ก.ล.ต. ร่ายยาวที่ไปที่มาหุ้นชินคอร์ป-แอมเพิล ริช ก่อนสรุปเอาผิดได้เพียง"พานทองแท้"แค่จิ๊บจ๊อยฐานไม่รายงาน และ ไม่ยื่นทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ แค่โทษปรับ ขณะที่"ทักษิณ - พิณทองทา"รอดทุกกรณี พร้อมแจงข้อสงสัยแอมเพิล ริช ระบุมีแค่บริษัทเดียว โบรกเกอร์แจ้งที่อยู่และที่มาของหุ้นผิด ด้านการตรวจสอบอินไซด์เดอร์ เทรดดิ้ง โดนให้ตลาดหลักทรัพย์ ฯ แม้วพลิกเกมทำจม.เปิดผนึกแจกส.ส.และสมาชิกพรรคทรท. แจงดีลอัปยศ ปชป. เซ็งก.ล.ต.เมินกฎหมายชี้แจงข้างๆคูๆ จี้สรรพากรเก็บภาษี "โอ๊ค"กว่าสามพันล้าน
วานนี้ (23ก.พ.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ใช้เวลากว่า1ชั่วโมงเปิดแถลงถึง ผลการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือSHIN ว่า จากการพิจารณาข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานและคำชี้แจงของนายพานทองแท้ ชินวัตร รวมถึงเอกสารจาก บริษัทแอมเพิล ริช (Ample Rich Investments Ltd.) สรุปได้ว่า นายพานทองแท้ กระทำผิดเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 246 และ 247 รวม 3 กรณี ได้แก่ 1.ความผิดตามมาตรา 246 เนื่องจากไม่มีการระบุการถือหุ้น SHIN ที่ถือโดย แอมเพิลริชซึงเป็นบุคคลตามาตรา 258 โดยรายงานเพียงการถือหุ้น 24.99% จากการซื้อต่อพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2543 2.ความผิดมาตรา 247 เนื่องจากการได้มาของหุ้น SHIN ในสัดส่วน 24.99% เมื่อรวมกับการถือหุ้นผ่านบุคคลตามาตรา 2548 แล้วถือหุ้นเกิน 25% แต่ไม่มีการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2543 และ 3.ความผิดมาตรา246 เนื่องจากขายหุ้น SHIN ให้นางสาวพิณทองทา ชินวัตร เมือวันที่ 9 ก.ย. 2545 แต่ไม่มีการรายงาน
ในขั้นตอนต่อไป สำนักงานก.ล.ต.จะทำหนังสือแจ้งต่อนายพานทองแท้ซึ่งหากยอมรับความผิดก็จะส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการเปรียบเทียบ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เป็นผู้พิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการดำเนินความผิดไม่เคยมีการลงโทษด้วยการจำคุกแค่ลงโทษปรับเท่านั้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งทั้ง 3 กรณีแม้ว่าวันที่นายพานทองแท้กระทำความผิดจะเกิดขึ้นต่างกันแต่วันสุดท้ายที่คณะกรรมการจะพิจารณาเปรียบเทียบปรับเกิดขึ้นก่อนวันทำรายการซื้อขายหุ้นให้กับบริษัทเทมาเสก โฮลดิ้งจากประเทศสิงคโปร์
"เรายืนยันได้ว่าไม่มีการใช้ 2 มาตรฐานในการพิจารณา สำนักงานก.ล.ต.มีมาตรฐานเดียว"นายธีระชัยกล่าว
ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมามีการกระทำผิดในเรื่องการรายงานข้อมูลของผู้ถือหุ้นจำนวน 72 กรณีที่เป็นการเปรียบเทียบปรับ และอีก 7 กรณีที่มีการเสนอโทษจำคุกเรื่องจากมีการยื่นเรื่องอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาล
สำหรับบทลงโทษตามความผิดมาตรา 246 และ 2547 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตาม มาตรา 246 | มาตรา 247 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตาม มาตรา247 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่ เกิน 500,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือทั้งจำทั้งปรับ
**ทักษิณ-พิณทองทารอดไม่ผิด
"การตรวจสอบในส่วนของพ.ต.ท.ทักษิณ และนางสาวพิณทองทา สำนักงานก.ล.ต.ไม่พบความผิดในการทำผิดระเบียบเรื่องการรายงานการถือครองหุ้นรวมทั้งการทำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด"นายธีระชัยกล่าว
