดัชนี S&P 500 ขณะที่ Deutsche Bank ก็ประกาศผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเยอรมนีโดยรวมกลับไม่สดใสอย่างบริษัทในประเทศตน เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองของบริษัทเยอรมนีเริ่มไม่ขึ้นอยู่กับตลาดในประเทศ ความจริงแล้ว บริษัทชั้นนำของเยอรมนี 23 ใน 30 แห่งที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้น ถูกควบคุมโดย ชาวต่างชาติ ซึ่งไม่รู้สึกถูกผูกมัดโดยกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดของเยอรมนีแต่อย่างใด และมุ่งสร้างยอดขายในตลาดโลกมากกว่าในตลาดเยอรมนี เนื่องจากตลาดโลกมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 3
อย่างเช่น Adidas บริษัทเครื่องกีฬาชื่อดังในรัฐบาวาเรียของเยอรมนี มีรายได้ร้อยละ 90 จากยอดขายในต่างประเทศ และว่าจ้าง พนักงานร้อยละ 80 จากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่เยอรมนี ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานสูงลิ่ว นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ชี้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ ของเยอรมนีที่อยู่ในกลุ่ม DAX 100 ทำธุรกิจประมาณร้อยละ 50 หรือ มากกว่านั้นนอกเยอรมนี และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของเยอรมนี ซึ่งมักเป็นธุรกิจในครอบครัว (ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า Mittelstand และเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเยอรมนี) ก็เป็นผู้ส่งออกที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกด้วย
ผลสำรวจล่าสุดของ Ifo ในเยอรมนีพบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจในเยอรมนีเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี และยังมีความหวังว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคต ในระดับที่เทียบเท่ากับในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 3 ซึ่งแสดงว่า ความเชื่อมั่นของบริษัทเยอรมนี ได้ฟื้นคืนกลับมาในระดับที่แข็งแกร่งแล้ว ซึ่งเป็นผลดีที่ได้รับมาจากโลกาภิวัตน์ แต่ไม่ใช่เพราะมีสาเหตุจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี
ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวเยอรมันกลับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และล้าหลังความเชื่อมั่นของธุรกิจมาถึง 10 ปีแล้ว สภาวะที่ความเชื่อมั่นระหว่างธุรกิจและผู้บริโภคขัดกันเช่นนี้ กำลังเห็นได้ทั่วไป ในยุโรป บริษัทวิจัยทางเศรษฐกิจ Global Insight ชี้ว่า นักธุรกิจยุโรปส่วนใหญ่มองภาพรวมเศรษฐกิจในแง่ดีมาตั้งแต่ปี 1996 แต่ผู้บริโภคกลับมองในแง่ลบ
ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนว่า ผู้บริโภคในยุโรปยังคงคิดจากมุมมองในประเทศ ในขณะที่ธุรกิจกลับมองไปที่ตลาดโลกและตลาดแรงงานโลก และยังสะท้อนให้เห็นในมูลค่าของตลาดหุ้นทั่วโลกที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รายงานของ Baring Asset Management ชี้ว่า อัตรา ส่วนกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษและญี่ปุ่น รวมถึงตลาดหุ้นในประเทศอื่นๆ ล้วนเดินไปในทิศทางเดียวกันในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ความแตกแยกระหว่างผู้บริโภคและธุรกิจกำลังเริ่มลุกลามจากยุโรปไปสู่ระดับโลก ตามปกติแล้ว ผู้บริโภคจะออมเงิน และบริษัทจะกู้ยืมเงินออมเหล่านั้น (ผ่านสถาบัน การเงิน) มาลงทุน แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กฎทองข้อนี้กำลังเริ่มพลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ขณะนี้ผู้บริโภคในยุโรปและสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนมาเป็นผู้กู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่าย ในขณะที่ธุรกิจในยุโรปและสหรัฐฯ กลับลดขนาด บริษัท และสะสมเงินออมที่สูงเป็นประวัติการณ์ ถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
การที่บริษัทในชาติตะวันตกต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ เพื่อจะแข่งขันกับเอเชีย ซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันในการลดค่าจ้างแรงงานที่สูงลิ่วในชาติตะวันตกลงนั้น ได้ส่งผลดีต่อผลกำไรของบริษัท แต่ขณะเดียวกันก็ยิ่งสร้างความแตกแยกระหว่างธุรกิจฝ่ายหนึ่ง และแรงงานกับนักการเมืองซึ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนของพวกเขาอีกฝ่ายหนึ่ง
แรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานเห็นได้อย่างเด่นชัดในชาติยุโรปต่างๆ เช่นเยอรมนี ซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงลิ่ว แต่ค่าแรงในเยอรมนีตะวันตกที่นับว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนี้ ได้อยู่ในสภาพชะงักงันตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าแรงงานในชาติอื่นๆ ยังคงสูงขึ้น (ค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยในยุโรปกลางขณะนี้เท่ากับประมาณร้อยละ 70 ของค่าแรงในเยอรมนี)
แต่บริษัทข้ามชาติในทุกวันนี้มีทางเลือกมากมาย มีอำนาจต่อรองสูงกว่า และมีอำนาจอิทธิพลมากกว่า โดย Laura Tyson คณบดี London Business School และอดีตหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชี้ว่า อำนาจของเงินทุนได้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอำนาจของแรงงาน และอาจเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายปี
