ภายหลังจากที่ FBT หรือบริษัทโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์
หรือ BAGOC (Bangkok Asian Games Organizing Committee) ทางบริษัทก็ได้มีการเปิดขายลิขสิทธิ์เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
13 ให้กับบรรดาผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ระลึกสำหรับงานนี้
ซึ่งทาง FBT ได้แบ่งสินค้าออกเป็นหมวดต่างๆ ตามประเภทของสินค้า แบ่งออกเป็นประมาณ
100 หมวด และมีสินค้าทั้งสิ้นประมาณ 2,000 รายการ
"มีดีลที่เราเปิดไปแล้ว 2 รายการคือ สินค้าประเภทตุ๊กตา และเนกไท
ซึ่งหากมีรายอื่นสนใจที่จะทำสินค้าในหมวดนี้ก็ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะสินค้าในแต่ละหมวดก็จะมีผู้ผลิตได้เพียงรายเดียวเท่านั้น
และขณะนี้สินค้าทั้ง 2 รายการนี้ก็สามารถผลิตและจำหน่ายได้แล้วด้วย"
มนต์ชัย โชคไพบูลย์กิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ FBT เปิดเผย
ขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 15 เดือน ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะในการทำการตลาดและจำหน่ายสินค้าฯ
ดังนั้นบริษัทที่สนใจเข้าร่วมธุรกิจในครั้งนี้ก็ควรเข้าไปติดต่อกับทาง FBT
อย่างรวดเร็ว
ผู้บริหารของ FBT ตั้งเป้าไว้ว่า จะขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีนี้
เนื่องจากหากใครสามารถเปิดดีลกับ FBT ได้ก่อนก็จะสามารถผลิตสินค้าได้ทันเทศกาลปีใหม่
ซึ่งเขาถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จะทดสอบตลาดได้ดีทีเดียว
"ตอนนี้มีคนเข้ามาติดต่อกับเราไม่ต่ำกว่า 4-5 ราย ในแต่ละหมวดสินค้า
ซึ่งเราก็จะพิจารณาคัดเลือกจากศักยภาพของบริษัทที่มาติดต่อกับเรา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการผลิตสินค้าคุณภาพ
สถานะทางการเงิน และที่สำคัญคือแบรนด์เนม ซึ่งหากเขาได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ผลิตได้
เขาก็สามารถโฆษณาแบรนด์ของเขาคู่กับสินค้าลิขสิทธิ์เอเชี่ยนเกมส์ แต่มีเงื่อนไขว่าเอเชี่ยนเกมส์ต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง
ซึ่งตรงนี้เมื่อตีมูลค่าเป็นเงินก็เกินคุ้มแล้ว" มนต์ชัยชี้แจง
สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่ตัวแทนลิขสิทธิ์ต้องจ่ายเท่ากันทุกรายคือ 10%
ของยอดขาย และอีกส่วนคือค่าประกันลิขสิทธิ์ของแต่ละหมวดสินค้า ซึ่งในส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า
ยิ่งสินค้าหมวดไหนที่คาดว่าจะสร้างยอดขายได้มากก็จะเสียค่าประกันฯ มาก
"อย่างเช่น หมวดตุ๊กตาที่เราปิดไปแล้วนั้น เรากำหนดเงินประกันฯ ที่
1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุด สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ
จะมีเงินประกันอยู่ในช่วง 20,000-500,000 เหรียญสหรัฐ สาเหตุที่หมวดตุ๊กตาแพงที่สุดก็เนื่องจากว่า
ตุ๊กตาจะเป็นสินค้าที่ได้รับการประชาสัมพันธ์มากที่สุดในทุกๆ สื่อ และเป็นสินค้าที่จะขายได้มากที่สุด
ซึ่งบริษัทที่มาซื้อลิขสิทธิ์ผลิตสินค้าตัวนี้กับเรา เขามองเห็นศักยภาพตรงนี้
เขาถึงรีบมาปิดดีลกับเรา ผมก็หวังว่าคนอื่นจะเห็นโอกาสอันมหาศาลทางธุรกิจนี้เช่นเดียวกันด้วยการเข้ามาคุยกับเรา
เพื่อจะสามารถปิดดีลได้อย่างรวดเร็ว" มนต์ชัยกล่าวเชิญชวนและเขายังกล่าวถึงสินค้าที่มีมูลค่ารองลงมาจากตุ๊กตาอีกก็คือ
เข็มกลัดและเครื่องเขียน เป็นต้น
หากมาคำนวณเม็ดเงินคร่าวๆ แล้ว FBT คงมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า