ในส่วนของเรื่องการตรวจสอบบริษัทแอมเพิลริช ว่ามี 2 แห่งหรือไม่ตามที่มีผู้มาร้องเรียนให้ตรวจสอบ สำนักงานก.ล.ต.เลขาธิการก.ล.ต.สรุปว่า แอมเพิลริช มีเพียงบริษัทเดียวและไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถืออยู่จึงไม่พบว่ามีการกระทำผิดมาตรา 246 และ 247
นายธีระชัย กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องการรายงานการได้มาของหุ้น SHIN ของผู้รับฝากหุ้น (คัสโตเดียน) ที่มีปรากฎในแบบรายงาน 246-2 ของ ยูบีเอส สิงคโปร์ (UBS AG-Singapore) เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2544 ว่า ในวันที่ 21 ส.ค. 2544 UBS ซื้อหุ้น SHIN จำนวน 10 ล้านหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในราคาหุ้นละ 179 บาท จากการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายหุ้นSHIN ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า มีการซื้อขายหุ้น SHIN ในกระดานหลัก 238,900 หุ้น กระดานต่างประเทศ 548,700 หุ้น รวม 787,600 หุ้นโดยไม่มีการซื้อขายในกระดานรายใหญ่ (biglot) จึงเป็นไปไม่ได้ที่มีการทำรายการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ตามที่ UBS แจ้งต่อสำนักงานก.ล.ต. ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2549 บริษัทได้ชี้แจงต่อก.ล.ต. ว่า รายงานผิดพลาดโดยที่ถูกต้องเป็นการรับโอนหุ้น SHIN จาก วิกเกอร์ส์บัลลาส สิงคโปร์(VKB-Singapore) เท่านั้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาหุ้น SHIN ที่มีการซื้อขายในวันดังกล่าว ในกระดานต่างประเทศ ราคาสูงสุดอยู่ที่ 181 บาท ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 178 บาท ราคาเฉลี่ย 179.64 บาทต่อหุ้นซึ่งหากเรื่องการแจ้งต่อก.ล.ต. เกี่ยวกับราคาซื้อขายหุ้นที่ 179 บาทต่อหุ้นส่งผลให้นักลงทุนรายใดได้รับผลกระทบร้องเรียนต่อก.ล.ต.ได้
"เค้ารายงานผิดและที่สำคัญเค้าไม่จำเป็นที่จะต้องรายงานเรื่องดังกล่าวด้วย เราไม่สามารถเอาผิดต่อการรายงานผิดที่ไม่จำเป็นต้องรายงานได้"นายธีระชัยกล่าว
**ไม่จำเป็นต้องสอบชำระราคาหุ้นจริงหรือไม่
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการชำระราคาหุ้นภายหลังพ.ต.ท.ทักษิณ ขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริช ให้กับนายพานทองแท้เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2543 และต่อมาในปี 2548 มีการเพิ่มทุนในบริษัทแอมเพิลริช โดยมีนางสาวพินทองทา เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยนั้นทั้ง 2 กรณีสำนักงานก.ล.ต.มิได้เข้าไปตรวจสอบการชำระราคาเพราะทุนจดทะเบียนในช่วงที่มีการขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชให้นายพานทองแท้ มีเพียง 1 เหรียญสหรัฐต่อมาบริษัทได้มีการเพิ่มทุนและเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนเป็น 5 เหรียญสหรัฐเท่านั้น จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยไม่มีเหตุให้สงสัย
นอกจากนี้ แม้ว่าสำนักงานก.ล.ต.จะมีหน้าที่ในการเข้ามาดูแลเรื่องการรายงานการได้มาของหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านจุด 5% แต่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปี 2535 ไม่มีข้อกำหนดให้คำนึงเรื่องการชำระราคาหุ้น
