Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2540
'ยนตรกิจ' เลิกขาย 'บีเอ็ม' ตัวแปรสำคัญคือโฟล์กกรุ๊ป             
 

 
Charts & Figures

ยอดจำหน่ายบีเอ็มดับบลิวในไทย


   
www resources

BMW Group Thailand Homepage
โฮมเพจ ยนตรกิจ กรุ๊ป

   
search resources

บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย), บจก.
ยนตรกิจ กรุ๊ป
โฟล์กกรุ๊ป
วิทิต ลีนุตพงษ์
Auto Dealers




ความตกต่ำของตลาดรถยนต์เมืองไทยในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งระดับหรูหรานั้น ได้สร้างปัญหาให้กับผู้ค้าในตลาดนี้อย่างมากในทุกยี่ห้อ

และดูเหมือนว่า "ยนตรกิจ" กับความเหลวแหลกของบีเอ็มดับบลิวในไทย ได้กลายเป็นปัญหาที่ดูหนักหนาที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นความตกต่ำของภาพพจน์ ชื่อเสียง

ยอดจำหน่ายที่ถดถอยอย่างมาก

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่อาจจะรอเวลาเพื่อการแก้ไข แต่การกำหนดทิศทางเพื่ออนาคตและการแก้เกมเฉพาะหน้า กลับยังไม่สามารถดำเนินการได้

ปัญหาใหญ่สุดของกิจการบีเอ็มดับบลิวในไทย ก็คือ ความไม่ลงตัวของโครงสร้างองค์กรใหม่ภายใต้การร่วมทุนครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างบีเอ็มดับบลิว เอจี แห่งเยอรมนีกับกลุ่มยนตรกิจ

ในขณะนี้ แผนงานในการทำตลาดบีเอ็มดับบลิวในไทยยังไม่รู้จะเอาอย่างไร ทุกอย่างเกือบจะกลายเป็นการขอไปทีแทบทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้นการเจรจาต่อรองในเรื่องอำนาจสิทธิ์ขาดในองค์กรที่ร่วมทุนครั้งใหม่นี้ยังคงยืดเยื้อต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้กิจการบีเอ็มดับบลิวในไทยต้องเสียโอกาสต่อไปอีก

"การเจรจาในรายละเอียดของการร่วมทุน จะสรุปผลเสร็จสิ้นในปีนี้แน่นอน" คาร์ล เอช. กาซกา ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด และการขายจากบีเอ็มดับบลิว เอจี เยอรมนี กล่าวอย่างมั่นใจ ส่วนผู้บริหารของไทยยานยนตร์ ซึ่งยังคงรับหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับบลิวอยู่ในขณะนี้คาดว่า บทสรุปคงต้องเลื่อนไปเป็นต้นปี 2541 จากเดิมที่คิดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2540

"เราต้องการที่จะเข้ามาดูแลด้านการตลาดเพียงอย่างเดียว จุดประสงค์หลักในการเข้ามาของบีเอ็มดับบลิว เอจี คือต้องการเข้ามาดูแลในส่วนของการตลาดเท่านั้น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเครือข่ายการจำหน่าย และการบริการหลังการขายในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ของบีเอ็มดับบลิว" กาซกากล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการเข้ามาร่วมทุนของบีเอ็มดับบลิว เอจี

โครงสร้างการบริหารภายหลังการร่วมทุนนั้นทางบีเอ็มดับบลิว เอจี ต้องการที่จะแบ่งภาระหน้าที่ออกอย่างชัดเจน ระหว่างบีเอ็มดับบลิว เอจี กับกลุ่มยนตรกิจ

กล่าวคือ ฝ่ายการผลิตจะยังคงมอบหมายให้บริษัท วาย เอ็ม ซี เอสเซมบลี จำกัด โรงงานประกอบรถยนต์ของกลุ่มยนตรกิจทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งในส่วนของภาคการผลิตนี้ บีเอ็มดับบลิว เอจี จะเข้าไปเป็นเพียงที่ปรึกษาด้วยการส่งผู้ชำนาญเข้ามาให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาการผลิตร่วมกับกลุ่มยนตรกิจ

"คงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในส่วนของโรงงานประกอบเพราะกลุ่มยนตรกิจทำได้ดีอยู่แล้ว มีพัฒนาการที่ดี ซึ่งชัดเจนมากในการประกอบบีเอ็มดับบลิว 523 ตัวใหม่นี้" กาซกา กล่าวยอมรับถึงคุณภาพของโรงงานประกอบของกลุ่มยนตรกิจ

สำหรับการตลาดนั้น บีเอ็มดับบลิว เอจี ต้องการให้บริษัท บีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย) บริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นใหม่นี้เป็นผู้ดูแลทั้งหมด ทั้งก่อนและหลังการขาย

โดยช่องทางจำหน่ายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของดีลเลอร์อิสระทั่วๆ ไป ทั้งที่มีอยู่เดิม และที่บีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย) จะแต่งตั้งเพิ่มขึ้นใหม่

