บ้านปู จ่ายเงินปันผลเพิ่มอีกหุ้นละ 4 บาท รวมทั้งปีจ่าย 12.50 บาท หลังผลงานปี 2548 กำไรสุทธิกว่า 5.5 พันล้านบาท สูงกว่าปีก่อนเกือบ 2 พัน หรือ 53% ผู้บริหาร แจงเกิดจากความต้องการถ่านหินมีสูงและแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ด้านโบรกเกอร์ วิเคราะห์กำไรต่ำกว่าคาดการณ์ คงเป้าหมายซื้อลงทุนระยะยาว ราคาเป้าหมาย 155 บาท ขณะที่ราคาหุ้นบนกระดานรูด ปิดที่ 145 บาท ลดลง 5 บาท
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 2/2549 มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานประจำปี 2549 ในอัตราหุ้นละ 12.50 บาท ซึ่งได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วหุ้นละ 3.50 บาท และจ่ายเงินปันผลพิเศษไปแล้วหุ้นละ 5.00 บาท คงเหลือจ่ายในงวดนี้อีกหุ้นละ 4.00 บาท
ทั้งนี้ เงินปันผล 4.00 บาท เป็นการแบ่งจ่ายจากกำไรของธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอัตราหุ้นละ 1.90 บาท และจ่ายจากกำไรของธุรกิจที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอัตราหุ้นละ 2.10 บาท กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 11 เมษายน 2549
อย่างไรก็ตาม การอนุมัติจ่ายเงินปันผลข้างต้นจะต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัทได้กำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2549 ในวันที่ 30 มีนาคม 2549 ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นในการเข้าประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2549 และการรับเงินปันผลในวันที่ 10 มีนาคม 2549
สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 นั้น บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 5,565 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 20.48 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,645 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 13.42 บาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,920 ล้านบาท หรือประมาณ 53%
ส่วนรายละเอียดของผลงานปี 2548 นั้น บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 25,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 7,982 ล้านบาท หรือ 46% จากปริมาณและราคาขายถ่านหินเพิ่มขึ้น โดยรายได้ส่วนใหญ่เกิดจากการจำหน่ายถ่านหินรวม 25,047 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 99% ของรายได้จากการขาย ขณะที่ต้นทุนขายรวม 13,933 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,408 ล้านบาท หรือ 32%
ด้านฐานะทางการเงิน บริษัทมีสินทรัพย์รวม 45,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 5,550 ล้านบาท คิดเป็น 14% หนี้สินรวม 23,202 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,779 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41% และส่วนของผู้ถือหุ้น 21,886 ล้านบาท ลดลง 1,229 ล้านบาท หรือลดลง 5% อัตราหนี้สินสุทธิต่อหุ้น (Net debt to equity) สำหรับงบการเงินรวมเท่ากับ 0.34 เท่า และงบการเงินเฉพาะบริษัทเท่ากับ 0.31 เท่า เทียบกับปีก่อนที่อยู่ในระดับ 0.22 เท่า และ 0.24 เท่า ตามลำดับ
นายชนินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2548 ราคาถ่านหินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะช่วง 7 เดือนแรกที่มีความต้องการใช้ถ่านหินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับมีการเร่งสะสมถ่านหินโดยผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าหลายแห่งในภูมิภาค ดังนั้นเมื่อโรงไฟฟ้ามีปริมาณถ่านหินใช้อย่างพอเพียงมากขึ้นจึงทำให้ราคาถ่านหินปรับตัวลงในช่วงท้ายของปี
"ความต้องการใช้ถ่านหินในปี 2549 นี้จะยังขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่ของบ้านปูในปี 2548 จะมาต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 80-90% ของรายได้รวม แต่หากเป็นกำไรแล้ว สัดส่วนกำไรมาจากไทยอยู่ที่ 20-25% ของกำไรทั้งหมด แต่ปี 2550 สัดส่วนกำไรของบ้านปูมาจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% เป็นผลมาจากปีหน้าโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่บ้านปูถือหุ้นอยู่ 50% จะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้เต็มที่ 1,400 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯจะไม่บันทึกเป็นรายได้แต่จะรับรู้ในรูปกำไรแทน"