**รอผลสอบอินไซด์จากตลท.
นายธีระชัย กล่าวถึงเรื่องการตรวจสอบการใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่าไม่เข้าข่ายความผิดเพราะ การซื้อขายด้วยราคาใดไม่มีผลทำให้ผู้บุคคลอื่นได้เปรียบเสียเปรียบจากการกระทำ
ทั้งนี้ ที่ตั้งข้อสงสัยในส่วนของผู้บริหารของบริษัทในเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน ทั้งในหุ้น SHIN และหุ้นบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ในช่วงที่ผ่านมา เรื่องดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบยังไม่ได้ส่งผลการตรวจสอบมาให้ที่ก.ล.ต.
**เส้นทางหุ้น SHIN ในแอมเพิลริช
สำหรับเส้นทางการถือครองหุ้น SHIN ให้กับบริษัทแอมเพิลริช จากข้อมูลของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) และบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นผู้รับฝากหลักทรัพย์(คัสโตเดียส) ที่เกี่ยวข้อง 4 ราย คือ Vickers Ballas - Singapore (VKB) , UBS AG - Singapore, บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (เดิมคือ บล. นววิคเคอร์ส บัลสาล(ประเทศไทย) ) และบล.กิสกรไทย (เดิม บล.แอสเซท พลัส )สรุปได้ดังนี้ ในวันที่ 11 มิ.ย.2542 บริษัทแอมเพิลริช ถือหุ้นชินจำนวน 32.92 ล้านหุ้นโดยจดทะเบียนจัดตั้งที่ประเทศ British Virgin Island ซึ่งมีสัญญาติ British Virgin Island สถานที่ตั้ง คือ Matheson Trust Company (BVI) Limited P.O.Box 3151, Road Town, Tortola,British Virgin Island แต่ได้โอนหุ้นไปฝากกับคัสโตเดียส คือ บล.แอสเซท พลัส โดยแจ้งสถานที่ติดต่อของบริษัท ไว้ 2 แห่ง คือ 185A Goldhill Centre, 51 Thomson Road,Singapore 307629 และ 57 UBI Avenue 1#07-03, Singapore 408936
ทั้งนี้ ในวันที่ 13 เม.ย. 2543 ได้โอนหุ้นจำนวน 10 ล้านหุ้นฝากไว้ที่ บล. นววิคเคอร์ส บัลสาล ขณะที่ บล.แอสเซท พลัส ถือหุ้นในสัดส่วน 22.92 ล้านหุ้น ก่อนที่จะมีการย้ายหุ้นในส่วนที่บล. นววิคเคอร์ส บัลสาล ถือครองไปให้กับ UBS AG - Singapore ในวันที่ 21 ส.ค. 2544 โดยบล.แอสเซท พลัส ยังถือเท่าเดิม
สำหรับกรณีที่การปิดสมุททะเบียนผู้ถือหุ้นในช่วง 2544 ปรากฎว่ามีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทแอมเพิลริช โดยระบุสัญชาติ อังกฤษจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทแอมเพิลริช ไม่เคยแจ้งสัญชาติอังกฤษ แต่บล. นววิคเคอร์ส บัลสาล แจ้งเอง เท่านั้น
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2547 ได้มีการย้ายหุ้นที่ฝากไว้กับ บล.แอสเซท พลัส จำนวน 229.2 ล้านหุ้น ไปฝากที่ UBS AG - Singapore ทำให้ภายหลังถือหุ้นรวม 329.2 ล้านหุ้น (มีการเปลี่ยนแปลงพาร์จาก 10 บาทต่อหุ้นเป็น 1 บาทต่อหุ้น) หลังจากนั้นบริษัทแอมเพิลริช จึงมีการขายหุ้น SHIN จำนวน 329.2 ล้านหุ้นให้นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ในวันที่ 20 ม.ค. 2549 ในราคาหุ้นละ 1 บาท
