ประชาธิปัตย์ออกสมุดปกดำ แฉเงื่อนงำการแปรรูป กฟผ. ให้ประชาชนทราบ ปล้นไฟฟ้ากลางแดดขายสมบัติชาติ หวังปั่นตลาดหุ้นเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของพวกพ้อง แถมกิจการโทรคมนาคมได้ประโยชน์ด้วย
ใจความของสมุดปกดำ ที่ทางพรรคประชาธิปัตย์จัดทำขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน มีใจความโดยสรุปว่า เดิมนั้น กิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการโดยภาครัฐ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง ป้องกันการผูกขาดในอันที่จะเอาเปรียบประชาชน ซึ่งมี หน้าที่ในการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ โรงไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า และอุปกรณ์หลักอื่นๆ และจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประชาชน
ขายไฟฟ้าปั่นตลาดหุ้น
นโยบายหลักคือผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงเชื่อถือได้และราคาเหมาะสม แต่เมื่อมีการแปรรูปแบบทักษิณเกิดขึ้น วัตถุประสงค์แต่ต้นของ กฟผ. และกิจการไฟฟ้าของชาติเปลี่ยนไป เพราะเป้าหมายคือ แปรรูปเพื่อเอาไฟฟ้าของรัฐที่มีมูลค่าสูงเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ตลาดหุ้นโตขึ้นเป็นเป้าหมายหลัก
ข้อเท็จจริงคือ มีความคาดหวังว่า ถ้า กฟผ.เข้าตลาดนั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯจะเพิ่มไปถึงระดับ 800 จุด จากประมาณ 720 จุด นั่นคือเพิ่มขึ้นราวๆ 11% ดังทรัพย์สินของกลุ่มทุนในรัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้นด้วยจำนวนมากเช่นกัน
เพราะฉะนั้น ผลประโยชน์เกือบทั้งหมดของการ ขายหุ้น กฟผ.นั้น จะตกอยู่ในมือคนจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ในขณะที่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องแบกรับภาระโดยตรง
หนังสือชี้ชวนการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป ระบุ ถ้าระหว่างปี 2548-2553 กฟผ. ได้รับสิทธิที่จะลงทุนในการก่อสร้าง 4 โรงไฟฟ้าใหม่มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 67,388 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนอื่นๆ เช่นลงทุนในการปรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเก่าๆ 1,837 ล้านบาท และที่เหลืออีกประมาณ 120,000 ล้านเป็นการลงทุนในระบบสายส่งทั้งสิ้น โดยเป็นโครงการลงทุนกำหนดแล้วเสร็จปี 2558
‘ประเมินต่ำ-ขายแพง กินกำไร
ปัญหาการแปรรูป กฟผ. ในแบบทักษิณ คือ ยังคงผูกขาดกิจการไฟฟ้าให้อยู่ในมือของบริษัทไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำกัด (มหาชน) ซึ่งมีภาคเอกชนเข้ามาถือหุ้น โดยมีการผูกขาดทั้งการซื้อและขายไฟฟ้า รวมถึงการใช้อำนาจบริษัทดังกล่าว เพื่อลิดรอนสิทธิของประชาชน ประกอบกับยังไม่มีหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจชอบธรรมตามกฎหมายเข้ามากำกับดูแลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน
นอกจากนี้ มีการประเมินราคาสินทรัพย์ที่เป็นของชาติและของประชาชนไปขายในราคาถูก มีการประเมินจาก ดร.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า กฟผ. ควรมีมูลค่าแท้จริง 3.7 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลประเมินเอามาขาย 2.8 แสนล้านบาท เท่ากับว่าเป็นการขายเลหลัง ทำให้มูลค่าหายไปกว่า 3.5 ล้านล้านบาท
กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต เสนอข้อมูลว่า การประเมินมูลค่าทรัพย์สินของระบบสื่อสารเพื่อควบคุมระบบไฟฟ้า (ไฟเบอร์ออปติก)ไว้เพียง 2,241.4 ล้านบาท โดยไม่มีการประเมินมูลค่าในอนาคต ซึ่งบางฝ่ายคาดว่าน่าจะมีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท
ตัวอย่างที่เห็นอย่างชัดเจนอีกอย่างคือ พนักงาน กฟผ.ได้รับจัดสรรหุ้นไปแล้วกว่า 500 ล้านหุ้น ในราคา หุ้นละ 10 บาท มีการประเมินว่าราคาขายหากเข้าตลาดน่าจะอยู่ที่ 25-28 บาทต่อหุ้น ฉะนั้น หากเป็นเช่นนี้ กำไรของพนักงานจะมีเกือบ 10,000 ล้านบาท แต่ในที่สุดก็มีปัญหาเพราะ กฟผ. ไม่สามารถกระจายหุ้นได้ตามกำหนด ทำให้ในส่วนของพนักงาน มีปัญหาในกรณีที่กู้เงินมาซื้อหุ้น ต้องถูกคิดดอกเบี้ย