ความแตกแยกครั้งใหญ่ระหว่างผู้บริโภคและนักการเมืองกับธุรกิจ ยิ่งเห็นได้ชัดเจนในการถกเถียงกันถึงวิธีที่จะทำให้ยุโรปมีความ สามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ยิ่งผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ของประเทศ วิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตการทำงานของพวกเขามากเท่าใด นักการเมืองก็ยิ่งพยายามจะเข้ามาแทรกแซงตลาดมากขึ้นเท่านั้น
แทนที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ที่จะผลักดันให้ยุโรปแข็งแกร่งอย่างแท้จริง ในด้านเทคโนโลยีพกพาหรือวิทยาศาสตร์ กายภาพ ประธานาธิบดี Jacques Chirac แห่งฝรั่งเศส กลับเลือกที่จะทุ่มลงทุนในโครงการมูลค่าหลายล้านยูโรร่วมกับเยอรมนี เพื่อสร้างสิ่งที่จะมาเป็นคู่แข่งกับ Google ซึ่งนักธุรกิจจำนวนมากมองว่า เป็นการหว่านเงินทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
Parisot แห่งสมาคมนายจ้างชั้นนำของฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า ฝรั่งเศสยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของบริษัทขนาดเล็กที่ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศ OECD ทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสมีบริษัท ระดับเพชรน้ำดีอยู่มากมาย ซึ่งถ้าหากไปอยู่ในอังกฤษหรือสหรัฐฯ ก็คงจะเจริญรุ่งเรืองไปนานแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภคในยุโรปจะขัดแย้งกับธุรกิจ แต่ดูเหมือนจะมีสัญญาณว่า พวกเขายังมีความยืดหยุ่นมากกว่าบรรดาผู้นำการเมือง ในหนังสือ "The Fearful Society" ของ Christophe Lambert ผู้บริหาร Publicis บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส และเป็นผู้สนับสนุน Nicolas Sarkozy นักการเมืองหัวปฏิรูปของฝรั่งเศส ระบุว่า คนหนุ่มสาวของฝรั่งเศส ที่มีอายุระหว่าง 15-30 ปี น้อยกว่าร้อยละ 5 ที่สนับสนุนการทำงานเพียงสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง
ส่วนในเยอรมนี ธุรกิจเริ่มสามารถเจรจาต่อรองกับคนงานได้สำเร็จ ในการลด ต้นทุนค่าแรงของธุรกิจลงได้ประมาณร้อยละ 35 ในรูปของการลดค่าจ้างแบบผสมผสาน และการยืดหยุ่นกฎการทำงาน รวมทั้งการยืดเวลาการทำงาน แม้ว่าผู้นำสหภาพและนักการเมืองในประเทศนี้ จะยังคงต่อต้านการลดค่าจ้างแรงงานอย่างดุเดือดอยู่
ส่วนผู้บริหารของ SAP บริษัทสัญชาติ เยอรมันเพียงหนึ่งเดียวของยุโรป ที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ระดับโลก กล่าวว่า เขาจะยังคงว่าจ้างแรงงานเยอรมัน ถ้าหากไม่เป็นเพราะระบบราชการและกฎหมาย แรงงานที่เข้มงวด
เป็นไปได้ว่า ความแตกแยกระหว่าง ภาครัฐและเอกชนในยุโรปจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ รายงานของ Baring ทำนายว่า แนวโน้มที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเดินไปในทิศทางเดียวกันกำลังจะจบลง เนื่องจากในขณะที่บริษัทชั้นนำทั่วโลกได้ทำให้ตลาดหุ้นในชาติของตนเติบโตขึ้นนั้น Baring เชื่อว่า บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นจะยังคงเติบโตต่อไป แต่บริษัทที่เล็กกว่าจะล้มตายลง โดยจะเกิด ขึ้นทั้งในสหรัฐฯ ยุโรปและเอเชีย ซึ่งจะสร้าง ความแตกต่างในระดับราคาในตลาดหุ้นทั่วโลก และทำให้ความแตกแยกระหว่างภาคธุรกิจและรัฐบาลถ่างกว้างยิ่งขึ้น
แม้ว่าผู้นำการเมืองและผู้นำธุรกิจจะเห็นตรงกันถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้ยุโรปมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงการศึกษา เพิ่มความยืดหยุ่นของแรงงาน เปิดเสรีภาคธุรกิจบริการ และปฏิรูประบบสวัสดิการสุขภาพและบำนาญ แต่ สิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นต่างกันโดยสิ้นเชิงคือ วิธีการที่จะไปถึงจุดมุ่งหมาย เหล่านั้น
ในขณะนี้ เสียงเรียกร้องให้ลดช่องว่างดังกล่าวดูเหมือนจะดัง มาจากฟากพรรคการเมืองฝ่ายค้านเท่านั้น ในสวีเดน Frederik Reinfeldt ผู้นำพรรคฝ่ายค้านอนุรักษนิยมสายกลาง กำลังผลักดันให้ ปฏิรูปเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่ผู้ว่างงาน และการเพิ่มมาตรการ จูงใจต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโต เพื่อชดเชยตำแหน่งงานที่หายไป อันเนื่องมาจากการที่บริษัทขนาดใหญ่ลอยแพพนักงาน
ส่วนในอังกฤษ ทั้งพรรคแรงงานซึ่งเป็นรัฐบาลกับพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายค้าน ต่างกำลังพยายามขอเสียงสนับสนุนจากธุรกิจขนาดใหญ่ โดย David Cameron ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมหรือ Tories เปรียบเทียบพรรคของเขาเป็นแบรนด์สินค้าที่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่าง Tesco หรือ Virgin ในแง่ของความสามารถในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
แม้ว่าพรรค Tories อาจสามารถเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกได้ แต่พรรคดังกล่าว รวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ในยุโรป จะสามารถลดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในยุโรป อันเป็นผลมา จากโลกาภิวัตน์ได้หรือไม่นั้น ยังเป็นที่กังขาและต้องรอดูกันต่อไป
แปลและเรียบเรียงจาก
นิวสวีค 13 กุมภาพันธ์ 2549
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
|
|
|
|
|