**สับก.ล.ต.ไม่ทำหน้าที่อ้างข้างๆคูๆ
นายศิริโชค โสภา กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร กล่าวถึงสรุปผลของก.ล.ต.ที่เอาผิดนายพานทองแท้ คนเดียว ว่า น่าเสียดาย เพราะก.ล.ต.ไม่พยายามทำตามหน้าที่ที่กฏหมายกำหนดไว้โดยดูความผิดแต่เรื่องการกรอกเอกสารผิด และการไม่แจ้งก.ล.ต.ตามมาตรา 246และ 247ตามพรบ.หลักทรัพย์ฯ โดยไม่ดูว่าผลที่ทำอย่างนั้นเพราะอะไร เป็นการกระทำเพื่อปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ แต่ก.ล.ต.กลับโยนไปให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแทน และหลายประเด็นก็ชี้แจงไม่เคลียร์
“ ที่อ้างว่ายูบีเอสเป็นเพียงผู้รับฝากของแอมเพิลริชก็ชี้แจงเแบบข้าง ๆ คู ๆ บอกว่า ธนาคารระดับโลกไม่เข้าใจแบบรายงานของก.ล.ต. คนที่เป็นผู้เซ็นในใบดังกล่าว คือกรรมการบริหารของยูบีเอส และยังกรอกด้วยซ้ำว่า หลังจากซื้อมาแล้ว 10 ล้านหุ้นจะมีหุ้นทั้งหมด 15 ล้านหุ้น จึงอยากถามว่านี่ก็กรอกผิดอีกหรือ แล้วอีก 5 ล้านหุ้นเดิมเป็นของใคร ที่ผ่านมาอ้างอย่างเดียวว่าติ๊กผิด ทำไมก.ล.ต.ไม่ตรวจสอบประเด็นเหล่านี้” นายศิริโชค กล่าว
คณะทำงานตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ปฯ กล่าวว่า กรณีที่ก.ล.ต.ชี้แจงว่าแอมเพิลริชมีบริษัทเดียวนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎในรายงานบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งแสดงไว้ว่าเป็น 2 บริษัทเและเป็นหุ้น 2 กอง แล้วข้อมูลต่าง ๆ เป็นข้อมูลที่บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้แจ้งเอง ไม่ใช่ข้อมูลจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามที่ก.ล.ต.อ้างถึง
"พรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าวันนี้ก.ล.ต.ได้ทำหน้าที่เอื้อและปกป้องผลประโยชน์ครอบครัวชินวัตรมากกว่าปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งพรรคจะดำเนินการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่ากระบวนการทั้งหมดมีนัยยะสำคัญมากกว่าการติ๊กผิด แต่เป็นการอำพรางปกปิดบัญชีทรัพย์สินมากกว่า" นายศิริโชค กล่าว
นายศิริโชค กล่าวด้วยว่า ส่วนที่ก.ล.ต.สรุปว่านายพานทองแท้มีความผิดกรณีไม่แจ้งและต้องถูกปรับก็หมายความว่า กรมสรรพากรต้องรีบดำเนินการเก็บภาษีในฐานะที่นายพานทองแท้เป็นกรรมการบริษัทขายหุ้นในราคาต่ำกว่าตลาดให้กับกรรมการ คือน.ส.พิณทองทา ซึ่งนับเป็นมูลค่ากว่าสามพันล้าน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่จบ โดยคณะทำงานจะหารือในการดำเนินการตรวจสอบเพื่อเปิดเผยความจริงต่อ เพราะก.ล.ต.ไม่นำเรื่องวินมาร์คมาหารือ และเลขาธิการก.ล.ต.ก็ยอมรับว่าแอมเพิลริชจดทะเบียนในที่อยู่ของบริษัทแมตเทอร์สัน ทรัสต์ หากเป็นเช่นนี้ก็แปลว่าเจ้าของแอมเพิลริชคือบริษัทแมตเทอร์สันทรัสต์ ซึ่งเข้าข่ายปกปิดบัญชีทรัพย์สินและแจ้งเท็จต่อก.ล.ต. เพราะฉะนั้นขอเรียกร้องให้ก.ล.ต.