บิดเบือนหวังฮุบสายส่ง
ระบบสายส่งของ กฟผ.ที่เชื่อมโยงระหว่างจังหวัด กับจังหวัด เมื่อรวมกับสายส่งของ กฟน.และกฟภ. ที่โยงสายส่งของ กฟผ. เข้าสู่บ้านเรือนในแต่ละท้องที่ ทำให้เครือข่ายของการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง นับเป็นเครือข่ายที่ครอบคลุมได้ดีที่สุดและพร้อมที่จะใช้ในการพาณิชย์ได้ทันที
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการโทรคมนาคมต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากระบบสายส่งนี้เพื่อทำกำไรให้มากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะเทคโนโลยีในอนาคตจะเป็นระบบส่งผ่านข้อมูลผ่านใยแก้วนำแสง ซึ่งสามารถส่งผ่านข้อมูลในระบบดิจิตอล และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในธุรกิจหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเคเบิลทีวี ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ธุรกิจโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
อ้างขยายการลงทุน
ข้ออ้างหนึ่ง ที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อประกาศความชอบธรรมในการนำการไฟฟ้าเข้าตลาดหุ้น คือ ต้องการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าอีก 4 โรง ภายใน 4 ปี และข้ออ้างที่ 2 คือ ต้องการใช้เงินลงทุนถึง 200,000 ล้านบาท
ทั้งสองข้ออ้างข้างต้นจึงเป็นการบิดเบือน ความจริง เพราะจริงๆ แล้ว กฟผ. ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเลย เพราะเอกชนพร้อมจะสร้างเอง แต่รัฐบาลได้มอบโอกาสให้ กฟผ. เพื่อเป็นการแสดงให้นักลงทุนที่จะมาซื้อหุ้นว่า กฟผ.แต่ผู้เดียวมีโอกาสขยายกำลังการผลิต เท่ากับการันตีราคาหุ้นที่จะสูงขึ้นในอนาคต ส่วนเงิน 200,000 ล้านบาท ที่อ้างนั้น จริงๆ รวมถึงการลงทุนเพื่อใช้ระบบสายส่ง เป็นส่วนใหญ่
ประเด็นหนึ่งที่มักนำมาอ้างเสมอโดยเฉพาะการแปรรูป ก็คือการอ้างว่า การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะเพิ่มการตรวจสอบและเพิ่มความโปร่งใส และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กร ตามลำดับ
แต่การตรวจสอบและความโปร่งใสจะมีได้ ต้องมีการปรับองค์กรก่อนที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกรณีของ กฟผ. อย่างน้อยที่สุดต้องแยกให้เห็นว่า โรงไฟฟ้าไหนมีกำไรเท่าใด รายได้และค่าใช้จ่ายแบ่งกันอย่างไร ระหว่างฝ่ายผลิตและฝ่ายอื่นๆ แต่ กฟผ. มหาชน มีโครงสร้างที่ไม่ต่างจาก กฟผ. เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจเลย เพราะฉะนั้นความโปร่งใสมาจากไหน?
"เราเพียงดูตัวอย่างจากการบินไทยหรือธนาคารกรุงไทย ก็คงให้คำตอบแก่เราได้แล้วว่าการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือความโปร่งใสให้แก่องค์กรและไม่สามารถตัดอิทธิพลการเมืองออกไปความโปร่งใสมีได้ โดยไม่ต้องพึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯถ้ารัฐบาลเอาจริง"
ขายสมบัติชาติ
ปัจจุบัน กฟผ. ใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้ากว่า ร้อยละ 4-5 ของความต้องการไฟฟ้าของประเทศ เพราะโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศไทยมีต้นทุนต่ำ เนื่องจากเขื่อนส่วนใหญ่ก็มีอายุกว่า 30-40 ปี จึงมีการหักค่าเสื่อมในการก่อสร้างจากบัญชี การเงินของบริษัทไปแล้ว อีกทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำยังไม่มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง เขื่อนจึงมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุนการจัดหาไฟฟ้าให้กับประชาชน และการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศโดยรวม
"ทางเดินของสมบัติชาติสู่มือนายทุนโดยแท้ จากการไฟฟ้ายันฮีตั้งแต่ปี 2500 กว่า 40 ปี ที่การไฟฟ้ายืนยันบทบาทด้านพลังงานเพื่อประชาชนวันนี้บทบาทนั้นกำลังเปลี่ยนไปสิ้นเชิง
ในกรณีการขายหุ้น กฟผ. ไปสู่นักลงทุนเอกชนย่อมไม่เป็นการสมควรที่จะนำทั้งทรัพย์สินและรายได้จากการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรน้ำไปขายด้วย เนื่องจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำนั้นล้วนแล้วแต่ได้มาจากการเวนคืนเพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำกำไรให้กับเอกชน
