บางกอกเจมส์หวังดันไทย สู่ผู้นำจัดงานแฟร์อัญมณีเครื่องประดับของเอเชีย รุกธุรกิจจัดงานเป้าหมาย 2 ครั้งต่อปี เพื่อให้ไทย มีจำนวนการจัดงานมากขึ้นจากเดิมที่มี 2 ครั้ง ย้ำไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มผู้จัดงานเดิม เพื่อขยายตลาดรับช่วงเวลาซื้อขายของกลุ่มผู้ซื้อจากต่างประเทศได้มากขึ้น
นายปรีชา นววัฒนทรัพย์ ผู้จัดการโครงการ บริษัท บางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แมนูแฟคเจอร์ส แฟร์ จำกัด กล่าวกับ"ผู้จัดการรายวัน" ว่า ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ประกอบการโลกอย่างดี เนื่องจากคุณภาพของการทำและคุณภาพของแหล่งวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังแพ้ต่างประเทศในเรื่องของการจัดงานเนื่องจากยังมีงานแฟร์ที่เกี่ยวกับการแสดงอัญมณีเครื่องประดับเพราะไทยยังน้อยเกินไป
ตรงนี้เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศเช่น ในฮ่องกงจะมีการจัดงานเกี่ยวกับอัญมณี และเครื่องประดับใหญ่เฉลี่ย 4 ครั้งต่อปี อิตาลีมีประมาณ 4 ครั้งต่อปี (จัดในช่วงเดือนมกราคม มิถุนายน กันยายน พฤศจิกายน) ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อจากทั่วโลกสามารถเดินทางไปซื้ออัญมณีได้ตลอดทั้งปี บางประเทศเองก็จะมีฤดูกาลซื้อและขายที่แตกต่างกัน ขณะที่ไทยเรามีเพียงแค่ 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น คือในเดือนมีนาคมและกันยายน ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับร่วมกับกรมส่งเสริม การส่งออก กระทรวงพาณิชย์
"บริษัทฯมองว่าตรงนี้ยังเป็นช่องว่างของไทยที่ยังขาดไป เพราะการจัดงานยังมีน้อย บริษัทฯจึงได้เข้าสู่ธุรกิจการจัดงานอัญมณีอีกรายหนึ่ง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศ ซึ่งได้เริ่มทดลองจัดไปแล้วครั้งแรกเมื่อช่วงวันที่ 22-26 มิถุนายน 2548 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี โดยมีผู้เข้าร่วมออกบูทมากกว่า 600 ราย มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 คน และมียอดขายปลีกในงานประมาณ 30 กว่าล้านบาท"
นายปรีชากล่าวต่อว่า เป้าหมายของบริษัทฯต้องการจัดงาน 2 ครั้งต่อปีคือ ช่วงเดือนมกราคม และมิถุนายน ซึ่งเมื่อรวมกับของเดิมที่มี 2 ครั้ง จะทำให้ไทยมี 4 ครั้งต่อปี สามารถครอบคลุมช่วงการขายได้มาก ขึ้นกับตลาดต่างประเทศและคาดว่าจะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่หนึ่งของผู้จัดงานแฟร์ด้านอัญมณีในเอเชียได้ ซึ่งบริษัทฯมีแผนที่จะร่วมมือกับทางหน่วยงานของราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนงานดังกล่าวนี้ด้วย เช่น การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย ซึ่งเคยเจรจาไปบ้างแล้ว
สำหรับการจัดงานครั้งต่อไปของบริษัทฯในปีนี้จะเริ่มช่วงวันที่ 14-18 มิถุนายนศกนี้ ที่เดิมคือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าจะมีผู้ร่วมออกบูทประมาณ 600 ราย และคาดผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 50,000 คน และเงินที่สะพัดซื้อขายในงานน่าจะมากกว่าปีที่แล้ว ส่วนมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นน่าจะเป็นหลักพันล้านบาท โดยใช้งบประมาณในการจัดงานครั้งนี้กว่า 30 ล้านบาท
กลุ่มผู้ประกอบการที่มาร่วมออกบูทในครั้งนี้มีทั้งผู้ประกอบการของไทยและต่างประเทศ มีทั้งรายใหญ่และรายระดับกลาง เช่น บริษัทโกลด์ไฟน์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูหลิม ซิลเวอร์ จำกัด, บริษัทของ เก๋-ชลลดา เมฆราตรี เป็นต้น
นายปรีชาย้ำว่า การที่บริษัทฯเข้ามาจัดงานอีกรายเชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจอัญมณีของไทยเติบโตขึ้นอีก และไม่คิดว่าจะเป็นการแข่งขันหรือซ้ำซ้อนกับอีกหน่วยงานหนึ่งที่จัดงานนี้อยู่แล้วเหมือนกัน แต่จะเป็นการเสริมซึ่งกันและกัน
"ตลาดรวมของธุรกิจอัญมณีของไทยนั้นมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่องมาตลอดเฉลี่ย 20-25% โดยยอดการส่งออกอัญมณีของไทยไปต่างประเทศ ปีที่แล้วมีประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ทำเงินเข้าประเทศมากเป็นอันดับที่ 6 โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่ อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เอเชีย"
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าทางด้านของสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ จัดงานแสดงสินค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ หรืองานบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 37 วันที่ 1-5 มีนาคม 2549 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี โดยใช้พื้นที่ 60,000 ตารางเมตร จำนวน 3,000 คูหา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมออกบูทมากกว่า 1,300 ราย คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 35,000 ราย
|