360 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นลิขสิทธิ์ที่ขายในประเทศประมาณ 300 ล้านบาท และในต่างประเทศประมาณ
60 ล้านบาท ซึ่งนอกจาก FBT จะมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์แล้ว บริษัทยังมีรายได้จาก
10% ของยอดขายสินค้าแต่ละหมวดด้วย รวมทั้งสินค้าในหมวดกีฬาที่ทาง FBT ได้ผูกขาดเป็นผู้ผลิตแต่เพียงผู้เดียว
ซึ่งในส่วนนี้ ผู้บริหารหนุ่มกล่าวว่า
"เรากันในส่วนของสินค้ากีฬาไว้ผลิตเองทั้งหมด เนื่องจากเราเองก็อยู่ในธุรกิจกีฬาและถ้าหากสินค้าในหมวดนี้หลุดออกไปสู้มือของผู้ผลิตรายอื่น
ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแบรนด์จากต่างชาติ เราก็จะเสียสิทธิ์ไปโดยเปล่าประโยชน์"
งานนี้ FBT ต้องเสียเงินไปสำหรับการเป็นตัวแทนสิทธิบัตรจำหน่ายของที่ระลึกให้กับ
BAGOC เป็นจำนวนทั้งสิ้น 6 ล้านเหรียญฯ รวมทั้งต้องจ่ายอีก 70% ของรายได้ที่ได้จากการขายของด้วย
"งานนี้กำไรที่เป็นเม็ดเงินนั้นไม่มีแน่นอน แต่สิ่งที่เราจะได้ยิ่งกว่าเงินก็คือชื่อเสียงของ
FBT ที่จะก้าวสู่ระดับนานาชาติและที่สำคัญเป็นการช่วยประเทศชาติด้วย แต่อย่างไรก็ดี
เราคิดว่าเราคุ้มทุนแน่ เพราะเราจะได้กำไรจากการขายสินค้าอย่างต่ำก็ 30%
ภายหลังจากหักรายได้ให้กับ BAGOC แล้ว" มนต์ชัย กล่าว
เป็นที่สังเกตว่า แม้จะมีข่าวลือเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพการจัดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์
ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยว่าอาจถูกยกเลิกนั้น แต่คณะกรรมการต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับงานนี้ต่างก็มีความมั่นใจว่า
ประเทศไทยจะไม่ถูกถอดจากการเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้อย่างแน่นอน
ซึ่งมนต์ชัย ได้ให้ความเห็นว่า
"ผมมั่นใจ 100% ว่า ประเทศไทยจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้จัดขึ้นในประเทศไทย
เพราะโอกาสอย่างนีจะไม่เวียนมาอีกแล้วอย่างน้อยก็หลายสิบปี และเอเชี่ยนเกมสเป็นงานกีฬางานเดียวที่ได้เงินเยอะที่สุดในโลก
เพราะเราสามารถโฆษณาบริษัทของเราในทุกสนามแข่งขันหรือแม้แต่กับทีมนักกีฬาก็ได้
แม้โอลิมปิกซึ่งเป็นงานที่ใหญ่กว่ายังไม่สามารถทำเงินได้เยอะเท่าเอเชี่ยนเกมส์
เพราะโอลิมปิกเป็นงานกีฬาเพื่อมิตรภาพจริงๆ ไม่ใช่ในเชิงธุรกิจ ฉะนั้นทาง
BAGOC และรัฐบาลคงไม่ปล่อยให้โอกาสที่จะประกาศศักยภาพของประเทศไทยต่อชาวโลกได้หลุดลอยไปหรอก
ยิ่งกว่านั้นงานนี้ถือเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งด้วย"
ซึ่งเขาหวังว่าระยะเวลานับจากนี้ สื่อมวลชนทุกสื่อจะไม่นำเสนอข่าวในเชิงลบต่อเอเชี่ยนเกมส์อีกต่อไปแล้ว
คงจะมีการเสนอข่าวในแง่ของความคืบหน้าในการดำเนินงานเท่านั้น
"ทุกอย่างที่มีแง่ลบก็ต้องมีแง่บวก เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบันถือเป็นผลบวกกับเรา
เพราะจะทำให้สินค้าของเรามีจุดขายที่เด่นขึ้น เนื่องจากมีสัญลักษณ์ของเอเชี่ยนเกมส์เป็นประกันว่า
สินค้าเหล่านี้ไม่ได้หาซื้อได้ตลอดไป พอจบเกมส์แล้วก็จบกันไป แต่หากใครที่มีไว้ในครอบครองก็สามารถบอกลูกหลานในอนาคตได้ว่า
ของที่ระลึกนี้หาซื้อไม่ได้แล้วนะ ซึ่งจะกลายเป็นความทรงจำครั้งประวัติศาสตร์ทีเดียว
ที่อย่างน้อยก็ได้เป็นเจ้าของที่ระลึกเอเชี่ยนเกมส ครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย"
นี่เป็นอีกมุมมองหนึ่งของมนต์ชัย
หรือหากเหตุการณ์เกิดแปรผัน ในทางกลับกันของที่ระลึกชิ้นนีอาจกลายเป็นความทรงจำครั้งประวัติศาสตร์ก็เป็นได้