"การนำทรัพย์สินเขื่อนและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปขายในตลาดหลักทรัพย์ฯจึงเป็นการปล้น ประชาชนที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนในครั้งนี้มีการเวนคืนที่ดิน ไปเปลี่ยนแปลงกำไรให้กับกลุ่มทุนและกลุ่มอำนาจไม่กี่คน"
ค่าไฟแพงขึ้น
โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน ที่กำหนดสูตรการคิดค่าไฟฟ้า กำหนดใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ซึ่งได้มีศัพท์เทคนิคเพิ่มมาใหม่ ที่เรียกว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ ROIC
การกำหนดอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหรือ ROIC นั้น เป็นผลพวงมาจากแผนการขายหุ้นเพราะรัฐบาลต้องคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถขายหุ้นของ กฟผ.ได้สำเร็จ คำตอบก็คือต้องขึ้นอยู่กับความสนใจของนักลงทุน และนักลงทุนจะสนใจก็ต่อเมื่อเห็นได้ชัดว่ามีอัตราผลตอบแทนที่คุ้มค่า
นี่คือที่มาของการกำหนดอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ ROIC ของ กฟผ. ที่อัตราร้อยละ 8.4 เพื่อให้ได้ราคาหุ้นที่อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่ามูลค่าราคาหุ้นทางบัญชี เพื่อปิดช่องทางในการถูกโจมตีว่านำหุ้นของรัฐวิสาหกิจไปเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าบัญชี เป็นการมุ่งผลักดันให้การเสนอขายหุ้นของ กฟผ.ประสบความสำเร็จนั้น โดยรัฐบาลไม่ได้สนใจผลกระทบต่อผู้บริโภคเลยแม้แต่น้อย
"ในการขยายสายส่งไปสู่ผู้ใช้ไฟทั่วประเทศยกเว้นในเขตนครหลวงและปริมณฑล ซึ่งในปัจจุบันนั้น กฟผ. ไม่มีภาระที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ กฟภ. แต่ให้ผลักภาระให้กับ กฟน. เป็นผู้จ่ายเงินชดเชยรายได้ให้กับ กฟภ. ในแต่ละปีประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระทางการเงินที่สูงมากสำหรับ กฟน. ดังนั้นในอนาคตประชาชนจะต้องเป็นผู้รับภาระหากฐานะทางการเงินของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งยังคงเป็นองค์กรของรัฐทรุดโทรมลงกว่าในปัจจุบัน"
ประเด็นเรื่องโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า เป็นเรื่อง ที่สำคัญมากในกระบวนการแปรรูป กฟผ. เพราะเป็น เรื่องยากที่ประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบสถานะการดำเนินงาน การจัดหมวดหมู่ต้นทุนการดำเนินงาน รวมทั้งประสิทธิภาพในการดำเนินงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานที่เรียกว่าองค์กรกำกับดูแล เข้ามาดูแลคุ้มครองผู้บริโภคโดยองค์กรกำกับดูแลจะมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้อย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีการผลักภาระต้นทุนอันเกิดจากการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพมาให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
บทเรียนจาก ปตท.
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความเรื่อง "บทเรียนจากการแปรรูป ปตท. สู่การแปรรูป กฟผ." ระบุว่า ปัจจุบันผู้ถือหุ้น ปตท. นอกจากกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่เดิมแล้ว ยังมีนักลงทุนจากต่างประเทศทั่วโลกจึงไม่ทราบว่าใครได้ประโยชน์จากการแปรรูป ปตท. อย่างแท้จริง
"นักลงทุนเหล่านี้มาในรูปแบบของสถาบันบ้าง กองทุนบ้างหรือแม้แต่กองทุนส่วนตัว ที่ใช้ตัวแทน (Nominee) ตรงนี้แหละอันตราย เพราะมีเศรษฐีในไทยฝากเงินไว้ในต่างประเทศ และขอใช้สิทธิกองทุนลักษณะนี้ ในการซื้อหุ้นก่อนการขายเข้า ตลาด"
นั่นคือ ถ้าใช้เงินบาทของไทย หากซื้อทีละไม่เกิน 5,000-10,000 หุ้น แต่ถ้าเป็นคนไทย ที่ฝากเงินไว้ในต่างประเทศ ในลักษณะที่เรียกว่า Private Banking แล้วตั้งตัวแทน ใช้ชื่อกองทุนหรูๆ ผ่านสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียง ต้องการซื้อหุ้น ก็จะได้สิทธิซื้อหุ้นไอพีโอเป็นล้านๆ หุ้น เพราะจัดชั้นเป็นนักลงทุนต่างชาติ
|