และส่วนของบริษัทไทยยานยนตร์ ซึ่งจะกลายเป็นดีลเลอร์รายหนึ่ง เพียงแต่ว่าสาขาของไทยยานยนตร์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันก็จะยังอยู่ต่อไป สำหรับสาขาที่จะแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ในอนาคตคงต้องผ่านความเห็นชอบของบริษัทร่วมทุนใหม่นี้ด้วย

ที่สำคัญช่องทางการตลาดทั้ง 2 ส่วนนั้นจะต้องขึ้นตรงต่อ บีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย)

กาซกา มองว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาหลังจากประเทศไทยเปิดเสรีด้านรถยนต์แล้ว ภาพพจน์ในส่วนของงานการตลาดงานบริการและด้านช่องทางจำหน่ายของบีเอ็มดับบลิวนั้นถดถอยลงไป ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของลูกค้า และเรื่องต่างๆ เหล่านี้ถ้าปล่อยให้เนิ่นนานออกไปอาจกลายเป็นเรื่องภาพพจน์ ซึ่งถ้าเสียหายแล้วก็ยากที่จะแก้ไขให้กลับคืนมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว

"ภาพพจน์การบริการหลังการขายจะต้องปรับปรุงการวางเครือข่ายดีลเลอร์จะพัฒนาให้ดีกว่านี้ ซึ่งมีรายละเอียดอีกมากที่จะต้องเร่งทำ" กาซกา กล่าว

การลดบทบาทในด้านการตลาดเป็นหัวข้อสำคัญที่ทำให้การเจรจาระหว่างบีเอ็มดับบลิว เอจี กับกลุ่มยนตรกิจต้องยืดเยื้อ แต่กาซกาก็มั่นใจว่าแผนงานในการเข้ามาพัฒนาตลาดบีเอ็มดับบลิวในไทยเพื่อการขยายตลาดในอนาคตนั้น ไม่ได้ทำให้กลุ่มยนตรกิจสูญเสียประโยชน์ที่เคยได้รับในอดีต

"การปรับปรุงเครือข่ายดีลเลอร์จะทำให้บีเอ็มดับบลิวขยายตัวโตขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ยนตรกิจไม่ได้เล็กลงในเรื่องขนาดของธุรกิจตามที่เข้าใจ"

กระนั้นก็ตาม โครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท บีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย) ที่บีเอ็มดับบลิว เอจี ต้องการถือหุ้นข้างมากพร้อมกับอำนาจการบริหารงานสูงสุด และตำแหน่งประธาน ต้องเป็นชาวเยอรมันเท่านั้น เหล่านี้นับเป็นเรื่องที่รับยากเหมือนกันสำหรับคนในตระกูลลีนุตพงษ์

วิทิต ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหารกลุ่มยนตรกิจ ทายาทคนสำคัญของตระกูลลีนุตพงษ์ เคยประกาศว่าต้องการที่จะรักษาประเพณีการบริหารของกลุ่มยนตรกิจ ที่คนไทยต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ เป็นเหตุที่ทำให้กลุ่มยนตรกิจต้องแตกหักกับฟอร์ด และเลิกทำธุรกิจร่วมกับฟอร์ด

ครั้งนั้นยนตรกิจไม่อาจยอมรับการลดฐานะจากที่เคยเป็นผู้แทนนำเข้า และจำหน่ายมาเป็นเพียงดีลเลอร์รายหนึ่งจากฟอร์ดจัดตั้งบริษัทฟอร์ด เซลส์ (ประเทศไทย) ขึ้นมาดูแลธุรกิจในไทยเอง ซึ่งการเคลื่อนไหวของบีเอ็มดับบลิว เอจี ในครั้งนี้ก็ใกล้เคียงกับเมื่อคราวของฟอร์ดเสียเหลือเกิน สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของตลาดบีเอ็มดับบลิวในไทยนั้นถือว่าย่ำแย่เอามากๆ ผ่าน 7 เดือนแรก ยอดจำหน่ายมีแค่ 1,714 คัน และด้านการประกอบก็ต้องลดจำนวนเหลือเพียง 200 คันต่อเดือน จากที่เคยผลิต 400 คันต่อเดือน

"ตอนนี้รถที่เราประกอบมีเพียง 2 รุ่น คือ 523 i และ 318 i ถึงวันนี้เรายังมีการประกอบรถตามปกติ เพียงแต่ปรับลดกำลังการผลิตต้องลดลงมาเรื่อยๆ" ผู้บริหารของไทยยานยนต์ กล่าว

บีเอ็มดับบลิวเป็นรถยนต์ในกลุ่มหรูหรา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2539 โดยตลาดรถยนต์หรูหราโดยรวมตกลงจากปี 2538 ถึง 30% ขณะที่ในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าตลาดจะตกต่ำลงจากปี 2539 อีกและในอัตราที่มีความรุนแรงมากขึ้นด้วย