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีดำเนินการก่อสร้างคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้ายูนิตแรก จำนวน 700 เมกะวัตต์ ในช่วงตุลาคมศกนี้ และยูนิต 2 อีก 700 เมกะวัตต์จะเสร็จในกุมภาพันธ์ 2550 โดยปีหน้ากำไร 1ใน 3ของบ้านปูจะมาจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี
ขณะที่ด้านการผลิตถ่านหิน บริษัทได้เริ่มดำเนินการผลิตถ่านหินจากเหมืองทรูบาอินโดซึ่งเป็นเหมืองแห่งใหม่ในกาลิมันตันด้วยปริมาณการจำหน่าย 1.5 ล้านตัน เหมืองทรูบาอินโดไม่สามารถทำการผลิตได้อย่างเต็มที่ตามแผนในปี 2548 เนื่องจากเป็นปีแรกของการผลิตและยังต้องปรับปรุงความพร้อมด้านระบบขนส่งถ่านหิน แต่เหมืองแห่งนี้ได้มีพัฒนาการที่ดีและเป็นแหล่งถ่านหินสำคัญที่จะสร้างความเติบโตด้านการผลิตให้แก่บริษัทในปี 2549
นอกจากมีการผลิตจากแหล่งใหม่แล้ว บริษัทได้มีการขยายการลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเข้าร่วมลงทุนในเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งในมณฑลเหอหนาน ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 40% ขณะเดียวกันบริษัทได้ขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non Core) ได้แก่ ธุรกิจเหมืองแร่แคลเซียมคาร์บอเนตและโรงไฟฟ้าขนาดเล็กแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย และทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งที่ประกอบธุรกิจปิโตรเคมี
ส่วนแผนงานในอนาคตบริษัทยังคงเน้นการลงทุนทั้งในธุรกิจถ่านหินและไฟฟ้า โดยจะพิจารณาโครงการที่สามารถสร้างคุณค่าและผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไซรัส จำกัด วิเคราะห์ว่า กำไรสุทธิปี 2548 ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 53% ส่วนใหญ่เกิดจากรายการพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นกำไรจากการขายเงินลงทุน หากไม่รวมรายการพิเศษจะทำให้กำไรจากการดำเนินงานปกติ 3.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 93% ขณะที่ไตรมาส 4 กำไรสุทธิ 725 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 57% และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 151 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 88%
"กำไรปี 48 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ 4% ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานปกติเพิ่มขึ้น 28% จากปริมาณขายเพิ่มขึ้น 4 ล้านตัน ชดเชยราคาขายเฉลี่ยที่คาดว่าจะลดลง 5% และเริ่มรับรู้กำไรจากการลงทุนในเหมืองที่จีน และโรงไฟฟ้า BLCP (ที่จะเริ่มผลิตเฟสแรกต.ค.นี้) แม้ยังไม่เป็นนัยสำคัญนัก แต่กำไรสุทธิจะลดลง 8.8% จากกำไรรายการพิเศษจากการขายหุ้น ATC ลดลง"
บล.เคจีไอ ประเมินว่า แม้ระยะนี้ราคาถ่านหินจะฟื้นตัว แต่ยังมีข้อกังวลต่อแนวโน้มที่อัตรากำไรขั้นต้นอาจปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาถ่านหินในระยะยาวที่น่าจะถูกกดดันจากอุปทานใหม่ที่จะเข้ามาประมาณ 25 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 11% โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ดังนั้นจึงคงคำแนะนำ "ซื้อลงทุนระยะยาว" ราคาเป้าหมายหุ้นละ 155 บาท ปัจจุบันหุ้นซื้อขายที่ PE ปี 2549 ที่ 10.3 เท่าและ PBV ปี 2549 ที่ 1.5 เท่า
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น BANPU ล่าสุดวานนี้ (23 ก.พ.) ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดทำการซื้อขายในช่วงเช้าที่ราคาหุ้นละ 150 บาท และเป็นราคาซื้อขายสูงสุดประจำวัน ก่อนจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและปิดที่ราคาต่ำสุด 145 บาท ลดลงจากวันก่อน 5 บาท หรือ 3.33% มูลค่าการซื้อขายรวม 265.53 ล้านบาท
|