นำเอกสารออกมาเปิดเผยว่าใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากบริษัทแมตเทอร์สัน ทรัสต์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า วันนี้พรรค จะยื่นหนังสือต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้ตรวจสอบการซื้อขายหุ้น และถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเป็นประเด็นที่ชี้ให้เห็นถึงการโต้แย้งว่าได้มีการทำผิดกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ในเรื่องที่ให้คนไทยถือหุ้นแทนต่างชาติ ในเรื่องของการจดทะเบียนบริษัทแล้วต่อมาเปลี่ยนสถานะของบางบริษัทเป็นต่างชาติแล้วไม่ได้แจ้ง และมีผลต่อเนื่องไปถึงธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งตามกฎหมายอยู่ในบัญชีที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจ และในส่วนของหนังสือที่ได้ยื่นให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือก.ล.ต.ก็จะรอฟังคำชี้แจงของก.ล.ต.ในเรื่องดังกล่าวก่อน
** อวดแฟกซ์ไม่รู้ที่มาชี้แอมเพิลริชไม่มีที่อังกฤษ
ในวันเดียวกัน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำ สำเนาเอกสาร จำนวน 1 แผ่น โดยตั้งใจที่จะนำมาชี้แจง ในประเด็นเรื่องการอภิปรายทั่วไป 2 สภา พร้อมยกตัวอย่างให้สื่อมวลชนประจำทำเนียบฯ ฟังในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า มีบริษัท แอมเพิลริช 2 แห่ง ซึ่งจะต้องพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยการนำหลักฐาน
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ได้รับสำเนาเอกสาร ที่มีผู้ที่ส่งมาให้ดูว่า มีสำเนายืนยัน จากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนพาณิชย์ ของสหราชอาณาจักรว่า ไม่มีบริษัท แอมเพิลริช ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเลย ซึ่งจะชี้แจงจากหลายๆ ส่วนเพื่อให้ซักถาม ในการเปิดอภิปรายทั่วไป ที่คาดว่าจะเป็นวันที่ 6 มี.ค.นี้ และยังจะมีหลักฐาน ข้อมูลที่สมาชิกรัฐสภาสงสัยอีกมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำเนาเอกสารที่ นพ.สุรพงษ์ นำมาชี้แจงกับสื่อมวลชน เป็นฉบับภาษาอังกฤษ ที่ระบุว่า จากการค้นหาข้อมูลในช่วงที่รายชื่อบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งบริษัทต่างชาติ ที่จดทะเบียนในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏร่องรอย ของบริษัทที่จะทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัท แอมเพิล ริช ลิมิตเต็ด ลงนามโดย T Cosh-Tullett นายทะเบียน ออกที่ Company House Cardiff โดยมีชื่อองค์กร The Registra of Companies for England and Wales ลงวันที่ 16 ก.พ. 2006 ทั้งนี้ท้ายเอกสารระบุว่า ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า จะถูกต้อง สมบูรณ์จากการค้นหาในครั้งนี้ หากบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนก่อน 15 ปี ข้อมูลอาจไม่ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าวผู้สื่อข่าวได้เข้าสอบถาม นพ.สุรพงษ์ว่า สำเนาเอกสารฉบับดังกล่าวนี้ได้มาจากใคร และเป็นตัวเดียวกับที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะแถลงในวันนี้ด้วยหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวเพียงว่า เป็นแฟกซ์ ที่ส่งเข้ามาให้ตน และไม่ทราบว่า เป็นตัวเดียวกับที่ ก.ล.ต. จะแถลงหรือไม่ และไม่ใช่เป็นส่วนที่ ก.ล.ต. ส่งมาให้ตน แต่เป็นส่วน ที่มีคนส่งมาให้เท่านั้น
|