สำหรับบีเอ็มดับบลิว แม้จะดิ้นรนทั้งเรื่องแคมเปญ และทำการแก้ไขสถานการณ์ทางด้านยอดจำหน่ายในหลายด้านโดยเฉพาะปัญหาไฟแนนซ์ โดยการใช้เงินทุนของบริษัทเองในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าผ่านทั้งสาขาและดีลเลอร์แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นยอดการจำหน่ายขึ้นมาได้มากนัก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนให้ทางบีเอ็มดับบลิว เอจี ต้องตัดสินใจที่จะเร่งเข้ามาโดยเร็วและในทางกลับกัน ในเมื่อตลาดบีเอ็มดับบลิวเล็กลงเรื่อยๆ ขณะที่รถยนต์ตัวใหม่อย่างกลุ่มโฟล์ก ซึ่งยนตรกิจกำลังปั้นได้อย่างเพลิดเพลิน สวยงามและดีวันดีคืนนั้น จึงทำให้เกิดกระแสข่าวที่ว่า ยนตรกิจอาจถึงขั้นตัดสินใจทิ้งบีเอ็มดับบลิว

ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการรถยนต์เมืองไทยเคยวิเคราะห์ว่า องค์กรอย่างยนตรกิจนั้นในอนาคต จะไม่สามารถต้านกระแสการหลั่งไหลเข้ามาของบริษัทรถยนต์ต้นสังกัดได้ และเมื่อถึงเวลานั้น ยนตรกิจจะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะถือรถยนต์ยี่ห้อใดไว้ในมือ ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่า ยนตรกิจจะถือไว้ได้ไม่มากเช่นปัจจุบัน และที่สุดแล้วจะต้องเลือกระหว่างกลุ่มโฟล์กกับบีเอ็มดับบลิว

แหล่งข่าวจากกลุ่มยนตรกิจกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทำให้กลุ่มยนตรกิจต้องกลับมาทบทวนความสำคัญ ในการทำตลาดระหว่างบีเอ็มดับบลิวกับกลุ่มโฟล์ก โดยเฉพาะออดี้ซึ่งนับได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญ และโดยตรงกับบีเอ็มดับบลิว

ที่สำคัญ กว่าหนึ่งปีมาแล้วที่ โฟล์ก กรุ๊ป แห่งเยอรมนี ได้พยายามทั้งกดดันและเชิญชวนให้กลุ่มยนตรกิจดำเนินกิจการของรถยนต์ในกลุ่มโฟล์กในลักษณะเชิงรุกให้มากขึ้น ด้วยเห็นว่าตลาดของกลุ่มโฟล์กในไทยสามารถไปได้ พร้อมด้วยแผนการประกอบในประเทศที่กลุ่มโฟล์กกำลังนำขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่

ในขณะนี้ความเคลื่อนไหวในส่วนงานของรถยนต์กลุ่มโฟล์กหรือกลุ่มทีเอที่ยนตรกิจถือครองอยู่นั้น ดูคึกคักมากในเรื่องของแผนงานการแยกโชว์รูมและศูนย์บัญชาการซึ่งกลุ่มโฟล์กต้องการให้เป็นอย่างนั้น

เมื่อสำนักงานของออดี้ ที่พระราม 9 เสร็จ สำนักงานใหญ่ของที้ง 3 ยี่ห้อในกลุ่มโฟล์กจะแยกกันชัดเจน ซึ่งเป็นวิถีใหม่ของเครือยนตรกิจในเรื่องของการแยกยี่ห้อตามที่กลุ่มโฟล์กต้องการ และยนตรกิจยุคใหม่ก็เห็นดีด้วย กล่าวคือ ออดี้จะอยู่พระราม 9, เซียท จะอยู่ที่ทองหล่อ และโฟล์กจะอยู่ที่สำนักงานวิภาวดี-รังสิต ที่เดิม

การโอนอ่อนตามคำเรียกร้องของกลุ่มโฟล์ก ดูจะง่ายดายยิ่งนัก และยิ่งไปกว่านั้นในระยะหลังจะได้เห็นวิทิตเข้ามามีบทบาทในส่วนงานของกลุ่มโฟล์กมากขึ้นอย่างผิดสังเกต ทั้งที่ก่อนหน้านั้นจะมุ่งไปที่บีเอ็มดับบลิวเป็นหลัก

ความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มยนตรกิจในส่วนงานบีเอ็มดับบลิวจะออกมาในรูปใด รุนแรงแค่ไหน คงต้องใช้เวลา

แต่คงอีกไม่นานเกินรอ

และการร่วมทุนระหว่างยนตรกิจกับบีเอ็มดับบลิว จะเสร็จสิ้นลุล่วงหรือไม่คงต้องรอหลังจากที่วิทิตเดินทางกลับมาแล้ว

แต่ครั้งนี้ วิทิตไม่ได้กลับมาจากการเจรจากับบีเอ็มดับบลิว

การเจรจาของวิทิตครั้งล่าสุดกลับเป็นการเจรจากับกลุ่มโฟล์ก

ภาพเลยยิ่งชัดเจนเข้าไปอีก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us